‘From HAT to HEART’ มากกว่าการใส่หมวกคือการใส่ใจ

Care / hhc for life

โรคลมชัก (Epilepsy) คืออาการผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในสมอง ส่งผลให้สมองส่วนที่ควบคุมการทำงานของร่างกายนั้นแปรปรวน จนทำให้เกิดอาการชักเกร็ง ควบคุมตัวเองไม่ได้ และอาจเสียการรับรู้ไปชั่วขณะ ถือเป็นโรคทางสมองที่พบมากเป็นอันดับต้นๆ

สาเหตุของโรคลมชัก

เป็นไปได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม ความพิการตั้งแต่กำเนิด หรือเป็นอาการที่เกิดขึ้นภายหลัง เช่น มีปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดในสมอง มีเนื้องอกในสมอง ภาวะติดเชื้อในสมอง หรืออาจเกิดจากการที่สมองกระทบกระเทือนหลังจากประสบอุบัติเหตุก็เป็นได้

อาการของคนที่เป็นลมชัก

แต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริเวณที่สมองมีความผิดปกติ อาจแบ่งอาการชักออกเป็นสองแบบใหญ่ๆ คือ 

  • อาการชักทั่วทั้งร่างกาย ที่มักเรียกกันว่า ‘โรคลมบ้าหมู’ โดยจะมีอาการชักเกร็งไปทั้งตัว และหมดสติ ไม่รู้สึกตัว อาจทำให้ล้มลงทันที 
  • อาการชักเฉพาะส่วนของร่างกาย จะเกิดอาการเกร็งกระตุกบางส่วนของร่างกาย เช่น บริเวณใบหน้า แขน หรือมือ โดยยังมีสติรู้ตัว ซึ่งอาจจะลามไปทั้งตัวจนหมดสติ หรืออาจมีอาการชักแบบเหม่อลอยพร้อมพฤติกรรมแปลกๆ เช่น ใจลอย เดินวนเวียน ถูมือไปมา พูดจาซ้ำๆ เรียกไม่รู้ตัว แต่ยังไม่ถึงขั้นหมดสติ

วิธีปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง

  • โดยส่วนใหญ่แล้วอาการชักจะมีระยะเวลาไม่นาน ตั้งแต่ 5 – 10 วินาที ไปจนถึง 2-5 นาที จากนั้นก็สามารถ หยุดเองได้
  • ปล่อยให้ผู้ป่วยชัก โดยไม่ต้องงัด ง้าง ถ่างปาก หรือพยายามใช้มือหรือวัตถุที่แข็งมาใส่ปากของผู้ป่วย และไม่ต้องกดตัวหรือพยายามควบคุมร่างกายของผู้ป่วยให้อยู่นิ่ง จำง่ายๆ ว่า ไม่งัด ไม่ง้าง ไม่ถ่าง ไม่กด 
  • เพียงแค่อยู่ข้างๆ คอยดูแลให้ผู้ป่วยชักอย่างปลอดภัย ไม่สะดุดล้ม ตกจากที่สูง ตกบันได หรืออยู่ใกล้ของมีคม
  • เมื่อหยุดชักแล้วให้จับตะแคงตัว 
  • หากเป็นไปได้ให้ถ่ายคลิปเก็บไว้เพื่อให้แพทย์ประเมินอาการ

ปัญหาของผู้ป่วยลมชักที่มากกว่าเรื่องสุขภาพ

ด้วยลักษณะอาการชักเกร็งที่อาจเกิดขึ้นแบบกะทันหัน ควบคุมไม่ได้ และอาจหมดสติไม่รู้สึกตัว ทำให้ผู้ป่วยโรคลมชักมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นโรคทางจิตเวช หรือเป็นโรคร้ายแรงที่รักษาไม่หาย หรือถูกมองว่ามีอาการผีเข้า ทำให้ถูกปิดกั้นโอกาสในสังคมแบบที่คนทั่วไปได้รับ บางคนถูกล้อเลียนว่าเป็นตัวประหลาดจนทำให้อับอายไม่กล้าเข้าสังคม 

เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ลดทอนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างน่าเสียดาย โดยเฉพาะผู้ป่วยลมชักที่เป็นเด็กจะได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ เพราะส่งผลต่อพัฒนาการและความเป็นอยู่ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 

แท้จริงแล้ว อาการลมชักไม่เกี่ยวกับโรคทางจิตเวชหรือเรื่องเหนือธรรมชาติ เป็นเพียงความผิดปกติของร่างกายที่หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็มีโอกาสหายได้ และหากผู้ป่วยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่เป็นประจำ ได้รับการปฐมพยาบาลที่ถูกวิธี ได้ทำกิจกรรมและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ผู้ป่วยก็สามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นทั่วไปได้ตามปกติ 

โครงการ ‘From HAT to HEART: มากกว่าการใส่หมวก…คือการใส่ใจ’ 

ด้วยเหตุนี้เอง บริษัท เอไซ (ประเทศไทย) มาร์เก็ตติ้ง จำกัด จึงสร้างสรรค์โครงการ ‘From Hat to Heart’ ขึ้นมา โดยความหมายที่ซ่อนอยู่ในคำว่า ‘HAT’ และ ‘HEART’ คือการกระตุ้นให้คนในสังคมมีความเข้าใจและมอบความใส่ใจให้ผู้ป่วยลมชัก ซึ่งจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีและโอกาสที่เท่าเทียมให้กับผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น

HAT หมายถึง การที่ผู้ป่วยลมชักบางรายจำเป็นต้องใส่หมวกกันน็อกเพื่อป้องกันอันตรายจากการชักจนหมดสติแล้วล้มหัวฟาด ซึ่งอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ รวมทั้งแสดงถึงการใส่เครื่อง EEG ที่มีลักษณะคล้ายหมวก ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับตรวจคลื่นการชัก

