‘ชีวิตออกแบบได้’ ของทวีศักดิ์และนัดดา ศรีทองดี

Human / Self-Inspiration

การมาเยือนหัวหินครั้งนี้ จุดหมายปลายทางของเราไม่ใช่ทะเลหรือภูเขา แต่คือการนัดพบกับครอบครัวศิลปินที่มาใช้ชีวิตและทำงานอยู่ที่นี่จนเรียกว่าแทบจะเป็นคนหัวหินแบบเต็มตัวไปแล้ว เวลา 10 โมงเช้า วันอาทิตย์ เป็นเวลาที่ครอบครัว ‘ศรีทองดี’ ทั้งสี่ซึ่งมี โลเล–ทวีศักดิ์ แพร-นัดดา รวมทั้งเจ้าตัวเล็กอย่างโรมันและนินจามารอต้อนรับเราอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา 

นอกจากการนั่งคุยถึงเรื่องราวชีวิตของพวกเขา ตั้งแต่สิ่งที่รักอย่างศิลปะและกาแฟ ไปจนถึงบทบาทของการเป็นสามีภรรยา พ่อแม่ และวิถีในการก่อร่างสร้างหน่วยที่เล็กที่สุดอย่าง ‘ครอบครัว’ ว่ามีเส้นทางดำเนินไปอย่างไรแล้ว ตลอดบทสนทนาที่เกิดขึ้นภายในบ้าน ที่เป็นทั้งที่อยู่อาศัย เป็นที่ตั้งของ Ronin Capsule สถานที่ทำงานของแพร และสตูดิโอทำงานศิลปะของโลเลแห่งนี้ เรายังรู้สึกได้ถึงบรรยากาศของความมีชีวิต ความสนุก สีสัน และความรัก ที่ถูกบ่มเพาะขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ได้ซับซ้อน และมีความสุขอบอวลอยู่ในนั้นด้วย

‘หัวหิน’ โลกใบใหม่ของเรา  

โลเล: ตอนเด็กๆ ผมอยู่ที่หัวหินนี่แหละ แล้วก็ย้ายไปอยู่หลายจังหวัดตามคุณพ่อที่เป็นตำรวจ จนกระทั่งเข้ามาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ แล้วใช้ชีวิตที่นั่นตั้งแต่ปี 2527 ระหว่างที่อยู่กรุงเทพฯ ผมมาเยี่ยมคุณแม่ที่หัวหิน ซึ่งเวลามาที่นี่ ผมรู้สึกดีที่ได้เจอทะเล ภูเขา อากาศก็ดี มีสเปซ ต่างจากบรรยากาศคอนโดที่เราอยู่ แล้วก็ไม่ไกลกรุงเทพฯ ด้วย ได้กลับมาบ่อยเลย ตอนนั้นผมเริ่มคิดในใจว่าอยากจะมีพื้นที่ทำงาน ซึ่งถ้าเป็นกรุงเทพฯ ค่าเช่าน่าจะแพงมากและพื้นที่อาจจะไม่ได้แบบที่ต้องการด้วย 

แพร: ตอนนั้นคุณแม่พี่โลเลซื้อที่แถวนี้ไว้และย้ายมาอยู่เพราะไม่ไกลจากตัวเมือง สมัยนั้นราคาที่ดินไม่แพง พี่โลเลเลยฝากคุณแม่ซื้อไว้ 3 แปลง ช่วงแรกไม่ได้ทำอะไรกับที่ดิน ก็เลยให้คุณแม่ปลูกต้นมะม่วง เหมือนเป็นสวนของคุณแม่ไป พอวันหนึ่งที่เขาอยากจะทำเพนท์ติ้งรูปใหญ่ๆ พื้นที่ในคอนโดมีแค่ 46 ตรม. ซึ่งทำไม่ได้ ตอนแรกก็ใช้วิธีไปเช่าอีกห้องหนึ่งที่คอนโด แต่มันไม่เพลิน เพราะเหมือนกับว่าเราอยู่ในกล่อง 2 กล่อง พอมาถึงตอนที่จะทำสตูดิโอ ก็คิดว่าคงต้องย้ายมาอยู่แล้วแหละ เขาทำโมเดลบ้านเสร็จและมีเพื่อนเป็นสถาปนิกช่วยทำเรื่องเสาและออกแบบอะไรให้ แต่ช่วงนั้นคุณแม่ของแพรป่วยและต้องหาคุณหมอทุกเดือนที่กรุงเทพฯ ส่วนตัวแพรเองก็ไม่รู้จะมาทำอะไรที่ต่างจังหวัด แพรไม่เคยอยู่ต่างจังหวัด พอโครงสร้างบ้านเสร็จเรียบร้อย คุณแม่ท่านก็เสีย เมื่อคุณแม่ไม่อยู่แล้ว แพรรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถอยู่กรุงเทพฯ ได้อีก แพรไม่อยากเห็นร่องรอยเดิม ความทรงจำของแพรกับคุณแม่มีอยู่เต็มไปหมด แพรเลยตัดสินใจจะมาอยู่ด้วยกันที่นี่ เราจัดงานแต่งงานแบบง่ายๆ แล้วก็ย้ายมาเลย 

