มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก…รู้ก่อนใคร ห่างไกลโรค

Cancer / Health

ปัจจุบันมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ในประเทศของเรา จากตำราพิชัยสงครามของซุนวู กล่าวไว้ว่า ‘รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง’ เช่นนั้นแล้ว…เรามาทำความรู้จักกับมะเร็งชนิดหนึ่งของคุณผู้หญิงที่เป็นปัญหาสำคัญอันหนึ่งในบ้านเรากันดีกว่า มะเร็งที่ว่านั้นก็คือ “มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก” ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับที่สามของมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ของสตรีในประเทศไทย (อันดับหนึ่งคือมะเร็งปากมดลูก) จากสถิติของหน่วยงานนานาชาติเพื่อการวิจัยศึกษาเรื่องมะเร็ง (International Agency for Research on Cancer) รายงานว่า ในปีพ.ศ. 2561 มีผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกรายใหม่ในประเทศไทยจำนวนถึง 2,671 ราย 

ลักษณะของมดลูกนั้นมีรูปร่างคล้ายลูกแพร์ แกนกลางมีช่องโพรงเป็นที่ฝังตัวของทารกหลังจากปฏิสนธิ ส่วนล่างสุดของมดลูกคือปากมดลูก ซึ่งจะอยู่ด้านในปลายสุดของช่องคลอด การเกิดมะเร็งของตัวมดลูกนั้นจะเป็นที่เยื่อบุโพรงมดลูกเกือบทั้งหมด 

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกส่วนใหญ่ คือมากกว่า 90% จะพบในสตรีที่อายุเกิน 40 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอายุเกิน 50 ปี หรืออยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือนไปแล้ว และมักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการเลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอดหลังจากที่หมดประจำเดือน  หากยังอยู่ในวัยที่ยังมีประจำเดือนอยู่ก็จะมาด้วยอาการเลือดออกทางช่องคลอดจำนวนเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นหลังการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นคุณผู้หญิงที่มีอาการ ‘เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด’ สมควรอย่างยิ่งที่จะไปพบสูตินรีแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการดังกล่าว

แม้ว่ามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกจะยังไม่มีการตรวจคัดกรองดังเช่นมะเร็งปากมดลูกก็ตาม (มะเร็งปากมดลูกมีการตรวจแป็บสเมียร์ซึ่งเป็นการตรวจคัดกรองที่ได้ผลดี หรือในปัจจุบันมีการตรวจหาเชื้อไวรัสหูดหงอนไก่เป็นการตรวจคัดกรองวิธีใหม่ที่ได้ผลดีมากเช่นกัน) แต่โชคดีว่าส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกจะอยู่ในระยะต้นๆ ของโรค (ราวร้อยละ 70 ของคนไข้อยู่ในระยะที่ 1-2) ทั้งนี้เพราะส่วนใหญ่ผู้ป่วยมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดและรีบมาพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ

สาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกในปัจจุบันเชื่อว่า เกิดจากการได้รับการกระตุ้นด้วยฮอร์โมนเพศชนิด ฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นระยะเวลาติดต่อกันนาน ๆ ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกมีการหนาตัวผิดปกติ นานวันเข้าก็กลายเป็นเนื้อร้าย นอกจากนี้ มีความผิดปกติทางพันธุกรรมบางชนิดที่ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งมากกว่าคนทั่วไป เช่น กลุ่มอาการลินช์ (Lynch Syndrome) ซึ่งผู้ป่วยจะมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกหรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ในหลาย ๆ คนด้วย

อยากป้องกัน…ได้ไหม ทำอย่างไร

การป้องกันไม่ให้เป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกอาจทำได้หลายวิธีด้วยกัน ได้แก่

1. ระวังรักษาตัวเองไม่ให้อ้วน เนื่องจากภาวะอ้วนจะมีเนื้อเยื่อไขมันจำนวนมาก เนื้อเยื่อไขมันเหล่านี้สามารถผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ด้วยและจะทำให้ไข่ไม่ตก การที่ไข่ไม่ตกจะทำให้ไข่ไม่ผลิตฮอร์โมนที่มีฤทธิ์ตรงกันข้ามกับเอสโตรเจนออกมา เกิดการกระตุ้นเยื่อบุโพรงดลูกเป็นระยะเวลายาวนานจนกลายเป็นมะเร็งของเยื่อบุโพรงมดลูกได้ สตรีในกลุ่มนี้จะมีลักษณะคือน้ำหนักตัวมาก ไม่มีประจำเดือนเป็นระยะเวลายาวนาน ภายหลังจะเริ่มมีเลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอดอันเป็นสัญญาณว่าเริ่มมีเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ

2. การคุมกำเนิดด้วยการใช้ฮอร์โมน มีรายงานทางการแพทย์พบว่า สตรีที่คุมกำเนิดด้วยการใช้ฮอร์โมน ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด หรือห่วงคุมกำเนิดชนิดที่มีการปลดปล่อยฮอร์โมนออกมา เหล่านี้จะมีฮอร์โมนเพศชนิดที่ออกฤทธิ์ตรงกันข้ามกับฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่ ทำให้มีโอกาสเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกลดลง ผลดังกล่าวจะยิ่งชัดเจนหากใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดเป็นระยะเวลายาวนานขึ้น

3. รีบมาพบแพทย์หากมีความผิดปกติของประจำเดือน เช่น มีเลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอด ไม่มีประจำเดือนติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่า มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกเกิดจาการการหนาตัวผิดปกติของเยื่อบุโพรงมดลูก ในตอนต้นเยื่อบุโพรงมดลูกอาจจะหนาตัวผิดปกติแบบที่ยังไม่ได้เรียกว่าเป็นมะเร็งก็ได้ ในทางการแพทย์เรียกระยะดังกล่าวว่าเป็นระยะ “ก่อนเกิดมะเร็ง” หากได้รับการดูแลรักษาที่ดีตั้งแต่ระยะดังกล่าวจะเป็นการป้องกันไม่ให้เยื่อบุโพรงมดลูกกลายเป็นมะเร็งได้

4. ควรปรึกษาแพทย์หากมีประวัติสมาชิกครอบครัวหลาย ๆ คนเป็นมะเร็ง เพื่อแพทย์จะได้พิจารณาตรวจเพิ่มเติมและวางแผนป้องกันหากพบว่ามีพันธุกรรมผิดปกติที่เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งบางชนิด

5. การตั้งครรภ์และให้นมบุตร พบว่าปัจจัยทั้งสองมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดการเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกลง

6. หลีกเลี่ยงการรับประทานฮอร์โมนเพศชนิดเอสโตรเจนเป็นระยะเวลายาวนาน หากจำเป็นต้องรับประทานควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกแล้ว หวังว่าบทความนี้จะช่วยทำให้คุณมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมากขึ้น การสังเกตตัวเองเป็นสิ่งสำคัญมาก หากมีความผิดปกติดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นก็ควรรีบไปพบแพทย์ อย่าลืมว่า “มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก…อาจป้องกันได้…รู้ก่อนใคร ห่างไกลโรค” นะครับ

 

บทความที่เกี่ยวข้อง