ปวดเข่า! อย่ารอให้เสื่อม…6 เรื่องที่ควรรู้ก่อนเป็นข้อเข่าเสื่อม

Bone & Muscle / Health

“ปวดบริเวณเข่า เวลาเดินเข่ามีเสียง ปวดแปล๊บๆ เข่าบวม” หากคุณพูดถึงอาการเหล่านี้กับผู้สูงอายุในครอบครัว คุณอาจพบว่า พวกท่านกำลังมีอาการเหล่านี้อยู่ก็เป็นได้ อาการเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของโรค ‘ข้อเข่าเสื่อม’ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก เพราะมักจะมีอาการปวดเกิดขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวร่างกาย จนสุดท้ายอาจต้องจบลงด้วยการผ่าตัด เราจึงอยากเชิญชวนคุณมา ‘รู้ทัน’ เพื่อรับมือกับปัญหาโรคข้อเข่าเสื่อมที่อาจจะเกิดขึ้นกับคุณและคนในครอบครัวก็เป็นได้

ทานแคลเซียม แต่ก็ยัง…‘ข้อเข่าเสื่อม’ 

ก่อนอื่นหมออยากให้ทุกคนเห็นภาพก่อนว่า ข้อเข่า ประกอบด้วยปลายกระดูกต้นขาซึ่งประกอบเข้ากับส่วนต้นของกระดูกหน้าแข้ง แล้วปิดด้านหน้าด้วยกระดูกสะบ้าประกอบกันเป็นข้อที่สมบูรณ์ โดยบริเวณสัมผัสของกระดูกที่กล่าวมาทั้งสามชิ้นนี้ไม่ได้สัมผัสด้วยกระดูกโดยตรง แต่หากมีกระดูกอ่อนคลุมอยู่เหนือบริเวณกระดูกดังกล่าวในส่วนที่เป็นผิวสัมผัสของข้อ เพื่อประโยชน์ต่างๆ ที่เป็นคุณสมบัติของข้อที่เหมาะสมดังรูป

ดังนั้นในภาวะปกติ การเคลื่อนไหวของข้อจะเกิดจากผิวกระดูกอ่อนของข้อนั้นสัมผัสกันโดยตรง นอกจากนี้ข้อเข่าที่ปกติยังประกอบด้วยโครงสร้างที่สำคัญและขาดไม่ได้เลยคือ เยื่อบุผิวข้อและน้ำไขข้อ เพื่อช่วยในการเคลื่อนไหวของข้อและช่วยลดแรงเสียดทานอันเกิดจากผิวกระดูกอ่อนสัมผัสกันเมื่อมีการใช้งานมาเป็นเวลานาน ข้อเข่าถือว่าเป็นข้อที่ใหญ่และแข็งแรงที่สุดในร่างกาย จึงต้องรับบทหนักในการรับแรงเสียดทานจากการเคลื่อนไหวและแรงกระแทกอันเกิดจากการใช้งาน ซึ่งในสภาวะปกติ ร่างกายจะมีการซ่อมแซมของกระดูกอ่อนเกิดขึ้นตลอดเวลา เพื่อชดเชยแก้ไขส่วนที่สึกกร่อน ในทางกลับกันหากการซ่อมแซมที่เกิดขึ้นนั้นทำได้น้อยลงก็จะไม่สามารถชดเชยการสึกหรอได้ทัน จึงทำให้เกิดภาวะผิดปกติของกระดูกอ่อนผิวข้อ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะข้อเข่าเสื่อมตามมาได้ 

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า การรับประทานแคลเซียมนั้นไม่สามารถช่วยรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมได้ เนื่องจากโรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคของกระดูกอ่อนซึ่งไม่ได้มีองค์ประกอบหลักจากแคลเซียม ดังนั้นการรับประทานแคลเซียมเสริมจึงเป็นเรื่องของการเสริมสำหรับกระดูก เช่น กระดูกบาง หรือโรคกระดูกพรุน เป็นต้น 

