ผู้สูงอายุนอนไม่หลับ ปัญหาฮิตที่ไม่ธรรมดา และต้องรีบรับมือ!

Health

ผู้สูงอายุนอนไม่หลับ หลับไม่สนิท เป็นปัญหาสุดฮอตของผู้สูงวัยที่ใครๆ เขาก็เป็นกัน ซึ่งนั่นก็ทำให้ใครหลายๆคน มีความเข้าใจที่ผิดๆ ว่าการที่คนสูงอายุนอนไม่ค่อยหลับนั้นไม่ใช่เรื่องอันตราย และไม่ใช่เรื่องที่ต้องแก้ไข ทำให้เมื่อมีอาการนอนไม่หลับ ผู้สูงอายุและคนใกล้ตัวก็มักจะปล่อยผ่าน และมองข้ามปัญหานี้ไปจนเกิดเป็นปัญหาที่บานปลายในอนาคต!

รู้หรือไม่? 50% ของผู้สูงอายุไทย มักจะมีปัญหานอนไม่หลับ นอนยาก และมีช่วงเวลาในการนอนหลับที่ลดน้อยลง และแน่นอนถึงแม้หลายคนจะเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องเล็ก แต่สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนจะปล่อยผ่านไปได้ เพราะหากฟังผิวเผินมันก็แต่การนอนไม่หลับและไม่น่ามีอันตรายอะไร แต่ถ้าปล่อยไว้ อาจกลายเป็นการนอนไม่หลับเรื้อรัง และส่งผลให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมาได้ เพราะเมื่อมีการนอนไม่หลับ ผู้สูงอายุก็จะได้รับผลกระทบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางใจ หรือการแสดงออกทางพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป 

ดังนั้นถ้าคุณกำลังจะเข้าสู่ช่วงวัยผู้สูงอายุก็ควรจะมีการตรวจเช็กคุณภาพการนอนหลับของตัวเองอยู่เสมอ และหากมีคนใกล้ตัวหรือคนรอบข้างที่อยู่ในช่วงของวัยผู้สูงอายุก็อย่าลืมสังเกตอาการของพวกเขาให้ดี เพราะเมื่อมีอาการนอนไม่หลับเกิดขึ้น จะได้สามารถรับมือและทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที เพื่อไม่ให้ปัญหาผู้สูงอายุนอนไม่หลับส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

คุณหรือผู้สูงอายุใกล้ตัว เคยมีอาการแบบนี้ไหม?

  • ระยะเวลาโดยรวมของการนอนหลับในช่วงกลางคืนลดน้อยลง 
  • ตื่นมาแล้วรู้สึกอ่อนเพลีย 
  • มีความรู้สึกว่านอนไม่พอ อยากนอนต่อ แต่ไม่สามารถนอนหลับได้ 
  • หลับยาก ใช้เวลานานกว่าที่จะสามารถนอนหลับได้
  • หลับไปแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 2-3 ชั่วโมงก็ตื่นขึ้นมา
  • ระยะเวลาที่นอนไม่หลับสนิทยาวนานขึ้น 
  • นอนหลับๆ ตื่นๆ และมักจะตื่นขึ้นบ่อยๆ ในช่วงเวลากลางคืน 
  • อยากที่จะนอนในช่วงเวลากลางวันมากขึ้น

อาการเหล่านี้นี่แหละคืออาการนอนไม่หลับของผู้สูงวัย ที่หากไม่รีบแก้ไขอาจส่งผลเสียในระยะยาวและอาจทำให้เกิดโรคร้ายในอนาคตได้ เพราะเมื่อมีอาการนอนไม่หลับ ผู้สูงอายุมักจะเลือกทางแก้ไขปัญหาแบบผิดๆ บ้างก็เลือกอดนอนไปเลย บ้างก็เลือกทานยานอนหลับ บ้างก็ไม่รู้จะแก้ไขปัญหาอย่างไรให้เหมาะสม ซึ่งนั่นก็คือหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุที่นอนไม่หลับมักจะเกิดปัญหาต่างๆ ทางสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมา

วันนี้เราจึงจะพาทุกคนไปรู้จักกับปัญหาคนสูงอายุนอนไม่ค่อยหลับกันให้มากยิ่งขึ้น ทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นจากการนอนไม่หลับ สาเหตุของอาการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ และแนวทางการแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุนอนไม่หลับอย่างถูกวิธี เพื่อให้ทุกคนสามารถรับมือกับปัญหายอดฮิตของชาวสูงวัยกันได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสม

เมื่อนอนไม่หลับ ผู้สูงอายุจะต้องพบกับปัญหาอะไรบ้าง?

มาเริ่มกันที่สารพัดปัญหาจุกจิกที่เกิดขึ้นจากการนอนไม่หลับของผู้สูงอายุ ซึ่งเราก็คงจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นนอกจากจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุเองแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างหรือคนในครอบครัวที่ดูแลอยู่อีกด้วย

ซึ่งปัญหาต่างๆ ของผู้สูงอายุนอนไม่หลับนั้น มีดังนี้

  • เมื่อนอนน้อย ความคิดความอ่านจะช้าลง ส่งผลให้การรสื่อสารคนรอบข้างช้าลง
  • ความสามารถในการจำจำลดลง ผลจากสมองไม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ 
  • การควบคุมอารมณ์จากสมองแย่ลง อาจมีอาการหงุดหงิดง่าย โมโหง่าย
  • กระตุ้นให้เกิดความเครียดได้ง่ายและอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตในอนาคต
  • มีความอ่อนเพลียระหว่างวัน และรู้สึกไม่สดชื่นตลอดทั้งวันตั้งแต่ตื่นนอน
  • ไม่มีเรี่ยวแรงในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
  • มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุและการหกล้มมากขึ้น เนื่องจากการควบคุมร่างกายแย่ลง

และถ้าทุกคนได้มองปัญหาเหล่านี้ในระยะยาว ก็คงจะเห็นแล้วว่าการนอนไม่หลับของผู้สูงอายุนั้นไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่กลับเป็นต้นตอของปัญหามากมายของผู้สูงอายุ และยังส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ รวมถึงส่งผลถึงคนใกล้ตัวที่อยู่รอบข้างเป็นอย่างมาก ในบทความนี้เราจึงขอเน้นย้ำให้ทุกคนได้เข้าใจในต้นตอของปัญหา เพื่อให้ทุกคนสามารถตระหนักได้ถึงความอันตราย และหมั่นสังเกตตัวเองรวมถึงผู้สูงอายุรอบข้างกันให้มากยิ่งขึ้นนั่นเอง

สาเหตุที่ทำให้คนสูงอายุนอนไม่ค่อยหลับ

เมื่อปัญหาผู้สูงอายุนอนไม่หลับนั้นไม่ใช่เรื่องเล็กอีกต่อไป การจะรับมือและแก้ไขเราจึงจำเป็นจะต้องรู้ถึงต้นตอของปัญหาที่แท้จริงว่าอาการนอนไม่หลับที่เกิดขึ้นนั้นมีสามเหตุมาจากอะไร นั่นก็เพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีอาการนอนไม่หลับสามารถเข้าใจในปัญหาของตัวเอง และเข้าใจในตัวผู้สูงอายุใกล้ตัวที่มีปัญหาเหล่านี้กันได้มากยิ่งขึ้น 

ซึ่งสาเหตุของอาการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุที่เราได้รวบรวมมานั้น ได้แก่

การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย

แน่นอนว่าเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายมากมายก็จะตามมา โดยเฉพาะความเสื่อมต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เช่นการควบคุมการปัสาวะเสียไป ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จึงมักจะลุกมาเข้าห้องน้ำในเวลากลางคืนมากขึ้น ตื่นบ่อย และอาจกลับมานอนต่อไม่ได้ 

ส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับตอนกลางคืนของผู้สูงอายุนั้นลดลง ทำให้ผู้สูงอายุก็จะมีพฤติกรรมการนอนที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น มีการงีบหลับในช่วงกลางวันมากขึ้น บางครั้งผู้สูงอายุมีการนอนช่วงกลางวันมากเกินไป ก็จะทำให้กลางคืนไม่ค่อยหลับ หรือไม่ง่วง “เกิดวงจรคนสูงอายุนอนไม่ค่อยหลับ” ตามมา

ดังนั้นผู้สูงอายุจึงจำเป็นจะต้องมีการสังเกตตัวเองว่ามีปัญหา

ในช่วงที่นอนหลับ เช่น ตอนตื่นกลางดึกมีการตื่นบ่อยๆ หรือหลับๆ ตื่นๆ ไหม อยากนอนกลางวันมากขึ้นหรือเปล่า เพราะหากมีอาการเหล่านี้ก็แสดงว่าเรากำลังนอนหลับไม่เพียงพอ และมีปัญหาผู้สูงอายุนอนไม่หลับที่ต้องรีบแก้ไขและรับมือ

ฮอร์โมนในร่างกายของผู้สูงอายุที่เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากอายุที่เพิ่มมากขึ้นจะส่งผลกระทบให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายแล้ว เมื่อเรามีอายุมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่เข้าสู่วัยทอง ฮอร์โมนในร่างกายของเราก็จะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลกระทบต่างๆ มากมายโดยเฉพาะกับจิตใจและอารมณ์ ฮอร์โมนบางชนิดที่เกี่ยวกับการกระตุ้นให้เกิดการง่วงและช่วยให้มนุษย์รู้เวลาว่าควรเข้านอนมีปริมาณลดลง ทำให้ในบางครั้งผู้สูงอายุไม่รู้สึกว่วง หรือ พยายามนอนแต่ไม่หลับ มีอาการหลับยาก หลับๆ ตื่นๆ หรือหลับไม่สนิท หรือต้องพบกับปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และแน่นอนว่าเมื่อมีอาการนอนไม่หลับ ผู้สูงอายุจะได้รับผลกระทบมากมาย ไม่ว่าจะด้วยความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายหรือฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นถ้าไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ผู้สูงอายุทุกคนจะต้องอย่าลืมหมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอ และหากมีอาการนอนไม่หลับจะต้องรับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อส่งเสริมการนอนหลับให้มีคุณภาพยิ่งขึ้นนั่นเอง หรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอน

ผู้สูงอายุมีการรับประทานยาบางชนิดที่ส่งผลต่อการนอน

เมื่อนอนไม่หลับ ผู้สูงอายุจะต้องพบกับปัญหาสารพัดทำให้ต้องมีการปรับตัวและอาจต้องมีการรับประทานยาต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่รู้หรือไม่ว่าถ้ามองย้อนกลับไปยารักษาโรคบางชนิดที่ผู้สูงอายุรับประทานอยู่ก็อาจส่งผลให้ผู้สูงอายุมีภาวะของการนอนไม่หลับได้เช่นเดียวกัน

โดยยาที่ทำให้ผู้สูงอายุนอนไม่หลับได้นั้นส่วนมากแล้วจะเป็นยากที่มีผลออกฤทธิ์ในระบบประสาทส่วนกลาง หรือยาที่ส่งผลต่อการทำงานของสมอง อาทิ

  • ยารักษาโรคพาร์กินสัน 
  • ยารักษาภาวะสมองเสื่อม 
  • ยารักษาโรคซึมเศร้า 
  • ยาต้านไทรอยด์ 
  • ยาแก้ชัก 
  • ยาสเตียรอยด์ เป็นต้น

