ลองดูซิว่า คุณเป็นคนแบบไหน?
– เจองานเร่งงานด่วน จะต้องส่งพรุ่งนี้แล้ว แต่ก็ยังทำไม่เสร็จ
คุณ…
(A) ชิลๆ ค่อยๆ ทำไป วางแผนไว้แล้ว อาจจะดึกหน่อย แต่ยังไงก็เสร็จทันแน่นอน
(B) ลนลาน ยิ่งรีบยิ่งทำผิดพลาดไปหมดเลย
– แม่บอกให้แวะซื้อไข่มาแผงนึง แต่คุณงานยุ่งซะจนลืม พอกลับมาบ้านมือเปล่าก็ถูกแม่ต่อว่าดราม่าใหญ่โต
คุณ…
(A) ขอโทษแม่ อธิบายด้วยเหตุผลว่าทำไมคุณถึงลืม และจะรีบซื้อให้พรุ่งนี้
(B) หงุดหงิดรำคาญใจ กะอีแค่ไข่แผงนึงจะดราม่าอะไรกันนักหนา ออกไปทำงานนะไม่ได้ไปเที่ยว
– คุณได้เลื่อนตำแหน่งในบริษัท คุณโพสต์ลง Facebook มีเพื่อนๆ เข้ามาแสดงความยินดี แต่ไม่มากนัก
คุณ…
(A) ภูมิใจในตัวเองที่ทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ มีความสุขกับทุกคอมเมนต์แสดงความยินดี
(B) เริ่มไม่แน่ใจว่าความสำเร็จนี้ดีจริงหรือเปล่า เพราะถ้ามันดีจริง ทำไมคนมา like น้อยจัง
ถ้าคุณเป็นคนประเภท (A) ขอแสดงความยินดีด้วย เพราะคุณจัดว่ามี EQ สูง แต่ถ้าเป็นประเภท (B) เอ่อ… เอาเป็นว่า คุณต้องอ่านบทความนี้แล้วล่ะ!
รู้จัก EQ ความฉลาดทางอารมณ์
EQ ย่อมาจาก Emotional Quotient หรืออีกคำที่เป็นที่รู้จักมากกว่า คือ Emotional Intelligence หมายถึง ความฉลาดทางอารมณ์ หรือความสามารถในการรับรู้และเข้าใจอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น และใช้ความเข้าใจนั้นมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งก็คือคนประเภท (A) ในแบบทดสอบตัวอย่างด้านบนนั่นเอง
EQ สำคัญอย่างไร?
ในขณะที่ IQ (Intelligence Quotient) หรือความฉลาดทางสติปัญญา ช่วยให้เราเรียนจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำและนำทางไปสู่อาชีพการงานในองค์กรที่มั่นคงได้ แต่การจะก้าวขึ้นสู่ความสำเร็จอย่างแท้จริงนั้น จำเป็นต้องอาศัย EQ ด้วย เพราะนอกจาก EQ จะช่วยให้เราวางตัวในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมแล้ว ก็ยังช่วยให้เราสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน รวมทั้งคนที่มี EQ สูง จะมีอิทธิพลที่ดีต่อผู้คนรอบข้าง ทำให้เกิดทีมเวิร์คที่แข็งแกร่ง และสามารถพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้
ไม่เพียงแค่ความสำเร็จทางการงานเท่านั้น แต่งานวิจัยหลายชิ้นยังยืนยันว่า คนที่มี EQ สูงจะมีสุขภาพจิตที่ดี มีความสัมพันธ์ที่แข็งแรง และมีความสุขกับชีวิต ซึ่งก็คือการประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิตนั่นเอง
สร้าง EQ ให้แข็งแกร่งด้วยตัวเอง
บางคนมี EQ ระดับสูงมาตั้งแต่เกิด ส่วนบางคนอาจไม่ได้เกิดมาพร้อม EQ ชั้นเยี่ยมแบบนั้น แต่ข่าวดีก็คือ EQ เป็นสิ่งที่คุณสามารถฝึกฝนและเสริมสร้างความแข็งแกร่งได้ โดยในการฝึกนั้น คุณต้องฝึก EQ ให้ครบถ้วนตามองค์ประกอบทั้ง 5 ข้อของ EQ ที่มีดังต่อไปนี้
