ปัจจุบันโรค ‘ไขมันพอกตับ’ (Fatty Liver Disease) กำลังกลายเป็นปัญหาสุขภาพที่น่าเป็นห่วง เพราะจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ส่วนหนึ่งมาจากการที่โรคนี้ไม่ค่อยแสดงอาการในช่วงแรก จนหลายคนชะล่าใจ ไม่ดูแลสุขภาพให้ดี รู้ตัวอีกทีสภาพตับก็ย่ำแย่ไปแล้ว
โดยทั่วไปการมีไขมันในตับถือเป็นเรื่องปกติถ้ามีปริมาณเหมาะสม แต่เมื่อไหร่ที่มากเกินไป (มีไขมันแทรกซึมอยู่มากกว่า 5-10% ของน้ำหนักตับ) อาจเข้าข่ายไขมันพอกตับ ซึ่งถ้าปล่อยไว้เป็นเวลานานก็จะทำให้ตับอักเสบ เซลล์ตับตาย เกิดพังผืดในตับ และอาจลุกลามไปเป็นโรคตับแข็ง ตับวาย หรือกลายเป็นมะเร็งตับได้
ทำไมไขมันถึงพอกตับ?
สาเหตุของไขมันพอกตับส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต คือ
- การกินอาหารประเภทไขมันมากเกินไป เมื่อร่างกายเผาผลาญไขมันไม่หมดก็ต้องไปสะสมไว้ที่ตับ รวมทั้งอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต แป้ง และน้ำตาล โดยคาร์โบไฮเดรตและแป้งจะถูกย่อยให้เป็นน้ำตาล ถ้ามีปริมาณมากเกินไป ตับจะเปลี่ยนน้ำตาลส่วนเกินนี้ให้เป็นไขมันและไปเก็บสะสมไว้ที่ตับ
- จากการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้ตับทำงานหนัก สุขภาพตับแย่ลง ตับทำงานได้ไม่เต็มที่
นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นผลข้างเคียงของการกินยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาต้านไวรัส ยากลุ่มสเตียรอยด์ หรือยาฮอร์โมน หรือเกิดจากโรคและภาวะบางอย่าง เช่นโรคอ้วน โรคเบาหวาน ภาวะอ้วนลงพุง คอเลสเตอรอลสูง ความดันเลือดสูง เส้นเลือดตีบตัน มีถุงน้ำในรังไข่ มีความผิดปกติในลำไส้และการดูดซึมอาหาร มีความผิดปกติของฮอร์โมน รวมทั้งผู้สูงอายุที่มีความเสื่อมถอยของร่างกายหรือมีโรคประจำตัวเรื้อรังก็อาจเสี่ยงไขมันพอกตับได้
อาการของไขมันพอกตับ
ไขมันพอกตับเป็นโรคที่ได้ฉายาว่า ‘ภัยเงียบ’ เพราะไม่ค่อยแสดงอาการในตอนแรก คือช่วงที่ยังไม่เกิดการอักเสบหรือเป็นพังผืดนั่นเอง แต่เมื่อไขมันเริ่มสะสมในตับเป็นจำนวนมาก เซลล์ตับเริ่มถูกทำลาย เริ่มอักเสบ มีพังผืดเกิดขึ้นในตับ ร่างกายอาจเริ่มส่งสัญญาณออกมา เช่น มีอาการคลื่นไส้ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เหนื่อยง่าย ไม่สบายท้อง ความอยากอาหารลดลง น้ำหนักลดลง หรือรู้สึกตึงบริเวณชายโครงด้านขวา (ตำแหน่งของตับ) ซึ่งอาการจะมากหรือน้อยแตกต่างกันไปตามสภาพร่างกายของแต่ละคน
หากเริ่มมีอาการต้องสงสัย หรือแม้จะยังไม่มีอาการแต่รู้ตัวว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น เป็นผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ มีน้ำหนักตัวมากเกินค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มีนิสัยการกินที่ไม่สมดุล ติดหวานติดมัน หรือมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง มีความดันเลือดสูง ควรเข้าตรวจเช็คร่างกายกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่เนิ่นๆ
แม้โรคนี้จะไม่ชอบส่งสัญญาณเตือน แต่เราก็สามารถตรวจพบไขมันพอกตับได้ค่อนข้างแม่นยำจากการตรวจเลือดเพื่อดูค่าเอ็นไซม์ของตับ (AST หรือ SGPT) การตรวจด้วยวิธีอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การเจาะชิ้นเนื้อ หรือการตรวจด้วยเครื่อง FibroScan ที่สามารถวัดความยืดหยุ่นของตับได้ว่ามีพังผืดหรือมีไขมันสะสมอยู่มากน้อยแค่ไหน
การดูแลรักษาและป้องกัน
ไขมันพอกตับเป็นโรคที่ไม่มียารักษาโดยตรง แต่จะใช้วิธีรักษาตามอาการควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มีข้อแนะนำดังนี้
- ควบคุมอาหาร ลดหวาน ลดมัน กินโปรตีนที่มีไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา อกไก่ ไข่ เน้นอาหารที่มีกากใยสูง และมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ เช่น ข้าวไม่ขัดสี ผักและผลไม้
- ลดและงดดื่ม ไม่ว่าจะเป็นแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มรสหวาน และน้ำอัดลม
- ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวันทุกวัน หรืออย่างน้อย 3-4 ว้นต่อสัปดาห์
- ควบคุมน้ำหนักและดัชนีมวลกายให้เหมาะสม
- ปรึกษาแพทย์ก่อนกินยาใดๆ ก็ตาม ไม่กินยาพร่ำเพรื่อ แต่กินเมื่อมีอาการหรือเมื่อแพทย์แนะนำ เพื่อที่ตับจะได้ไม่ทำงานหนัก แม้แต่ยาสมุนไพรก็ทำให้ตับพังได้ถ้าขาดความสมดุล
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำเพื่อเฝ้าระวัง หากตรวจเจอแต่เนิ่นๆ ก็รักษาง่ายกว่าปล่อยให้ลุกลาม
- ผู้มีภาวะไขมันพอกตับควรพบแพทย์เป็นประจำ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน หรือไขมันในเลือดสูง
จะเห็นได้ว่าไขมันพอกตับนั้นเป็นโรคที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งการปรับพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกายให้ดีและสมดุลนั้นไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถ แต่ต้องใช้ความอดทนและมุ่งมั่น ผลลัพธ์ที่ได้ไม่เพียงดีต่อตับเท่านั้น แต่ยังดีต่อสุขภาพร่างกายโดยรวมด้วย
–