นอกจากนี้การที่ผู้สูงอายุบางท่านทานยานอนหลับเป็นเวลานานๆ และต้องพึ่งพายานอนหลับเสมอโดยไม่แก้ปัญหาที่ต้นต่อของอาหารการนอนไม่หลับ ก็จะพบว่าผู้สูงอายุจะมีอาการดื้อต่อยานอนหลับ ดังนั้นหากมีปัญหาการนอนไม่หลับแบบเรื้อรัง แนะนำปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาด้วยยานอนหลับหรือวิธีการอื่นเสมอ 

ผู้สูงอายุมีอาการเจ็บปวดทางร่างกาย

ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เป็นช่วงวัยที่ร่างกายมีภาวะของความเสื่อมโทรม เช่น กล้ามลดลง ข้อเสื่อม ปลายประสาทเสือมถอย   ซึ่งความเสื่อมโทรมนี้ก็นำมาซึ่งปัญหาความเจ็บปวดมากมาย และแน่นอนว่าหากมีอาการของความเจ็บปวดเกิดขึ้นในช่วงเวลากลางคืนหรือช่วงที่กำลังนอนหลับ ก็คงจะเป็นการรบกวนการนอนที่น่ารำคาญใจไม่น้อย และสำหรับบางคนก็อาจนำไปสู่ปัญหาของการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุได้

โดยปัญหาความเจ็บปวดทางร่างกายที่มักจะส่งผลกระทบทำให้คนสูงอายุนอนไม่ค่อยหลับนั้น มีดังนี้

  • ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดขา ปวดบริเวณต่างๆ ของร่างกาย
  • ปวดข้อ ปวดกระดูก เจ็บกระดูก
  • การเป็นเหน็บชา หรือเป็นตะคริว
  • ท้องผูก แน่นท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย

ผู้สูงอายุมีปัญหาทางจิตใจ 

ไม่ว่าจะในวัยไหนเมื่อมีความเครียดการนอนหลับก็จะเป็นไปได้ยากขึ้น ผู้สูงอายุก็เช่นเดียวกัน ผู้สูงอายุที่มีความเครียด ความกังวล หรือกำลังรู้สึกเศร้าก็มักจะมีปัญหาของการนอนไม่หลับ ทำให้นอนหลับได้ยาก มีมีอาการนอนหลับไม่สนิท และนอนหลับได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในผู้ที่มีความกังวลมากๆ ก็จะทำให้เกิดอาการตื่นกลางดึกหรือหลับๆ ตื่นๆ ขึ้นได้ ซึ่งในบางรายก็อาจตื่นขึ้นมากลางดึกแล้วไม่สามารถนอนหลับต่อได้เลย

และที่สำคัญคือผู้สูงอายุเป็นช่วงวัยที่มีสภาวะทางอารมณ์ที่นำไปสู่ความเครียดและความวิตกกังวลได้ง่าย ทั้งยังมีอาการซึมเศร้าในผู้สูงอายุที่รุนแรง ทำให้หากไม่มีการรับมืออย่างเหมาะสม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะไปรบกวนการนอนหลับ และส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการนอนหลับ ทำให้เกิดเป็นปัญหาผู้สูงอายุนอนไม่หลับขึ้นได้นั่นเอง 

ผู้สูงอายุป่วยเป็นโรคต่างๆ ที่ส่งผลต่อการนอนหลับ

นอกจากการเปลี่ยนแปลงและอาการต่างๆ ของผู้สูงอายุที่ส่งผลให้เกิดการนอนไม่หลับ ผู้สูงอายุจะต้องพบกับปัญหาต่างๆ มากมายแล้ว การที่ผู้สูงอายุมีอาการเจ็บป่วยจากโรคประจำตัวก็จะส่งผลถึงประสิทธิภาพในการนอนด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับการนอนหลับของผู้สูงอายุและอาจส่งผลให้ผู้สูงอายุนอนไม่หลับนั้นมีอยู่มากมาย เช่น

  • โรคทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ 
  • โรคสมองเสื่อม 
  • โรคหัวใจ 
  • โรคต่อมลูกหมากโต
  • โรคถุงลมโป่งพอง 
  • โรคหลอดเลือดสมอง  
  • โรคเบาหวาน
  • โรคกรดไหลย้อน 
  • โรคซึมเศร้า 
  • โรควิตกกังวล

นอกจากนี้ผู้สูงอายุที่อยู่ในกลุ่มผู้ที่มีภาวะการนอนละเมอ หรืออยู่ในกลุ่มผู้ที่มีอาการขาอยู่ไม่สุข ก็มักจะมีอาการนอนไม่หลับ หรือหลับๆ ตื่นๆ ได้อีกด้วย

การรับมือกับปัญหาผู้สูงอายุนอนไม่หลับด้วยตนเอง

สำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่มีผู้สูงอายุอยู่ในครอบครัวที่อยากรับมือกับปัญหาการนอนไม่หลับ แต่ไม่รู้จะรับมืออย่างไรให้ปลอดภัยและช่วยแก้ไขปัญหาทางด้านการนอนได้จริง เราได้รวมวิธีเพิ่มประสิทธิภาพในการนอนหลับที่สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยตัวเองมาให้ทุกคนแล้ว ดังนี้

  • จัดการกับห้องนอนให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ทั้งเสียง แสง กลิ่น และอุณหภูมิ ที่ช่วยส่งเสริมการนอน
  • เลี่ยงการนอนหลับในช่วงกลางวัน และหากต้องการนอนจริงๆ ให้ทำการกำหนดระยะเวลาในการนอนกลางวันไม่ให้เกิน 30 นาที และจะต้องนอนในช่วงบ่ายเท่านั้น
  • หากเข้านอนแล้วนอนไม่หลับ หรือหากถึงเวลานอนแล้วยังไม่ง่วง และมีอาการนอนไม่หลับ ผู้สูงอายุควรหากิจกรรมผ่อนคลายสมองทำ อย่าฝืนพยายามนอนเพราะจะยิ่งนอนไม่หลับและส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย
  • หากการตื่นกลางดึกมีสาเหตุมาจากการลุกไปปัสสาวะบ่อยๆ ให้ลดปริมาณการดื่มน้ำในช่วงหัว แต่เปลี่ยนเป็นการจิบน้ำแทน
  • ทานอาหารมื้อเย็นในเวลาเดิมทุกๆ วัน และเน้นอาหารจำพวกโปรตีน
  • งดดื่มสุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 
  • เลี่ยงการดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน โดยเฉพาะในตอนเย็น
  • ในช่วง 4-5 ชั่วโมงก่อนนอน ให้งดการดื่มน้ำทุกชนิด 
  • ฝึกการทำสมาธิ และเพิ่มความผ่อนคลายให้กับตัวเองอยู่เสมอ

นอกจากนี้เมื่อคนสูงอายุนอนไม่ค่อยหลับและได้ทำตามคำแนะนำต่างๆ แล้ว เราขอเสนอให้เพิ่มการทำกิจกรรมเบาๆ ที่มีความผ่อนคลายก่อนการเข้านอนประมาณ 1-2 ชั่วโมง เพื่อให้การนอนหลับเป็นไปได้อย่างง่ายดายมากยิ่งขึ้น ซึ่งตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มความผ่อนคลายนั้น ได้แก่  

  • สวดมนต์ 
  • นั่งสมาธิ 
  • อ่านหนังสือ 
  • ฟังเพลงเบาๆ 
  • วาดรูป 
  • ถักไหมพรม เป็นต้น

