ปัญหาเกี่ยวกับสายตาเป็นสิ่งที่คอยกวนใจ หากปล่อยไว้ก็อาจจะสร้างความลำบากหรือกระทบต่อการใช้ชีวิต เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่มักประสบกับปัญหานี้ เรียกได้ว่าแทบทุกบ้านจะต้องมีคนใส่แว่นอย่างน้อย 1 คน โดยปัญหาเกี่ยวกับสายตานั้นสามารถเกิดขึ้นได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น (Myopia) สายตายาว (Hyperopia) หรือสายตาเอียง (Astigmatism) ซึ่งเป็นปัญหาที่คุ้นชินและทราบกันดี แต่รู้หรือไม่ว่า ปัญหาเหล่านี้ในคนคนหนึ่งมีโอกาสที่จะเกิดได้สองหรือสามปัญหาสายตาในเวลาเดียวกัน อย่างเช่น ภาวะสายตาสั้นร่วมกับสายตายาวตามวัย ซึ่งเป็นภาวะที่ควรทำความรู้จักไว้ เพราะใครๆ ก็มีสิทธิ์เจอ
‘สายตาสั้น’ ร่วมกับ ‘สายตายาวตามวัย’ เกิดขึ้นได้อย่างไร
ภาวะสายตาสั้น สามารถเกิดขึ้นได้จากพันธุกรรมหรือพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ผู้คนส่วนใหญ่นิยมทำงานผ่านคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต ทำให้ในแต่ละวันเกิดการเพ่งของสายตาไม่ต่ำกว่า 6-8 ชั่วโมง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสายตา และเมื่อเวลาผ่านไปคนเอเชียอย่างเราที่ย่างก้าวสู่วัย 40 ปีมักจะประสบกับภาวะสายตายาวตามวัย (Presbyopia) ที่เกิดจากกล้ามเนื้อตาหย่อน ทำให้ประสิทธิภาพในการโฟกัสภาพแย่ลง ดังนั้นใครก็ตามที่กำลังเผชิญกับภาวะสายตาสั้นในขณะนี้ ในอนาคตคุณมีโอกาสที่จะเกิดภาวะสายตายาวตามวัยร่วมด้วย และแน่นอนว่ามันเป็นเรื่องของธรรมชาติที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้
มองใกล้ไม่ชัด มองไกลก็เบลอ
สำหรับคนที่มีภาวะสายตาสั้นและได้รับการรักษาด้วยแว่นสายตาสำหรับมองไกลอยู่นั้น เมื่อมีภาวะสายตายาวตามวัยเพิ่มเข้ามา อาการหลักที่มักจะสังเกตได้คือ เริ่มมีการมองในระยะใกล้ไม่ชัด บางครั้งคุณต้องพยายามเพ่งเป็นอย่างมาก หรือถึงกับยืดระยะการมองออกให้ไกลเพื่อช่วยให้ภาพต่างๆ ชัดขึ้น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นเคยมองเห็นได้อย่างชัดเจน จึงกลายเป็นว่าแม้จะสวมแว่นอยู่ก็ยังมีปัญหาใหม่ในเรื่องของการมองใกล้ไม่ชัด
Monovision มองชัดทั้งใกล้และไกล
การรักษาปัญหาสายตาด้วยวิธีโมโนวิชั่น (Monovision) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสำหรับการรักษาภาวะสายตาสั้นและสายตายาวร่วมด้วย ซึ่งหลักการของโมโนวิชั่น คือการแก้ไขดวงตาข้างที่เด่น (dominant eye) หรือข้างที่ถนัดมองไกลให้ไม่มีค่าสายตาสั้นเหลืออยู่ เพื่อช่วยในการมองเห็นระยะไกล ส่วนดวงตาอีกข้างจะตั้งใจแก้ไขให้เหลือภาวะสายตาสั้นเล็กน้อย เมื่อมีการใช้ตาสองข้างพร้อมกัน จะทำให้เกิดความสมดุลของการมองเห็น ดังนั้นผลลัพธ์ของการทำโมโนวิชั่นจะช่วยทำให้มองเห็นภาพได้ทั้งในระยะไกลและระยะใกล้ โดยไม่ต้องใส่แว่นตา แต่ในบางครั้งถ้ามีแสงสว่างน้อย เช่น การขับรถกลางคืน อาจต้องมีแว่นเข้ามาช่วยบ้าง
การรักษาด้วยวิธีโมโนวิชั่น (Monovision) สามารถทำได้หลายรูปแบบ ได้แก่
- การใส่คอนแทคเลนส์ (contact lens) แบบโมโนวิชั่น วิธีนี้เป็นวิธีที่สะดวกและเหมาะสำหรับการจำลองการมองเห็นแบบโมโนวิชั่นก่อนเข้ารับการผ่าตัด
