9 ข้อควรรู้! หากคุณสูญเสียคนในครอบครัวด้วย ‘มะเร็งตับ’

Cancer / Health

เชื่อว่าคนส่วนใหญ่นั้นทราบดีอยู่แล้วว่า แนวโน้มการเกิดโรคมะเร็งในปัจจุบันนั้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่รู้หรือไม่ว่า ‘มะเร็งตับ’ เป็นหนึ่งในมะเร็งที่มีอัตราการตายสูงที่สุดในประเทศไทยเช่นกัน ไม่ง่ายเลยหากคุณมีคนในครอบครัวที่ต้องเผชิญกับโรคร้ายอย่างมะเร็งตับ ยิ่งไปกว่านั้นหากคนในครอบครัวคนนั้นไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อหรือคุณแม่ต้องจากไปด้วยมะเร็งตับคงจะสร้างบาดแผลในใจและข้อสงสัยกับลูกๆ ไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นความกังวลว่าตนเองจะมีโอกาสเป็นมะเร็งตับเช่นเดียวกันกับคุณพ่อคุณแม่หรือไม่ มีแนวทางใดบ้างไหมที่จะช่วยป้องกันหรือลดโอกาสการเกิดมะเร็งตับที่อาจเกิดขึ้นได้กับคนในครอบครัวที่เป็นสายตรง หรือการทานวิตามินบำรุงตับจะช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งตับได้จริงหรือ สารพันคำถามเหล่านี้มีคำตอบให้คุณ โดย อ.นพ.ศุภพัชญ ศรีภูษณาพรรณ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคตับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

สูญเสียคุณแม่เสียด้วย ‘มะเร็งตับ’ ลูกๆ มีโอกาสเป็นมะเร็งตับหรือไม่

คุณหมอ: การที่มีประวัติว่า ‘คนในครอบครัวสายตรงเป็นมะเร็งตับ’ นั้นถือว่าเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งในการเกิดมะเร็งตับ ยิ่งไปกว่านี้หากลูกๆ ‘ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง’ แล้วละก็ ถือเป็นอีกความเสี่ยงหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งตับได้เช่นกัน ดังนั้นในกรณีที่มีลูกๆ มีความเสี่ยงทั้งสองอย่างนี้ร่วมกัน ถือว่ามีความเสี่ยงสูงอย่างมากต่อการเกิดมะเร็งตับมากกว่าบุคคลทั่วไป ดังนั้นหากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งตับหมอแนะนำให้เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งตับทุกๆ 6-12 เดือน

‘พาหะไวรัสตับอักเสบบี’ มีโอกาสเป็นมะเร็งตับแค่ไหน

คุณหมอ: ในปัจจุบันมีการศึกษาพบว่า ผู้ที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบีจะมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งตับอยู่ที่ 0.1-1% ต่อปี หรือพูดง่ายๆ คือ ในแต่ละปีจะมีผู้ที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบีทุกๆ 1,000 คนที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งตับประมาณ 1-10 คน โดยความเสี่ยงนั้นจะสูงขึ้นหากคนผู้นั้นมีภาวะตับแข็งร่วมด้วย

ตรวจหา ‘มะเร็งตับ’ ด้วยวิธีใดได้บ้าง

คุณหมอ: ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของมะเร็งตับ คือผู้ป่วยมักไม่มีอาการในระยะเริ่มต้น ทำให้วินิจฉัยได้ช้า ดังนั้นหากพบว่าตนเองมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งตับ เช่น ตรวจพบการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง มีภาวะตับแข็งไม่ว่าจากสาเหตุใด หมอแนะนำให้เจาะเลือดเพื่อดูระดับอัลฟ่าฟีโตโปรตีน (alpha-fetoprotein หรือ AFP) ร่วมกับ การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน ทุกๆ 6-12 เดือน เพื่อให้สามารถตรวจพบมะเร็งตับได้ตั้งแต่ระยะแรกๆ เพื่อที่จะเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที

สังเกตตัวเองอย่างไร ให้ห่างไกลมะเร็งตับ

คุณหมอ: อย่างที่หมอได้กล่าวไปแล้ว ว่าผู้ที่เป็นมะเร็งตับในระยะแรกๆ นั้นส่วนใหญ่มักไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ให้สังเกตเห็นง่ายๆ โดยมากแล้วมักจะพบมะเร็งตับได้จากการตรวจสุขภาพหรือการตรวจทางรังสี แต่ผู้ที่เป็นมะเร็งตับส่วนหนึ่งอาจมีอาการปวดท้องบริเวณช่องท้องส่วนบน ตัวเหลืองตาเหลือง ท้องโตหรือขาบวม และหากโรคดำเนินไปมากขึ้นอาจมีการอาเจียนเป็นเลือดหรือมีอาการซึม สับสนได้

