เกือบพิการเพราะออฟฟิศซินโดรม!

Bone & Muscle / Health

เรื่องจริงของคุณเอ็ม โปรแกรมเมอร์ไฟแรงผู้จริงจังกับการทำงาน คุณเอ็ม โปรแกรมเมอร์หนุ่ม ผู้มีกิจวัตรประจำวันในการทำงานคือการนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นเวลา 8-10 ชั่วโมงต่อวัน ด้วยความที่เป็นคนทุ่มเทกับงานในทุกโปรเจกต์ เวลางานของคุณเอ็มนั้นแทบไม่มีช่วงเวลาที่จะลุกจากหน้าจอเลย จะมีก็แค่เวลารับประทานอาหารและเข้าห้องน้ำเท่านั้น 

สัญญาณเตือนที่ถูกมองข้าม

หลังจากทำงานด้านนี้อย่างทุ่มเทได้ราวปีเศษ คุณเอ็มก็เริ่มมีอาการปวดเมื่อยคอ บ่า สะบัก อาการปวดเมื่อยเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นเวลาที่คุณเอ็มนั่งทำงานต่อเนื่องสักระยะหนึ่งและอาการก็จะค่อยๆ หายไปเมื่อมีการเปลี่ยนอิริยาบถ คุณเอ็มไม่ได้ใส่ใจกับอาการเหล่านี้มากนัก เพราะอาการปวดไม่ได้รุนแรงและสามารถหายได้เอง อาการปวดคอ บ่า และสะบักยังคงอยู่กับคุณเอ็มเรื่อยมา แต่หลังจากที่อาการเริ่มเกิดขึ้นได้ราวหกเดือน คุณเอ็มรู้สึกว่าอาการปวดเริ่มจะเป็นถี่มากขึ้นและหายยากขึ้น จากแค่เปลี่ยนอิริยาบถเพื่อบรรเทาอาการ ก็ต้องมีการรับประทานยาบ้าง หรือไปนวดบ้างอาการถึงจะหายไป นอกจากอาการปวดแล้ว บางครั้งคุณเอ็มยังมีอาการปวดร้าวจากคอไปตามแขนและมือ ร่วมกับมีอาการคล้ายเหน็บชาที่มือด้วย 

อาการเล็กๆ สุดท้ายกลายเป็นต้องผ่าตั

คุณเอ็มได้ลองหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ก็คิดว่าตนเองน่าจะมีอาการของ ออฟฟิศซินโดรม ซึ่งในความเข้าใจของเขานั้น ”โรคนี้ก็เป็นแค่โรคปวดเมื่อยกล้ามเนื้อของคนทำงานในออฟฟิศเท่านั้นเอง” เขายังคงใช้ชีวิตในแบบเดิมและเริ่มใช้เวลาในช่วงวันหยุดเพื่อไปนวดคลายกล้ามเนื้ออยู่เป็นประจำ แต่แล้วในช่วงบ่ายวันหนึ่งขณะนั่งทำงานตามปกติ คุณเอ็มมีอาการปวดคออย่างรุนแรง เขารู้สึกว่ามีอาการปวดวูบลงไปที่แขนและขาสองข้าง เขาพยายามลุกจากโต๊ะทำงานเพื่อไปหยิบยามารับประทานและจะไปนอนพัก แต่เขากลับรู้สึกว่าแขนขามีอาการหนักกว่าปกติ อีกทั้งมือและขาทั้งสองข้างมีอาการเกร็งควบคุมได้ไม่ดีเหมือนเดิม ด้วยความตกใจคุณเอ็มรีบให้เพื่อนร่วมงานพามาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ในเบื้องต้นเขาคิดว่าตัวเองจะมีอาการเลือดออกในสมองหรือสมองขาดเลือด (Stroke) เพราะมีอาการแขนขาอ่อนแรงเฉียบพลัน แต่หลังจากแพทย์ได้ทำการตรวจโดยละเอียดแล้วพบว่า สิ่งที่ก่อให้คุณเอ็มเกิดอาการอ่อนแรง คือ หมอนรองกระดูกคอเคลื่อนออกมากดทับไขสันหลัง ทำให้เกิดความบอบช้ำของไขสันหลัง แพทย์ได้แนะนำให้คุณเอ็มรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกเทียมที่คอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายถาวรกับไขสันหลังซึ่งอาจจะนำไปสู่ความพิการถาวรได้ คุณเอ็มใช้เวลาตัดสินใจไม่นานก็เข้ารับการผ่าตัดในวันรุ่งขึ้น หลังจากนั้นอาการต่างๆ ค่อยๆ กลับสู่สภาพปกติตามลำดับในเวลาราวๆ 3 เดือน

