ทุกวันนี้ โรคซึมเศร้า กลายเป็นคำที่เราได้ยินบ่อยขึ้นในชีวิตประจำวัน แต่เชื่อหรือไม่ว่ายังมีคนอีกมากที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคนี้ โดยเฉพาะตัวผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและบุคคลแวดล้อมผู้ป่วย ซึ่งทำให้ขาดการรับมือที่ถูกต้อง หรือไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี
หนึ่งในความเข้าใจผิดที่พบบ่อยก็คือ
เรามักคิดว่ากลุ่มคนที่มีลักษณะแบบ Extrovert หรือคนประเภทที่ชอบเข้าสังคม ชอบอยู่กับคนหมู่มาก ร่าเริง กล้าแสดงออก พูดเก่ง ยิ้มเก่ง หัวเราะง่าย รักสนุก เป็นกลุ่มคนที่ไม่น่าจะมีภาวะซึมเศร้า และไม่มีทางเป็นโรคซึมเศร้าได้
ความจริงแล้วโรคซึมเศร้าเกิดได้กับทุกคน เพราะโรคนี้เกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ทำให้สมองส่วนอารมณ์ทำงานไม่ปกติ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นชาว Introvert ผู้รักสันโดษ หรือชาว Extrovert ผู้ชอบสังสรรค์ ก็มีสิทธิ์เป็นโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน
คนที่ภายนอกดูร่าเริง แต่ภายในอาจซึมเศร้า
ผู้ป่วยหลายคนพยายามปกปิดภาวะซึมเศร้าไว้ด้วยบุคลิกร่าเริง ทำให้คนรอบข้างไม่สังเกตเห็นความผิดปกติ อาจเพราะไม่อยากให้คนอื่นเป็นห่วง หรือไม่อยากให้เสียภาพลักษณ์ ตัวอย่างในงานวิจัยโดยศาสตราจารย์ด้านคลินิกที่มหาวิทยาลัย UCSF ได้ทำการสำรวจเจ้าของธุรกิจสตาร์ตอัพจำนวน 242 รายในประเทศอเมริกาในปี 2015 พบว่า กว่าสามสิบเปอร์เซ็นต์ของเจ้าของธุรกิจเหล่านี้ประสบกับภาวะเครียดและซึมเศร้า แต่พวกเขากลับปกปิดมันไว้ เพราะไม่ต้องการถูกมองว่าอ่อนแอและต้องสร้างภาพเข้มแข็งให้สมกับบทบาทผู้นำ
ทุกคนมีสิทธิ์เศร้า…โปรดเข้าใจ
ชาว Extrovert หลายคนเมื่อเปิดเผยตัวเองว่าเป็นโรคซึมเศร้า มักพบปฏิกิริยา ‘ประหลาดใจ’ จากคนรอบข้าง โดยอาจเจอคำพูดประมาณว่า “ไม่จริงหรอกมั้ง จะเป็นไปได้อย่างไร คิดมากไปหรือเปล่า?” “คนอารมณ์ดีอย่างนี้ไม่เป็นโรคซึมเศร้าง่ายๆ หรอก” “อย่าคิดมากสิ มองโลกในแง่ดีแบบที่เคยเป็นสิ” “ยิ้มบ่อยๆ หัวเราะบ่อยๆ แบบเดิมสิ เดี๋ยวก็หาย อย่าเอาแต่ทำหน้าเศร้า” คำพูดเหล่านี้แม้จะเกิดจากความหวังดี แต่อาจทำให้ผู้ป่วยยิ่งปกปิดภาวะซึมเศร้าไว้ เพราะกลัวทำให้คนอื่นผิดหวัง และอาจไปกระตุ้นให้อาการยิ่งแย่ลง เพราะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเศร้าใจที่ไม่มีใครเข้าใจ หรือรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า เป็นภาระ
ดังนั้น หากมีเพื่อนหรือคนในครอบครัวมาปรึกษาปัญหาภาวะซึมเศร้ากับเรา ไม่ว่าเขาจะเป็นผู้ที่มีบุคลิกแบบไหน ก็ควรพยายามทำความเข้าใจ เปิดใจรับฟัง เป็นผู้ฟังที่ดี ไม่ด่วนตัดสิน และยอมรับอย่างจริงใจว่าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเผยด้านอ่อนแอของตัวเองออกมา
ภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้นได้เป็นปกติ แต่อย่าปล่อยให้นานเกินไป
