รู้ไว้ ปฏิบัติได้: วิธีดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับ

Cancer / Health

วิธีดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับ ทำได้ด้วยความเข้าใจจากคนใกล้ตัว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันนี้โรคมะเร็งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนในประเทศ ซึ่งมะเร็งตับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในชายไทยและอันดับ 5 ในเพศหญิง โดยมะเร็งตับสาเหตุเกิดได้จากทั้งมะเร็งที่เกิดจากตับโดยตรง หรือเกิดจากเซลล์มะเร็งที่ลุกลามมายังตับ 
การเป็นโรคมะเร็งก็จะนำมาซึ่งความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย ดังนั้นคนในครอบครัวจึงต้องรู้ถึงวิธีดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับอย่างถูกต้อง เพื่อทำให้การพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งตับเป็นไปอย่างปลอดภัย และมีความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับตั้งแต่ในระยะแรกไปจนถึงการดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับระยะสุดท้าย

แนวคิดสำหรับวิธีดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับ สิ่งสำคัญที่จะต้องคำนึงไว้เสมอคือศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วย ซึ่งจะเป็นการดูแลรักษาแบบประคับประคองแบบบูรณาการ กล่าวคือ เป็นการดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ ควบคู่ไปพร้อม ๆ กันทั้งหมด เพื่อควบคุมอาการเจ็บปวดหรืออาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความไม่สบาย วิตกกังวล หรือเป็นทุกข์  หรือแม้แต่การทำให้ผู้ป่วยได้มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ เพื่อสร้างความหมายและความพึงพอใจให้กับชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีอาการมะเร็งตับระยะสุดท้าย ซึ่งอาจจะมีอาการเจ็บปวดมากกว่าในระยะอื่น ๆ ผู้ดูแลจึงต้องคอยประคับประคองไม่ให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมาน และเสียชีวิตอย่างสงบสุขที่สุด

เมื่อรู้ว่าคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดป่วยเป็นมะเร็งตับ สิ่งแรกที่ผู้ดูแลควรจะต้องเรียนรู้คือวิธีดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับทางด้านร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติตัวไปจนถึงด้านอาหารที่ผู้ป่วยควรรับประทานหรือควรหลีกเลี่ยง ซึ่งวิธีดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับนี้ ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ได้กับผู้ป่วยทุกระยะ ไม่ว่าจะในมะเร็งตับระยะเริ่มต้น มะเร็งตับระยะแพร่กระจาย ไปจนถึงมะเร็งตับระยะสุดท้าย โดยวิธีการดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับทางด้านร่างกายให้ได้ผลสามารถทำได้ ดังต่อไปนี้

คำแนะนำในการรับประทานอาหาร

การดูแลเรื่องการรับประทานอาหารเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งตับ ซึ่งหากผู้ป่วยสามารถปฏิบัติได้ตามคำแนะนำเหล่านี้ ก็จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดให้ลดน้อยลงได้

  • หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง และอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก แหนม เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงอาหารปิ้งย่าง ที่มีความไหม้เกรียม
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด รสเผ็ด มีความเค็มสูง
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง
  • หลีกเลี่ยงผลไม้ที่ไม่ได้ปอกเปลือก
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
  • หลีกเลี่ยงถั่วลิสงและเมล็ดพืชแห้งที่มีเชื้อราปนเปื้อน
  • เน้นการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงและมีไขมันน้อย เช่น ปลา
  • รับประทานผักและผลไม้รวมถึงอาหารที่มีกากใยอาหารสูง
  • ดื่มเครื่องดื่มที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ชาเขียว น้ำขิง น้ำดอกอัญชัน น้ำแครอท
  • รับประทานอาหารเสริมบำรุงตับ
  • รับประทานอาหารที่ผ่านการปรุงสุกเท่านั้น

คำแนะนำด้านการออกกำลังกายและทำสมาธิ

นอกจากการดูแลด้านการรับประทานอาหารของผู้ป่วยแล้ว อีกหนึ่งวิธีดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับ คือการออกกำลังกายและการทำสมาธิการออกกำลังกายหรือการให้ผู้ป่วยได้เคลื่อนไหวร่างกาย จะช่วยทำให้ระบบขับถ่ายและระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งจะต้องเป็นการออกกำลังการที่ไม่หักโหมจนเกินไป เช่น เดิน ไทเก๊ก เป็นต้น ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละบุคคลด้วย การทำสมาธิเป็นการช่วยลดความเครียดให้กับผู้ป่วย เปลี่ยนจุดสนใจของผู้ป่วยจากความเจ็บปวดให้มาอยู่กับการทำสมาธิแทน โดยจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสงบเยือกเย็นและเข้าถึงธรรมชาติได้มากขึ้นอีกด้วย