- การตระหนักรู้อารมณ์ของตัวเอง (Self-awareness)
ถ้าเป็นภาษาทางพุทธก็คงจะประมาณว่า “การรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง” รู้ตัวว่าคุณเกิดอารมณ์โกรธ เกลียด อิจฉาริษยา ฯลฯ ขึ้นเมื่อไร และอารมณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร เมื่อคุณตระหนักรู้อารมณ์ของตัวเอง คุณจะรอบคอบกับการแสดงออกทางอารมณ์หรือพฤติกรรมของตัวเองมากขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับกาลเทศะ
วิธีฝึก Self-awareness: เขียนบันทึกประจำวัน
หาเวลาอย่างน้อยสัก 10-20 นาทีในแต่ละวัน นั่งลงนิ่งๆ แล้วเขียนบันทึกว่า มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นกับคุณบ้างในวันที่ผ่านมา คุณรู้สึกอย่างไรกับมัน และคุณจัดการกับมันอย่างไร การบันทึกความรู้สึกและการกระทำของคุณลงเป็นถ้อยคำ จะทำให้คุณเข้าใจตัวเองได้ดีขึ้น โดยคุณอาจย้อนกลับมาอ่านทีหลังเพื่อทำความเข้าใจให้ถี่ถ้วนขึ้นกว่าครั้งแรกที่เขียนก็เป็นได้ แต่ที่สำคัญ คุณต้องยอมรับออกมาตรงๆ ว่าคุณรู้สึกอย่างไร ไม่จำเป็นต้องปิดบัง เพราะไม่มีอารมณ์ไหนที่ผิดหรือถูก จำไว้ว่าคุณก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง
- การควบคุมตัวเอง (Self-regulation)
คนที่มี EQ สูง จะรู้จักควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ดีในทุกสถานการณ์ เช่น เมื่อรู้สึกโกรธ เขาจะรู้ตัวว่าตัวเองกำลังโกรธและปลีกตัวออกจากผู้คนเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ จากนั้นจึงไปจัดการอารมณ์โกรธของตัวเองในพื้นที่ส่วนตัวด้วยวิธีที่เหมาะสม นอกจากนั้น การควบคุมตัวเองยังหมายถึงความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ที่กดดัน การจัดการกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตรงหน้า และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
วิธีฝึก Self-regulation: กำหนดลมหายใจ
การฝึกกำหนดลมหายใจ (แบบเดียวกับการนั่งสมาธิ) เป็นประจำจะช่วยให้คุณมีสติ และ “คิด” ก่อนที่จะลงมือ “ทำ” เสมอ เมื่อคุณโกรธ ให้กำหนดลมหายใจเข้าออกและจดจ่อสมาธิอยู่กับลมหายใจ คล้ายๆ การนับ 1-10 นอกจากนั้น ลองพยายามเปลี่ยนความโกรธให้กลายเป็นแรงขับในการสร้างสรรค์บางสิ่งบางอย่างดู ถ้าทำได้ ก็เท่ากับคุณพลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสเลยทีเดียว
- แรงจูงใจ (Motivation)
แรงจูงใจจะทำให้คุณปรารถนาจะพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ แม้ว่าคุณจะประสบความสำเร็จในขั้นหนึ่งแล้ว คุณก็ยังอยากจะเดินหน้าต่อไปเพื่อเป้าหมายที่สูงกว่า แต่จำไว้อย่างหนึ่งว่า แรงจูงใจที่ดีไม่ใช่ความต้องการจะมีชื่อเสียง เงินทอง หรือการยอมรับ แต่เพราะคุณอยากจะเติบโตให้มากขึ้นต่างหาก
