6 แอปพลิเคชันที่ผู้สูงวัยควรมีติดมือถือ

Care / Self Care

มาถึงวันนี้ ผู้สูงวัยหลายท่านน่าจะคุ้นเคยกับการมีสมาร์ทโฟนเป็นเสมือนเครื่องมือคู่กายแล้ว แต่จากประสบการณ์ที่ได้เห็นการใช้งานสมาร์ทโฟนของผู้สูงวัยในครอบครัว เรากลับพบว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่สว.ส่วนมากมักใช้งานสมาร์ทโฟนจำกัดอยู่แต่เพียงแอปพลิเคชันในหมวดหมู่ ‘โซเชียลมีเดีย’ อย่าง Facebook, LINE, YouTube เป็นต้น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว สมาร์ทโฟนมีประโยชน์กว่านั้นมาก ที่สำคัญ ยังมีแอปพลิเคชันอีกหลายอย่างที่สามารถเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตของบรรดาสว.ได้มากมาย 

ว่าแล้ว hhc Thailand จึงขออาสาคัดเอาแอปฯ ที่ผู้สูงวัยควรมีติดไว้มือถือมาฝากกันคราวนี้ทั้งหมด 5 แอปฯ ซึ่งเชื่อเถอะว่าแอปฯ เหล่านี้ไม่เพียงจะทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของคุณๆ ง่ายขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้สูงอายุทุกท่านอีกด้วย 

เป็นที่รู้กันดีว่ายิ่งแก่ตัวลง สายตาของเราก็ยิ่งแย่ลงตามไปด้วย โดยเฉพาะภาวะสายตายาว (Presbyopia) ที่ไม่ต้องถึงกับเป็นผู้สูงอายุหรอก แค่เข้าสู่ วัย 40 ก็เริ่มเกิดขึ้นกับหลายคนจนเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตแล้ว

แอปฯ แรกที่เราอยากแนะนำให้สว.มีติดมือถือไว้จึงจะเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจาก ‘แอปฯ แว่นขยาย’ ที่จะช่วยให้คุณสามารถอ่านข้อความบนหน้าจอมือถือได้ชัดขึ้น หรือเวลาออกไปช็อปปิ้ง เกิดเจอฉลากสินค้าที่ตัวหนังสือเล็กกระจิดริด ก็สามารถเปิดแอปฯ เอากล้องไปส่องที่ตัวหนังสือ แล้วขยายเพื่ออ่านได้ง่ายๆ ไม่จำเป็นต้องล้วงกระเป๋าควานหาแว่นสายตาให้เสียเวลา การใช้งานแอปฯ แว่นขยายนี้ก็ง่ายแสนง่ายไม่ต่างจากการใช้กล้องถ่ายรูป และสำหรับผู้ที่ใช้ iPhone บางทีคุณอาจมีแอปฯ ที่ว่านี้ติดอยู่ในเครื่องอยู่แล้ว แค่ไม่เคยเปิดใช้เท่านั้น

อีกปัญหาหนึ่งที่ผู้สูงอายุมักพบเจอในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่อยู่บ้านตามลำพังในช่วงกลางวันขณะที่ลูกหลานออกไปทำงานนอกบ้าน คือ “เอ๊ะ กลางวันนี้ ฉันกินยาหรือยังนะ” หรือ “โอ้ย ยาเยอะแยะไปหมด อันไหนกินตอนไหน งงไปหมดแล้ว”

ถ้าสว.ท่านไหนกำลังเผชิญกับปัญหานี้ เชิญโหลดเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นแอปฯ MediSafe ของต่างประเทศ หรือแอปฯ ‘เตือนกินยา’​ (Remind Me) ฝีมือคนไทยของเราจากคณะแพทยศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยในการใช้งานแอปฯ ดังกล่าว ให้คุณถ่ายรูปยาชนิดต่างๆ ที่ต้องกินในแต่ละวัน บันทึกพร้อมข้อมูลการกินยา เช่น กินก่อนอาหาร/หลังอาหาร กินวันละเม็ด กินจนหมด ฯลฯ จากนั้นจึงตั้งเวลาที่แพทย์แนะนำให้กินยาชนิดนั้นๆ ไว้ ซึ่งเมื่อถึงเวลากินยาแต่ละชนิด แอปฯ ก็จะทำการแจ้งเตือน และเมื่อกินยาแล้ว ก็กด ‘กินยาแล้ว’ จะได้ไม่หลงลืมกินซ้ำเข้าไปอีก

