Power Nap! ลองงีบช่วงบ่าย สมองสดใสได้จริงหรือ?

Health / Sleep

หลายคนน่าจะรู้จักคำว่า ‘siesta’ ภาษาสเปนที่แปลว่า “งีบหลับ” (nap) หลายประเทศในยุโรปโดยเฉพาะในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและยุโรปทางใต้ มี “วัฒนธรรมการงีบหลับ” (siesta culture) หลังจากรับประทานอาหารกลางวันมื้อใหญ่ โดยมีการศึกษาในประเทศกรีซ (ตีพิมพ์ใน The Washington Post ปี 2007) ที่ทำให้พวกเขาเชื่อว่า การงีบตอนกลางวันจะช่วยลดอัตราเสี่ยงของอาการหัวใจวายได้

ไม่ใช่เพียงแค่ในยุโรปเท่านั้น แต่ในอีกหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และประเทศในเอเชีย เป็นต้น ก็เริ่มให้ความสำคัญกับการงีบตอนกลางวันมากขึ้น อย่างชาวนาในเขตชนบทของนอร์เวย์จะตื่นแต่เช้ามืดเพื่อพาฝูงสัตว์ออกไปหากิน จากนั้นก็จะรับประทานมื้อกลางวันเร็วกว่าปกติเล็กน้อย ก่อนพักผ่อนนอนหลับ 2-3 ชั่วโมง ส่วนชาวอินเดียที่ฝึกโยคะจำนวนไม่น้อยก็เลือกงีบหลังมื้อเที่ยงด้วยการนอนตะแคงทางด้านซ้าย (Vam-Kukshi) เพราะเชื่อว่าเป็นท่านอนที่ส่งผลดีต่อระบบย่อยอาหารและป้องกันกรดไหลย้อน

พวกเขาเรียกการงีบนี้ว่า ‘Power Nap’ คำที่ถูกคิดค้นขึ้นมาโดย James Maas นักจิตวิทยาด้านสังคมจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล Power Nap หรือที่หลายคนเรียกว่า Cat Nap นี้ หมายถึงการงีบหลับช่วงสั้นๆ ก่อนที่จะเข้าสู่ภาวะหลับลึก โดย Power Nap มีประโยชน์อย่างมากในการคืนความสดชื่นให้ร่างกายได้อย่างรวดเร็ว 

งีบแป๊บเดียว ตื่นมาสมองสดใส

การงีบไม่เพียงช่วยให้ร่างกายกระฉับกระเฉงขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้สมองปลอดโปร่งขึ้นอีกด้วย ในการทำความเข้าใจเบื้องต้นถึงประโยชน์ของการงีบที่ส่งผลถึงร่างกาย องค์กรในสหรัฐอเมริกาที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการนอนหลับและสุขภาพร่างกาย/จิตใจ หรือ Sleep Foundation ได้อธิบายไว้ว่า หลังจากนอนเต็มอิ่มมาทั้งคืน เมื่อเราตื่นขึ้นใหม่ๆ เราจะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘Homeostatic Sleep Drive’ หรือความต้องการการนอน ในระดับที่ต่ำ แต่แล้วเมื่อเราดำเนินชีวิตประจำวันไปเรื่อยๆ เจ้า Homeostatic Sleep Drive นี้ก็จะมากขึ้น แต่การงีบจะช่วยให้มันลดระดับลงได้ ซึ่งส่งผลให้สมองตื่นตัวไม่ง่วงงุนงง รวมทั้งมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นด้วย ดังต่อไปนี้

การเรียนรู้และจดจำ

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดได้ทำการทดลองหาความสัมพันธ์ระหว่างการงีบกับการทำงานของสมองในเรื่องการจดจำไว้ตั้งแต่ปี 2000 และพบว่า เมื่อขอให้กลุ่มตัวอย่างท่องจำอะไรสักอย่าง จากนั้นให้กลุ่มหนึ่งงีบหลับ อีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้งีบ เมื่อตื่นขึ้นมากลุ่มที่งีบหลับจะจดจำได้มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้งีบ ซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปว่าการงีบ 45 นาทีจะช่วยพัฒนาสมองในด้านการเรียนรู้และจดจำ แต่แม้จะงีบเพียง 6 นาทีก็สามารถช่วยให้สมองในส่วนของความจำทำงานได้ดีขึ้นแล้ว

ความสามารถในการแก้ปัญหา

Robert Stickgold นักวิจัยด้านการนอนจากฮาวาร์ดยังบอกอีกว่า การงีบจะช่วยให้เราเพิ่มขีดความสามารถในการแก้ปัญหามากขึ้น เพราะสมองที่ปลอดโปร่งจะทำให้เราสามารถแยกแยะประเด็นสำคัญของปัญหาออกจากรายละเอียดที่ไม่จำเป็นได้ดีกว่าเดิม 

รู้หรือไม่?: เพราะการงีบตอนกลางวันมีประโยชน์มากมายต่อสมองอย่างนี้นี่เอง บริษัทที่มีธุรกิจเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์หลายแห่งจึงจัดสถานที่ให้พนักงานได้งีบหลับช่วงสั้นๆ ตอนกลางวัน อย่าง Google เองก็มี ‘nap pods’ หรือเก้าอี้นอนที่ช่วงบนคล้ายแค็ปซูลทรงกลมที่ปิดกั้นแสงและเสียงจากภายนอกเพื่อช่วยให้พนักงานงีบหลับได้ดียิ่งขึ้น 

งีบนานแค่ไหนถึงจะดีต่อสมอง

คำตอบคือ ไม่ต้องนาน สักประมาณ 10-20 นาที หรือจริงๆ แล้ว แค่เพียงไม่กี่นาทีก็ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองได้แล้ว 

จำไว้อย่างว่าคุณไม่ควรงีบนานเกิน 30 นาที เพราะการงีบนานกว่านั้นจะทำให้คุณเข้าสู่สภาวะหลับลึก (Slow-wave sleep) ซึ่งจะทำให้คุณรู้สึกมึนงงเมื่อตื่นขึ้นมา และอาการที่ว่านั้นก็ยากที่จะกำจัดออกเสียด้วย

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาการงีบดังกล่าวนี้เหมาะสำหรับคนในวัยทำงานที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงเป็นปกติเท่านั้น หากคุณมีอาการป่วยไข้ คุณก็จะต้องการการงีบหลับที่ยาวนานกว่านั้น เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูและสร้างเสริมภูมิคุ้มกันได้ดียิ่งขึ้น หรือหากคุณทำงานเป็นกะตอนกลางคืนหรืออดนอน คุณก็น่าจะต้องการการงีบหลับที่ยาวนานขึ้นเช่นกัน 

ว่าแล้วหลังจากมื้อกลางวันคราวหน้า ก็ลองหาที่เงียบๆ แสงไม่จ้าจนเกินไป และมีอุณหภูมิเย็นกำลังดี งีบสัก 10-20 นาที แล้วลองดูสิว่าตื่นมาสมองคุณจะลื่นไหลกว่าเดิมอีกหรือเปล่า 

ที่มา:
sleepfoundation.org
health.harvard.edu
theguardian.com
en.wikipedia.org

บทความที่เกี่ยวข้อง