การนอนหลับเป็นเรื่องดี แล้วเราก็มักจะย้ำกับคุณบ่อยๆ ว่า คุณควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมฟื้นฟูและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง แต่… ระวังกันสักนิด เพราะการนอนมากเกินไป (Hypersomnia หรือ Oversleeping) ใช่ว่าจะเป็นเรื่องดี เพราะคนที่นอนยาก นอนเยอะ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นานามักจะถามหาเช่นกัน
นอนแค่ไหนถึงเรียกว่านอนมากเกินไป
ผู้เชี่ยวชาญจาก National Sleep Foundation แนะนำว่าผู้ใหญ่อายุ 18-64 ปี ควรนอนหลับคืนละ 7-9 ชั่วโมง แต่จะเป็น 7, 8 หรือ 9 ชั่วโมงนั้น ขึ้นอยู่กับสุขภาพและการใช้ชีวิตของแต่ละคน เช่น สำหรับบางคนที่เล่นกีฬาหรือใช้พละกำลังมาก ก็มักจะนอนหลับยาวถึง 9 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูอย่างเต็มที่ หรือบางคนที่ป่วยหรืออดนอนติดต่อกันมาในคืนก่อนหน้า ก็อาจหลับยาวถึง 10 ชั่วโมงในคืนต่อมาก็เป็นได้
แต่… เมื่อไรก็ตามที่คุณนอนหลับมากกว่า 9 ชั่วโมงเป็นประจำ โดยที่ถ้านอนน้อยกว่านั้นเมื่อไร จะรู้สึกว่าพักผ่อนไม่เต็มที่ขึ้นมาทันที นั่นคือ สัญญาณของการนอนหลับมากเกินไป
ทำไมเราถึงนอนหลับมากเกินไป
สาเหตุของการนอนหลับที่มากเกินไปนั้นเป็นเพราะการนอนหลับของคุณมีคุณภาพอยู่ในระดับต่ำ เมื่อร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อนที่มีคุณภาพ จึงสั่งการให้คุณรู้สึกอยากนอนต่อไปอีก “คนที่นอนมากกว่า 9 ชั่วโมงต่อคืน ควรจะได้รับการประเมินคุณภาพการนอนเพื่อหาสาเหตุของการนอนหลับมากเกินไป” Michele Roberge ผู้วิจัยเกี่ยวกับการนอนหลับจาก Florida Association of Sleep Technologists ให้ความเห็น โดยสาเหตุของคุณภาพการนอนหลับที่ต่ำกว่ามาตรฐานอาจมาจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการพักผ่อน เช่น มีแสงรบกวน เสียงดัง หรือที่นอนไม่ถูกสุขลักษณะ หรืออาจเป็นผลมาจากอาการป่วย เช่น โรคหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) โรคลมหลับ (Narcolepsy) การนอนกัดฟัน (Bruxism) ภาวะขากระตุกขณะนอนหลับ (PLMD) และโรคซึมเศร้า (Depression) เป็นต้น
นอนมากเกินไป โรคภัยจะถามหา
งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า คุณภาพการนอนในระดับต่ำที่ทำให้ร่างกายบังคับให้คุณง่วงอยู่เกือบตลอดเวลาและใช้เวลานอนแต่ละคืนมากกว่า 9 ชั่วโมง จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคดังต่อไปนี้
- เบาหวาน (Diabetes): เมื่อนอนมากเกินไป เซลล์ในร่างกายจะตอบสนองต่ออินซูลินลดลง โดยมักเกิดกับเพศชายมากกว่าเพศหญิง
- โรคอ้วน (Obesity): คนที่นอนคืนละ 9-10 ชั่วโมง มีโอกาสจะเป็นโรคอ้วนภายใน 6 ปี มากกว่าคนที่นอน 7-8 ชั่วโมงถึง 21%
- โรคหัวใจ (Heart Disease): ผู้หญิงที่นอนคืนละ 9-11 ชั่วโมง มีโอกาสจะเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดมากกว่าผู้หญิงที่นอน 8 ชั่วโมงถึง 38% โดยนักวิจัยยังไม่พบสาเหตุที่เชื่อมโยงกัน
- ปวดศีรษะ (Headache): การนอนมากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อสารสื่อประสาท (Neurotransmitters) รวมทั้งเซโรโทนิน (Serotonin) สารสื่อประสาทที่ควบคุมความรู้สึกต่างๆ รวมถึงการนอนหลับ
- โรคซึมเศร้า (Depression): แม้ว่าอาการนอนไม่หลับ (Insomnia) จะสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้ามากกว่าการนอนมากเกินไป แต่การนอนมากเกินไปจะทำให้อาการซึมเศร้ายิ่งแย่ลงไปอีก
