‘ลมชัก’ โอกาสและความเท่าเทียมในชีวิต

Brain / Health

โรคลมชักเป็นโรคที่เกิดจากคลื่นไฟฟ้าในสมองทำงานผิดปกติ เปรียบเสมือนไฟฟ้าลัดแผงวงจร ทำให้เกิดอาการทางสมอง เช่น ชัก เกร็ง กระตุก ทั้งชนิดที่ผู้ป่วยยังมีสติรับรู้ดีอยู่หรือหมดสติก็ได้ ซึ่งอาการดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันตามแต่ความชนิดและความุรนแรงของอาการชัก 

บ่อยครั้งที่คนที่มีโรคลมชัก (หมอขอหลีกเลี่ยงการใช้คำว่าผู้ป่วย เพราะคนที่มีโรคลมชักไม่ได้แสดงอาการชักตลอดเวลาครับ) ไม่อยากให้ผู้อื่นทราบว่าตนเองเจ็บป่วยด้วยโรคลมชักด้วยสาเหตุหลายประการ เช่น เกรงว่าคนรอบข้างจะรังเกียจ เกรงว่าจะเป็นข้อจำกัดในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการทำงาน ทำให้คนที่มีโรคลมชักต้องเก็บความรู้สึกดังกล่าวซ่อนไว้ในห้วงลึกของหัวใจอย่างเดียวดาย ผมอยากลองชวนให้ผู้อ่านทุกท่าน ลองมองในมุมกลับกันว่า ถ้าเราเป็นโรคลมชักเอง เราก็คงไม่อยากให้การเจ็บป่วยโรคลมชักเป็นข้อกีดกันในการทำงานใช่ไหมครับ

ในวันนี้ หมอมีคำแนะนำ 5 ประการ เพื่อให้เข้าใจและอยู่ร่วมกับคนที่มีโรคลมชักได้อย่างมีความสุข

1. เปิดใจ: 

หลายท่านอาจจะเคยเห็นคนล้มหงายหลัง หมดสติ เกร็งกระตุกทั้งตัว 2-3 นาที แล้วก็ตื่นขึ้นมาสับสน งงๆ ประมาณ 10 นาที แล้วก็กลับมาคุยได้ปกติ นี่แหละครับคืออาการชักที่พบบ่อยที่สุด ในบางครั้งอาการชักอาจจะแสดงแบบ ชะงัก นั่งนิ่ง อึ้ง ตะลึงงัน ทำปากขมุบขมิบ มือขยุกขยิก เพียงชั่วครู่ ดังนั้นข้อแนะนำอันดับแรกหมออยากให้ทุกคนเปิดใจรับฟังว่า อาการชักเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้และไม่ใช่อาการแสร้งทำ 

2. ถ้าเพื่อนชักต่อหน้าเราจะทำอย่างไรดี: 

อาการชักส่วนใหญ่หยุดได้เองภายใน 5 นาที สิ่งสำคัญที่จะช่วยเหลือเพื่อนได้คือ ทำให้เพื่อนปลอดภัยจากการบาดเจ็บและการสำลัก ดังนั้นถ้าเพื่อนชักแบบเกร็งกระตุก หมดสติ ท่านสามารถช่วยเพื่อนได้โดยจัดท่าตะแคง หรือกึ่งคว่ำ หันหน้าลงพื้น เผื่อว่าเพื่อนอาเจียนจะได้อาเจียนลงพื้น ไม่สำลักลงปอด หรือถ้าฟันปลอมหลุดจะได้ไม่หล่นไปอุดทางเดินหายใจ ท่านไม่จำเป็นต้องนวด เกร็ง ดึงรั้งแขนขาเพื่อน เพราะอาการชักจะหยุดเองครับ ที่สำคัญไม่ต้องนำสิ่งของมางัดปากเพราะเกรงว่าจะกัดลิ้นนะครับ การงัดปากจะทำให้ฟันหักบาดเจ็บมากกว่าเดิม และอาจจะทำให้ฟันหลุดลงไปอุดหลอดลมได้ครับ

3. คนที่มีโรคลมชักทำงานทั่วไปได้อย่างปลอดภัย: 

อาการชักเป็นเพียงอาการชั่วคราว หากสภาวะแวดล้อมปลอดภัย คนที่มีโรคลมชักก็สามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยเช่นกัน ดังนั้นคนที่มีโรคลมชักสามารถทำงานที่เป็นงานออฟฟิศได้อย่างปลอดภัยแน่นอนครับ 

4. คนที่มีโรคลมชักควรหลีกเลี่ยงงานแบบไหน: 

ในกรณีที่ยังมีอาการชักอยู่เป็นระยะ ควรหลีกเลี่ยงงานที่เสี่ยงบาดเจ็บหรืออันตรายต่อผู้อื่นถ้ามีอาการชัก เช่น งานที่ใช้เครื่องจักรและขับขี่ยานพาหนะ งานที่ใช้ของมีคม งานที่ต้องใช้ความร้อน งานที่อยู่ที่สูงเสี่ยงต่อการพลัดตก

5. ปรับสภาวะการทำงานเพื่อหลีกเลี่ยงการกระตุ้นอาการชัก: 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระตุ้นอาการชัก คือการพักผ่อนไม่เพียงพอ อดหลับอดนอน ดังนั้นคนที่มีโรคลมชักหรือนายจ้างควรหลีกเลี่ยงงานที่อยู่เวรสลับไปมา อย่างไรก็ตามหากหลีกเลี่ยงงานกลางคืนไม่ได้ สามารถปรับเปลี่ยนงานเป็นกะกลางคืนอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้ร่างกายรับรู้ว่าต้องนอนพักผ่อนให้พอในเวลากลางวัน 

เชื่อว่า หากทุกท่านลองพิจารณาคำแนะนำ 5 ประการนี้ และลองเปิดใจ ลองปฏิบัติ เราจะสร้างโอกาสให้คนที่มีโรคลมชักอย่างเท่าเทียมกับคนปกติเลยครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง