วัฒนธรรมการตอกบัตรเข้าทำงานแบบ 9-5 (nine to five) กำลังค่อยๆ หมดความนิยมลง โดยเฉพาะในกลุ่มเจเนอเรชัน Millennials ที่ปรารถนาจะมีสมดุลชีวิตที่ดีกว่าการเสียเวลานั่งอยู่ในออฟฟิศวันละ 8-9 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 5 วัน ยิ่งหลังจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เรารู้จักและคุ้นเคยกับการ Work From Home ด้วยแล้ว เราก็ยิ่งรู้ว่าเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้เราทำงานหรือประชุมจากที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ร้านกาแฟ หรือโรงแรมระหว่าง staycation ไม่เห็นต้องตื่นเช้า ฝ่ารถติดออกไปทำงาน ก่อนจะสะโหลสะเหลกลับถึงบ้านมาสลบเหมือดในตอนค่ำเลย
พร้อมๆ กับวัฒนธรรม WFH ที่จะลดวันเข้าออฟฟิศลงแล้ว ยังมีอีกอย่างที่คนทำงานใฝ่ฝันกัน นั่นคือ การลดจำนวนชั่วโมงการทำงานลง นี่ไม่ใช่เรื่องของคนขี้เกียจหรือว่าเป็นไปไม่ได้ แต่มันเป็นไปได้ แล้วก็น่าจะเป็นไปได้ดีด้วย เพราะงานวิจัยหลายชิ้น รวมทั้งจากมหาวิทยาลัย Stanford พบว่า ชั่วโมงการทำงานที่น้อยลงจะช่วยให้คนเรามีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น โดยเฉพาะถ้าชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ได้ทะลุเกิน 55 ชั่วโมงไปแล้ว สมรรถภาพในการทำงานจะลดลงอย่างมาก ที่สำคัญ คนที่ทำงาน 9-5 นั้น จริงๆ แล้ว ใช้เวลาทำเรื่องไม่เป็นเรื่องอยู่ในออฟฟิศซะเยอะ และทำงานจริงๆ แค่ 2 ชั่วโมง 53 นาทีต่อวันเท่านั้น!
ใช่แล้ว คุณอ่านไม่ผิดหรอก คุณสามารถจะใช้เวลาทำงานน้อยลง แต่ได้งานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ (work less, get more done) แต่จะทำให้ได้อย่างนี้ …คุณก็ต้องมีเคล็ดลับด้วย
(1) กำหนด Deadline
อย่างแรก กำหนดเดดไลน์ในการทำงานแต่ละชิ้นให้ตัวเองและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด การกำหนดเดดไลน์จะบังคับให้คุณมุ่งมั่นว่าจะต้องทำงานให้เสร็จตามกำหนดเวลาที่ตั้งไว้ให้ได้ คุณจะมีสมาธิจดจ่อกับการทำงานมากขึ้น (เพราะถ้าคุณมีเวลาเหลือเฟือสำหรับงานชิ้นหนึ่งและไม่ได้บอกตัวเองว่าต้องทำให้เสร็จภายในวันนี้ คุณก็มีแนวโน้มจะเอ้อระเหย เช็คอีเมล เล่นเฟสบุ๊กโน่นนี่ มากกว่าที่จะโฟกัสกับงานจริงๆ) หากคุณกำลังทำโปรเจ็กต์ใหญ่ที่มีรายละเอียดและกระบวนการมากมาย ให้แบ่งการทำงานทั้งหมดออกเป็นส่วนย่อยๆ และกำหนดเดดไลน์สำหรับแต่ละส่วนย่อยนั้น อย่างไรก็แล้วแต่ สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ เดดไลน์ที่ว่าต้องเหมาะสมและเป็นไปได้ด้วย อย่ากดดันตัวเองเกินไปด้วยเดดไลน์ที่กระชั้นชิด และอย่าปล่อยตัวตามสบายตั้งเดดไลน์ไว้หนึ่งสัปดาห์ ถ้าจริงๆ แล้วคุณสามารถทำงานนั้นเสร็จได้ภายในสามวัน