อาการแบบไหนเรียก ‘เข่าเสื่อม’ 

หมอต้องบอกก่อนว่า อาการขอโรคข้อเข่าเสื่อมนั้น มีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลและแต่ละระยะที่เป็น ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นนั้นมีความหลากหลาย เช่น

  • อาการฝืดตึงข้อในช่วงเช้าตอนตื่นนอน ต้องทำการเคลื่อนไหวข้อซักครู่จึงเริ่มเป็นปกติ หรืออาจมีอาการหลังจากนั่งหรืออยู่นิ่งระยะเวลาหนึ่ง ต้องลุกยืน งอ หรือเหยียดข้อเข่าชั่วครู่จึงจะดีขึ้น
  • อาการปวดขัดในข้อเข่า ซึ่งอาการปวดอาจสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหว การใช้งาน หรือมีเสียงดังในข้อเข่าเวลางอ เหยียด หรือขยับข้อ 
  • บางท่านอาจรู้สึกว่าหัวเข่ามีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเมื่อก่อน ใหญ่กว่าอีกข้าง หรืออาจคลำเจอกระดูกงอกบริเวณรอบข้อที่นูนออกมาได้ 
  • อาการปวดตอนกลางคืน จนทำให้ต้องตื่นกลางดึกจากการปวดข้อเข่า หรือเกิดอาการปวดเมื่อเจออากาศเย็น 
  • อาการบวมตึงของข้อเข่า ทำให้งอเข่าได้ลดลงเนื่องจากเกิดการตึงของข้อเวลางอ และอาจอาการบวมแดงร้อนร่วมด้วย 
  • หากอาการรุนแรงก็อาจสังเกตได้ว่ามีขาที่ผิดรูป มีการโก่งของข้อเข่า บางคนอาจเดินผิดปกติ เช่น เดินกะเพลก หรือเดินโยกตัวไปมา เป็นต้น

จากอาการที่กล่าวมาข้างต้น อาการที่เป็นปัญหาจนทำให้ต้องมาพบแพทย์นั้น มักเป็นปัญหาที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต นั่นก็คืออาการปวดเข่านั่นเอง อาการปวดนี้มีความหลากหลายของระดับความปวด ตั้งแต่ปวดเล็กน้อยไม่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต ไปจนถึงปวดขั้นรุนแรงจนทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงและอาจส่งผลให้เกิดความพิการได้

พฤติกรรมทำข้อเข่าเสื่อม 

เมื่อสงสัยว่า อาการปวดเข่าของเรานั้นเข้าข่ายข้อเข่าเสื่อม หากมีอาการในระยะแรกหมอแนะนำให้เราลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อหลีกเลี่ยงสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการของโรคดูก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจทำให้อาการแย่ลงได้ในอนาคต

ยาลดอาการปวดเข่า

หากอาการปวดเข่าเริ่มเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ควรเริ่มรักษาด้วยวิธีการอื่นควบคู่ไปด้วย อันได้แก่ การทำกายภาพบำบัดโดยนักกายภาพบำบัด รวมถึงการซื้อยารับประทานเอง ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถหาซื้อได้จากร้านขายยา หมอแนะนำว่าควรเริ่มจากยากลุ่มที่มีความปลอดภัยก่อน ดังต่อไปนี้