อีกฟังก์ชันหนึ่งของแอปฯ ‘เตือนกินยา’ คือ ถ้าเกิดวันไหนผู้สูงอายุไม่ได้กินยาตามที่แอปฯ แจ้งเตือน (โดยมีการแจ้งเตือนแล้ว 5 ครั้ง แต่ไม่ได้กด ‘กินยาแล้ว’)​ แอปฯ จะทำการแจ้งเตือนไปยังลูกหลานหรือผู้ดูแล เพื่อให้รีบเช็กกับผู้สูงอายุที่บ้านอีกครั้ง แถมแอปฯ ยังช่วยบันทึกการนัดหมายแพทย์ให้ได้อีกด้วย ต้องมีแล้วนะคะสำหรับแอปฯ นี้

ในต่างประเทศให้ความสำคัญกับการฝึกสมองของผู้สูงอายุเพื่อรับมือกับภาวะสมองเสื่อมแค่ไหน ให้ดูที่จำนวนแอปฯ ฝึกสมองที่มีให้เห็นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Lumosity, BrainHQ, Elevate, Peak เป็นต้น ส่วนแอปฯ ฝึกสมองฝีมือคนไทยก็มี นั่นคือ MONICA โดยแอปฯ ดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นและฝึกสมองผู้สูงวัย ฝึกความจำ สมาธิ การเรียนรู้ การมองเห็น การตอบสนอง และการตัดสินใจ ผ่านเกมต่างๆ ที่ใช้งานได้ง่ายไม่ซับซ้อน เช่น เกมเปรียบเทียบภาพก่อนหน้ากับภาพที่เห็นอยู่ว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร 

นอกจากนั้น แอปฯ MONICA ที่พัฒนาขึ้นโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ยังสามารถใช้งานได้สองทาง คือ เล่นผ่านแอปฯ บนสมาร์ทโฟนหรือแท็ปเลต และเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่เป็นปุ่มกดแยกชิ้น ซึ่งเหมาะกับผู้สูงอายุที่นอกจากจะต้องการฝึกสมองแล้ว ยังได้รับการแนะนำจากแพทย์ให้ฝึกกล้ามเนื้ออีกด้วย

ที่สำคัญ แอปฯ MONICA ได้รับการออกแบบขนาดตัวอักษร ปุ่มกด ไอคอนต่างๆ และสี ให้ใช้งานได้ง่าย แม้ผู้สูงอายุที่ไม่เคยเล่นเกมมาก่อนก็สามารถเรียนรู้ได้ไม่ยาก สุดท้ายอีกสาเหตุหนึ่งที่เราอยากให้สว.มีแอปฯ ฝึกสมองติดมือถือไว้ก็คือ เมื่อเล่นเกมผ่านในแต่ละด่าน ผู้สูงวัยจะเกิดความมั่นใจใจตัวเองมากขึ้น ซึ่งช่วยให้สามารถตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้นด้วย

นอกจากปัญหาด้านสุขภาพแล้ว ภัยอีกอย่างหนึ่งที่ผู้สูงอายุมักตกเป็นกลุ่มเสี่ยงคือ ภัยจากมิจฉาชีพ โดยเฉพาะแกงค์คอลเซ็นเตอร์ที่มักเลือกผู้สูงอายุที่อยู่บ้านตามลำพังและโทรมาหลอกต่างๆ นานา เพราะฉะนั้นอีกหนึ่งแอปฯ ที่เราแนะนำให้สว.มีติดสมาร์ทโฟนไว้คือ แอปฯ WhosCall ที่จะช่วยระบุแหล่งที่มาของหมายเลขโทรศัพท์ที่เราไม่ได้บันทึกเอาไว้ในเครื่อง โดยแอปฯ จะช่วยแจ้งเราว่าเบอร์ดังกล่าวโทรมาจากบริษัทไหนหรือว่าใคร เช่น คนส่งของจาก Lazada, คนส่งของจาก Kerry, เบอร์จากธนาคาร หรือ เบอร์จากค่ายโทรศัพท์ เป็นต้น และถ้าเป็นเบอร์ที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นมิจฉาชีพ แอปฯ ก็จะขึ้นว่า ‘เบอร์โทรฯ น่าสงสัย’ เช่นเดียวกับข้อความที่จะขึ้นเตือนว่า ‘Spam’ หรือ ‘URL อันตราย’ ทำให้ผู้สูงอายุลดโอกาสเสี่ยงที่จะถูกมิจฉาชีพหลอก ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียทรัพย์สินจำนวนมาก