HEART หมายถึง ความใส่ใจและเห็นอกเห็นใจผู้ป่วยโรคลมชัก ไม่ซ้ำเติม ไม่ตีตรา และไม่ตัดสินด้วยอคติ ลบล้างความเชื่อผิดๆ และงดพฤติกรรมล้อเลียนหรือรังเกียจคนเป็นลมชัก

โครงการ ‘From Hat to Heart’ มีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคลมชัก ผ่านกิจกรรมที่ชักชวนให้คนทั่วไปลองเปิดใจเข้าหาผู้ป่วยโรคลมชัก ในขณะเดียวกันกิจกรรมเหล่านี้ก็จะช่วยให้ตัวผู้ป่วยเองเกิดความมั่นใจว่าสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนทั่วไปได้เช่นกัน 

ตัวอย่างกิจกรรมที่ผ่านมา ได้แก่

กิจกรรม ‘From Hat To Heart มากกว่าการใส่หมวกคือการใส่ใจ’ ที่เชิญชวนให้ทุกคนถ่ายภาพการสวมหมวกในสไตล์ของคุณ และโพสใน Facebook พร้อมติดแฮชแท็ก #fromhattoheart และกด Like & Share เพื่อส่งกำลังใจให้ผู้ป่วยเด็กตัวน้อยกล้าที่จะใส่หมวกกันน็อกสำหรับป้องกันอาการชักจนล้มศีรษะกระแทก นอกจากนี้ยังมีการร่วมกันบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยลมชัก และครอบครัวที่ไม่มีอาชีพหรือขาดรายได้อีกด้วย

งานสัมมนา ‘Together for a Better Society’ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และพูดคุยปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับโรคลมชักที่เกิดขึ้นในสังคมในปัจจุบัน โดยผู้เข้าร่วมงานมีทั้งผู้ป่วยโรคลมชัก คุณหมอและผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลรามา โรงพยาบาลศรีนครินทร์ (ขอนแก่น) และสถาบันประสาทวิทยา รวมทั้งการบรรยายพิเศษจากคุณเบลล์ (ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์) หญิงสาวผู้ไม่ยอมแพ้ต่อโรคมะเร็ง ในหัวข้อ “ป่วยกายแต่ไม่ป่วยใจ”

กิจกรรม ‘We are the Hatter Presents : ชักชวนกันมาวิ่ง’ ซึ่งเป็นการจัด Running Workshop ของทีมงาน ‘We are the Hatter’ เพื่อผู้ป่วยโรคลมชัก และทุกคนที่รักการออกกำลังกาย ได้ประโยชน์ทั้งด้านสุขภาพและยังช่วยลดความเข้าใจผิดว่าคนเป็นลมชักนั้นเล่นกีฬาไม่ได้ โดยมีแขกรับเชิญ คือ พี่น้อย คุณสมศักดิ์ วโรภาส ผู้ก่อตั้งกลุ่ม gps runner group มาสอนวิธีการวิ่ง ภายใต้คอนเซ็ปต์ “มือใหม่หัดวิ่ง กับ โซน 2 รันนิ่ง, มือเก่าอยากนิ่ง ก็วิ่งโซน 2” และภายในงานยังได้รับเกียรติจากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลศิริราช และสถาบันประสาทวิทยามาให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องโรคลมชัก โรคทางสมอง และการออกกำลังกายแก่ผู้เข้าร่วมงานอีกด้วย

เปิดตัว Influencer ของโครงการ ‘From Hat to Heart’ คือคุณกานต์ นักร้องนำวง The Parkinson ที่จะมาเชิญชวนให้ทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้และทำความเข้าใจผู้ป่วยโรคลมชัก ผ่านการถ่ายทอดบทเพลง “ทุกสิ่ง” ในเวอร์ชั่น 2019 

การเปิดตัวภาพยนต์สั้นที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงของผู้ป่วยโรคลมชัก โดยมุ่งหวังให้คนในสังคมเปิดใจมาทำความรู้จักและให้โอกาสผู้ป่วยโรคลมชักและครอบครัว ก่อนที่จะตัดสินด้วยอคติ และสร้างบาดแผลทางจิตใจให้พวกเขา

คำพิพากษา” สะท้อนความเข้าใจผิดของคนส่วนใหญ่เกี่ยวกับวิธีการปฐมพยาบาลคนเป็นลมชัก ทำให้ผู้ปกครองของผู้ป่วยโรคลมชักมักถูกสังคมพิพากษาด้วยคำพูดที่รุนแรง 

โอกาสมีอยู่จริง(?)” สะท้อนเรื่องราวที่ผู้ป่วยโรคลมชักมักถูกตัดโอกาสในชีวิตเพียงเพราะคนส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคลมชัก

กิจกรรมต่างๆ ของโครงการ ‘From Hat to Heart’ ยังไม่หมดเพียงเท่านี้เพราะภารกิจสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องลมชักยังไม่จบ ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นต่อไป รวมถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับโรคลมชักได้ที่ FB: FromHatToHeart, IG: FromHatToHeart, Twitter: FromHatToHeart และเว็บไซต์ www.fromhattoheart.com 

ทั้งหมดนี้เพียงเพราะเราอยากสร้างโอกาสและความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นกับทุกคนในสังคม อย่าให้ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นตัดโอกาสในการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมของใครคนใดออกไป มาร่วมกันผลักดันสังคมที่ดีมีคุณภาพไปด้วยกัน…เพื่อทุกคนที่คุณรัก

ที่มา: 
fromhattoheart.com 
www.si.mahidol.ac.th

บทความที่เกี่ยวข้อง