ภาวะกรดไหลย้อน โดยเฉพาะอาการแสบหน้าอก (Heartburn) และเรอเปรี้ยว (Acid Reflux) มักมีอาการเกิดขึ้นหลังมื้ออาหารหรือตอนนอน โดยเฉพาะผู้ที่กำลังตั้งครรภ์สามารถพบอาการเหล่านี้ได้สูงถึงร้อยละ 30-50 นอกจากนี้ ยังอาจจะมีอาการอื่นๆ ได้ด้วย เช่น อาการแน่นหรือเจ็บหน้าอก โดยเฉพาะเวลาหลังทานอาหาร เจ็บคอ ไอเรื้อรัง หรือแม้กระทั่งมีรสขมๆ หรือ เปรี้ยวๆ ในปาก ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระหว่างตั้งครรภ์ไม่น้อยเลยทีเดียว
กรดไหลย้อนพบได้บ่อยในขณะตั้งครรภ์
ภาวะกรดไหลย้อนนั้นสามารถเกิดขึ้นได้บ่อยในผู้กำลังตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งสาเหตุของการเกิดกรดไหลย้อนขณะตั้งครรภ์นั้นมีหลายปัจจัย อันได้แก่
- น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นของคุณแม่ในระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้มดลูกที่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ มาดันและเบียดกระเพาะอาหาร
- ฮอร์โมนบางอย่างที่มีการเปลี่ยนแปลงระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogeb) และ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ซึ่งส่งผลให้หูรูดซึ่งเป็นประตูปิด-เปิดระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารมีการคลายตัว ทำให้กรดในกระเพาะอาหารย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์เหล่านี้ยังทำให้กระเพาะอาหารมีการบีบตัวช้าลง ส่งผลให้อาหารผ่านออกจากกระเพาะอาหารช้าลงอีกด้วย
- ผู้ที่เคยมีอาการของกรดไหลย้อนมาตั้งแต่ก่อนที่จะตั้งครรภ์ และการตั้งครรภ์ในคุณแม่ที่อายุมาก ก็เพิ่มความเสี่ยงในการที่จะมีภาวะกรดไหลย้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้
โดยปกติแล้วการเกิดภาวะกรดไหลย้อนระหว่างตั้งครรภ์นั้น แพทย์จะใช้อาการที่จำเพาะต่อกรดไหลย้อนเป็นหลักในการวินิจฉัยเช่นเดียวกันกับการเกิดกรดไหลย้อนในผู้ที่ไม่ตั้งครรภ์ แต่การตรวจเพิ่มเติมสำหรับภาวะกรดไหลย้อน อันได้แก่ การส่องกล้องในทางเดินอาหาร นั้น ไม่แนะนำ ให้ทำในระหว่างการตั้งครรภ์ เว้นเสียแต่ว่าจะมีข้อบ่งชี้ที่มีความจำเป็นที่ชัดเจน เช่น มีเลือดออกในทางเดินอาหาร เป็นต้น
ทำอย่างไรหากเป็นกรดไหลย้อนขณะตั้งครรภ์
หากเกิดภาวะกรดไหลย้อนในขณะตั้งครรภ์แล้ว คำแนะนำซึ่งแพทย์มักจะแนะนำอันดับแรกๆ ในการรักษานั่นก็คือ การปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตโดยไม่ใช้ยาก่อน เนื่องจากเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด อันได้แก่
– แนะนำให้รับประทานอาหารในแต่ละมื้อในปริมาณที่น้อยลง
– ควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียด และค่อยๆ รับประทานช้าๆ
– งดการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
– ควรเว้นระยะเวลาหลังจากทานอาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ก่อนจะเอนตัวนอน
– ไม่ใส่เสื้อผ้าที่คับจนเกินไป
– การปรับระดับหัวเตียงให้สูงขึ้นประมาณ 6 นิ้ว อาจส่งผลให้อาการของกรดไหลย้อนดีขึ้นได้
อาหารที่ ‘ช่วยป้องกัน’ และ ‘ควรหลีกเลี่ยง’ เมื่อมีภาวะกรดไหลย้อน
เนื่องจากอาการที่เกิดจากภาวะกรดไหลย้อนนั้น มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของอาหารซึ่งมีผลโดยตรงต่อหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร เมื่อเป็นเช่นนี้การเลือกรับประทานอาหารที่มีส่วนป้องกันการเกิดกรดไหลย้อน หรือการหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดที่ส่งผลให้อาการกรดไหลย้อนมากขึ้นนั้น ส่งผลให้อาการของภาวะกรดไหลย้อนดีขึ้น ซึ่งอาหารที่ควรรับประทานและควรหลีกเลี่ยง มีดังนี้
อาหารที่ ‘ควรหลีกเลี่ยง’ เมื่อมีภาวะกรดไหลย้อน | อาหารที่มีส่วน ‘ช่วยป้องกัน’ ภาวะกรดไหลย้อน |
1. อาหารที่ทำให้เกิดกรดมากขึ้นในกระเพาะอาหาร เช่น อาหารรสเปรี้ยว ผลไม้กลุ่มซิทรัส อันได้แก่ ส้ม สัปปะรด มะนาว น้ำอัดลม และ น้ำส้มสายชู เป็นต้น เนื่องจากมีผลทำให้เกิดการระคายเคืองหลอดอาหารและกระเพาะอาหารโดยตรง | 1. อาหารที่มีกากใยอาหารสูง เช่น ข้าวกล้อง ธัญพืชที่ผ่านกระบวนการขัดสีน้อย แครอท ผักใบเขียว หน่อไม้ฝรั่ง |