หลังจากคุณแม่เสีย แพรก็เหงา คุณพ่อแพรอยู่ที่เวียดนาม แล้วตัวเองก็ชอบความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกและอยากมีคนในครอบครัวที่เป็นสายเลือดเดียวกันอีก ก็เลยบอกพี่โลเลว่า เรามีลูกกันเถอะ จากจุดนั้น เราก็อยู่ที่นี่มาเรื่อยๆ มีโรมัน มีนินจา อยู่จนคุ้นเคยและรู้สึกว่าเป็นบ้านไปแล้ว 

งานศิลปะและร้านกาแฟ 

แพร: พี่โลเลยังทำอาชีพเดิม ส่วนแรกจะเป็นงานอาร์ตแบบที่เขาอยากทำ อีกส่วนหนึ่งเป็นงานคอมเมอร์เชียลอาร์ต ส่วนแพร ตอนอยู่กรุงเทพฯ แพรเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย สอนจิตรกรรมและคอมพิวเตอร์อาร์ต ทำพิธีกรรายการ และจัดนิทรรศการ ตอนแรกยังคิดเลยว่ามาถึงที่หัวหินแล้วจะไปสมัครเป็นครูที่โรงเรียนไหนดี พอมีลูก แพรก็มานั่งคิดว่าจะมีงานอะไรที่สามารถเลี้ยงลูกและทำไปด้วยได้ไหม เพราะเราอยากเลี้ยงลูกกันเอง ซึ่งในช่วง 2 ปีแรก เป็นช่วงค้นหาอาชีพที่จะตอบโจทย์ชีวิตแบบที่เราอยากได้ พอปีที่ 3 คอมมูนิตี้มอลล์ใหม่มาเปิด ซึ่งทางเจ้าของชวนพี่โลเลว่ามีพื้นที่ว่างอยู่นะ เป็นชั้นใต้ดินอยู่ริมทะเลหน่อย ก็เลยคิดว่าจะทำแกลเลอรี่เพราะว่ามีคอนเน็คชั่นที่เป็นศิลปินเยอะและเห็นว่าในหัวหินยังไม่มีแกลเลอรีที่เป็นศิลปะร่วมสมัยเลย แต่เราก็กลัวว่าคนจะไม่เข้า อยากให้มีอะไรที่ช่วงดึงคนเสียหน่อย เลยทำมุมกาแฟในแกลเลอรีชื่อ Virus Space and Café พอเริ่มทำกาแฟไปสักพัก ก็จริงจังมาก เพราะกลัวจะไม่อร่อย แพรเลยศึกษาทุกอย่างเกี่ยวกับกาแฟจนอินและรักการทำกาแฟ รวมทั้งร้านนี้มาก มากกว่าแกลเลอรีเสียอีก  

Ronin Capsule ร้านกาแฟที่หอมกรุ่นกลิ่นรัก 

แพร: หลังจากทำ Virus Space and Café ได้สักพักใหญ่ๆ แต่ด้วยปัจจัยเรื่องเวลาที่เราต้องดูแลลูก 2 คน แล้วก็เปิดร้านกาแฟไปด้วย ซึ่งเวลาที่มีไม่พอ ก็คงเป็นจังหวะชีวิตที่ต้องหยุดร้านนั้นไว้ก่อน แล้วตอนนั้นแพรได้เจอบ้านสีขาวในเมืองหลังหนึ่งซึ่งชอบมาก ซึ่งก็มานั่งคิดดูแล้วว่า ถ้าเราแยกมาเปิดเอง เราสามารถบริหารเวลาเราได้มากกว่า เพราะสามารถจัดการเวลาเปิด-ปิดและกำหนดวันหยุดได้ง่ายกว่าร้านแรกที่อยู่ในคอมมูนิตี้มอลล์ และคิดแล้วว่า ถ้าเราทำร้าน 2 แห่ง ไปพร้อมกัน คงไม่ไหวแน่ๆ เพราะจะไม่เหลือเวลาเล่นกับลูก ซึ่งไม่ได้เลย แพรจึงเลือกทำ Ronin Capsule ที่เดียว ทำอยู่ได้ปีหนึ่งก็พบว่า มีแพรที่ได้ทำงานอยู่คนเดียว ถึงแม้แพรจะพาเด็กๆ ไปร้านด้วยก็จริงและมีน้องๆ ในร้านมาช่วยก็ตาม แต่เราก็อยากทำกาแฟเองทุกแก้ว เลยกลายเป็นว่า ลูกๆ ไม่ได้เล่นสนุกตามวัยของเขา เพราะต้องไปเฝ้าเราทำกาแฟ ส่วนพี่โลเลก็ไม่ได้ทำงานของเขาเลย แพรเลยตัดสินใจย้าย Ronin Capsule มาอยู่ที่บ้าน เพื่อที่ทุกคนจะได้ใช้ชีวิตของตัวเองอย่างเต็มที่ แล้วแพรก็ได้ทำกาแฟและดูแลพวกเขาไปพร้อมๆ กันได้ด้วย 

