ความร่วมมือในงานวิจัยของผู้สูงวัย ด้านความปลอดภัยในการขับขี่

hhc Activities

บริษัทฮอนด้า, บริษัทเอไซ, มหาวิทยาลัยโออิตะ และสมาคมแพทย์เมืองอุสึกิ กับภารกิจร่วมวิจัยเพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนนจากผู้ขับขี่สูงวัยในญี่ปุ่น

เมื่อเดือนกันยายน ปี 2566 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น ได้เปิดเผยตัวเลขจำนวนประชากรกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป โดยระบุว่ามีมากถึง 36.27 ล้านคน ด้วยแนวโน้มของจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2513 กระทั่งเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่เมื่อปี 2550 หรือเมื่อ 17 ปีก่อน นอกจากจะส่งผลกระทบทั้งในแง่ของเศรษฐกิจภายในประเทศ ระบบสวัสดิการรัฐ รวมถึงงานด้านสาธารณสุขที่ไม่สามารถให้บริการด้านการแพทย์ได้อย่างเพียงพอแล้ว อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ประเทศญี่ปุ่นกำลังเผชิญคือ ‘ปัญหาผู้สูงวัยกับการขับรถยนต์’

เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ความชราจะมาพร้อมกับความเสื่อมถอยของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย อายุที่มากขึ้นส่งผลต่อปฏิกิริยาตอบสนองที่ช้าลงตามมา ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้งจากการขับรถของผู้สูงวัย เมื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเหล่านี้เกิดขึ้น ผู้ขับขี่เหล่านี้จึงเริ่มสมัครใจที่จะส่งคืนใบขับขี่ให้แก่ภาครัฐด้วยความกังวลเกี่ยวกับสภาพร่างกายและความสามารถในการขับขี่ของตัวเอง รวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของร่างกายที่อาจนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ต่ำลง อันเป็นผลมาจากความไม่สะดวกสบายที่กลุ่มคนสูงวัยต้องเผชิญระหว่างการเดินทางในชีวิตประจำวัน

เมื่อปัญหาสร้างทางออก

ในขณะที่มีความพยายามที่จะสร้างมาตรการ การกำหนดนโยบาย และออกกฎหมายจากทางภาครัฐเพื่อความปลอดภัยต่างๆ อาทิ การกำหนดให้ผู้ขับขี่ที่มีอายุมากกว่า 75 ปี จะต้องได้รับการทดสอบทุกๆ 3 ปี ก่อนจะทำการต่อใบขับขี่ใบใหม่ได้ หรือการเลิกขับขี่รถยนต์ในผู้สูงอายุจะได้รับการอำนวยความสะดวกจากรัฐบาล เช่น การได้รับส่วนลดค่าแท็กซี่และรถประจำทาง เป็นต้น

ขณะที่ภาคเอกชนเองก็มีการร่วมมือเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างทางออกให้กับปัญหาดังกล่าวเช่นเดียวกัน ล่าสุด บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด (Honda), บริษัท เอไซ จำกัด (Eisai Co., Ltd.) มหาวิทยาลัยโออิตะ (Oita University) และสมาคมแพทย์เมืองอุซุกิ (Usuki City Medical Association) ได้ทำข้อตกลงในการวิจัยร่วมเพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานขั้นสูงของสมอง ความเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกายประจำวัน และความสามารถในการขับขี่ของกลุ่มคนสูงวัย โดยมีเป้าหมายคือการสร้างสังคมผู้ขับขี่กลุ่มดังกล่าวให้สามารถรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยบนท้องถนนและสุขภาพของตัวเองได้อย่างมีประสิทธภาพ

นอกจากการดูแลและปรับปรุงด้านความปลอดภัย ตลอดจนสุขภาพของผู้ขับขี่สูงวัยผ่านการตรวจสอบสภาพร่างกายประจำวัน รวมไปถึงสภาวะทางกายภาพขณะขับขี่ของพวกเขาอย่างต่อเนื่องแล้ว แนวทางดังกล่าวยังจะช่วยนำมาซึ่งความปลอดภัยของชีวิตและความสบายใจของผู้ขับขี่เหล่านี้ อีกทั้งยังทำให้ครอบครัวและสมาชิกภายในชุมชนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างไร้กังวล โดยมีการสร้างสังคมไร้อุบัติเหตุเป็นอีกหนึ่งจุดมุ่งหมายสำคัญของการร่วมมือกันในครั้งนี้ด้วย

