เปิดวาร์ป 3 เมนูดับร้อนตำรับไทย อร่อยง่ายๆ ไม่ทำลายสุขภาพ

Care / Self Care

ชวนดับกระหาย คลายร้อน ต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ในช่วงเวลาที่ได้อยู่กันพร้อมหน้ากับครอบครัวด้วย 3 เมนูสุดคลาสสิกสไตล์ไทยอย่างแตงโมปลาแห้ง ข้าวแช่ชาววัง และไอศกรีมผลไม้สไตล์โฮมเมดที่ทำได้ง่ายๆ  ไร้สารอันตราย ไม่ทำลายสุขภาพ แถมรสชาติถูกปากแน่นอน

แตงโมปลาแห้ง

เริ่มต้นด้วย ‘แตงโมปลาแห้ง’ ของว่างโบราณที่ทำทีเดียว กินได้ทั้งบ้าน เหมาะกับการปาร์ตี้หลังเล่นสาดน้ำมาทั้งวัน   

ส่วนผสม

  •  เนื้อปลาช่อนแดดเดียวย่างสุก​หรือปลาช่อนแห้ง 1 ตัว
  •  น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ
  •  เกลือหรือดอกเกลือ 1/4 ช้อนชา
  •  หอมเจียว 40 กรัม
  •  แตงโมตามชอบ

 วิธีทำ

1. โขลกเนื้อปลาแห้งที่แกะก้างออกแล้วให้ละเอียด
2. จากนั้นนำเนื้อปลาลงผัดในกระทะ ใส่น้ำตาลทราย เกลือ และหอมเจียว ผัดจนแห้งดี
3. เสิร์ฟพร้อมแตงโมที่หั่นเป็นชิ้นตามชอบ หรือหากใครอยากได้เมนูหลากสีสันหน่อย สามารถประยุกต์ใช้แตงโมสีอื่นๆ เมลอน และแคนตาลูปมาร่วมขบวนความอร่อยก็ได้   

ข้าวแช่ชาววัง

เมนูที่สองคลองแชมป์เมนูดับร้อนมาหลายยุคหลายสมัย สำหรับ ‘ข้าวแช่ชาววัง’ ข้าวแช่ในน้ำลอยดอกไม้หอมเย็นชื่นใจที่มาพร้อมเครื่องเคียง เช่น ลูกกะปิทอด เครื่องผัดหวาน ฯลฯ เหตุผลที่เรียกว่าข้าวแช่ชาววังหรือบางแหล่งเรียกว่า ‘ข้าวแช่เสวย’ ก็เพราะเมนูนี้ชาววังเคยจัดถวายรัชกาลที่ 5 แล้วทรงโปรดมาก หลังจากสิ้นรัชกาล​ เมนูนี้ถูกเผยแพร่ออกมาและกลายเป็นเมนูฮิตหน้าร้อน โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์ในที่สุด

ส่วนผสม

ข้าวแช่: ข้าวหอมมะลิเก่าและเทียนอบขนม
เครื่องเคียง: เนื้อปลาดุก, ตะไคร้โขลก, กระชาย, หอมแดง, กะปิ, น้ำตาลปี๊บ, แป้งข้าวเจ้า, ไข่เป็ด, น้ำปูนใส และน้ำมันพืช

วิธีทำข้าวแช่

1. นำข้าวหอมมะลิเก่ามาตั้งน้ำให้เดือด หมั่นคนพอให้ข้าวครึ่งสุกครึ่งดิบ
2. จากนั้นเทใส่กระด้ง ใช้มือขัดข้าวกับกระด้ง แนะให้เปิดน้ำจากก๊อกเพื่อขัดข้าวไปเรื่อยๆ จนข้าวเป็นเม็ดใส
3. นำมานึ่ง เมื่อสุกแล้วเทใส่กระด้ง พักไว้ให้เย็น เทใส่หม้อดิน อบเทียนให้หอมแล้วปิดฝา

วิธีทำน้ำลอยดอกมะลิ

1. ต้มน้ำให้เดือด เสร็จแล้วปิดไฟ ทิ้งไว้ให้เย็น
2. จากนั้นจึงจุดเทียนอบ อบให้มีกลิ่นหอม
3. แนะนำให้ใส่ดอกมะลิตูมและพักไว้ในตู้เย็น เพื่อความหอมเย็นฉ่ำ​ น่ารับประทาน

วิธีทำเครื่องเคียง

เครื่องเคียงหรือเครื่องสำหรับรับประทานคู่กับข้าวแช่นี้มีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นพริกหยวกยัดไส้, หมูหวานกรอบ, ไชโป๊หวาน แต่ที่เห็นจะเป็นพระเอกที่สุดคงต้องยกให้ ‘ลูกกะปิกวนชุบไข่ทอด’  

1. โขลกตะไคร้ กระชาย หอมแดง ให้ละเอียด ใส่กะปิ เนื้อปลาดุก โขลกต่อจนเป็นเนื้อเดียวกัน
2. ใส่กะทิลงในกระทะ​ ตั้งไฟให้เดือด ตักส่วนผสมข้อที่ 1 ลงผัด ใส่น้ำตาลปี๊บ ผัดให้แห้ง ตักขึ้นพักไว้ให้เย็น​ ปั้นเป็นก้อนเล็กๆ
3. นำแป้งข้าวเจ้าใส่ภาชนะ ใส่ไข่เป็ด คนให้เข้ากัน ค่อยๆ ใส่น้ำปูนใส ให้มีลักษณะข้นปานกลาง
4. ใส่น้ำมันพืชลงในกระทะ​ ตั้งไฟปานกลาง
5. พอน้ำมันร้อน​ ​นำลูกกะปิที่ปั้นไว้ลงชุบในน้ำแป้งลงทอดพอเหลือง ตักขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำมัน

วิธีการเสิร์ฟ

นำน้ำลอยดอกมะลิมาเทลงในข้าวแช่ เสิร์ฟพร้อม ‘ลูกกะปิกวนชุบไข่ทอด’ เครื่องเคียงพระเอกที่ทำไว้ได้เลย ข้อควรระวัง เวลารับประทานไม่ควรตักเครื่องเคียงมาใส่ลงในถ้วยข้าว แต่ควรรับประทานเครื่องเคียงก่อน เมื่อได้รับรสชาติของเครื่องเคียงแล้ว ค่อยกินข้าวแช่ตามไป จะได้ความอร่อยแบบไม่เสียรสชาติ เคล็ดลับเพิ่มความอร่อยอีกอย่างคือ ควรรับประทาน ‘ลูกกะปิกวน’ คู่กับมะม่วงเปรี้ยว จะทำให้ได้รสชาติที่ลงตัวแบบเอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอมเชียวล่ะ  

ไอศกรีมผลไม้

เมนูสุดท้ายที่ขาดไม่ได้ในทุกๆ หน้าร้อนคงหนีไม่พ้น  ‘ไอศกรีมผลไม้’ สไตล์โฮมเมดที่ใช้ผลไม้ตามฤดูกาลมาแปรรูปเป็นเมนูคลายร้อนแบบง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้ แถมอร่อยชุ่มฉ่ำใจได้ทั้งบ้าน    

ส่วนผสมเชอร์เบตมะม่วง (Mango Sherbet)​

  • มะม่วง 4 ถ้วย*
  • น้ำเปล่า 1 ถ้วย
  • น้ำตาลทราย ½  ถ้วย
  • น้ำเลมอน 1 ลูก (หรือมะนาวเขียว 2-3 ลูก)**
  • เกลือนิดหน่อย
  • วิปปิงครีม ประมาณ 1/2 ถ้วย***

เคล็ดความอร่อย:
* สามารถเปลี่ยนเป็นสตรอว์เบอร์รี ราสเบอร์รี แตงโม แคนตาลูป ฯลฯ
** ปริมาณน้ำมะนาวขึ้นอยู่กับความหวานของผลไม้หลักที่ใช้
*** หากทำไอศกรีมแบบซอร์เบต (Sorbet) ไม่ต้องใส่วิปปิงครีม เน้นผลไม้และน้ำตาลเป็นหลัก ลักษณะจะเป็นเกล็ดน้ำแข็งละเอียด เน้นรสชาติเปรี้ยวหรือหวานตามรสชาติผลไม้

วิธีทำ

1. ต้มน้ำและน้ำตาลจนละลาย และพักไว้จนเย็น
2. จากนั้นนำน้ำเชื่อมที่ได้แช่ช่องฟรีซให้เป็นเกล็ดน้ำแข็ง
3. ปอกเปลือกมะม่วงแล้วหั่นเป็นชิ้นๆ แช่ช่องฟรีซไว้
4. เมื่อน้ำเชื่อมและผลไม้เย็นจนกลายเป็นเกล็ดน้ำแข็ง นำออกมาปั่นให้ละเอียดในเครื่องปั่นน้ำผลไม้ สำหรับคนที่ไม่ชอบหวานมาก อาจจะใช้น้ำเชื่อมเพียงครึ่งเดียวก่อน 
5. จากนั้นเติมน้ำมะนาว เกลือ (และวิปปิงครีม) ลงไป ปั่นจนเนียนจะได้เนื้อไอศกรีมเหลว ขั้นตอนนี้สามารถลองชิมได้ว่าขาดรสชาติใดไปหรือเปล่า และสามารถเติมรสชาติตามชอบได้เลย
6. เทไอศกรีมเหลวใส่กล่อง นำเข้าแช่ในช่องฟรีซให้เป็นเกล็ดน้ำแข็ง (ประมาณ 2 ชั่วโมง)
7. นำไอศกรีมออกมาปั่นอีกรอบ ก็จะได้เนื้อไอศกรีมเนียนสวย สามารถเสิร์ฟคู่กับเนื้อผลไม้ เช่น มะม่วง แคนตาลูป ฯลฯ ที่เหลือจากการทำไอศกรีมได้เลย

ข้อควรระวัง สำหรับไอศกรีมสูตรโฮมเมดนี้ คือ เสียเร็ว เพราะไม่ใส่สารกันบูด ฉะนั้น ควรทำแต่พอรับประทาน

เป็นอย่างไรบ้างสำหรับ 3 เมนูดับร้อนที่เรานำมาฝาก หากใครที่ตะหลิวเริ่มสั่น คันไม้คันมืออยากโชว์เสน่ห์ปลายจวักแล้วละก็ ลงมือกันได้เลย แล้วอย่าลืมแชะภาพมาฝากกันบ้างนะคะ 

ที่มา:
www.food.mthai.com
www.posttoday.com
www/guide.michelin.com
www.wongnai.com
www.naibann.com

บทความที่เกี่ยวข้อง