แคมเปญ #Reachout ชวนยื่นมือออกไป ยื่นใจรับฟัง ปัดเป่าซึมเศร้า

Care / Social Care

ช่วงสองปีที่ผ่านมาระหว่างที่โลกเผชิญกับโรคระบาดครั้งใหญ่ หลายคนหันไปใส่ใจในเรื่องสุขภาพกายกันมากขึ้น แต่… อาจลืมที่จะดูแลเรื่องสุขภาพใจของกันและกัน

เรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่เราจะมองข้ามไปไม่ได้เลย เพราะข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) บอกว่า ปัจจุบัน ผู้คนทั่วโลกป่วยเป็นโรคซึมเศร้า (Depression) และวิตกกังวล (Anxiety) เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขล่าสุดอยู่ที่ 260 ล้านราย ที่น่าสนใจก็คือ ผู้ป่วยจำนวนมากอยู่ในกลุ่มคนอายุน้อย ตั้งแต่ 14 ปีขึ้นไป และการฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากปัญหาสภาพจิตใจนั้น เป็นสาเหตุอันดับ 4 ของการเสียชีวิตในกลุ่มคนอายุ 15-29 ปี ยิ่งเมื่อเกิดการระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เมื่อเราต้องทำงานที่บ้าน เรียนออนไลน์ หลายคนตกงาน และต้องแยกตัวออกจากสังคม ก็ยิ่งทำให้คนที่มีปัญหาทางด้านจิตใจอยู่แล้วตกอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่กว่าเดิม

ยื่นมือมาแล้วจับกันไว้

FIFA หรือ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่เล็งเห็นปัญหานี้ หลังจากที่พวกเขาร่วมงานกับ WHO ทำแคมเปญรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพมาหลายต่อหลายแคมเปญ เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา FIFA ก็จับมือกับ WHO อีกครั้ง เพื่อออกแคมเปญ #Reachout ที่มีเนื้อหากระตุ้นให้ผู้ที่มีปัญหาด้านจิตใจ reach out (ยื่นมือ) ออกมาหาความช่วยเหลือจากคนที่พวกเขาไว้ใจจะพูดคุยด้วย ในขณะเดียวกัน #Reachout ก็ยังสนับสนุนให้พวกเราทุกคนคอยสังเกตคนที่เรารักว่าพวกเขากำลังต้องการใครสักคนเพื่อรับฟังหรือไม่ และถ้าเรามีคนคนนั้นอยู่ใกล้ตัว ก็อย่าลืม reach out ไปหาเพื่อช่วยเหลือพวกเขาก่อนที่อะไรๆ จะสายเกินไป

ใครๆ ก็ป่วยทางใจได้ ไม่เว้นนักฟุตบอลอาชีพ

ใน #Reachout FIFA ได้จัดทำวิดีโอขึ้นมาชิ้นหนึ่ง โดยนำเอานักฟุตบอลทั้งชายและหญิงหลายคน ทั้งระดับตำนาน นักฟุตบอลที่ยังเล่นเป็นอาชีพอยู่ และนักฟุตบอลที่แขวนสตั๊ดไปแล้ว เช่น Aline, Vero Boquete, Cafu, Laura Georges, Luis Garcia, Shabani Nonda, Patrizia Panico, Fara Williams และ Walter Zenga ออกมาพูดรณรงค์ให้พวกเรา reach out เข้าหากันและกัน โดยในจำนวนนักฟุตบอลทั้งหมดในแคมเปญนี้ มีอดีตนักฟุตบอล Marvin Sordell และ Sonny Pike จากสโมสร Bolton Wanderers และทีมฟุตบอลโอลิมปิกของสหราชอาณาจักร Team GB forward ได้ออกมาเปิดเผยประสบการณ์ของพวกเขาระหว่างที่ต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้าในระหว่างอาชีพนักฟุตบอล ทำให้เห็นว่าโรคทางใจเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ แม้กระทั่งคนที่ประสบความสำเร็จทางอาชีพการงานและชีวิตครอบครัว นอกจากนั้น Teresa Enke ภรรยาของ Robert Enke อดีตนักฟุตบอลสัญชาติเยอรมันที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเมื่อปี 2009 ก็ได้มาพูดคุยถึงความเจ็บปวดของการสูญเสียคนที่เธอรักไปจากอาการป่วยทางใจ ซึ่งแน่นอนว่าเธอไม่อยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับใครอีก

