“รับมือกับโรคร้าย ที่อาจเข้ามาทำลายสุขภาพของคุณ”
เมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าร้อนอาจมีอาการต่างๆ เกิดขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศของประเทศไทยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม โดยเฉพาะเดือนเมษายนที่มักมีสภาวะอากาศที่ร้อนเป็นพิเศษ อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคและอาการต่างๆ ที่แฝงตัวมากับหน้าร้อนและอาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและชีวิต
เพราะสาเหตุต่างๆ เช่น ความร้อนจากไอแดด เชื้อโรคจากสิ่งต่างๆ และปัจจัยอื่นๆ อาจส่งผลให้เกิดโรคและอาการต่างๆ เหล่านี้
– โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน
โรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากการได้รับเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิต ที่ปะปนเข้ามาในอาหารหรือเครื่องดื่มที่ไม่สะอาดหรือมีส่วนประกอบของวัตถุดิบที่ปนเปื้อนเชื้อโรค ซึ่งมักพบได้บ่อยในช่วงหน้าร้อนเนื่องจากเป็นช่วงที่อาหารและเครื่องดื่มมักจะบูดและเสียเร็วกว่าปกติ ทำให้เกิดแบคทีเรียได้ง่าย และนั่นก็เป็นต้นเหตุให้เกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อุจจาระบ่อยโดยมีมูกหรือเลือดปะปนอยู่ เบื่ออาหาร และอาจมีภาวะขาดน้ำ ซึ่งเป็นอาการของการเกิดโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันนั่นเอง
โดยวิธีการรับมือและป้องกันไม่ให้เกิดอาการนี้ คือ
- ทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ
- ล้างมือให้สะอาดก่อนปรุงและก่อนทานอาหาร
- ไม่ทานอาหารที่มีแมลงวันตอม
- ล้างผักสดและผลไม้ก่อนรับประทานทุกครั้ง
- ดูแลสุขอนามัยให้ดีอยู่เสมอ
– ลมแดดหรือฮีทสโตรก
เนื่องจากแสงแดดที่ร้อนขึ้นและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้หลายคนที่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศเช่นนี้มีอาการลมแดดหรือฮีทสโตรกเกิดขึ้น โดยมากมักมีอาการปวดหรือมึนหัว คลื่นไส้อาเจียน ตัวร้อน ผิวหนังแดง กระหายน้ำ ร่วมกับอาการเหงื่ออกมาก หัวใจเต้นแรง หายใจเร็วและถี่ รวมถึงอาจเกิดตะคริวร่วมด้วย ซึ่งอาการอาจรุนแรงไปจนถึงขั้นเป็นลมหมดสติและไม่สามารถทรงตัวได้
โดยวิธีการรับมือและป้องกันไม่ให้เกิดอาการนี้ คือ
- ดื่มน้ำให้มากๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
- หลีกเลี่ยงการออกไปข้างนอกในสภาพอากาศที่ร้อนจัดในระยะเวลานาน
- สวมใส่เสื้อผ้าที่สบาย ระบายอากาศได้ดี
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หนักในสภาพอากาศที่ร้อนจัด
– โรคอหิวาตกโรค
เป็นโรคที่ควรเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากอาการนั้นค่อนข้างรุนแรง มักจะมีการอุจจาระเป็นน้ำอย่างมากโดยไม่มีอาการปวดท้อง ทำให้มีการสูญเสียน้ำอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะกรดในเลือดและภาวะระบบการไหลเวียนเลือดที่ล้มเหลวตามมา โดยเชื้อของโรคนี้นั้นจะปะปนอยู่ในอาหารและน้ำที่ไม่สะอาดหรือปรุงไม่สุก
โดยวิธีการรับมือและป้องกันไม่ให้เกิดอาการนี้ คือ
- ทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ
- ดื่มน้ำที่สะอาด
- ล้างมือให้สะอาดก่อนทานอาหาร
- เมื่อเล่นน้ำในแม่น้ำลำคลองต้องระวังไม่ให้น้ำเข้าปาก
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นโรคอหิวาตกโรค
บอกลาโรคร้ายและอาการต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในหน้าร้อนด้วยการใส่ใจสุขภาพของตนเองและคนรอบข้าง โดยการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนออกไปข้างนอกในสภาพอากาศที่ร้อน หมั่นสังเกตุอาการของตนเองและคนรอบข้าง ทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุก ดื่มน้ำสะอาด รวมถึงดูแลสุขอนามัยของตนเองอยู่เสมอนั่นเอง