2. อาหารที่มีไขมันสูง เช่น ของทอด นม (ที่มีไขมันสูง) เนย ชีส กะทิ ไอศกรีม อาหารเหล่านี้ส่งผลให้กระเพาะอาหารเคลื่อนตัวช้าลง และส่งผลต่อหูรูดระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารให้คลายตัวมากขึ้น | 2. อาหารที่มีความเป็นด่าง เช่น กล้วย กะหล่ำ ผลไม้พวกแตง เม็ดยี่หร่า |
3. เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูง เช่น ชา กาแฟ ช็อกโกแลต โกโก้ ซึ่งส่งผลให้หูรูดระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารคลายตัวมากขึ้นด้วยเช่นกัน | 3. อาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำสูง เช่น ผักกาด แตงกวา แตงโม ผักชีฝรั่ง |
4. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากส่งผลให้กระเพาะอาหารเคลื่อนตัวได้ช้าลง อีกทั้งยังมีผลต่อหูรูดระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารให้คลายตัวมากขึ้นอีกด้วย | 4. นม หรือ โยเกิร์ต ที่มีไขมันต่ำ |
5. อาหารที่ทำให้มีแก๊สเยอะ เช่น ถั่ว น้ำอัดลม หรือ อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง หัวหอมใหญ่ กระเทียม หอมแดง สะระแหน่ ทำให้กระเพาะอาหารมีการขยายตัวมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้น | 5. น้ำขิง ช่วยย่อยอาหาร และ มีฤทธิ์เป็นด่าง อาจจะมีส่วนช่วยอาการกรดไหลย้อนได้ |
6. การเคี้ยวหมากฝรั่ง ก็จะทำให้มีการกลืนลมลงไปในกระเพาะมากขึ้น พร้อมกับการกลืนน้ำลาย | |
7. อาหารหมักดอง เช่น ผักกาดดอง ผลไม้ดอง หรือแช่อิ่ม |
‘ยา’ กับภาวะกรดไหลย้อนขณะตั้งครรภ์
หากอาการของกรดไหลย้อนที่เกิดขึ้น ผ่านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการเลือกรับประทานอาหารแล้ว ก็ยังไม่ดีขึ้น
- ยาลดกรด (กลุ่ม Antacid) ซึ่งเป็นยาตัวแรกๆ ที่สามารถหาซื้อได้จากร้านขายยา แต่ทั้งนี้
- ต้องระวังยาลดกรดที่มีแมกนีเซียม (Magbesium) เนื่องจากการทานบ่อยๆ อาจจะเสี่ยงต่อการเกิดนิ่ว อีกทั้งยังอาจส่งผลต่อการหายใจของทารกได้
- และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาลดกรดที่มีไบคาร์บอเนต (Bicarbonate) เนื่องจากอาจทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด และน้ำเกินได้
- ยากลุ่มอัลจิเนต (Algenate) ก็สามารถควบคุมอาการแสบหน้าอกได้ดีพอสมควร และยังมีผลข้างเคียงไม่แตกต่างจากยาหลอก
- นอกจากนี้ แพทย์สามารถพิจารณาให้ยาบางชนิด เช่น ยาลดการหลั่งกรดกลุ่ม H2-receptor antagonists (H2RA) เป็นยาอีกกลุ่มที่สามารถใช้ในการรักษาอาการของกรดไหลย้อนได้เช่นกัน โดยไม่มีอัตราการพิการ และการแท้งของทารก ที่ต่างจากผู้ที่ไม่ได้รับยานี้
- ยามาตรฐานที่ใช้ในการรักษากรดไหลย้อนในผู้ที่ไม่ตั้งครรภ์ ได้แก่ ยากลุ่ม Proton Pump Inhibitors ก็มีประสิทธิภาพที่สูงในการรักษากรดไหลย้อนที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาอื่นๆ ข้างต้น สำหรับในด้านความปลอดภัย ยากลุ่มนี้ ยกเว้น Omeprazole ถูกจัดอยู่ใน Category B ตามข้อมูลจากองค์การอาหารและยา ของสหรัฐอเมริกา จึงถือว่าปลอดภัยมากกับการตั้งครรภ์ มีข้อมูลว่ายากลุ่มนี้ ไม่มีผลต่ออัตราการพิการ และการแท้งของทารกที่แตกต่างจากผู้ที่ไม่ได้รับยา แต่อย่างไรก็ตามแพทย์มักจะใช้ยาตามอาการมากกว่าที่จะใช้ยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ยาให้น้อยที่สุดระหว่างการตั้งครรภ์
ทั้งนี้การเลือกใช้ยาชนิดใดนั้นขึ้นกับวิจารณญาณของแพทย์ผู้รักษา ซึ่งยาที่ออกฤทธิ์ได้รวดเร็วน่าจะส่งผลให้ผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้รวดเร็วกว่า ยาที่เม็ดเล็กก็ช่วยให้รับประทานยาได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์มีความสะดวกมากขึ้น เนื่องจากผู้ที่ตั้งครรภ์อาจจะมียาบำรุง หรือยาอื่นๆ ที่ต้องรับประทานอยู่แล้วหลายชนิด
อย่างไรก็ตามภาวะกรดไหลย้อนมักมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงควรเริ่มจากการปรับพฤติกรรมที่อาจจะส่งผลให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น รวมถึงการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารเสียก่อน หากลองปรับพฤติกรรมแล้วอาการยังไม่ขึ้น จึงค่อยเลือกการรับประทานยาเป็นลำดับถัดไป ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ รวมถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ที่มีภาวะกรดไหลย้อนในขณะตั้งครรภ์ด้วยเช่นกัน
–