(2) เหนื่อยให้พัก ค่อยทำเมื่อพร้อม
เวลาที่คุณง่วง เหนื่อย อ่อนเพลีย แน่นอนว่า สมรรถภาพในการทำงานจะลดลง และมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดความผิดพลาดมากขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นไม่มีประโยชน์อะไรที่จะฝืนถ่างตานั่งทำงาน นอกจากจะไม่ได้งานที่ดีแล้ว ยังเสียเวลาไปเปล่าๆ คุณควรพักผ่อนให้เต็มที่และเตรียมร่างกายให้พร้อมกับการทำงานอยู่เสมอด้วยการนอนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ และใช้เวลาว่างทำงานอดิเรกที่ดีต่อใจบ้าง เมื่อไรก็ตามที่ร่างกายของคุณสมบูรณ์ คุณจะเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์ เคล็ดลับอีกอย่างคือ ควรแยกเวลาทำงานออกจากเวลาพักผ่อนให้ชัดเจน เช่น เวลาทำงาน คุณจะไม่วอกแวกไปนั่งไถหน้าจอมือถือ และเวลาพักผ่อนนอนดู Netflix อยู่กับบ้าน คุณจะไม่เช็คอีเมลเรื่องงาน
(3) ตื่นนอนเวลาเดิมทุกวัน
การตื่นนอนในเวลาเดิมทุกวัน รวมทั้งวันหยุด จะทำให้ร่างกายคุ้นชินกับตารางเวลาการตื่นนอนและชั่วโมงการทำงาน ดังนั้นเมื่อคุณเริ่มนั่งลงบนโต๊ะทำงาน เปิดคอมพ์ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เป็นเครื่องมือการทำงานของคุณ นาฬิกาในตัวของคุณจะเปิดสวิทช์ตามเวลาที่คุ้นเคย ร่างกายจะกระปรี้กระเปร่า สมองปลอดโปร่ง พร้อมทำงานอย่างเต็มที่ ในทางตรงกันข้าม หากคุณนอนตื่นสายโด่งในวันหยุดสุดสัปดาห์ เมื่อกลับมาเริ่มทำงานในวันจันทร์ นาฬิกาในตัวคุณจะงงงวย นี่คือสาเหตุว่าทำไมหลายคนจึงรู้สึกว่าวันจันทร์ช่างยาวนานและทำงานอะไรไม่สำเร็จเลยสักอย่าง
(4) ตื่นเช้าขึ้นอีกสักนิด ให้เวลาตัวเองอีกสักหน่อย
Dr.Travis Bradberry แพทย์ผู้ร่วมก่อตั้ง TalentSmart องค์กรชั้นนำของโลกที่ให้บริการฝึกอบรมและให้คำปรึกษาด้าน EQ กล่าวว่า จิตใจของเราจะเข้าสู่ภาวะที่ทำงานได้อย่างดีเยี่ยมในช่วง 2-4 ชั่วโมงหลังตื่นนอน ดังนั้นถ้าเราตื่นเช้าขึ้นอีกสักนิด และใช้เวลาช่วงเช้าทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ให้เรียบร้อย รวมทั้งทำกิจกรรมที่รื่นรมย์ ไม่ว่าจะเป็น รับประทานอาหารเช้า รดน้ำต้นไม้ เดินเล่นกับหมา เล่นกับลูกๆ ฯลฯ ก็จะยิ่งเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับชั่วโมงการทำงานที่รออยู่ได้อย่างยอดเยี่ยม
(5) จัดแบ่งเวลาทำงานบ้านให้พอดี
