โรคตับอักเสบ (Hepatitis) เป็น 1 ใน 4 โรคร้ายที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ความสำคัญในการสร้างความตระหนัก จึงกำหนดให้วันที่ 28 กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันตับอักเสบโลก (World Hepatitis Day) เพื่อสนับสนุนให้ประชากรโลกสามารถเข้าถึงการป้องกัน การวินิจฉัยโรคอย่างทันท่วงที และการรักษาที่มีประสิทธิภาพ เพราะโรคตับอักเสบนั้นสามารถรักษาให้หายได้และบางชนิดยังมีวัคซีนป้องกัน แต่กลับกลายเป็นว่ามีประชากรโลกกว่า 250 ล้านคน ที่ไม่เคยได้รับการตรวจคัดกรองตับอักเสบ เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่คาดว่ามีประชากรที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี (Hepatitis B) ราว 2 ล้านคน และไวรัสตับอักเสบ ซี (Hepatitis C) 1 ล้านคน
ไวรัสตับอักเสบ… ต้นตอของมะเร็งตับ
ผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งตับมากเป็นอันดับหนึ่ง คือราว 16,000 รายต่อปี (ข้อมูลจากกรมการแพทย์ปี 2563) โดยผู้ป่วยมะเร็งตับนั้นจะมีโอกาสเสียชีวิตมากถึง 87% สถิติดังกล่าวเชื่อมโยงถึงความสำคัญในการป้องกันและตรวจคัดกรองโรคตับอักเสบ เพราะการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ B, C เป็นสาเหตุสำคัญหนึ่งที่นำไปสู่มะเร็งตับ ที่สำคัญ ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบมักไม่แสดงอาการใดๆ จนกระทั่งเข้าสู่ระยะสุดท้ายของมะเร็งตับที่ยากต่อการรักษาแล้ว
รู้จักไวรัสตับอักเสบ
ปัจจุบัน ไวรัสตับอักเสบมีอยู่ 5 ชนิด คือไวรัสตับอักเสบ เอ (A), บี (B), ซี (C), ดี (D) และ อี (E) แต่ในประเทศไทย ไวรัสตับอักเสบที่พบเป็นปัญหาสำคัญคือ ไวรัสตับอักเสบ บี และซี
- ไวรัสตับอักเสบ บี
ในประเทศไทยการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี มักเกิดขึ้นตั้งแต่ในวัยเด็ก การติดเชื้อระหว่างคลอด หรือการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก โดยเฉพาะเมื่อกว่า 30 ปีก่อนที่ยังไม่มีการฉีดวัคซีนป้องกันให้เด็กแรกเกิด ในระยะแรกนั้น ผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการ จนกระทั่งเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เม็ดเลือดขาวจะตรวจพบไวรัสในร่างกายและจัดการทำลายเซลล์ตับที่มีไวรัสอยู่ ก่อให้เกิดการอักเสบ โดยผู้ป่วยบางรายจะมีอาการของตับอักเสบเฉียบพลัน คือ อ่อนเพลีย มีไข้ เจ็บใต้ชายโครงขวา มีไข้ต่ำ ตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม
สำหรับผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานแข็งแรง ร่างกายจะสามารถควบคุมและกำจัดไวรัสออกไปได้ แต่ผู้ที่มีภูมิต้านทานไม่แข็งแรงพอ ไวรัสที่อยู่ในร่างกายจะก่อให้เกิดการอักเสบเรื้อรังและเกิดพังผืดขึ้นมาในตับ ในการป่วยระยะนี้ผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการ แต่ผู้ที่มีภาวะตับอักเสบเรื้อรังจะสามารถพัฒนาไปสู่โรคตับแข็งและมะเร็งตับได้ในอัตรา 15-40%
- ไวรัสตับอักเสบ ซี
ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี มากกว่า 85% จะเกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรังที่ไม่มีอาการผิดปกติแสดงให้เห็น และ 40-50% ของผู้ที่มีภาวะตับอักเสบเรื้อรังจะเกิดภาวะตับแข็งภายใน 30-50 ปี และนำไปสู่มะเร็งตับในที่สุด โดยผู้ที่มีภาวะตับอักเสบเรื้อรังจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับเพิ่มมากขึ้นถึง 20 เท่า
ป้องกัน – ตรวจวินิจฉัย
ด้วยเหตุที่ไวรัสตับอักเสบสามารถนำไปสู่มะเร็งตับที่มีโอกาสรักษาให้หายได้น้อย แต่ไวรัสตับอักเสบเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ ดังนั้นการป้องกันและตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก
การป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี และซี
– หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงดังต่อไปนี้ การเจาะ สักผิวหนัง การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น การใช้มีดโกน กรรไกรตัดเล็บ แปรงสีฟัน และข้าวของเครื่องใช้มีคมร่วมกับผู้อื่น การสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่งโดยไม่สวมถุงมือ และการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย
– สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ควรพบแพทย์เพื่อที่แพทย์จะได้ประเมินว่าจำเป็นต้องรับประทานยาต้านไวรัสตับอักเสบ บี เพื่อลดโอกาสเสี่ยงการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกหรือไม่ และเด็กแรกเกิดควรได้รับวัคซีนและอินมูโนกลอบบูลิน (Hepatitis B immunoglobulin, HBIG)
– สำหรับไวรัสตับอักเสบ บี ยังมีวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ได้ตลอดชีวิต วัคซีนดังกล่าวฉีดเพียงแค่ 3 เข็ม มีราคาถูก และปลอดภัยสูง ผู้ที่ยังไม่มีภูมิต้านทานหรือมีการติดเชื้อจึงควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี
การตรวจวินิจฉัย
การตรวจวินิจฉัยไวรัสตับอักเสบ บี และซี สามารถทำได้ด้วยการเจาะเลือดเพื่อดูค่าตับ ค่าเอนไซม์ในตับ การทำงานของตับ และภูมิคุ้มกัน / อัลตราซาวด์เพื่อประเมินภาวะตับแข็งหรือมะเร็งตับ / และการตรวจชิ้นเนื้อ เพื่อประเมินการอักเสบและพังผืดในตับ
จากนั้น หากตรวจพบว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ แพทย์จะทำการรักษาด้วยการให้ยาต้านไวรัสต่อไป
สำหรับประเทศไทย ในปี 2563 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้รณรงค์ให้เกิดการตรวจไวรัสตับอักเสบ บี และซีแก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คือ พนักงานเก็บขยะ ผู้ที่เคยได้รับบริจาคเลือดหรืออวัยวะ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) และผู้ที่มีประวัติการใช้สารเสพติดด้วยการฉีด โดยเป็นการใช้ชุดตรวจที่รู้ผลภายใน 30 นาที ซึ่งหากมีการรณรงค์สร้างความตระหนัก การตรวจ และป้องกันไวรัสตับอักเสบอย่างต่อเนื่อง ก็อาจเป็นไปได้ว่าคนไทยทุกคนจะปลอดจากโรคตับอักเสบภายในปี 2573 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งเป้าไว้
–
ที่มา:
si.mahidol.ac.th
ddc.moph.go.th
th.wikipedia.org
dms.go.th
healthline.com