‘มะเร็งตับ’ หายขาดได้หรือไม่

คุณหมอ: หากผู้ที่เป็นมะเร็งตับนั้นสามารถพบเจอได้ตั้งแต่ระยะแรกๆ ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการแบ่งระยะของมะเร็งตับนั้นจะแตกต่างกับมะเร็งอื่นๆ โดยจะแบ่งตามจำนวนของก้อนมะเร็ง สภาพการทำงานของตับ และสภาพร่างกายของผู้ป่วยร่วมด้วย โดยผู้ป่วยในระยะต้นๆ มักมีไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่หากโรคมีการลุกลามเข้าสู่เส้นเลือดใหญ่หรือกระจายออกนอกตับจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการอื่นเพิ่มเติม เช่น เหนื่อย ปวดกระดูก เป็นต้น ส่วนวิธีการรักษามะเร็งตับในระยะเริ่มต้นนั้นสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การผ่าตัด การเปลี่ยนตับ หรือการเผาทำลายก้อนมะเร็งด้วยความร้อน ซึ่งปัจจุบันมีผลการรักษาที่ดีและมีอัตราการรอดชีวิตในระยะยาวสูงมากเช่นกัน

รับมืออย่างไรหากเป็น ‘มะเร็งตับ’

คุณหมอ: หากพบว่าเป็นมะเร็งตับนั้น หมออยากให้คนไข้เตรียมตัวทั้งกายและใจให้ดี พร้อมที่จะต่อสู้กับโรค แม้ว่า ‘มะเร็ง’ จะเป็นคำที่ดูน่ากลัวและหมดหวัง แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆ ในการรักษา เช่น การใช้ยามุ่งเป้า การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด ทำให้การรักษามะเร็งตับนั้นมีผลการรักษาที่ดีขึ้นกว่าในอดีตมาก ดังนั้นหากสภาพร่างกายแข็งแรงและมีจิตใจที่เข้มแข็งแล้วละก็ จะทำให้คนไข้มีความพร้อมสำหรับการรักษาในแบบต่างๆ และช่วยให้คนไข้มีผลการรักษาที่ดีขึ้นได้

‘น้ำกัญชา’ หรือ ‘สมุนไพรต่างๆ’ รักษามะเร็งตับได้จริงหรือ

คุณหมอ: ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่า น้ำกัญชาหรือสมุนไพรต่างๆ นั้นสามารถรักษามะเร็งตับได้ อย่างไรก็ตามการใช้สมุนไพรต้องใช้ด้วยความระมัดระมัดและควรต้องได้รับการตรวจเลือดติดตามอยู่เสมอ เนื่องจากสมุนไพรบางชนิดอาจทำให้เกิดภาวะตับอับเสบรุนแรงได้ในผู้ป่วยที่มีโรคตับอยู่เดิม

จริงหรือไม่? ‘วิตามินบำรุงตับ’ ป้องกันมะเร็งตับได้

คุณหมอ: วิตามินบำรุงตับหรืออาหารเสริมใดๆ ที่มีขายในท้องตลาดยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่าสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งตับได้ แต่อย่างไรก็ตามการใช้วิตามินและอาหารเสริมนั้นต้องใช้ด้วยความระมัดระมัดและต้องมีการตรวจติดตามค่าการทำงานของตับอย่างสม่ำเสมอ เพราะวิตามินและอาหารเสริมบางชนิดอาจทำให้เกิดภาวะตับอับเสบรุนแรงได้โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคตับอยู่เดิม

ดูแลตัวเองอย่างไร ไม่ให้เป็นมะเร็งตับ

คุณหมอ: อย่างแรกเลยควรตรวจเช็คความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งตับของตนเอง ซึ่งได้แก่ ภาวะตับแข็ง การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีเรื้อรัง การดื่มแอลกอฮอล์เป็นปริมาณมาก และภาวะไขมันเกาะตับ หากพบว่ามีความเสี่ยงข้างต้นแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป ถัดไปหมอแนะนำว่าควรตรวจคัดกรองมะเร็งตับด้วยการตรวจเลือดและอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน ทุก 6-12 เดือนตามข้อบ่งชี้
พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคตับและภาวะตับแข็ง เช่น หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์เป็นปริมาณมาก ควบคุมน้ำหนักและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงหลีกเลี่ยงพฤฒิกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เป็นต้น

ถึงแม้มะเร็งตับจะเป็นโรคที่มีอัตราการตายสูงแต่ถ้าหากสามารถตรวจเจอได้ในระยะเริ่มต้นก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่นนี้แล้วอยากให้ทุกคนเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพื่อที่จะสามารถตรวจหรือพบเจอความผิดปกติของร่างกายที่เกิดขึ้นแล้วสามารถได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงที เพราะบางโรคนั้นหากรู้เร็วก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากพบเจอตอนสายไปแล้วก็ยากต่อการที่จะรักษาให้หายขาดดังเช่น ‘มะเร็งตับ’

บทความที่เกี่ยวข้อง