Ronin Capsule เป็นการรวมกันระหว่างคำว่า ‘Ro’ มาจาก ‘โรมัน’ ส่วน ‘Nin’ มาจาก ‘นินจา’ เราใช้ชื่อนี้เพราะเป็นการผสมของชื่อลูกชายทั้ง 2 คน แล้วก็ชอบความหมายของมันอย่างซามูไรไร้สังกัด ส่วนคำว่า Capsule มาจากที่พี่โลเลได้โจทย์จากแพรว่า ไม่อยากได้คำว่า space หรือ cafe พอเขาเสนอคำว่า capsule ก็รู้สึกว่าลงตัว

เวลาทำงานที่แปรผันตรงกับเวลาเรียนของลูก  

แพร: เอาจริงๆ นะ ตอนแรกแพรก็คิดว่าอาจจะทำไม่ได้เหมือนกัน เพราะมีแต่งานที่เราจะต้องปลีกไปทำทั้งนั้น แต่พอย้ายร้านมาอยู่ที่บ้านแล้ว เราสามารถจัดสรรเวลาได้ โดยเราจะเปิดร้านให้อยู่ในช่วงเวลาที่ลูกไปโรงเรียน เรา 2 คนพ่อแม่จะไปรับและส่งลูกด้วยกัน เพราะเราได้เห็นพวกเขาสนุกมากๆ เวลาขึ้นรถไปกับเรา แล้วเล่าว่าเขาจะได้ทำอะไรและทำอะไรไปบ้างในแต่ละวัน จะมีเรื่องเล่าให้ฟังตลอด ซึ่งเราอยากอยู่ในช่วงเวลาเหล่านี้ ปกติที่ร้านจะเปิดตั้งแต่วันอังคาร-วันศุกร์ และปิดวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งเอาจริงๆ อย่างวันเสาร์ คนจะเยอะมากเลย คือถ้าเปิดคงจะได้กำไรเยอะที่สุด แต่ถ้าเปิด ลูกๆ ก็จะไม่ได้ไปไหน วันเสาร์เลยเป็นวันที่จะพาเขาไปเที่ยวและวันอาทิตย์เราจะเก็บไว้สอนการบ้านพวกเขา แต่ปีนี้ก็คงต้องปรับเปลี่ยนการเปิด-ปิดตามสถานการณ์โควิดอีกที รวมถึงรูปแบบการให้บริการด้วย 

ที่ผ่านมาเวลาเปิด-ปิดของร้านก็เปลี่ยนแปลงบ่อยมาก ซึ่งทั้งหมดที่เราทำเรียกได้ว่าสวนทางกับหลักการธุรกิจทุกอย่าง (หัวเราะ) เพราะจริงๆ แล้ว เราควรจะทำให้ลูกค้าจำได้ แต่เราเลือกลูกเป็นหลัก แพรคิดว่าเพราะเราเลี้ยงพวกเขาตลอด 24 ชั่วโมง ได้อยู่ในทุกช่วงเวลา ไม่เคยพลาดช่วงชีวิตไหนของลูกเลย แต่ก็ยังรู้สึกว่าทุกอย่างผ่านไปเร็วมาก ซึ่งถ้าเราทิ้งวันที่จะได้อยู่กับเขาเต็มๆ ไป กลับมาอีกทีหนึ่งลูกอาจจะโตมากจนเขาไม่ไปเที่ยวกับเราแล้ว เราคิดว่าการให้เวลาเป็นการลงทุนที่ดีที่สุดกับลูก 

ดูแลลูกตามความถนัด

แพร: การดูแลเด็กๆ เราแบ่งกันตามความถนัด ตอนที่ลูกยังเล็ก งานประเภทอนามัยแพรจะดูหมดเลย ถ้าเป็นตอนโตแล้ว เหมือนลูกๆ จะเป็นคนเลือกเองว่าถ้ามีเรื่องนี้เขาจะไปหาใคร เช่น ถ้าโรมันหกล้ม เขาจะวิ่งหน้าตั้งมาหาแพรเลยว่า “แม่เกิดเรื่องใหญ่แล้ว โรมันเลือดออก!” เพราะว่ารู้สึกว่าแม่จะต้องกู้โลกส่วนนี้ได้ หรือเวลาสอนการบ้าน โรมันจะเลือกมาหาแพร ทั้งๆ ที่แพรดุมากเลยนะเวลาแพรสอน อาจเพราะว่าเขาเข้าใจในสิ่งที่แพรสอน 

โลเล: ส่วนผมจะมาสายเอ็นเตอร์เทนเป็นหลัก จะเป็นแนวแผนการสนุกสนาน เขาจะมากระซิบบอกผมว่า “เราทำอันนี้กันดีไหม ทำได้ไหม แม่บอกว่าไม่ได้ พ่อต้องได้แน่เลย” (ยิ้ม)

ขอเพียงเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรงและมีความสุข

แพร: เป้าหมายในการเลี้ยงลูกของแพรมีแค่ 2 อย่าง คืออยากให้เขาสุขภาพดีและมีความสุข เพราะถ้าเขาแข็งแรง เขาจะทำอะไรดีๆ ได้อีกเยอะ และถ้าเขามีความสุข เขาจะเป็นคนดี นี่เป็นพื้นฐานที่แพรจะปลูกฝังให้ลูกทั้ง 2 คน และเอาไว้เตือนตัวเองด้วย บางที เราเลี้ยงไปๆ ก็เกิดความหวังขึ้นมาเหมือนกันว่าเขาต้องทำสิ่งนี้ได้ดีแน่ๆ เลย ไหนลองทำซิ แล้วพอทำไม่ได้แบบที่คิด เราก็จะกลับมาถามตัวเองว่าแล้วจะไปคาดหวังทำไม 

เรา 2 คน เลี้ยงโรมันและนินจาให้มีอิสระอย่างเต็มที่ แต่ก็ต้องอยู่ในขอบเขต เช่น เราจะไม่ชม ถ้าไม่ใช่เรื่องที่ทำแล้วเป็นความดี สมมติว่าวันนี้เขาแต่งตัวน่ารัก แล้วมาถามเราว่า “แม่ เพื่อนที่โรงเรียนทุกคนบอกว่าโรมันหล่อมาก หล่อแปลว่าอะไร หล่อแปลว่าเท่ใช่ไหม” แพรจะบอกเขาไปเลยว่า “หล่อ แปลว่าเป็นคนดี เพราะเป็นคนดียังไง ก็เลยหล่อ คนดีหล่อที่สุดแล้ว” เราจะสนับสนุนให้เขาทำดี ถ้าเขาทำอะไรที่ดี เราจะบอกว่าอันนี้ถูกต้องแล้วดีมาก ยอดมากที่ทำ ให้รู้สึกว่ามันถูกจริงๆ นะ 

ขณะเดียวกัน แพรจะให้เขาได้ทำในสิ่งที่เขามีความสุข แต่ความสุขนั้นจะต้องไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน เขาจะต้องนึกถึงจิตใจคนอื่น ถ้าทำอะไรให้คนอื่นเดือดร้อนหรือตัวเองเดือดร้อน แปลว่าเขายังคิดไม่เป็น ถ้าเขาสามารถแยกแยะได้ว่าอะไรดีหรือไม่ดี เขาจะอยู่ได้อย่างดีในโลกใบนี้ แพรไม่ได้คิดว่าคนฉลาดคือคนที่เรียนเก่งนะ แพรอยากให้เขาฉลาดในการแยกสิ่งที่ดีและไม่ดีได้ ส่วนเรื่องเรียน แค่ผ่านก็พอ ไม่ต้องซีเรียสมาก

โรมัน VS นินจา 

แพร: ตอนไม่มีผม ทั้งคู่เหมือนกันเลยนะ และเราก็คิดว่าทั้งคู่ต้องเหมือนกันแน่นอน แต่พอโตขึ้น ทั้งผม ทั้งเสียง ทั้งนิสัย  เรียกว่าตรงข้ามกันเลย เราก็เลยต้องจูนตัวเองใหม่ว่าอะไรที่คิดว่าดีกับโรมันอาจจะไม่ดีกับนินจา ถ้าเขาทะเลาะกันหรือไม่เข้าใจกัน ต้องเรียกมาคุยทีละคน แล้วค่อยเรียกมาคุยรวมอีกทีเพื่อจูนทั้ง 2 คนเข้าด้วยกัน เพราะแบบนี้แหละถึงไม่สามารถที่จะให้เวลาน้อยได้เลย ทั้งคู่ยังเด็กและยังไม่เข้าใจทุกอย่าง พ่อแม่อย่างเราเลยต้องอยู่เป็นพี่เลี้ยงในเรื่องของการแยกแยะว่าอะไรดีอะไรไม่ดี แล้วก็ต้องมีสติมากเลยว่าต้องไม่เข้าข้างใคร ต้องเป็นกลางมากๆ เวลาเราสอนลูก ซึ่งเวลาสอนเขาว่าดีหรือไม่ดี เราเองก็ได้ทบทวนตัวเองไปด้วย

สอนให้รู้ ทำให้ดู เพื่ออยู่ให้เป็น

แพร: แพรจะให้เขาเห็นว่าพวกเราต้องทำงานอะไรบ้างเขาถึงจะได้ของเล่นชิ้นนี้ อย่างแพรจะบอกกับโรมันว่าของเล่นชิ้นนี้ที่ซื้อนะ แม่ต้องขายกาแฟทั้งหมด 30 แก้วถึงจะได้มา แพรอยากให้เขามีความคิด พยายามให้เขาซึมซับจากชีวิตประจำวัน แพรรู้สึกว่าเขาจะต้องรู้ความจริง ซึ่งพวกเราจะพูดความจริงกันตลอดเลยว่าเราจะต้องเก็บสตางค์ไปทำอะไร ต้องมีค่าใช้จ่ายอะไร ของชิ้นนี้เราซื้อไม่ได้เพราะเราต้องเอาสตางค์ไปทำอย่างอื่น พูดเหมือนเขาเป็นผู้ใหญ่ และให้รู้สึกว่าเขาเป็นทีมเดียวกับเรา เขาก็เข้าใจเลยนะว่า วันนี้เรายังเล่นของเล่นชิ้นนี้ไม่ได้ เราต้องเก็บเงินไปทำอย่างอื่นก่อน