- ภาวะถดถอยทางสมอง (Cognitive impairment): นอนน้อยไปทำให้สมองเสื่อม แต่นอนมากไปทำให้สมองถดถอยเช่นกัน โดยเสี่ยงเป็นโรคความจำเสื่อมมากกว่าปกติถึงสองเท่า
นอนเกิน 11 ชั่วโมง เสี่ยงเป็นโรคพังผืดที่ปอด
นอกจากโรคภัยไข้เจ็บข้างต้นที่เรารู้จักกันดีแล้ว การนอนมากเกิน 11 ชั่วโมงต่อคืน หรือนอนน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อคืน เป็นระยะเวลาติดต่อกันนานๆ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคพังผืดที่ปอด (Pulmonary Fibrosis) มากกว่าคนที่นอน 7-9 ชั่วโมงถึง 2-3 เท่า
โรคพังผืดที่ปอด คือโรคปอดชนิดหนึ่งที่เนื้อเยื่อปอดมีการอักเสบจนเกิดเป็นแผลและพังผืด ทำให้ถุงลมปอดทำหน้าที่แลกเปลี่ยนออกซิเจนเข้ากระแสเลือดได้ยากขึ้น เป็นเหตุให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าหายใจได้ไม่อิ่ม (Dyspnea หรือ Shortness of Breath) ที่สำคัญ เมื่อระดับออกซิเจนในกระแสเลือดลดลง จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนทางระบบหายใจที่เป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น ระบบทางเดินหายใจล้มเหลวและหัวใจล้มเหลว ที่สำคัญ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคผังพืดที่ปอดให้หายเป็นปกติได้ เราจึงควรหาวิธีป้องกันตัวเองไม่ให้เป็นโรคดังกล่าวตั้งแต่เนิ่นๆ
แล้วเราจะปรับชั่วโมงการนอนให้อยู่ที่ 7-9 ชั่วโมง ได้อย่างไร?
ก่อนอื่น ถ้าคุณหลับยาก หลับเยอะ ง่วงนอนอยู่ตลอดเวลา และนอนมากกว่า 9 ชั่วโมงเป็นประจำ เราแนะนำให้คุณลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับเพื่อหาสาเหตุและแก้ไขตรงนั้นเสียก่อน แต่นอกเหนือจากโรคต่างๆ ที่เป็นต้นตอของการนอนหลับมากเกินไปแล้ว คุณก็ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างเพื่อให้มีคุณภาพการนอนที่ดีขึ้นด้วย
- ตื่นนอนในเวลาเดิมทุกวัน รวมทั้งวันหยุด เพราะนอกจากการนอนมากเกินไปในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จะทำให้คุณง่วงงุนในเช้าวันจันทร์แล้ว ก็ยังจะทำให้ตารางเวลาการตื่นและนอนของคุณรวนอีกด้วย
- เมื่อรู้สึกตัวตื่นแล้ว ควรเปิดม่านออกเพื่อรับแสงสว่าง ร่างกายจะได้รู้สึกตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า หรือคุณอาจแง้มผ้าม่านไว้นิดๆ ตั้งแต่ตอนกลางคืนเพื่อให้แสงอาทิตย์ยามเช้าส่องเข้ามาในห้อง เป็นการปลุกตัวเองด้วยธรรมชาติ
- จัดห้องนอนให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่มีแสง เสียง รบกวนในเวลากลางคืน มีอุณหภูมิพอเหมาะ
- ทำความสะอาดที่นอนและอุปกรณ์เครื่องนอนอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง
- หลัง 16.00 ไม่ควรงีบและดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน เพราะจะทำให้คุณนอนไม่หลับเมื่อถึงเวลานอน ทำให้เมื่อถึงเวลาตื่น ร่างกายยังไม่พร้อมที่จะตื่น
- งดเล่นโทรศัพท์มือถือและเครื่องมือสื่อสารต่างๆ ก่อนเวลาเข้านอน
อะไรที่น้อยไปก็ไม่ดี มากไปก็ไม่ดี รวมถึงการนอนที่เป็นเรื่องสำคัญมากต่อสุขภาพกายและใจของเรา เพราะฉะนั้นใครที่สำรวจตัวเองแล้วรู้ตัวว่านอนมากเกินไป ปีใหม่นี้อย่าลืมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นกันค่ะ
–
ที่มา:
webmd.com
amerisleep.com
economictimes.indiatimes.com
pobpad.com