น้ำลาย คือของเหลวใสที่เกิดจากต่อมน้ำลาย (Salivary Gland) ภายในช่องปาก น้ำลายไม่ใช่ส่วนเกินของร่างกาย ไม่ใช่ของน่ารังเกียจเสมอไป แต่มันมีประโยชน์มากมาย และในทางกลับกันก็อาจเกิดโทษได้หากร่างกายขาดแคลน น้ำลายจึงเป็นสิ่งเล็กๆ ที่ไม่ควรมองข้ามสำหรับการดูแลสุขภาพด้วยเช่นกัน
วันนี้ ชีวิตดี by hhc thailand อยากชวนมาทำความรู้จักกับ ภาวะปากแห้งที่เกิดจากน้ำลายน้อย (Xerostomia) เพื่อจะได้รู้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร หากมีอาการปากแห้งเมื่อไหร่จะได้แก้ไขให้ถูกจุด และหยุดปากแห้งอย่างได้ผล
ภาวะปากแห้ง (Xerostomia) คืออะไร?
ภาวะปากแห้ง คือภาวะที่ร่างกายมีน้ำลายน้อยหรือน้ำลายแห้งผิดปกติ ส่งผลให้ปากขาดความชุ่มชื้น ลักษณะอาการที่อาจปรากฎให้เห็นได้ก็คือ ริมฝีปากแห้ง แตก ลอก ช่องปากแห้ง รู้สึกกระหายน้ำ มีแผลในปาก มีกลิ่นปาก เจ็บคอระคายคอ รวมไปถึงอาหารไม่ย่อย
ประโยชน์ของน้ำลายที่มากกว่าแค่ความชุ่มชื้น
น้ำลายประกอบด้วยน้ำประมาณ 99.5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือคือสารสำคัญต่างๆ ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายในหลายรูปแบบดังนี้
- ทำให้ปากชุ่มชื้น น้ำลายช่วยให้ปากชุ่มชื้น ไม่แห้งผาก เป็นสารหล่อลื่น ช่วยให้ฟันไม่กร่อนจากการเสียดสี และป้องกันการบาดเจ็บหรืออักเสบของเนื้อเยื่อภายในช่องปาก โดยเฉพาะเวลาที่เราเคี้ยวและกลืนอาหาร หรือในเวลาที่เราพูดคุยส่งเสียงต่างๆ ซึ่งจะต้องมีการเคลื่อนไหวฟัน ลิ้นและกล้ามเนื้อต่างๆ ภายในช่องปากอยู่ตลอด หากไม่มีน้ำลาย การเคลื่อนไหวเหล่านี้ก็คงทำไม่ได้เต็มที่ เราคงพูดหรือกินอาหารไม่ถนัด หรืออาจบาดเจ็บติดเชื้อได้ง่าย
- ช่วยในการรับรสชาติ ถ้าไม่มีน้ำลายเราคงกินอาหารไม่อร่อยเท่านี้ เพราะน้ำลายจะทำงานสัมพันธ์กับปุ่มรับรสในปากของเรา คนที่มีภาวะน้ำลายน้อยหรือน้ำลายแห้งจึงมักมีความผิดปกติในการรับรสชาติ
- มีเอนไซม์ช่วยย่อยอาหาร ในน้ำลายมีเอนไซม์พิเศษที่ช่วยย่อยอาหาร โดยเอนไซม์ที่สำคัญคือ อะไมเลส (Amylase) ช่วยย่อยแป้งในอาหารให้เป็นน้ำตาล เพื่อให้ร่างกายสามารถดูดซึมได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังมีเอนไซม์ไลเปส (Lipase) ซึ่งช่วยในการย่อยไขมัน น้ำลายถือเป็นด่านสำคัญของระบบย่อยอาหารก่อนที่จะส่งต่อไปยังกระเพาะอาหารและลำไส้
- มีสารฆ่าเชื้อตามธรรมชาติ น้ำลายประกอบด้วยสารฆ่าเชื้อ (Antibody) ตามธรรมชาติ ได้แก่ สารอิมมูโนโกลบูลินเอ (Immunoglobulin A) แลคโตเฟอริน (Lactoferrin) และแลคโตเพอร์ออกซิเดส (Lactoperoxidase) สารเหล่านี้นี่เองที่ช่วยให้เราสามารถรักษาตัวเองได้เวลามีแผลในปาก (แต่หากเป็นแผลขนาดใหญ่มากก็อาจไม่เพียงพอ ต้องใช้ตัวยามาช่วย)
- ช่วยรักษาสุขภาพปากและฟัน น้ำลายมีสารที่ช่วยควบคุมความเป็นกรดเป็นด่างที่เหมาะสมในช่องปาก โดยช่องปากที่มีความสมดุลสุขภาพดีจะมีความเป็นกรดด่างอยู่ที่ประมาณ pH 6.2 – 7.4 ในกรณีที่ช่องปากมีความเป็นกรดสูง ก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคฟันผุ หรือฟันผุกร่อนง่าย แต่หากมีความเป็นด่างสูง ก็อาจทำให้เกิดหินปูน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคเหงือก และการมีกลิ่นปากตามมา นอกจากนี้ในน้ำลายยังมีสารโปรตีนที่ชื่อว่า ไกลโคโปรตีน ซึ่งทำหน้าที่เป็นเหมือนเป็นแผ่นฟิล์มเคลือบผิวฟัน ช่วยป้องกันไม่ให้ฟันของเราสูญเสียแร่ธาตุที่จำเป็น
ภาวะปากแห้งเกิดจากอะไร? เช็คก่อนแก้ไขให้ถูกจุด
ภาวะปากแห้งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้น ถ้าอยากรักษาให้หาย ก็ต้องแก้ไขให้ถูกจุด