โลเล: เราจะทำให้พวกเขาเห็นว่าพ่อแม่ปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างไร กว่าเราจะได้อะไรมาสักอย่าง เราจะต้องทำงานนะ แล้วงานในแต่ละวันของเราคืออะไร ไม่ได้ให้เขาสบายอย่างเดียว ให้พวกเขาช่วยทำเท่าที่อายุพวกเขาจะทำได้ด้วย  

แพร: หรือในกรณีที่มีอะไรที่จะเป็นอันตรายกับตัวเขา ตามกฎของแพร แพรจะพูดก่อนว่า ถ้าเอามือไปแหย่ตรงนี้จะอันตรายมากนะ แล้วถ้าเขายังทำ แพรจะตีมือนั้นเลย ตีแบบเจ็บด้วย ซึ่งแน่นอนเขาก็จะร้องไห้ แล้วแพรจะคุยตรงนั้นเลยว่า “แม่ตีก็เพราะว่ามือลูกอาจจะขาดก็ได้ เพราะว่าแม่ได้ทดลองแล้วว่าถ้าแม่พูดเฉยๆ ลูกจะจำได้ไหม ปรากฏว่าลูกจำไม่ได้นี่ เพราะว่าลูกยังแหย่ลงไปอยู่เลย แม่ต้องจัดการให้จำได้ว่าตรงนี้อันตรายนะ” หรือถ้าเขาซนมาก อย่างโรมัน แพรจะให้นั่งสมาธิและจับเวลา ถ้าโรมันยังไม่ได้ยินเสียงนาฬิกา โรมันลืมตาไม่ได้ แล้วแม่จะนั่งเฝ้าอยู่ตรงนี้ เขาก็นั่งได้นะ 10-15 นาที สำหรับนินจา ตอนนี้ยังเล็ก ซึ่งถ้ามีความผิดสำคัญ เช่น ทำพี่เจ็บ วิธีการคือเขาจะต้องไปขอโทษพี่ ไปเป่า ไปกอด แล้วถ้าทำอีกก็ต้องขอโทษแบบนี้วนไปซ้ำๆ แต่ถ้าพี่โลเลเขาจะไม่ทำอย่างนี้ เขาจะใช้วิธีการเข้ามุมอะไรไป แพรรู้สึกได้ว่าเราจะสอนเขาได้ถึงแค่ ป.6 พอหลังจากนั้น เขาจะเข้าสู่วัยรุ่นและเป็นตัวเองแล้ว 

Before-After ชีวิตที่เปลี่ยนไปเมื่อมีลูก

แพร: ความคิดแพรเปลี่ยนไปมากเลยนะ ก่อนที่จะมีลูก ไม่เคยคิดถึงความตาย จะรู้สึกว่ามีวันพรุ่งนี้เสมอ แต่พอมีลูกแล้ว แพรคิดถึงความตายตลอด และจะคิดเสมอว่าถ้าเราไม่อยู่แล้วลูกๆ เราจะทำอย่างไร คิดขนาดที่ว่าเรานอนหลับไปคืนนี้ แล้วพรุ่งนี้จะตื่นหรือเปล่า นั่นก็เลยทำให้แพรจะบอกเด็กๆ ตลอดว่าเขาจะต้องดูแลตัวเองให้ได้นะ เพราะแม่ไม่รู้ว่าตัวเองจะตื่นหรือเปล่า แพรพูดกับเขาแบบนี้ตั้งแต่เขาเล็กๆ ซึ่งลูกๆ ก็เข้าใจว่าพวกเขาจะต้องดูแลตัวเอง แล้วเมื่อเราคิดถึงความตายบ่อยๆ มันทำให้แพรใช้ชีวิตอย่างมีสติมากขึ้น ทำอะไรก็จะคิดตลอดว่ามีค่าพอไหมที่จะคิด พูด หรือทำ จนกระทั่งมาสรุปกับตัวเองว่า เราไม่อยากได้อะไรนอกจากการอยู่แบบแข็งแรง อยู่อย่างธรรมดาแบบนี้ให้ได้นานที่สุด ไม่เปรียบเทียบชีวิตกับใครเลยเพราะต่างคนต่างมีชีวิตในแบบของตัวเอง