  • ยาพาราเซตมอล เป็นยาตัวแรกที่ควรใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดเข่า เนื่องจากมีความปลอดภัยและมีผลต่อยาตัวอื่นน้อย ในกรณีที่มียาที่ต้องทานเป็นประจำอยู่แล้วจากโรคประจำตัว และอาจรับประทานควบคู่กับ NSAIDs
  • กลุ่มยาแก้ปวดที่ไม่ใช่กลุ่มสเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ยาไอบูโพรเฟน ยาไดโคลฟีแนค ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวด แต่ต้องระวังเรื่องแผลในกระเพาะอาหารและโรคไต ดังนั้นควรรับประทานยาดังกล่าวในระยะสั้น หากอาการไม่ดีขึ้นใน 1-2 สัปดาห์ควรพบแพทย์เพื่อการตรวจรักษาเพิ่มเติม 
  • ยากลุ่มที่ใช้เพื่อการบำรุงรักษาข้อ เช่น กลูโคซามีนซัลเฟต จากการศึกษาหลายการศึกษาพบว่า มีทั้งให้ผลดี บรรเทาปวด และไม่ช่วยรักษา ดังนั้นจึงแนะนำให้ใช้ในบางรายที่ตอบสนองต่อยาในระยะ 3-6 เดือน 
  • ยาอีกชนิดหนึ่งที่อาจช่วยบรรเทาอาการได้ เช่น ยาไดอะเซอรีน ที่ช่วยลดการอักเสบในข้อ แต่ยาจะออกฤทธิช้าที่ 2 สัปดาห์เป็นต้นไปหลังจากเริ่มรับประทานยา และยาอาจทำให้เกิดอาการถ่ายเหลวได้จึงควรใช้ยาด้วยความระมัดระวัง สำหรับวิตามินบำรุงข้ออื่น ๆ ยังมีการศึกษาไม่มากพอที่จะบอกประสิทธิผลในปัจจุบัน 
  • ยากลุ่มอื่นที่อาจใช้ร่วมในการรักษา เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ให้ใช้เป็นยาคู่รักษา เนื่องจากไม่ได้ส่งผลต่อข้อเข่าเสื่อมโดยตรง แต่ช่วยลดอาการปวดในกรณีที่มีกล้ามเนื้อเกร็ง อักเสบรอบข้อ ซึ่งมักพบร่วมได้

หากการใช้ยาดังกล่าวมาในระยะหนึ่งแล้ว อาการข้อเข่าเสื่อมยังไม่เป็นที่น่าพอใจ หมอแนะนำว่าควรพิจารณาปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจรักษาอาการข้อเข่าเสื่อมต่อไป

การผ่าตัดรักษาเข่าเสื่อม

ในกรณีที่อาการเข่าเสื่อมนั้นเกิดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว ผ่านการปรับพฤติกรรม รวมถึงมีการใช้ยาบรรเทาอาการปวดเบื้องต้นไปแล้วแต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น หมอแนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาในขั้นถัดไป ซึ่งแพทย์ก็จะทำการรักษาตามความรุนแรงของโรค บางรายอาจจำเป็นต้องได้การรักษาด้วยการผ่าตัด แต่…การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมนั้นไม่ได้เหมาะกับผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมทุกราย แต่จะเหมาะกับผู้ป่วยที่มีข้อเข่าเสื่อมรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีการอื่นๆ ข้างต้น รวมถึงในกรณีที่ผู้ป่วยมีแนวกระดูกขาและเข่าผิดรูปอย่างมาก ซึ่งในปัจจุบันนี้ การผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม มีหลากหลายวิธีดังนี้

  • การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนแนวแกนกระดูก โดยการตัดกระดูกหน้าแข้งส่วนต้นใต้เข่า (High Tibial Osteotomy: HTO) การผ่าตัดวิธีนี้อาจเกิดการเป็นซ้ำได้ เนื่องจากเป็นการผ่าตัดเปลี่ยนแนวกระดูกไม่ได้มีการเปลี่ยนผิวข้อเข่า
  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าบางส่วน (Unicompartmental Knee Arthroplasty: UKA) เช่น เปลี่ยนเฉพาะด้านในของข้อเท่านั้น การรักษาด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการข้อเข่าเสื่อมในส่วนอื่นๆ ของข้อเข่าได้ในอนาคต
  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม​ (Total Knee Arthroplasty: TKA) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผิวข้อทั้งหมด จึงทำให้ไม่มีการกลับเป็นซ้ำ (ยกเว้นแต่ในรายที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนผิวข้อสะบ้า อาจมีบางรายที่มีอาการอักเสบเฉพาะผิวข้อของกระดูกสะบ้าได้) 