ปัจจุบันคุณเอ็มสามารถกลับมาทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์เหมือนเดิมได้แล้ว แต่เขาได้ปรับลักษณะการทำงานโดยจะไม่นั่งทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ จะมีการเปลี่ยนอิริยาบถเสมอๆ มีการปรับท่าทางในการนั่งทำงานใหม่ และมีการออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อคอทุกวัน

“คุณเอ็มถือเป็นผู้ป่วยที่ค่อนข้างโชคดีที่เส้นประสาทและไขสันหลังสามารถฟื้นตัวมาสู่สภาพปกติได้ 100% เพราะในความเป็นจริงแล้ว มีผู้ป่วยหลายรายที่ถึงแม้จะรับการรักษาโดยการผ่าตัด แต่เส้นประสาทที่เสียหายจากการถูกกดทับ ไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาทำงานได้ตามปกติ ทำให้กล้ามเนื้อบางส่วนยังคงอ่อนแรงหรือไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อได้ดีเหมือนปกติ”

ออฟฟิศซินโดรม…ความเข้าใจผิดที่คิดว่าแค่อาการปวดเมื่อย?

นิยามที่แท้จริงของออฟฟิศซินโดรม คือโรคที่มีสาเหตุมาจากการทำงานในออฟฟิศ ซึ่งพบว่าเป็นงานที่ผู้ป่วยต้องอยู่ในอิริยาบถเดิมเป็นเวลานานๆ โรคนี้ไม่ใช่เพียงโรคที่เกิดจากกล้ามเนื้อล้าหรืออักเสบเท่านั้น แต่หากถ้าเราต้องอยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน ต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือนหรือเป็นปี อิริยาบถที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดความเสื่อมสภาพของข้อต่อและหมอนรองกระดูกสันหลังได้ อย่างเช่นในรายของคุณเอ็ม เมื่อหมอนรองกระดูกเกิดความเสื่อมขึ้นแล้ว แต่ยังคงต้องแบกรับภาระที่มากกว่าปกติอยู่ ท้ายที่สุดหมอนรองกระดูกนั้นก็มีโอกาสที่จะแตกปลิ้นออกมากดทับเส้นประสาทได้

ดังนั้นหากจะสรุปว่าออฟฟิศซินโดรมเป็นเพียงโรคปวดเมื่อยกล้ามเนื้อก็คงจะเป็นข้อสรุปที่ไม่จริงนัก อาการผิดปกติของกล้ามเนื้อเป็นเพียงจุดเริ่มของปัญหาที่ใหญ่ขึ้น เช่น ปัญหาของข้อต่อเสื่อม หรือหมอนรองกระดูกเสื่อมได้

หมอนรองกระดูกเสื่อม โรคของคนแก่เท่านั้น?

หลายท่านยังมีความเชื่อที่ผิดว่า โรคหมอนรองกระดูกเสื่อมนั้นเป็นโรคของคนแก่ ในวัยรุ่นหรือวัยทำงานไม่น่าที่จะมีโรคความเสื่อมเหล่านี้ แท้ที่จริงแล้วความเสื่อมของหมอนรองกระดูกเกิดได้จากสองปัจจัยหลักๆ คือ อายุและการใช้งาน ดังนั้น หากเรามีการใช้งานที่ไม่ถูกต้อง ทำให้หมอนรองกระดูกต้องแบกรับแรงกดดันที่มากผิดปกติอยู่เป็นประจำ ความเสื่อมก็สามารถเกิดขึ้นได้แม้อายุจะยังไม่มากก็ตาม

สำหรับการใช้งานที่ไม่เหมาะสมที่ก่อให้เกิดภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อมนั้น มีได้สองลักษณะใหญ่ๆ คือ การใช้งานที่หนักมากเกินไป อาทิเช่น การต้องแบกหรือยกของที่มีน้ำหนักเยอะมากๆ และการใช้งานที่ไม่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ เช่นการนั่งทำงานในอิริยาบถที่ไม่ถูกต้องต่อเนื่องอยู่เป็นเวลานาน 

อาการเตือนที่ควรจะใส่ใจ

เชื่อว่าหลายท่านมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากการทำงาน แต่อาการอะไรบ้างที่จะเป็นอาการเตือนว่าไม่ใช่อาการปวดตามปกติและเป็นอาการที่ควรจะต้องมาพบแพทย์ 

1. อาการปวดที่เป็นเรื้อรังนานเกิน 6 สัปดาห์
2. อาการปวดที่รุนแรง หรือมีอาการที่แย่ลงเรื่อยๆ
3. มีอาการปวดร้าวจากคอไปที่แขนหรือมือ 
4. มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ หรือมีอาการชาที่แขนหรือมือ
5. ไม่สามารถควบคุมการทรงตัวได้เป็นปกติ
6. ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะได้ตามปกติ
7. มีอารปวดร่วมกับอาการไข้ หรือน้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว
หากมีอาการดังกล่าว เป็นเรื่องจำเป็นที่ควรจะพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและเริ่มการรักษาโดยทันที