โลเล: ตั้งแต่มีโรมันและนินจา ชีวิตผมไม่เหมือนเดิมเลย สมัยก่อนตอนเป็นแฟนกันและไม่มีลูก ผมอยากทำอะไรหรือไปไหน ก็ทำเลย แต่พอมีลูกปั๊บ ระบบระเบียบต่างๆ ในชีวิตเปลี่ยนไป แต่เปลี่ยนแบบที่ค่อยเป็นค่อยไปนะ ความเป็นพ่อแม่เริ่มเข้ามาเรื่อยๆ โดยที่ตัวผมเองก็แทบจะไม่รู้ตัว จนถึงวันนี้ บางทีผมยังนึกเลยนะว่านี่เราเป็นพ่ออยู่เหรอ อยู่ดีๆ นินจาวิ่งมาเรียก “ป๊า!” แล้วก็มากอด ผมก็อ๋อ ความเป็นพ่อมันเป็นอย่างนี้เหรอ ได้เห็นภาพที่เราเคยมีพ่อ 

แล้วก็รู้สึกว่าโลกมีอะไรมากขึ้น สมัยก่อน เรายังค้นหาและใช้ชีวิตเป็นวันๆ ไป อาจจะมีการวางแผนอะไรที่พอวางแผนได้ แต่พอมีลูกปั๊บ เหมือนโลกเราดำเนินไปอีกแบบ อะไรที่ไม่เคยคิดว่าจะได้ทำหรือทำได้ ตอนนี้ผ่านมาหมดแล้ว ตอนนี้ผมรู้จักหนังและการ์ตูนที่เด็กๆ ชอบว่ามีตัวอะไรบ้างหมดแล้วนะ ไม่เคยร้องเพลง Twinkle Twinkle Little Star มาก่อน ตอนนี้ก็ร้องให้เขาฟังก่อนนอนได้คล่องแล้ว 

แพร: แพรเคยบอกพี่โลเลว่า แพรจับอึประมาณ 2,000 ครั้งได้แล้วมั้ง (หัวเราะ) หรือจานชามที่ 2 ปีแรกที่อยู่กัน 2 คน เราซื้อจานกระเบื้องสีขาวล้วน สวยงาม เข้าไมโครเวฟได้ หลังจากนั้นเราต้องเปลี่ยนเป็นพลาสติกโดราเอมอน ไม่อย่างนั้นลูกจะถือไม่ได้ 

โลเล: อือ ใช่ สมัยก่อนเราอาจจะประมาณว่า โอ้ยอึ อี้อึ อะไรแบบนี้ แต่ตอนนี้ยินดีมากเลย จะถามพวกเขาว่า “เสร็จยัง เสร็จแล้วบอกพ่อนะ เดี๋ยวพ่อจัดการให้” อาบน้ำ ถูสบู่ให้ ซักถุงเท้า รีดผ้า บ้านที่เคยมีฟังก์ชั่น มีการจัดไว้เรียบร้อยเป็นจังหวะ เป็นหมวดหมู่ พอลูกกลับมาจากโรงเรียนปุ๊บ คอมโพซิชั่นกลายเป็นอีกแบบหนึ่ง จากมินิมอลก็มีความกระจายและหลากสี 

แพร: เหมือนงานเพ้นท์ติ้งที่ไม่มีจุดรวมสายตาอะไรแบบนั้นเลย (หัวเราะ) 

เส้นแรงต่างขั้วกันที่ดึงดูดกัน 

แพร: เวลามีเรื่องไม่เข้าใจกัน วิธีการจัดการของเรา 2 คน จะไม่เหมือนกันเลยค่ะ ตัวแพรจะพูดในสิ่งที่รู้สึกว่าไม่ดีออกไปอย่างเต็มที่เลย แล้วก็จบ หลังจากนั้นก็กลับสู่สภาวะปกติแบบ “ปะ กินข้าวกัน” ส่วนพี่โลเลจะไม่ได้พูดอะไรเลย เหมือนเขาจะไม่ได้โฟกัสอะไรพวกนี้เท่าไหร่ แล้วเขาก็มีวิธีการเอาเรื่องแบบนี้ไปอยู่ที่งานของเขาได้ด้วยนะ แต่ปกติ เราทะเลาะกันน้อยมาก ส่วนมากจะเป็นแพรนี่แหละที่จะโวยวาย

โลเล: ผมเชื่อเสมอว่าทุกอย่างจางได้ เหมือนสีทาบ้าน ที่พอนานไปก็จะซีดจางไปเอง หรือความทรงจำของเราก็จะลบเลือนไปเอง ผมว่าถ้าคนเรา ไม่มีความรู้สึกติดค้าง มันดีกว่า บางทีความติดค้างนั้นอาจจะฝังอยู่ในใจบางคนอยู่หลายปีก็ได้ ถ้าเราพูดอะไรที่ไม่ดีออกไป บางทีเราอาจจะลืม ไม่ได้สนใจ แต่มันอาจอยู่ในใจของอีกคน ซึ่งผมไม่อยากจะให้เกิดความรู้สึกแบบนั้น  