อย่างที่ได้กล่าวไปตั้งแต่ต้นว่าการดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับจะต้องดูแลทั้งด้านร่างกายและจิตใจควบคู่ไปพร้อม ๆ กัน หลังจากที่ได้รู้แล้วว่าวิธีดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับในด้านร่างกายต้องทำอย่างไร ก็ถึงเวลามาทำความเข้าใจและเรียนรู้ไปพร้อมกันว่าผู้ป่วยมะเร็งจะมีสภาพจิตใจและปฏิกิริยาต่อการเจ็บป่วยเป็นแบบใดบ้าง ซึ่งสามารถแบ่งได้ออกเป็น 5 ระยะ ดังนี้

1. ระยะช็อกและปฏิเสธ (Shock & Denial)

อาการ: ระยะนี้เป็นระยะแรกที่เกิดขึ้น โดยผู้ป่วยจะมีอาการนิ่งเนื่องจากตกใจ ไม่ยอมรับความจริงว่าตนเองมีอาการเจ็บป่วย และไม่ยอมพูดถึงอาการเจ็บป่วยของตนเอง ในบางคนอาจจะโทษว่าแพทย์วินิจฉัยโรคผิด และไปหาแพทย์หลายคนเพื่อยืนยันว่าตนเองไม่ได้ป่วย

วิธีการดูแล: ให้เวลากับผู้ป่วยในการทำใจและยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น รับฟังและเข้าใจ ให้กำลังใจ ไม่ตำหนิผู้ป่วย และหยุดสนทนาเรื่องอาการเจ็บป่วยเมื่อผู้ป่วยไม่ต้องการฟัง

2. ระยะโกรธ (Anger)

อาการ: ผู้ป่วยจะมีอารมณ์รุนแรง พูดจาก้าวร้าว และต่อต้านการรักษา และมีการโทษตัวเองและโกรธผู้คนรอบข้าง ในความโชคร้ายที่เกิดขึ้น

วิธีการดูแล: การดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับที่อยู่ในระยะนี้ค่อนข้างยาก เพราะจะต้องอยู่เคียงข้างผู้ป่วยและใช้ทักษะการฟังเป็นอย่างมาก เพื่อแสดงให้ผู้ป่วยเห็นว่าเรามีความจริงใจในการรับฟังความรู้สึกที่เขาระบายออกมาและพร้อมจะช่วยเหลือผู้ป่วยเสมอ

3. ระยะต่อรอง (Bargaining)

อาการ: ผู้ป่วยจะต่อรองว่าตนอาจจะไม่ได้เป็นโรคร้าย ซึ่งอาจจะกลับไปสู่ระยะปฏิเสธได้ บางคนอาจจะมีความหวังว่ามะเร็งที่เป็นอาจจะไม่ร้ายแรงถ้าตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อทำให้ตนเองมีความหวังและยืดเวลาในการยอมรับความจริงออกไป

วิธีการดูแล: คอยรับฟังอย่างเข้าใจ และคอยให้กำลังเพื่อช่วยทำให้ผู้ป่วยยอมรับความจริงกับอาการที่เกิดขึ้น

4. ระยะซึมเศร้า (Depression)

อาการ: สำหรับผู้ป่วยในระยะนี้จะเข้าใจและไม่สามารถปฏิเสธความจริงได้แล้วว่าตนเองเป็นมะเร็ง ผู้ป่วยจะรู้สึกซึมเศร้า สูญเสียกับสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงกังวลเกี่ยวกับการรักษา ค่าใช้จ่าย เวลาที่จะมีชีวิตอยู่ ระยะนี้ผู้ป่วยอาจจะนอนซึมทั้งวันโดยไม่สนใจอะไร เนื่องจากหมดหวังในการใช้ชีวิต

วิธีการดูแล: วิธีดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับที่อยู่ในระยะนี้คือ เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ระบายความรู้สึกเศร้าออกมาอย่างเต็มที่ และรับฟังอย่างตั้งใจ อาจจะหลีกเลี่ยงการเล่าเรื่องขบขันเพราะคิดว่าจะทำให้ผู้ป่วยดีขึ้น แต่ถ้าหากเห็นว่าผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้ามากจนเกินไป ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางรักษาต่อไป

5. ระยะยอมรับ (Acceptance)

อาการ: ผู้ป่วยเริ่มทำใจยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเองได้ อารมณ์ดีขึ้น ยอมรับการช่วยเหลือและการรักษา หรือในบางคนที่เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายก็จะเป็นการเตรียมตัวสำหรับช่วงสุดท้ายของชีวิต

