โรคกระเพาะอาหาร…โรคใกล้ตัวที่ควรรู้

Digestive / Health

โรคกระเพาะอาหาร หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับชื่อโรคกระเพาะอาหารเรื้อรัง หรือโรคกระเพาะอาหารที่ไม่มีแผล โดยทั่วไปโรคกระเพาะอาหารเป็นกลุ่มอาการของผู้ป่วยซึ่งจะรวมถึงอาการปวดท้อง จุกเสียดแน่น หรืออืดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ โดยอาการดังกล่าวอาจจะมีอาการคล้ายกันกับโรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือมะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นต้น

Icon

Description automatically generated with low confidence โรคกระเพาะอาหารเกิดขึ้นได้อย่างไร

โรคกระเพาะอาหารนั้น แบ่งตามสาเหตุหลักได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มแรก คือโรคกระเพาะอาหารที่มีสาเหตุชัดเจน โดยเกิดจากโรคที่ทำให้เกิดอาการของโรคกระเพาะอาหาร เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น โรคติดเชื้อในกระเพาะอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นต้น ซึ่งการวินิจฉัยต้องอาศัยการตรวจส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น

กลุ่มที่สอง คือโรคกระเพาะอาหารที่ไม่มีสาเหตุชัดเจน (Functional Dyspepsia) ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่พบของกลุ่มอาการปวดท้อง โดยมักจะต้องทำการตรวจส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้นเพื่อหาสาเหตุก่อน หากไม่พบสาเหตุที่ชัดเจนก็จะจัดอยู่ในกลุ่มของโรคกระเพาะอาหารที่ไม่มีสาเหตุชัดเจน ซึ่งเหตุปัจจัยในการเกิดอาการปวดท้องของกลุ่มนี้อาจจะไม่มีรอยโรคที่ชัดเจน โดยมากมักจะเกิดจากสาเหตุรอบตัว เช่น

  • พฤติกรรมการกิน การกินอาหารไม่ตรงเวลา กินอาหารมากเกินไป รวมถึงประเภทอาหารบางอย่างเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคกระเพาะอาหารได้
  • ความเครียด ความกังวลเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการของโรคกระเพาะอาหารได้เช่นกัน
  • ยาต่างๆ หลายประเภท เช่น ยาแก้ปวดข้อ ยาแก้อักเสบ ยาปฏิชีวนะ สามารถทำให้เกิดอาการปวดท้องได้ 
  • พฤติกรรมเสี่ยงบางอย่าง เช่น การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการได้เช่นกัน

การตรวจเพิ่มเติมในผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหาร ได้แก่การตรวจด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น โดยมีข้อบ่งชี้ในการตรวจคือ กลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้น หรือกลุ่มผู้ป่วยมีอาการน้ำหนักลดลงผิดปกติ อาเจียนรุนแรง ถ่ายดำหรือถ่ายเป็นเลือด การพบว่ามีภาวะโลหิตจาง ตรวจพบก้อนในท้อง เป็นต้น หรือกลุ่มผู้ป่วยได้รับยาในการรักษาโรคกระเพาะอาหารเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือไม่สามารถหยุดยาได้

จุดประสงค์ของการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้นเพื่อตรวจวินิจฉัยสาเหตุของอาการปวดท้อง เช่น การติดเชื้อ แผล หรือมะเร็งในกระเพาะอาหารเป็นต้น หากพบว่ามีการติดเชื้อในกระเพาะอาหาร (Helicobacter Pylori) การกำจัดเชื้อจะช่วยให้อาการปวดท้องโรคกระเพาะอาหารดีขึ้นได้

Icon

Description automatically generated with low confidence อาการของโรคกระเพาะอาหาร

ลักษณะอาการของโรคกระเพาะอาหาร ก็แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มเช่นกัน โดย

กลุ่มแรก คือกลุ่มอาการที่มีอาการ ‘ปวดท้องเด่น’ ซึ่งมีอาการปวดท้อง แสบท้อง จุกแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่เป็นๆ หายๆ และมักจะมีอาการมาขึ้นเวลาที่อดอาหาร

กลุ่มที่สอง คือกลุ่มอาการที่มีอาการ ‘แน่นท้องเด่น’ โดยมักจะมีอาการอืดท้อง แน่นท้อง ท้องเฟ้อ รู้สึกมีลมในท้องเยอะ อาหารไม่ย่อย มักจะมีอาการหลังกินอาหารมื้อปกติได้

Icon

Description automatically generated with low confidence การรักษาโรคกระเพาะอาหาร

หากพบสาเหตุของอาการปวดท้องจากการส่องกล้อง เช่น ถ้าพบว่ามีแผลก็จะได้รับการรักษาตามสาเหตุที่พบ กรณีที่ไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน โดยทั่วไปจะแบ่งการรักษาเป็น 2 รูปแบบคือ

แบบที่ 1 เป็นการรักษาที่ไม่ใช้ยา โดยทั่วไปคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิตประจำวัน (Lifestyle Modification) เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร การกินอาหารให้ตรงเวลา การหยุดอาหารที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดท้อง เช่น อาหารรสจัด ชา กาแฟ หรือน้ำอัดลม เป็นต้น การหลีกเลี่ยงความเครียดความกังวล 

แบบที่ 2 เป็นการรักษาด้วยการใช้ยา โดยทั่วไปขึ้นอยู่กับลักษณะอาการเด่นของการปวดท้องในผู้ป่วยแต่ละราย โดย

ยาลดกรด ใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องเด่น 

ยากระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะอาหาร ใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการแน่นท้องเด่น

โดยทั่วไปแพทย์มักแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมกับการใช้ยา โดยการใช้ยานั้นมักใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดท้องตามอาการที่เป็น และการใช้ยาต่อเนื่องจะใช้เฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการมากหรืออาการต่อเนื่องเท่านั้น

บทความที่เกี่ยวข้อง