ปรับพฤติกรรมจนถึงผ่าตัด : รักษาอย่างไรขึ้นกับระยะของโรค 

การรักษาโรคในกลุ่มออฟฟิศซินโดรมนั้นมีหลากหลายวิธี ตั้งแต่ การพักผ่อนไปจนถึงการผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะของโรค รวมถึงความรุนแรงของอาการ ณ เวลานั้นๆ โดยทั่วๆไปแล้วเราสามารถทำการรักษาโรคกลุ่มออฟฟิศซินโดรม ด้วยวิธีดังนี้

1. การพักผ่อน 
เป็นวิธีการที่ทำให้กล้ามเนื้อที่เกิดความเมื่อยล้าจากการใช้งานได้มีเวลาในการฟื้นฟูและปรับสภาพมาสู่สภาพปกติ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีอาการของออฟฟิศซินโดรมที่ไม่รุนแรงและไม่ได้เป็นมานานมากจะมีอาการที่ดีขึ้นหลังจากได้พักผ่อน

2. การใช้ยา
กลุ่มยาที่มักจะถูกนำมาใช้ในการรักษาออฟฟิศซินโดรม จะประกอบไปด้วยยา 2 กลุ่มหลักๆ คือ ยาลดการอักเสบของกล้ามเนื้อและยาคลายกล้ามเนื้อ โดยยาทั้งสองกลุ่มนี้จะทำหน้าที่ในการรักษาการอักเสบของกล้ามเนื้อที่ถูกใช้งานหนักอย่างต่อเนื่อง เมื่อการอักเสบลดลง อาการปวดก็จะลดลงเป็นลำดับ นอกจากอาการปวดแล้ว กล้ามเนื้อที่มีการอักเสบจะเกิดการหดเกร็งตัวอีกด้วย ดังนั้นยาคลายกล้ามเนื้อก็จะทำหน้าที่ปรับสภาพให้กล้ามเนื้อที่หดเกร็ง มีการคลายตัวกลับคืนสู่สภาพปกติ

3. การทำกายภาพบำบัด
กายภาพบำบัดนั้นสามารถช่วยรักษาทั้งในส่วนของการอักเสบหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ไปจนถึงการฟื้นฟูสภาพความเสื่อมของหมอนรองและข้อต่อกระดูกสันหลัง การกายภาพบำบัดนั้นมีส่วนช่วยเป็นอย่างมากในกรณีของผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการรุนแรงหรือมีอาการที่เรื้อรัง 

4. การผ่าตัด 
สำหรับการผ่าตัดนั้นจะเป็นการรักษาตัวโรคที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเป็นออฟฟิศซินโดรมเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็นหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนหรือกระดูกสันหลังเสื่อมและมีการกดทับเส้นประสาท สำหรับวิธีการผ่าตัดนั้นจะขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพของผู้ป่วยเป็นสำคัญ 

การป้องกันที่ดีที่สุด

หลักสำคัญในการป้องกันออฟฟิศซินโดรม ประกอบไปด้วยสองส่วน คือ 

  1. ลดความเสี่ยง
    ความเสี่ยงที่ว่านี้คือกิจกรรมที่ก่อให้เกิดภาระกับกล้ามเนื้อและข้อต่อ ไม่ว่าจะเป็นการอยู่ในอิริยาบถที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน การยกของหนัก การขับรถเป็นเวลานานๆ อยู่เป็นประจำ หากสามารถลดสาเหตุที่จะก่อโรคได้ ก็เท่ากับว่าเราสามารถลดโอกาสที่จะเกิดโรคได้เช่นกัน
  2. เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
    หากเราสามารถสร้างกล้ามเนื้อให้มีความแข็งแรงจะช่วยให้โอกาสที่กล้ามเนื้อเกิดการอักเสบหรือบาดเจ็บจากกิจวัตรประจำวันต่างๆ นั้นลดลงไปด้วย การออกกำลังกายหรือบริหารกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอจึงมีความสำคัญในการช่วยลดโอกาสการเกิดออฟฟิศซินโดรมได้

นอกจากความแข็งแรงแล้ว กล้ามเนื้อที่ดีควรจะมีความยืดหยุ่นด้วย กล้ามเนื้อที่ยืดหยุ่นจะมีโอกาสเกิดการบาดเจ็บหรือหดเกร็งตัวน้อยกว่ากล้ามเนื้อที่มีความตึงรั้ง ดังนั้น โปรแกรมการบริหารกล้ามเนื้อที่ดีควรจะมีส่วนของการยืดกล้ามเนื้อประกอบด้วยเสมอ เพื่อสร้างความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ


บทความที่เกี่ยวข้อง