วิธีการดูแล: ระยะนี้ผู้ป่วยเริ่มผ่อนคลาย จึงควรหากิจกรรมหรือการวางแผนการดูแลที่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น รวมถึงอาจจะทำในสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการทำก่อนที่ถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต

จะเห็นได้ว่าไม่ว่าผู้ป่วยจะอยู่ในระยะใด สิ่งสำคัญสำหรับวิธีดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับด้านจิตใจคือการรับฟังอย่างจริงใจและเข้าใจในทุกภาวะที่ผู้ป่วยกำลังเผชิญ เพื่อเป็นกำลังใจให้เขาผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนั้นไปได้อย่างไม่ทุกข์ทรมาน

ญาติผู้ป่วยเรียกได้ว่าเป็นกำลังสำคัญในการช่วยดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างมาก นอกจากการดูแลผู้ป่วยโดยตรงแล้ว ญาติยังมีหน้าที่ในการช่วยเหลือกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ การให้กำลังใจ ปลอบใจ หรือแม้แต่ดูแลในด้านการรับประทานอาหารและยา ซึ่งความสำคัญของญาติผู้ป่วยในการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งตับสามารถแบ่งได้ออกเป็นด้านต่าง ๆ ดังนี้

ญาติผู้ป่วยมักจะต้องเป็นคนที่เผชิญกับเหตุการณ์ที่จะต้องตัดสินใจแทนหรือตัดสินใจร่วมกับผู้ป่วยถึงวิธีดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับ การบริหารจัดการค่าใช้จ่าย การเปลี่ยนแปลงบทบาทในครอบครัว หรือการบริหารจัดการสิ่งต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยไม่อาจทำได้เหมือนเดิม

ทำหน้าที่แทนผู้ป่วย

ในบางครั้งญาติอาจจะต้องทำหน้าที่ในการค้นหาข้อมูล การชำระค่ารักษาของผู้ป่วย ดูแลเรื่องการออกกำลังกาย ทำความรู้จักเกี่ยวกับยาต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยต้องใช้ในการรักษา รายงานอาการของผู้ป่วยให้แพทย์หรือพยาบาลทราบ รวมถึงการกระตุ้นให้ผู้ป่วยรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

เป็นผู้สื่อสาร

สำหรับญาติที่ดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับ มักต้องการที่จะสื่อสารอาการ ความต้องการ และปัญหา ของผู้ป่วยออกมาให้แพทย์ทราบมากที่สุด ซึ่งในผู้ป่วยบางคนอาจจะมีปัญหาด้านการสื่อสาร ดังนั้นญาติจึงต้องหาวิธีในการรับรู้สิ่งที่ผู้ป่วยต้องการ เพื่อนำมาถ่ายทอดสู่แพทย์ให้ได้ถูกต้องและชัดเจนมากที่สุด

เป็นผู้ให้การดูแล

แน่นอนว่าญาติผู้ป่วยมักจะถูกคาดหวังให้ต้องดูแลผู้ป่วยในการบรรเทาความเจ็บปวด การคอยเตือนเมื่อถึงเวลารับประทานอาหารและยา รวมถึงคอยสังเกตอาการของผู้ป่วยอยู่เสมอ ไปจนถึงเมื่อมีอาการผิดปกติญาติก็จะต้องพาผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลได้ อีกทั้งยังต้องคอยเป็นผู้รับฟังที่ดี เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความผ่อนคลายมากที่สุดอีกด้วย

เป็นผู้สนับสนุน

ญาติผู้ป่วยจะต้องเป็นผู้ให้การสนับสนุนได้ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ รวมถึงการสนับสนุนด้านการเงินและการหาข้อมูลเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีที่สุด เท่าที่ความสามารถของญาติจะทำได้

จากเนื้อหาในบทความทั้งหมดเห็นได้ว่าวิธีดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับนั้น จำเป็นจะต้องดูแลทั้งทางร่างกายและจิตใจให้ควบคู่ไปด้วยกันอย่างดี ซึ่งสิ่งสำคัญในสำหรับการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งตับนั่นก็คือความเข้าใจและการเป็นผู้รับฟังที่ดี เพื่อที่จะทำให้ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการเจ็บปวดและความกังวลใจที่มีลงไปได้ และบุคคลสำคัญในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับที่จะขาดไม่ได้เลยคือญาติผู้ป่วยที่ต้องทำความเข้าใจผู้ป่วยในทุกระยะเพื่อที่จะหาทางรับมือได้อย่างถูกต้อง โดยวิธีการดูแลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทั้งการดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับในระยะเริ่มต้นไปจนถึงการดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับระยะสุดท้าย

บทความที่เกี่ยวข้อง