วิธีฝึก Motivation: ตั้งเป้าหมาย
หยิบปากกากระดาษขึ้นมา แล้วเขียนลงไปว่าในอีกสิบปีข้างหน้า คุณวางแผนอะไรไว้ให้ตัวเองบ้าง ตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้ ไม่ชวนฝันหรือเกินเอื้อมจนเกินไป ที่สำคัญ เป้าหมายเหล่านั้นควรเป็นเรื่องที่มีความหมายสำหรับคุณ และเมื่อคุณทำสิ่งที่ตั้งใจไว้แต่ละข้อสำเร็จเมื่อไร อย่าลืมให้รางวัลตัวเองด้วย
- ความเข้าใจผู้อื่น (Empathy)
เมื่อไรที่คุณเข้าอกเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น หรือที่เรียกกันว่า “ใจเขาใจเรา” นั่นหมายความว่า คุณไม่ใช่คนเห็นแก่ตัว และคุณก็มีแนวโน้มว่าจะไม่ด่วนตัดสินผู้คน แต่มักจะเอาประสบการณ์ของคุณเองมาปรับใช้เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์และความรู้สึกที่คนอื่นกำลังเผชิญอยู่ แล้วขอแอบกระซิบไว้เลยว่า คนที่มี Empathy มักเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในเรื่องความสัมพันธ์
วิธีฝึก Empathy: มองออกไป “ข้างนอก”
คุณต้องหยุดหมกมุ่นกับตัวเองเป็นอย่างแรก แล้วหันเหความสนใจไปยังสิ่งแวดล้อมภายนอก ลองมองดูผู้คนรอบข้าง สังเกตสีหน้าและแววตาของพวกเขา คุณยังอาจพูดคุยกับคนแปลกหน้าที่พบเจอ โดยพยายามเปิดใจ “รับฟัง” ปล่อยให้พวกเขาได้เล่าเรื่องของตนเองออกมา อย่าขัดจังหวะ อย่าด่วนตัดสิน หรือหากมีโอกาสมากกว่านั้น คุณอาจไปเป็นอาสาสมัครตามโครงการต่างๆ ที่คุณสนใจ หรือเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ที่คุณไม่เคยไปมาก่อน เพื่อเรียนรู้ผู้คนและวัฒนธรรมใหม่ๆ ยิ่งคุณได้รู้จักผู้คนหลากหลายมากเท่าไร คุณก็ยิ่งได้สะสมประสบการณ์ที่จะทำให้คุณเข้าอกเข้าใจคนอื่นได้มากขึ้นเท่านั้น
- ทักษะในการเข้าสังคม (Social skill)
ทักษะในการเข้าสังคมมีความหมายค่อนข้างกว้าง ทั้งทักษะในการสื่อสาร การบริหารจัดการปัญหา การรับมือกับความเปลี่ยนแปลง การพบปะผู้คนใหม่ๆ รวมไปถึงความสามารถในการเป็นผู้นำ
วิธีฝึก Social skill: เข้าสังคม
ใช่แล้ว วิธีการฝึกทักษะการเข้าสังคมก็คือคุณต้องออกจากบ้านไปเข้าสังคม! เช่น แทนที่จะไลน์ไปคุยกับเพื่อน คุณอาจนัดเพื่อนออกไปกินข้าวข้างนอก จะได้พูดคุยกันตัวต่อตัว และคุณก็จะมีโอกาสฝึกการรับฟัง การพูดคุยโดยใช้ภาษากายประกอบ การสบตาคู่สนทนา ฯลฯ หรือถ้าจะให้ดีกว่านั้น หาโอกาสพาตัวเองไปเข้าสังคมใหม่ๆ รู้จักผู้คนใหม่ๆ ด้วย
ไม่ยากเกินไปใช่ไหมกับการฝึก EQ ด้วยตัวเอง 5 ข้อนี้ ลองฝึกวันละนิดก็น่าจะเป็นประโยชน์กับตัวคุณเองมากขึ้น เพราะอย่างที่บอก EQ ไม่ได้ช่วยให้คุณประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเท่านั้น แต่ยังทำให้คุณมีความสัมพันธ์ที่แข็งแรงและมีความสุขกับชีวิตอีกด้วย
–
แปลและเรียบเรียงจาก:
psychcentral.com
rochemartin.com