วันที่ 29 ตุลาคมของทุกปี คือ วันหลอดเลือดสมองโลก หรือ World Stroke Day โรคหลอดเลือดสมองคือสภาวะที่สมองขาดเลือด ซึ่งอาจเกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองตีบ อุดตัน หรือแตก ทำให้เนื้อสมองถูกทำลายไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ อาการและความรุนแรงนั้นขึ้นอยู่กับว่าส่วนใดของสมองได้รับผลกระทบ รวมทั้งความเร็วในการได้รับการรักษาด้วย หากเข้าถึงการรักษาได้รวดเร็วทันเวลา (โดยที่อาการยังไม่ถึงขั้นรุนแรง) ก็อาจสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้
โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตและความทุพพลภาพทั่วโลก โดยในแต่ละปีมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้มากกว่า 13 ล้านคน ในจำนวนนี้มีประมาณ 5.5 ล้านคนที่เสียชีวิต ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงในระดับที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับสองของโลกเลยทีเดียว
ปัจจุบันมีการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อช่วยให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตั้งแต่ช่วงเวลาก่อนถึงมือแพทย์ ขณะนำส่งแพทย์ ขณะทำการรักษา และในช่วงฟื้นฟูร่างกายหลังการรักษา เรามาลองดูตัวอย่างกันว่ามีเทคโนโลยีอะไรที่น่าสนใจบ้าง
เชื่อมต่อด้วยแอปพลิเคชัน…ใช้ง่าย ใกล้มือ
สำหรับโรคหลอดเลือดสมอง ‘ช่วงเวลาทอง’ ของการเข้ารับการรักษาคือสิ่งสำคัญมาก แต่ปัญหาที่พบบ่อยก็คือ ผู้ป่วยมักรู้ตัวเมื่อสายเกินไป ซึ่งอาจเป็นเพราะขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสัญญาณเตือนของโรคนี้ หรืออาจรู้ทุกอย่างแล้วแต่ตกใจจนรับมือไม่ถูก ทำให้ไปโรงพยาบาลไม่ทัน ด้วยเหตุนี้การพัฒนาแอปพลิเคชันในโทรศัพท์จึงเข้ามาตอบโจทย์เรื่องความสะดวกรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น แอปพลิเคชันที่ชื่อว่า Stroke Awareness Foundation ที่ผลิตโดยบริษัทพัฒนาแอปพลิเคชันแห่งหนึ่งในซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานได้รู้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะสัญญาณเตือนจากร่างกายแบบต่างๆ โดยใช้ภาพกราฟฟิกสีสันดึงดูดสายตา เข้าใจง่าย พร้อมคำอธิบายประกอบ นอกจากนี้แอปฯ ยังมีปุ่มโทรแจ้ง 911 เรียกรถพยาบาล พร้อมแจ้งอาการ แจ้งหมายเลขติดต่อ และแจ้งตำแหน่งที่อยู่ของผู้ป่วยด้วยการระบุตำแหน่ง GPS เป็นทุกอย่างให้เธอแล้วจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์คับขัน เพื่อให้เข้าถึงการรักษาได้เร็วที่สุดนั่นเอง
เช่นเดียวกับ แอปพลิเคชัน Fast Track แอปฯ สัญชาติไทยที่เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นและสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ที่พยายามจะรวมทุกอย่างที่จำเป็นไว้ในแอปฯ เดียวเช่นกัน ทั้งการให้ข้อมูลเรื่องโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยบทความและเกร็ดความรู้ต่างๆ มีแบบคัดกรองสุขภาพที่จะสอบถามรายละเอียดด้านสุขภาพเพื่อประเมินความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินผู้ใช้สามารถกดปุ่มเพียงปุ่มเดียว เพื่อให้แอปฯ ช่วยติดต่อ 1669 เรียกรถพยาบาล พร้อมแจ้งข้อมูลผู้ป่วยที่เรากรอกไว้ และบอกพิกัดที่อยู่ รวมทั้งมีแผนที่บอกเส้นทางไปยังโรงพยาบาลที่มีความพร้อมในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (โดยเฉพาะการให้ยาละลายลิ่มเลือด) ที่อยู่ใกล้ที่สุด เรียกว่าครบจบในแอปฯ เดียว สามารถดาวน์โหลดแอปพิเคชั่น Fast Track ได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งในระบบ android และ iOS
นอกจากแอปพลิเคชันที่ยกตัวอย่างมานี้ ยังมีอุปกรณ์ประเภท smart devices อื่นๆ ที่เป็นตัวช่วยด้านสุขภาพในรูปลักษณ์ที่ทันสมัย ใช้งานง่าย เช่น นาฬิกาข้อมือที่สามารถบอกอัตราการเต้นของหัวใจและบันทึกเก็บข้อมูลไว้ได้ ซึ่งอัตราการเต้นของหัวใจนี้ใช้บอกการทำงานของหลอดเลือดสมอง (รวมถึงการทำงานของร่างกายส่วนอื่นๆ ด้วย) ข้อดีของอุปกรณ์เหล่านี้คือช่วยให้เราได้เฝ้าระวัง รู้ตัวไว และถึงมือหมอไม่ช้าเกินไป