- พฤติกรรมการใช้ชีวิต
ภาวะปากแห้งที่พบส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรานั่นเอง โดยเฉพาะการดื่มน้ำน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ยิ่งถ้าเป็นช่วงที่ร่างกายอยู่ในภาวะเสียน้ำมากกว่าปกติ เช่น เหงื่อออก หรือท้องเสีย ยิ่งต้องการน้ำมากกว่าปกติ นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ก็ทำให้เกิดภาวะปากแห้งได้ เพราะส่งผลให้ต่อมสร้างน้ำลายลดประสิทธิภาพลง รวมถึงการอ้าปากบ่อยๆ ในขณะสูบบุหรี่ก็ทำให้ปากแห้งด้วย การอ้าปากบ่อยจนมีภาวะปากแห้งยังพบในผู้ที่มีพฤติกรรมหายใจทางปาก ซึ่งอาจเกิดจากความเคยชิน หรือเกิดจากอาการคัดจมูกจนไม่สามารถหายทางจมูกได้ตามปกติ
- อายุ
ผู้สูงอายุมักเกิดภาวะปากแห้งได้ง่ายกว่าวัยอื่น อันเนื่องมาจากการเสื่อมสภาพตามวัย ทำให้ร่างกายหย่อนประสิทธิภาพ เกิดการเจ็บป่วยง่าย บางคนมีโรคประจำตัวที่ต้องใช้ยาเพื่อรักษาเป็นประจำ จึงมักเกิดภาวะปากแห้งจากที่เป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา
- ผลข้างเคียงจากความเจ็บป่วยและการรักษา
ความเจ็บป่วยและการรักษาด้วยยาอาจส่งผลให้เกิดอาการปากแห้งได้ (ร่วมกับอาการอื่นๆ) เช่น โรคเบาหวาน อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน อาการติดเชื้อภายในช่องปาก หรือการกระทบกระเทือนที่ศรีษะจนกระทบเส้นประสาท นอกจากนี้อาจเกิดจากกระบวนการรักษาโรค เช่น การทำเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งอาจไปกระทบการทำงานของต่อมน้ำลาย หรือการผ่าตัดเส้นประสาทอาจไปกระทบเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของต่อมน้ำลายก็ได้เช่นกัน
วิธีป้องกันและรักษา
- อย่าปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ ควรดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งวัน อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว หรือประมาณ 1.5 ลิตร และเฝ้าระวังเป็นพิเศษเมื่ออยู่ในภาวะที่เสียน้ำมากกว่าปกติ (ป้องกันการเกิดอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ด้วย)
- ลดหรืองดการสูบบุหรี่
- รักษาอาการคัดจมูกให้ถูกจุด เช่น โรคภูมิแพ้ หรือโรคหวัด เพื่อหลีกเลี่ยงการหายใจทางปาก
- รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการกินอาหารที่ดีต่อร่างกาย ได้สารอาหารที่สมดุล หมั่นออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้ผ่อนคลายไม่เครียดกังวล ร่างกายที่แข็งแรงช่วยชะลอความเสื่อม และลดโอกาสเกิดโรคและความเจ็บป่วยได้
- หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ และปฎิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการกินยา และเฝ้าระวังผลข้างเคียงของยา
- ไม่ควรลอกหรือแกะผิวหนังริมฝีปากที่แตกแห้งโดยตรง เพราะอาจเกิดแผลและการอักเสบติดเชื้อ วิธีที่แนะนำคือใช้สำลีชุบน้ำอุ่นเช็ดริมฝีปากเบาๆ หรือนวดวนเบาๆ จนกว่าส่วนที่แตกแห้งนั้นจะอ่อนนุ่ม จนสามารถเช็ดให้หลุดออกมาโดยง่าย และหมั่นบำรุงรักษาริมฝีปากให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอด้วยการทาลิปบาล์มหรือลิปมันที่ไม่มีสารที่เป็นอันตรายต่อริมฝีปากเรา
ภาวะปากแห้งหรือน้ำลายแห้งโดยตัวโรคเองนั้นไม่ได้รุนแรงหรือเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่เราก็ไม่ควรมองข้ามไปง่ายๆ เพราะถ้าปล่อยไว้มันอาจส่งผลเสียในระยะยาว นอกจากปัญหาสุขภาพแล้วก็อาจทำให้เราเสียบุคลิกภาพ ขาดความมั่นใจในตัวเอง และรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้อีกด้วย
–