“สิทธิลาคลอด” ไม่ได้เป็นเรื่องของผู้หญิงเท่านั้น ปัจจุบันในหลายๆ ประเทศเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมายและนโยบายในที่ทำงาน เพื่อให้ผู้ชายสามารถลาคลอดออกมาช่วยเลี้ยงลูกด้วยอีกคน
การลาคลอดของคุณพ่อไม่ใช่เรื่องไร้สาระหรือน่าขำขัน แต่เป็นเรื่องที่สำคัญต่อสังคมตั้งแต่หน่วยเล็กที่สุดไปจนถึงหน่วยใหญ่ที่สุดเลยทีเดียว
ข้อดีถ้าคุณพ่อมีสิทธิลาคลอด
- เชื่อมความสัมพันธ์ของสามีภรรยา
ผลการสำรวจของบริษัท McKinsey ในปี 2020 ที่ได้สัมภาษณ์พ่อแม่มือใหม่จำนวน 130 คนจากสิบประเทศทั่วโลก พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 90 เปอร์เซ็นต์มีความเห็นว่า การที่พ่อมีสิทธิลาคลอดช่วยทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยานั้นดีขึ้น โดยภรรยารู้สึกว่าการที่สามีได้สิทธิลาคลอดมาช่วยกันเลี้ยงลูกอยู่ที่บ้านด้วยกันนั้นเป็นเรื่องจำเป็น และให้น้ำหนักกับคุณค่าทางด้านจิตใจมากกว่าแค่การช่วยเรื่องงานบ้าน การมีสามีอยู่ใกล้ๆ ทำให้ภรรยาไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ลดความโกรธเคืองหรือน้อยใจที่ต้องถูกทิ้งให้เลี้ยงลูกตามลำพัง โดยเฉพาะในช่วงหลังคลอดช่วงแรกที่มีความยุ่งยากและละเอียดอ่อนมากเป็นพิเศษ
งานวิจัยหลายๆ ชิ้นยังพบว่า การที่พ่อได้มีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูกน้อยช่วยลดอาการซึมเศร้าหลังคลอดของแม่ได้อย่างมาก ในทางกลับกัน การขาดการมีส่วนร่วมของพ่อเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้คุณแม่เกิดภาวะซึมเศร้าที่รุนแรงได้
- สร้างความผูกพันกับลูก
การที่คุณพ่อมีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูกตั้งแต่แรกเกิด ช่วยสร้างความผูกพันระหว่างพ่อกับลูกให้เหนียวแน่นมั่นคงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อความอบอุ่นในจิตใจของลูกไปจนโตเลยก็ได้ มันคือสายใยที่มองไม่เห็นแต่รู้สึกได้ คุณพ่อหลายคนลืมไปว่า นอกจากการให้นมจากเต้าแล้ว คุณพ่อก็สามารถเลี้ยงดูลูกได้เท่าเทียมกับคุณแม่ทุกอย่างเลยนะ จงอย่าปล่อยให้โอกาสหลุดลอยไป
- วางรากฐานบทบาทของพ่อแม่
การเริ่มต้นเลี้ยงลูกไปด้วยกันตั้งแต่วันแรกที่ลูกเกิดมาจะช่วยวางรากฐานให้ทั้งพ่อกับแม่รู้สึกมีส่วนร่วมกับลูกอย่างเท่าๆ กัน ไม่ทิ้งให้หนักอยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องไปถึงการร่วมกันตัดสินใจในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับลูกต่อไปในอนาคต
- ส่งผลดีต่อเรื่องงานและการเงิน
ทุกวันนี้ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นในการทำงานเพื่อหารายได้ให้ครอบครัวไม่ต่างจากผู้ชาย แต่การตั้งครรภ์และคลอดบุตรทำให้ผู้หญิงจำนวนมากต้องหยุดชะงักเรื่องอาชีพการงาน ไปจนถึงอาจต้องลาออกจากงานเพื่อมารับบทบาทความเป็นแม่อย่างเต็มตัว ซึ่งเป็นการลดโอกาสความก้าวหน้าในทางการงานของผู้หญิงหลายคนอย่างน่าเสียดาย
สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อคุณพ่อได้สิทธิลาคลอดมาช่วยกันเลี้ยงลูก จะช่วยบรรเทาความเหนื่อยทางกาย และช่วยลดความเครียดทางใจ ซึ่งจะส่งผลให้ภรรยาสามารถฟื้นตัวและกลับไปทำงานได้เร็วขึ้น ส่งผลให้ลดโอกาสการลาออกจากงาน หรือถูกเชิญให้ออกจากงาน และยังอาจเพิ่มโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพการงานอีกด้วย ซึ่งล้วนส่งผลดีต่อความมั่นคงทางการเงินของครอบครัวในระยะยาว
- กระตุ้นสังคมให้ตื่นตัว
เชื่อหรือไม่ว่า การใช้สิทธิลาคลอดของคุณพ่อแค่เพียงหนึ่งคนก็มีความหมายต่อการสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้คนรอบตัว ชุมชน ตลอดจนคนในสังคม ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัว โดยทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมด้วยช่วยกัน ไม่ยึดติดกับกรอบที่สังคมมักคาดหวังให้งานบ้านและงานเลี้ยงลูกเป็นของผู้หญิงเท่านั้น ความเปลี่ยนแปลงแม้เพียงเล็กน้อยแต่ถ้าทำไปไม่หยุดสักวันหนึ่งก็อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้
สิทธิลาคลอดในประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย กฎหมายแรงงานได้กำหนดสิทธิการลาคลอดไว้ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาคลอดรวมแล้วไม่เกิน 90 วัน โดยนายจ้างจะต้องจ่ายเงินให้เท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน เป็นเวลา 45 วัน
ล่าสุดเมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติหลักการร่างมาตรการสนับสนุนสตรีให้เป็นพลังสำคัญทางเศรษฐกิจ และสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ชายในการเลี้ยงดูบุตร โดยมีแผนจะขยายวันลาคลอดของแม่ที่เป็นข้าราชการหญิง ให้เพิ่มขึ้นอีก 8 วัน เป็น 98 วัน และสามารถลาเพิ่มได้อีกไม่เกิน 90 วัน (รวม 188 วัน) โดยได้รับเงินเดือนร้อยละ 50 ของเงินเดือน รวมทั้งเตรียมออกมาตรการส่งเสริมให้สามีที่เป็นข้าราชการนั้นมีสิทธิลาได้ 15 วันทำการ เป็นช่วงๆ ไม่ติดต่อกันจนครบวันลา (จากเดิมที่ให้ลาครั้งหนึ่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 15 วันทำการ) นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ภาครัฐให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม มาตรการที่เปลี่ยนแปลงนี้ยังไม่มีผลบังคับใช้ทันที ต้องรอการอนุมัติตามขั้นตอนต่อไป รวมทั้งยังไม่ครอบคลุมไปถึงภาคเอกชนที่การลาหยุดและการจ่ายเงินชดเชยนั้นมีความแตกต่างกันไปในรายละเอียด ขึ้นอยู่กับนโยบายด้านสวัสดิการของแต่ละองค์กรนั่นเอง สำหรับคุณพ่อที่ทำงานในองค์กรที่ยังไม่มีนโยบายเกี่ยวกับวันลาคลอดของผู้ชายก็อย่าเพิ่งเสียใจไป ลองใช้วิธีปรับวันลาพักร้อนให้มาตรงกับช่วงที่ภรรยาลาคลอดก็ได้
การเลี้ยงดูเด็กหนึ่งคนไม่ได้ต้องการเพียงแค่บทบาทของแม่หรือพ่อเท่านั้น แต่ยังต้องการการร่วมมือกันของคนในชุมชน (ที่ทำงาน) และนโยบายจากภาครัฐเข้ามาร่วมด้วย ดังคำกล่าวที่ว่า “It takes a village to raise a child” ทุกคนสามารถมีส่วนช่วยในการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งได้ทั้งนั้นไม่ว่าทางตรงทางอ้อม เพราะเด็กคือทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญในอนาคตของพวกเรา
–
อ้างอิง:
www.mckinsey.com
www.labour.go.th