แพร: แพรว่าอาจเพราะเขาเป็นผู้ใหญ่กว่า ก็เลยกลายเป็นว่าเขาจะประนีประนอม อะลุ่มอล่วย และกลมกล่อมมาก ซึ่งเขาทำให้แพรช้าลง ส่วนแพรอาจจะเป็นตัวเร่งให้เขาเร็วขึ้นนิดหนึ่ง เพราะแบบนี้มั้งก็เลยบาลานซ์ 

ครอบครัวเท่ากับทีมเวิร์ก ส่วนความรักคือการได้อยู่ด้วยกัน

โลเล: ความรักและความสัมพันธ์ในครอบครัว ผมจะให้ความสำคัญไปกับการใช้ชีวิตร่วมกันในปัจจุบัน เหมือนเวลาทำงาน แม้ผมจะมีความคิดในหัวอยู่ก่อนแล้ว แต่เมื่ออยู่หน้าเฟรม ผมจะไม่ได้ระวังว่าต้องร่างให้เป๊ะ ภาพเอียงไปไหม หรือวาดไปนิดหนึ่งแล้วเรามาเช็ค เพราะสุดท้ายพอจบงาน เราจะไม่สนุก มันปลอดภัยเกินไป ผมจะโฟกัสตอนที่ทำและไม่ได้คิดว่าจะเสร็จอย่างไร ผมว่าชีวิตก็คงเหมือนกัน ความสัมพันธ์ในครอบครัวก็เหมือนเฟรมว่างๆ ซึ่งภาพในแต่ละวันที่เกิดขึ้นนั้นไม่เหมือนกันอยู่แล้ว นั่นจะทำให้ชีวิตมีสีสัน มีความตื่นเต้น เหมือนเราได้เปิดหนังสือเล่มใหม่อยู่เสมอ ผมใช้เวลาแต่ละนาที แต่ละวันให้ดี ไม่คิดถึงเรื่องเก่า เพราะมันผ่านไปแล้ว เวลาที่เราคิดถึงเรื่องเก่าก็เหมือนเราเดินไปด้วยกันแล้วก็หยุด ก็กลายเป็นว่าเราไม่ได้เดิน แล้วบางทีก็อาจจะกินเวลานาน การที่เราเดินไปข้างหน้าไปเรื่อยๆ ผมว่ามันทำให้เราสดชื่น ตื่นมาก็จะลุ้นว่าวันนี้เราจะเจออะไร 

ในฐานะคู่รัก ผมจะมองแพรว่าเป็นแฟนตลอด เพราะมันทำให้รู้สึกเป็นหนุ่มสาวอยู่เสมอ เหมือนวันเก่าที่แรกคบกัน ส่วนหน้าที่พ่อแม่ แผนที่เรารู้อยู่แล้วก็คือการดูแลลูกให้เติบโตขึ้นไปอย่างดีที่สุด ซึ่งลูกก็เหมือนกัน ผมจะไม่คิดว่าเราเป็นพ่อแม่มากจนเกินไป เพราะจะทำให้รู้สึกว่าเราเข้าไปบงการ เรารู้อยู่แล้วว่าเป็นอย่างนั้น ผมอยากให้ความสันพันธ์มีความสบายๆ หยอกกันได้ เล่นกันได้ บางครั้ง เราต้องยอมรับว่าชีวิตจะต้องมีการทะเลาะกันบ้าง เป็นเรื่องธรรมดาของคนที่อยู่ร่วมกัน ทะเลาะกับลูกก็มี แต่ก็ต้องรู้ว่าอย่าไปทะเลาะแบบเอาจริงเอาจัง ให้รู้ว่าทะเลาะ คิดได้แล้ว เอาแค่นี้พอ มันจะได้จบ ไม่ต้องไปงอนกันนาน ผมก็มีประสบการณ์งอนลูกอยู่เหมือนกัน ซึ่งเวลาตื่นเช้ามารู้สึกไม่ดีเลย และสัมผัสได้ว่าลูกเองก็เหนื่อยด้วย 

แพร: ทั้งความรักระหว่างสามีภรรยาและความเป็นพ่อแม่ แพรรู้สึกว่าเป็นทีม พอเรารู้สึกแบบนั้นแล้ว เวลาทำอะไร แพรจะนึกถึงทีม ไปไหนมาไหนก็ไปด้วยกันหมด ต้องรอกัน ต้องช่วยกัน ทุกอย่างในชีวิตจะทำในรูปแบบของทีมเวิร์กหมดเลย ซึ่งลูกๆ ก็เข้าใจแบบนั้น ตอนที่เลี้ยงพวกเขา เราไม่ค่อยปรึกษาใครอยู่แล้ว พยายามจะเลี้ยงแบบที่ถนัด พอลูกเริ่มโต แพรจะคิดถึงตัวเองว่าตอนที่เราเป็นเด็ก ความทรงจำที่ดีของครอบครัวอยู่ตอนไหนบ้างที่จนถึงปัจจุบันแล้วเรายังชอบและจำได้ ปรากฏว่าเป็นตอนที่เราขับรถไปเที่ยวกับคุณพ่อคุณแม่ทุกปิดเทอม เลยรู้สึกว่าการที่มีทริปด้วยกันคงจะเป็นความทรงจำที่ดีในอนาคตของลูก แล้วมันจะอยู่ตลอดไป เพราะว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีของทุกคน แพรบอกพี่โลเลว่าขอมีทริปทุกปี แล้วทริปนั้นจะต้องมีประมาณ 10 วัน แม้จะต้องหอบลูกพะรุงพะรังขึ้นเครื่องบินหรืออะไรก็ตาม การได้ใช้เวลาด้วยกันในสถานที่ต่างๆ ทำให้เรามีความทรงจำ ทั้งเรื่องแปลกใหม่ การผจญภัย หรือสิ่งที่ไม่คาดคิด ซึ่งแพรเชื่อว่าประสบการณ์เหล่านี้จะทำให้เราเหนียวแน่นและส่งผลถึงความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ซึ่งถ้าลูกๆ จะยอมให้ไปอย่างนี้ไปจนพวกเขาโตก็จะดีมากเลย 