หน่วยรถพยาบาลสุดไฮเทค…รวดเร็ว ทันเวลา
รถพยาบาลนับเป็นตัวแปรสำคัญในการช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีระบบการแพทย์ทางไกลมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้รถพยาบาลเป็นมากกว่าแค่ยานพาหนะธรรมดา ตัวอย่างเช่น หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช (Siriraj Mobile Stroke Unit) ซึ่งเป็นหน่วยรถพยาบาลพิเศษที่ได้รับความร่วมมือจากผู้ให้บริการเครือข่าย 5G ได้แก่ ทรู เอไอเอส และทีโอที สนับสนุนอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ความหน่วงต่ำ และเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ได้หลากหลาย เพื่อให้การสื่อสารระหว่างทีมงานช่วยเหลือที่อยู่ในรถพยาบาลกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในโรงพยาบาลเป็นไปอย่างราบรื่นมากที่สุด และรักษาผู้ป่วยได้รวดเร็วทันเวลา โดยไม่ต้องรอให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปถึงโรงพยาบาลก่อนก็ได้
Stroke Fast Track แบบครบวงจร
ปัจจุบันโรงพยาบาลหลายแห่งในไทยทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็ตื่นตัวและเตรียมพร้อมเพื่อรองรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น มีการเตรียมระบบ Stroke Fast Track หรือทางด่วนพิเศษ เพื่อรับมือกับผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ เช่น ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร (Chulalongkorn Stroke Center of Excellence) ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นระบบการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ครบวงจรมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ที่นี่มีความพร้อมในการรักษาแทบทุกด้านไม่ว่าจะเป็นการให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ การตรวจทางรังสีวิทยาโดยตรวจสมองและหลอดเลือดสมองผ่านเครื่องตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ชนิด CT angiography และ CT perfusion (เพื่อประเมินความรุนแรงของสมองขาดเลือดและการอุดตันของหลอดเลือดในระยะเฉียบพลัน) รวมทั้งการตรวจด้วยคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก (Magnetic Resonance Imaging) นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทางไกลด้วยระบบโทรเวช (Telestroke) เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้ทันเวลา และรักษาต่อด้วย Mechanical Thrombectomy (การใส่อุปกรณ์ผ่านสายสวนหลอดเลือดเพื่อไปนำลิ่มเลือดที่อุดตันออกจากหลอดเลือดสมอง)
และที่โดดเด่นอย่างมากคือการใช้หุ่นยนต์ Stroke Robot ในหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง มาช่วยให้แพทย์คอยดูแลผู้ป่วยได้ตลอดเวลาทั้งในและนอกเวลาราชการการ โดยไม่ต้องเดินทางมาเจอคนไข้แบบตัวต่อตัว แต่ใช้วิธีสื่อสารผ่านหุ่นยนต์ที่มีการเก็บข้อมูลคนไข้ไว้อย่างละเอียดครบถ้วน นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเจ้าหุ่นยนต์ Stroke Robot นี้ไว้สำหรับใช้กับผู้ป่วยที่เสร็จสิ้นขั้นตอนการรักษาที่โรงพยาบาลแล้ว สามารถติดตามภาวะสุขภาพของตนเองอย่างต่อเนื่องที่บ้านได้ และยังคงติดต่อกับทีมแพทย์และพยาบาลได้อย่างไม่ขาดตอน โดยไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล เรียกได้ว่ามาที่เดียวแต่ดูแลครบวงจรตั้งแต่การเริ่มเข้ามารักษาจนถึงขั้นตอนกลับไปฟื้นฟูต่อที่บ้านเลย
ส่องผลงานนักศึกษาไทย นวัตกรรมช่วยกายภาพบำบัด