ล็อกดาวน์ช่วงโควิด เพิ่มอาการป่วยทางใจ

สถิติอีกอย่างที่น่าสนใจคือ มีนักฟุตบอลอาชีพ 23% ที่มีปัญหาเกี่ยวกับอาการนอนไม่หลับ 9% มีอาการซึมเศร้า และอีก 7% ตกอยู่ในความวิตกกังวล ที่สำคัญ ตัวเลขเหล่านี้จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นอีกเมื่อนักฟุตบอลเหล่านี้ยุติอาชีพนักกีฬาของตน คืออาการนอนไม่หลับ 28% ซึมเศร้า 13% และวิตกกังวล 11% 

ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า อาการป่วยทางใจมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อคนที่เคยมีอาชีพการงานเริ่มมีเวลาว่างมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เข้าสังคมหรือพบเจอเพื่อนในที่ทำงานน้อยลง ซึ่งข้อมูลนี้น่าจะอธิบายได้ดีว่าทำไมอัตราการป่วยทางใจจึงเพิ่มสูงขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ระหว่างการระบาดของ COVID-19

นี่เองจึงเป็นสาเหตุที่ Dr.Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก ออกมากล่าวว่า “ในช่วงการระบาดของ COVID-19 เป็นเรื่องสำคัญทีเราจะต้องดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจของกันและกัน” โดยการดูแลสภาพจิตใจนั้นก็ทำได้ไม่ยาก แค่คอยหมั่นสังเกตและใส่ใจคนรอบข้างให้มากขึ้น เมื่อพบว่าเขามีปัญหา ก็พยายามเปิดโอกาสการพูดคุยหรือสนับสนุนให้ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตพูดระบายความเจ็บปวดที่เขากำลังเผชิญออกมา เพียงแค่นั้นก็ช่วยให้พวกเขารู้สึกดีขึ้นได้มากแล้ว

วิดีโอ #Reachout ได้ถูกเผยแพร่ทางช่อง FIFA digital channels และช่องทางออนไลน์อื่นๆ โดยการนำนักฟุตบอลมาเป็นกระบอกเสียงรณรงค์เรื่องการขอความช่วยเหลือและยื่นมือให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่มีปัญหาทางด้านจิตใจนี้ นับเป็นเรื่องดี เพราะฟุตบอลเป็นกีฬายอดนิยม และกลุ่มคนอายุน้อยหลายคนก็มีไอดอลเป็นนักฟุตบอล แคมเปญ #Reachout จึงน่าจะช่วยสร้างความตระหนักรู้เรื่องการขอความช่วยเหลือและการยื่นมือเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยทางใจ รวมทั้งทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีได้ไม่มากก็น้อย

การขอความช่วยเหลือเมื่อต้องเจอกับภาวะซึมเศร้าหรือป่วยทางใจเป็นเรื่องที่ควรทำและไม่ใช่เรื่องน่าอายใดๆ ในขณะเดียวกันการยื่นมือเข้าช่วย เป็นผู้รับฟังที่ดีและคอยเคียงข้างเป็นกำลังใจให้กับคนที่เรารักก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อไม่ให้เขาต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้าเพียงลำพัง หรือหากมีอาการเกินกว่าจะรับมือไหวก็ควรพบแพทย์เพื่อที่จะช่วยเหลือได้ทันท่วงทีก่อนที่จะสายเกินไป

แปลและเรียบเรียงจาก:
fifa.com
news.un.org

บทความที่เกี่ยวข้อง