- การผ่าตัดแบบโมโนวิชั่น เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการสวมแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ ซึ่งการผ่าตัดสามารถทำได้หลายวิธี เช่น Laser In-Situ Keratomileusis (LASIK), Photorefractive Keratectomy (PRK), Refractive Lenticule Extraction (Relex ) Small Incision Lenticule Extraction (SMILE); (Relex SMILE) เป็นต้น
การรักษาสายตาแบบโมโนวิชั่นในปัจจุบัน ด้วยวิธีการ Relex SMILE ได้นั้น ต้องมีภาวะสายตาสั้นหรือเอียงร่วมด้วย ถ้ามีเพียงสายตายาวตามวัยเพียงอย่างเดียวจะยังไม่สามารถรักษาได้
การรักษาด้วยวิธีโมโนวิชั่นนอกจากจะมีข้อดีที่ช่วยให้มองได้ทั้งใกล้และไกลโดยไม่ต้องใส่แว่น ทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่น ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของการกะระยะอีกด้วย เนื่องจากการโฟกัสของตาในแต่ละจุดไม่เท่ากัน จึงอาจจะต้องใช้แว่นเข้าช่วยในบางโอกาส เช่น เมื่อขับรถ โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืนควรใช้แว่นสำหรับมองไกลเสริม หรือเมื่อทำกิจกรรมที่ต้องเพ่งสายตาเป็นเวลานานควรใช้แว่นสำหรับมองใกล้ เพื่อลดอาการเหนื่อยล้าและเพิ่มความสบายให้กับดวงตา เป็นต้น อีกทั้งโมโนวิชั่นไม่ได้เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับทุกคน ในบางรายที่ทดสอบแล้วพบว่าไม่สามารถปรับสายตาให้เข้ากันได้จะรู้สึกไม่สบายตา คลื่นไส้ อาเจียน จึงควรเลือกการรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การใส่แว่นหลายระยะ ดังนั้นคุณและจักษุแพทย์จำเป็นต้องร่วมกันช่วยประเมินและเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการให้มากที่สุด
เคล็ด (ไม่) ลับกับการดูแลสายตา
ในแต่ละวันเราหมดเวลาในการใช้สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ไปกับการทำงาน การเรียน หรือแม้กระทั่งการผ่อนคลายวันละกี่ชั่วโมง แน่นอนว่าสำหรับบางคนอาจจะใช้เวลาทั้งวัน หรืออย่างต่ำวันละ 3-4 ชั่วโมง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ได้กลายเป็นชีวิตประจำวันของใครหลายคนอย่างปฏิเสธไม่ได้ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังระบาด แน่นอนว่าเราควรหาวิธีรับมือเพื่อลดปัญหาทางด้านสายตาซึ่งการรับมือนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องที่คุณทำได้ ถ้าคุณรู้กฎ 30-30-30 ซึ่งก็คือการใช้สายตา 30 นาที แล้วสลับมาพักสายตา 30 วินาที ไม่ว่าจะพักโดยการหลับตาหรือมองไกลประมาณ 30 ฟุต เพียงเท่านี้ก็จะสามารถคลายความเหนื่อยล้าของดวงตาและยังช่วยถนอมสายตาอีกด้วย นอกจากดวงตาจะเป็นอวัยวะที่ต้องการการพักแล้ว ดวงตายังต้องการแสงสว่างที่พอเหมาะ ดังนั้นเราจึงควรปรับแสงสว่างของห้องและจัดวางตำแหน่งของคอมพิวเตอร์ที่ใช้ให้เหมาะสม รวมถึงในวันที่ต้องอยู่บนหน้าจอคอมฯ เป็นเวลานานก็ควรเลือกใช้แว่นตาที่กรองแสงเพื่อป้องกันรังสีจากหน้าจอคอมฯ เพียงเท่านี้คุณก็สามารถรับมือหรือช่วยชะลอปัญหาทางด้านสายตาที่อาจจะตามมาในอนาคต
สุดท้ายนี้อยากฝากถึงใครหลายคนที่เคยได้ยินความเชื่อที่ว่า ในคนที่สายตาสั้นพออายุมากขึ้นจะมีสายตายาวตามวัยเข้ามาทดแทนสายตาที่สั้นอยู่ ทำให้ค่าสายตากลับมาปกติ รู้ไหมว่านั่นเป็นสิ่งที่เข้าใจผิด นอกจากจะไม่สามารถช่วยทดแทนได้แล้ว ยังเพิ่มปัญหาทางด้านสายตาจนกลายเป็นภาวะที่เรียกว่า สายตาสั้นร่วมกับสายตายาวตามวัย ดังนั้นหากรู้สึกว่ามีการมองเห็นที่ผิดปกติควรปรึกษาหรือตรวจสุขภาพตากับจักษุแพทย์
–
ขอขอบคุณสาระความรู้จาก: พญ. ตุลยา ตั้งศิริพัฒน์ จักษุแพทย์