นอกจากแวดวงแพทย์และสถานพยาบาลแล้ว แวดวงการศึกษาก็เริ่มมีการตื่นตัวต่อปัญหาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเช่นกัน งานนี้ต้องยกนิ้วให้เยาวชนไทยที่เก่งไม่แพ้ชาติใด ตัวอย่างเช่น ผลงาน Spacer Walker ที่คิดค้นขึ้นโดยศูนย์วิจัย CED2 ภายใต้การกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการยอมรับว่าเป็นอุปกรณ์ช่วยฝึกเดินแบบไดนามิกที่มีระบบพยุงน้ำหนัก (Dynamic Body Weight Support) ชุดแรกของประเทศไทย สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมองไว้ใช้ช่วยฝึกเดินได้อย่างถูกวิธี ลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บซ้ำ ป้องกันการหกล้ม ทำให้ร่างกายมีโอกาสฟื้นตัวได้มากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมที่ชื่อว่า ReArm สำหรับผู้ป่วยกล้ามเนื้อแขนอ่อนแรงและอัมพาตครึ่งซีกเนื่องจากโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ผลงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ไปคว้ารางวัล Merit Award (Technology) และ Best Protopyte จากเวที Global Student Innovation Challenge ในงานประชุมวิชาการนานาชาติเรื่องวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (i-CREATe) ในปี 2019 ณ เมืองแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งจุดเด่นของเจ้าแขนกล ReArm นี้ก็คือ ช่วยพยุงน้ำหนักแขนได้ดี มีน้ำหนักเบาเพียง 4 กิโลกรัม ใช้งานง่าย สามารถนำติดตัว หรือยึดกับโต๊ะก็ได้ ช่วยให้การทำกายภาพเองที่บ้านมีความสะดวกและทำได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องเดินทางไปทำกายภาพที่โรงพยาบาล ลดค่าใช้จ่ายและความเหน็ดเหนื่อยของผู้ป่วยที่อาจหมดกำลังใจกลางคัน เพราะการฟื้นฟูแขนที่อ่อนแรงนั้นต้องใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
แถมท้ายคำว่า F.A.S.T. สี่คำจำง่าย เข้าใจตรงกัน
จะเห็นได้ว่าหน่วยงานหรือแคมเปญที่เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองมักจะมีคำว่า ’Fast’ ควบคู่อยู่ด้วยเสมอ เพราะสำหรับผู้ป่วยโรคนี้ “ทุกนาทีมีความหมาย” แนวโน้มการรอดชีวิตนั้นขึ้นอยู่กับเวลาทุกนาที ด้วยเหตุนี้คำว่า Fast ก็เลยถูกนำมาใช้ช่วยจดจำสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกันว่าถ้ามีอาการต่อไปนี้ให้หยุดทุกอย่างไว้ แล้วรีบไปหาหมอโดยทันที
- F = Face หมายถึงความผิดปกติบริเวณใบหน้า ได้แก่ อาการปากเบี้ยว มุมปากข้างใดข้างหนึ่งตก รวมทั้งตาข้างเดียวกันนั้นตก มองเห็นไม่ชัด
- A = Arms หมายถึงความผิดปกติทีแขน เมื่อยกแขนข้างใดข้างหนึ่งไม่ขึ้น แขนขาหมดแรง
- S = Speech หมายถึงปัญหาด้านการพูด เมื่อจู่ๆ ก็ไม่สามารถพูดได้ตามปกติ พูดแล้วไม่รู้เรื่องแม้กระทั่งประโยคง่ายๆ
- T = Time หมายถึง การเข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุดภายในเวลาไม่เกิน 4 ชั่วโมง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อาจช่วยรักษาชีวิตและฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาเป็นปกติหรือใกล้เคียงคนปกติได้มากที่สุด
โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศและทุกวัย อีกทั้งยังเป็นโรคมีโอกาสหายสูงถึงร้อยละ 90 แต่คนทั่วไปยังไม่ค่อยตระหนักและให้ความสำคัญมากนัก ทำให้อัตราการตายของโรคนี้สูงเป็นอันดับต้นของประเทศไทย โรคนี้นอกจากจะมีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ป่วยเนื่องเป็นแล้วอาจก่อให้เกิดความพิการตลอดชีวิตแล้วยังส่งผลกระทบต่อครอบครัวและสังคมอีกด้วย เป็นเช่นนี้แล้วจึงอยากชักชวนให้ทุกคนทำความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของโรคหลอดเลือดสมองให้มากขึ้น หวังว่าเทคโนโลยีที่แนะนำไว้ข้างต้นจะเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้ไม่มากก็น้อย
–
แหล่งข้อมูล:
www.world-stroke.org
www.strokeinfo.org
www.chulalongkornhospital.go.th
www2.niems.go.th
www.thaincd.com
www.techtimes.com
www.si.mahidol.ac.th