แอปฯ ที่จะช่วยเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่วัยชราด้วยข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นบทความเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ สถิติของโรคภัยที่เกิดกับผู้สูงอายุ อาชีพหลังวัยเกษียณ กองทุนและการออมเงิน กฎหมายที่ผู้สูงวัยควรรู้ (โดยใช้อินโฟกราฟิกง่ายๆ เข้ามาช่วยอธิบายเรื่องยุ่งยากให้เข้าใจง่ายขึ้น)​ สถานที่ท่องเที่ยวและที่พักที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุจากทั้ง 77 จังหวัด บริการขายสินค้าออนไลน์ และข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของทางรัฐ ที่สำคัญ ผู้สูงอายุยังสามารถยื่นขอและติดตามสถานะการขอรับสิทธิ/สวัสดิการในปัจจุบันที่เคยได้รับจากแอปฯ นี้ และอีกหนึ่งบริการที่สำคัญ คือ การโทรขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน

Gold by DOP เป็นแอปฯ จากกรมกิจการผู้สูงอายุ ข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องทางราชการหรือการลงทุนต่างๆ จึงมีความน่าเชื่อถือได้มาก ซึ่งเราคิดว่าหากผู้สูงวัยติดตามข้อมูลในแอปฯ นี้ ก็น่าจะช่วยลดปัญหาเรื่องการถูกมิจฉาชีพจากแหล่งอื่นหลอกได้ไม่มากก็น้อย

แถมท้ายด้วยแอปฯ สำหรับผู้สูงวัยที่กำลังประสบพบเจอกับโรคอัลไซเมอร์ หรือใครก็ตามที่รับบทผู้ดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ก็โหลดแอปฯ นี้มาใช้ด้วยได้เช่นกัน

360 AD Wellness คือแอปฯ ที่รวบรวมข้อมูลและบริการที่ครบในทุกด้านของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ไม่ว่าจะเป็น บริการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่รักษา โรงพยาบาล คลินิกเฉพาะทาง ศูนย์บริการผู้ป่วย เนอร์ซิงโฮม และบริการด้านสุขภาพอื่นๆ ที่สำคัญ ผู้ใช้ยังสามารถเลือกซื้อหรือจองบริการต่างๆ ผ่านแอปฯ ได้อีกด้วย

ในแอปฯ ยังมีบททดสอบ ABC Tracker ที่จะช่วยประเมินอาการผู้ป่วย โดยข้อดีก็คือ คุณสามารถเอาข้อมูลจากการประเมินนี้ไปให้แพทย์เพื่อวางแผนการดูแลผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนั้น 360 AD Wellness ยังคอยอัพเดตข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล เรียกว่าเป็นตัวช่วยให้คุณรับมือกับอัลไซเมอร์ได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และทันต่อเหตุการณ์มากขึ้น

แอปฯ ทั้งหมดที่ hhc Thailand นำมาฝากกันครั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดได้จาก App Store (สำหรับสมาร์ทโฟนระบบ iOS) และ Google Play (สำหรับสมาร์ทโฟนระบบ Android) และเราแนะนำให้ดาวน์โหลดจากสองแหล่งนี้เท่านั้น ไม่กดดาวน์โหลดตามลิงค์ต่างๆ ที่มีคนส่งมา และหากสว.ท่านไหนไม่มั่นใจในการติดตั้งแอปฯ อย่าลืมขอความช่วยเหลือจากลูกหลานและคนในครอบครัว

สุดท้าย เราขอแถมอีกสักนิดว่า อีกหนึ่งแอปฯ ที่มีประโยชน์ที่หลายคนมีอยู่แล้วในสมาร์ทโฟน แต่กลับไม่เคยใช้ นั่นคือ search engine อย่าง Google โดยเราสนับสนุนให้ผู้สูงอายุหัดใช้ search engine ให้มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อได้รับข้อความที่ส่งต่อๆ มากันทาง LINE หรือ Facebook อย่าเพิ่งปักใจเชื่อ เพราะอาจเป็นเฟคนิวส์ ให้ลองเสิร์ชหาแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้เสียก่อน แค่นี้ ถึงจะเป็นผู้สูงวัย แต่ก็ไม่ตกเป็นเหยือเฟคนิวส์แล้ว

– 

ที่มา:

md.kku.ac.th
elderlysociety.com
springnews.co.th
trsu.ac.th
nstda.or.th
whoscall.com
dop.go.th

บทความที่เกี่ยวข้อง