อารมณ์เศร้า ท้อแท้ หดหู่ สิ้นหวัง หรือเบื่อหน่ายชีวิต หากเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาสั้นๆ ไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วันแล้วคลี่คลายได้ ก็อาจถือว่าเป็นภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ตามปกติของมนุษย์ แต่หากมีภาวะเศร้าเกิดขึ้นแบบตลอดทั้งวัน ทุกวัน และติดต่อกันเป็นเวลานานตั้งแต่สองสัปดาห์ขึ้นไป หรืออาการที่เป็นอยู่ส่งผลกระทบกับการทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น หลงลืมง่าย เหม่อลอย ไม่มีสมาธิ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง อารมณ์หวั่นไหวง่ายแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ร้องไห้ง่าย หรือรู้สึกทุกข์ทรมานใจอย่างไม่มีเหตุผล ให้สงสัยได้เลยว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น
แก้ให้ตรงจุด หยุดความเศร้าด้วยการพบแพทย์
หากสงสัยในความผิดปกติเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าของตนเองหรือคนใกล้ตัว ให้รีบปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญโดยเร็วที่สุด อย่าประมาทว่าอาจหายเอง เพราะโรคนี้เกิดขึ้นจากความผิดปกติของร่างกาย ซึ่งส่งผลไปถึงจิตใจและอารมณ์ ซึ่งในทางการแพทย์ถือว่าเป็น ‘โรค’ ชนิดหนึ่งซึ่งต้องเข้ารับการดูแลรักษาเช่นเดียวกับเวลาเราป่วยเป็นโรคอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ หรือโรคเบาหวาน หากได้รับการรักษาที่เหมาะสม แก้ไขได้ถูกจุด ก็มีโอกาสที่จะหาย ผ่อนหนักให้เป็นเบา กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติเหมือนเดิม
วิธีการรักษาโรคซึมเศร้า
โดยทั่วไปแล้วจะแบ่งออกเป็น
1) การรักษาด้วยการกินยาแก้เศร้า เพื่อปรับสมดุลให้สารเคมีในสมอง ทำให้ผู้ป่วยลดอาการเศร้า บรรเทาความทุกข์ใจ ซึ่งปริมาณ ความถี่ และระยะเวลาในการกินยานั้น แพทย์จะวินิจฉัยตามระดับอาการของผู้ป่วยแต่ละคน
2) การรักษาทางใจ ด้วยการเข้ารับคำปรึกษาพูดคุยกับจิตแพทย์ หรืออาจมีการทำจิตบำบัดเชิงลึก เพื่อค้นหาสาเหตุของปัญหาให้ตรงจุด และช่วยปรับความคิดหรือพฤติกรรมเพื่อรับมือกับความเศร้า
นอกจากนี้ การออกกำลังกาย กินอาหารให้เหมาะสม และพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ก็มีส่วนช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และนำไปสู่จิตใจที่เข้มแข็งตามไปด้วย
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า สามารถติดต่อสายด่วนสุขภาพจิต 1323 (โทรฟรี 24 ชั่วโมง) หรือนัดพบจิตแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ และเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลจิตเวช สังกัดกรมสุขภาพจิต รวมทั้งที่แผนกจิตเวชในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนหลายแห่งทั่วประเทศ
–
อ้างอิง:
www.who.int
www.livescience.com
www.vocal.media
www.weforum.org
www.thaidepression.com
www.businessinsider.com
www.rama.mahidol.ac.th