การผ่าตัดแต่ละวิธี มีข้อบ่งชี้แตกต่างกันไปตามระยะและความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งศัลยแพทย์จะให้ข้อมูลและพิจารณาเป็นรายๆ ไป หากมีการตัดสินใจร่วมกันของผู้ป่วยและศัลยแพทย์ในการเลือกพิจารณาผ่าตัดแล้ว ศัลยแพทย์และทีมรักษาจะมีคำแนะนำสำหรับผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด ระหว่างผ่าตัด และหลังผ่าตัด เพื่อผลการรักษาที่ดีและเหมาะสม หากมีข้อสงสัย ผู้ป่วยและญาติควรสอบถามและรับคำแนะนำต่างๆ เพื่อการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมตั้งแต่ก่อนผ่าตัดตลอดจนหลังผ่าตัดเพื่อผลการรักษาที่ดี อย่างไรก็ตามในระยะก่อนผ่าตัดควรจะมีการดูแลปฏิบัติตัวให้แข็งแรง หากมีโรคประจำตัวควรควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ดีตลอด เช่น คุมระดับน้ำตาลและน้ำตาลสะสมให้ดี เป็นต้น รวมถึงหมั่นออกกำลังกล้ามเนื้อต้นขาให้แข็งแรง เนื่องจากเป็นกล้ามเนื้อที่สำคัญในการงอ เหยียดข้อเข่า และมีความจำเป็นอย่างมากในการใช้เพื่อการเคลื่อนไหวข้อเข่าและการเดินหลังผ่าตัด

ข้อเข่าเสื่อม ‘ฝังเข็ม’ ได้ไหม?

การรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยวิธีการฝังเข็มเพื่อรักษาอาการปวดนั้นมีอยู่หลายการศึกษาซึ่งส่วนใหญ่เป็นการศึกษาที่ทำในฝั่งประเทศตะวันออก เช่น ประเทศจีน เป็นต้น จากข้อมูลที่มีในปัจจุบันนี้พบว่า การรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยการฝังเข็มช่วยรักษาบรรเทาอาการปวดเข่าได้จริง แต่ผลการรักษาจะชัดเจนในระยะสั้นเท่านั้น เช่น อาการปวดระยะแรก หรือการกำเริบของอาการปวดเมื่อเทียบกับการไม่รักษา แต่ไม่เห็นผลการรักษาที่ดีพอในการบรรเทาปวดระยะยาว ดังนั้นการรักษาด้วยวิธีการฝังเข็มนั้นสามารถทำการรักษาได้ในกรณีที่เพิ่งมีอาการมาไม่นาน หรือหากจำเป็นต้องฝังเข็มเป็นประจำก็สามารถทำได้ เนื่องจากผลเสียหรือภาวะแทรกซ้อนจากการฝังเข็มนั้นต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการรักษาจากทางฝั่งตะวันตก เช่น การกินยาต่อเนื่องในระยะยาว เป็นต้น แต่ควรติดตามดูอาการเป็นระยะ

หมอหวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโรคข้อเข่าเสื่อมเพื่อการดูแลตัวเองเบื้องต้น โดยเฉพาะในภาวะ COVID-19 ที่ต้องดำรงชีวิตแบบ new normal ดังนั้นจึงควรมีร่างกายที่แข็งแรง หลีกเลี่ยงการไปโรงพยาบาลและพื้นที่แออัดต่างๆ รวมถึงการดูแลตัวเองและปฏิบัติตัวเพื่อให้มีข้อเข่าที่แข็งแรงตลอดไป

อ้างอิง:

  • Arthritis of the Knee – OrthoInfo – AAOS. Accessed January 18, 2022. https://www.orthoinfo.org/en/diseases–conditions/arthritis-of-the-knee/
  • Li J, Li YX, Luo LJ, et al. The effectiveness and safety of acupuncture for knee osteoarthritis: An overview of systematic reviews. Medicine. 2019;98(28):e16301. doi:10.1097/MD.0000000000016301

บทความที่เกี่ยวข้อง