วันหยุดเสาร์อาทิตย์ของใครหลายคนคือการสะสางงานบ้านกองโต ไม่ว่าจะกวาดบ้าน ถูบ้าน ซักผ้า รีดผ้า ฯลฯ นี่คือเรื่องปกติธรรมดา แต่ถ้าคุณใช้เวลาในวันหยุดที่มีทั้งหมดไปกับงานบ้านเหล่านี้ก็เท่ากับว่าคุณจะไม่ได้พักเลยตลอดทั้งสัปดาห์ และถ้าคุณไม่ได้พักเลย เมื่อกลับไปทำงาน คุณก็จะอ่อนล้า ทำอะไรออกมาไม่ได้ดีสักอย่างเดียว เพราะฉะนั้นคุณควรจัดตารางการทำงานบ้านให้พอเหมาะพอเจาะ เผื่อเหลือเวลาไว้สำหรับเที่ยวเล่นพักผ่อนหย่อนใจหรือทำงานอดิเรกที่คุณหลงใหลด้วย และหากคุณไม่สามารถทำงานบ้านทั้งหมดให้เสร็จตามตารางเวลาที่วางไว้ ก็ผ่อนผันเก็บไปทำต่อในสัปดาห์ต่อไป อย่าไปเคร่งเครียดกับมันนัก
(6) ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายไม่เพียงช่วยลดความเครียดเท่านั้น แต่ยังทำให้สมองปลอดโปร่ง พร้อมสำหรับไอเดียใหม่ๆ ตลอดเวลา ลองหากิจกรรมการออกกำลังกายที่คุณชอบ (ถ้าเป็นไปได้กิจกรรมกลางแจ้งจะดีมาก) ไม่ว่าจะ วิ่ง ปั่นจักรยาน เซิร์ฟ เล่นเทนนิส เล่นกอล์ฟ หรือแม้แต่การออกกำลังกายด้วยการทำสวน แล้วคุณจะรู้ว่าเมื่อถึงเวลาทำงาน คุณจะรู้สึกสดชื่นกว่าเดิมเป็นกอง หรือบางครั้งไอเดียดีๆ ก็เกิดขึ้นระหว่างที่คุณออกไปใช้ชีวิตกลางแจ้งนั้นด้วย
(7) ทบทวนผลงาน
ถึงเราจะแนะนำให้คุณใช้เวลาส่วนมากในวันเสาร์อาทิตย์ไปกับการพักผ่อน อยู่กับครอบครัว ออกกำลังกาย และทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ แต่คุณก็ควรแบ่งเวลาว่างสักชั่วโมงสองชั่วโมงมานั่งพิจารณาทบทวนถึงการทำงานในสัปดาห์ที่ผ่านมา แล้ววิเคราะห์ภาพรวมดูว่ามันยังมีข้อผิดพลาดที่ควรแก้ไขหรืออะไรที่ควรทำเพิ่มเติมบ้าง เพื่อที่เมื่อถึงเวลากลับไปทำงานในสัปดาห์ต่อไป คุณจะได้เดินอาดๆ เข้าไปพร้อมไฟคุกรุ่นและแผนปรับปรุงการทำงานที่ยอดเยี่ยมกว่าเดิม
(8) หาเวลาพักร้อน
การทำงานติดต่อกันหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนมากเกินไปโดยไม่ได้ออกไปพักผ่อนชาร์ตแบตเลย จะทำให้คุณเกิดอาการล้าและสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานไป เพราะฉะนั้นมีโอกาสเมื่อไรอย่าลืมหาโอกาสออกไปเที่ยวต่างจังหวัดบ้าง Alex Soojung-Kim Pang ผู้เขียนหนังสือชื่อ ‘Rest: Why You Get More Done When You Work Less’ ยังแนะนำอีกว่า ทางที่ดีคุณควรหาเวลาไปพักร้อนช่วงสั้นๆ หลายๆ ครั้งต่อปี ดีกว่ารอไปพักผ่อนยาวๆ รวดเดียวยาวแค่ปีละครั้ง และถ้าเป็นไปได้ หาโอกาสพักสัก 8 วัน ทำไมต้อง 8 วันน่ะเหรอ? เพราะ Pang บอกว่าในทางจิตวิทยานั่นคือจำนวนวันที่จะพาคุณถอยห่างออกจากงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด หลังจาก 8 วัน ความสุขในวันพักผ่อนของคุณจะขึ้นสู่จุดพีคแล้วจะค่อยๆ ลดลง
ไม่ยากเกินไปใช่ไหมสำหรับเคล็ดลับ 8 ข้อนี้ที่จะช่วยให้คุณใช้เวลาน้อยลงแต่ทำงานได้ดีขึ้น เราอยากให้คุณลองเอาไปปรับใช้ดู เผื่อว่าปีหน้าฟ้าใหม่ งานคุณจะปังสุดๆ แล้วคุณก็ยังมีเวลาเหลือไว้ให้ครอบครัวและตัวเองมากขึ้นด้วย
–
แปลและเรียบเรียงจาก:
talentsmarteq.com
fairygodboss.com
timingapp.com