ความสุขแบบเรียบง่ายกับคุณค่าของการมีชีวิตอยู่

แพร: ความสุขของแพรคือชีวิตประจำวันนะ แพรจะมีความสุขง่ายมาก แค่ดอกไม้บานหรือนินจาทานข้าวหมดจาน ซึ่งแพรชอบความสุขเล็กๆ แบบนี้ที่รวมกันเป็นชีวิตประจำวันของเรา และอยากให้เป็นอย่างนั้นทุกวัน  

โลเล: ของผมคือการมีสุขภาพที่ดี ทุกวันนี้ เราก็ทำอาหารทานกันเองนะ ผมไม่ทานของทอดและของมัน จะเน้นทานปลาทะเล ผัก ผลไม้ เช้ามาดื่มน้ำ 3 แก้ว เหวี่ยงแขน วิดพื้นทุกวัน แล้วก็ไม่เครียด ทำน้ำหนักของตัวเองไม่ให้เยอะเกินไป ส่วนความแก่ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องธรรมชาติไป จะเหี่ยวจะอะไรบ้างก็ไม่เป็นไร ผมว่านี่เป็นความสุขอย่างหนึ่งของผมสำหรับการมีชีวิต 

แพร: แพรว่าลูกๆ น่าจะมีส่วนให้พี่โลเลดูแลสุขภาพมากขึ้นนะ เพราะเขาอยากอยู่ด้วยนานๆ 

บ้านของแพร 

แพร: สำหรับแพร “บ้าน” คือที่ที่มีคนที่เรารักอยู่ ตอนที่แม่แพรเสีย แพรกลับบ้านไม่ได้เลยเพราะรู้สึกว่าบ้านมันแปลกไปเลยไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ตอนที่มาอยู่ที่นี่ ก็ยังคุยกับคุณพ่ออยู่เลยว่าเราจะรู้สึกว่าที่นี่เป็นบ้านได้หรือเปล่า เพราะไม่เคยอยู่ แล้วที่นี่ก็ไม่ใช่ครอบครัวของเรา เราจะอยู่จนรู้สึกว่าเป็นบ้านได้ตอนไหน หรือว่าจะรู้สึกอย่างนี้ตลอดไป คุณพ่อก็บอกแพรว่า บ้านไม่ใช่เรื่องของสถานที่ แต่คือสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวตรงนั้น ถ้าคุณแม่ยังอยู่ แม่อยู่ที่ไหน ที่นั่นจะเป็นบ้านแพรเลย เพราะแพรรู้สึกว่าบ้านคือที่ที่ไปแล้วต้องเจอคนนี้ แพรก็เลยรู้สึกว่าบ้านคือที่ที่มีแต่คนที่แพรรัก มีครอบครัว มีลูกๆ เป็นที่ที่รวมทั้งคน ทั้งของ ทั้งบรรยากาศทุกอย่างที่เรารักและเป็นตัวเราเอาไว้

บ้านของโลเล 

โลเล: ผมเป็นคนที่ชอบอยู่บ้านที่สุด ไม่ว่าไปไหนก็จะคิดถึงบ้านตลอด ไม่ค่อยอยากไปไหนเลย บางทีไม่ค่อยอยากไปเที่ยวด้วย บ้านในความหมายของผมเป็นที่ที่อยู่แล้วมีความสุข ได้ทำในสิ่งที่ชอบ ได้อยู่กับคนที่เรารัก ผมว่าบ้านไม่เคยจบ ไม่เคยนิ่ง มันจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ผนังหรือสิ่งของเครื่องใช้จะเก่าไปตามเวลาของมัน ขณะเดียวกัน  ต้นก็ไม้โตขึ้น ดอกไม้บาน และมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นมาด้วย  


ภาพ: เกตน์สิรี วงศ์วาร I Ketsiree Wongwan 
ภาพบางส่วน: ทวีศักดิ์ ศรีทองดี I Taweesak Sritongdee

บทความที่เกี่ยวข้อง