แนวทางการขับเคลื่อนโครงการวิจัย

ในส่วนของการเก็บข้อมูลทางสุขภาพ การตรวจสุขภาพ และการทดสอบการทำงานขั้นสูงของสมองของอาสาสมัครวิจัยจำนวน 100 คน ที่มีอายุ 65 ปี หรือผู้สูงวัยที่อาศัยในเมืองอุซุกิ จังหวัดโออิตะ ประเทศญี่ปุ่น จะดําเนินการ ณ ศูนย์การจัดการสุขภาพพลเมือง โดยสมาคมการแพทย์เมืองอุซุกิ (Usuki City Medical Association Citizen’s Health Management Center) ในขณะที่แผนกประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยโออิตะจะรับหน้าที่ดูแลและจัดการการทดสอบการทำงานขั้นสูงของสมอง โดยการทดสอบดังกล่าวจะครอบคลุมไปถึงการตรวจประเมินทางประสาทจิตวิทยาและการสร้างภาพสมองเพื่อการวินิจฉัยทางคลินิก นอกจากนี้ ยังมีการใช้เครื่องมือดิจิตอลสําหรับการประเมินสุขภาพสมองด้วยตนเองซึ่งพัฒนาโดยเอไซ บริษัทผู้นำด้านการวิจัยและพัฒนายาชั้นนำของโลก ในขณะเดียวกัน อาสาสมัครวิจัยจะใช้อุปกรณ์ที่สามารถสวมใส่ได้เพื่อทำการวัดข้อมูลสภาพร่างกายประจําวันของตัวเองด้วย

สำหรับโรงพยาบาลคอสมอส ภายใต้สมาคมการแพทย์เมืองอุซุกิ (Usuki City Medical Association Cosmos Hospital) ได้รับหน้าที่ในการวัดความสามารถในการขับรถ (ซึ่งครอบคลุมในเรื่องพฤติกรรมความคิดเกี่ยวกับการขับรถและการปฏิบัติในการขับรถจริง) โดยจะนำเครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยีการวิจัยและพัฒนาโดยบริษัทฮอนด้ามาเป็นอุปกรณ์สำคัญในการตรวจสอบพฤติกรรมการขับขี่ สภาพร่างกาย และสมองของผู้ขับรถสูงวัย ซึ่งด้วยวิธีการดังกล่าวจะช่วยให้สามารถตรวจสอบได้ว่าข้อมูลสุขภาพและสภาพร่างกายประจําวันของผู้ขับขี่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการขับรถอย่างไร

การร่วมมือกันในครั้งนี้ คาดการณ์ว่าจะช่วยให้การตรวจสอบสภาพร่างกายประจําวันและพฤติกรรมในการขับรถของผู้ขับขี่สูงวัยเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถนำไปสู่การตรวจพบและแจ้งเตือนผู้ขับขี่ที่มีสภาพร่างกายไม่พร้อมและมีภาวะความรู้คิดถดถอย ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการขับขี่ โดยแนวทางดังกล่าวยังมีเป้าหมายเพื่อให้คําแนะนําในเรื่องการขับขี่ปลอดภัย ตลอดจนการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมตามความเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกายและความสามารถในการขับขี่ของผู้ขับขี่แต่ละคนด้วยเช่นกัน

แม้การแก้ปัญหาเรื่องผู้สูงวัยกับการขับขี่อาจต้องใช้เวลาเพื่อหาทางออกร่วมกันระหว่างหลายภาคส่วน แต่บริษัทฮอนด้า บริษัทเอไซ มหาวิทยาลัยโออิตะ และสมาคมแพทย์เมืองอุซึกิจะยังคงทํางานอย่างแข็งขันและต่อเนื่องเพื่อค้นหาทางออกและความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยและความสงบสุขของผู้คนที่เกี่ยวข้องผ่านแนวทางและการพัฒนาที่เหมาะสมในแต่ละบุคคล โดยใช้ผลลัพธ์ที่ได้จากการวิจัยร่วมดังกล่าวต่อไป

บทความที่เกี่ยวข้อง