ข้อควรระวังในการใช้ยานอนหลับสำหรับผู้สูงอายุ

เพื่อแก้ปัญหานอนไม่หลับ ผู้สูงอายุหลายๆ คนมักจะเลือกการใช้ยานอนหลับเพื่อให้สามารถหลับได้ง่าย โดยที่ไม่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองมากนัก แต่ทุกคนรู้หรือไม่ว่าถึงแม้การใช้ยานอนหลับจะเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยรักษาปัญหาการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ แต่หากทานแบบผิดๆ ทานในปริมาณที่มากเกินไป หรือทานในระยะเวลาที่นานเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อตัวของผู้สูงอายุโดยเฉพาะในเรื่องของสมองได้ ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียความสามารถทางด้านการจดจำ การเกิดความสับสน มึนงง การดื้อยา การติดยานอนหลับ หรือแม้กระทั่งการที่ตัวยาออกฤทธิ์และไปบดบังอาการของโรคร้ายต่างๆ ทำให้ไม่สามารถค้นพบและวินิจฉัยอาการของโรคได้

ยานอนหลับในอดีต มีผลกดสมองส่วนการนอน เมื่อใช้เป็นเวลานาน ก็จะทำให้สมองดื้อต่อยานอนหลับที่ใช้ ทำให้ต้องเพิ่มขนาดยาไปเรื่อยๆ และยากต่อการหยุดใช้ยานอนหลับ แต่ปัจจุบันนี้ด้วยวิวัฒนาการใหม่ๆในการค้นคว้า ยารักษาโรคนอนไม่หลับ ได้มีการพัฒนาไปมากแล้ว ในชนิดใหม่ๆ พบว่ายามีประสิทธิภาพที่ดี ส่งผลกดสมองส่วนการนอนค่อนข้างน้อย แต่มีผลลดวงจรการตื่นตัวในกลางคืน ทำให้เราตื่นตัวในเวลากลางคืนลดลงได้ ผู้ป่วยก็จะหลับได้ดี หลับได้นาน และมีคุณภาพ รวมทั้งผลข้างเคียงน้อยแต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในการใช้ยานอนหลับในผู้สูงอายุ ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และจะต้องผ่านการอนุมัติจากแพทย์ชำนาญการก่อนการใช้ยาอย่างเคร่งครัด  และทุกครั้งที่ผู้สูงอายุได้รับการรักษาด้วยยารักษาโรคนอนไม่หลับ ผู้ดูแลหรือผู้สูงอายุ จะต้องมีการอ่านฉลากของยาให้ครบถ้วน โดยจะต้องทานยาในช่วงเวลาและในปริมาณที่แพทย์แนะนำเท่านั้น ซึ่งหากผู้สูงอายุไม่สามารถควบคุมการใช้ยาด้วยตนเองได้ คนรอบข้างหรือคนในครอบครัวควรเป็นผู้จัดยาให้กับผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม นั่นก็เพื่อความปลอดภัยและเพื่อไม่ให้ยานอนหลับส่งผลให้ผู้สูงอายุต้องพบเจอกับปัญหาที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ ในอนาคตได้นั่นเอง

———————————–

อ่านมาถึงตรงนี้ทุกคนก็จะเห็นแล้วว่าหากไม่รีบรับมือและทำการรักษาอย่างถูกวิธีอาการนอนไม่หลับที่เกิดขึ้นนั้นจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อมีอาการนอนไม่หลับ ผู้สูงอายุจะต้องพบเจอกับปัญหามากมายตามมาและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น 
ดังนั้นหากใครเป็นผู้สูงอายุนอนไม่หลับ หลับไม่สนิท หรือมีคนใกล้ตัวที่มีอาการของคนสูงอายุนอนไม่ค่อยหลับ ก็อย่าลืมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม และเมื่อมีอาการที่เข้าข่ายของปัญหาการนอนไม่หลับ ผู้สูงอายุจะต้องรีบเข้าพบแพทย์ตามสถานพยาบาลใกล้บ้านหรือโรงพยาบาลต่างๆ ทันที เพื่อรับมือกับปัญหาต่างๆ เหล่านี้กันได้อย่างปลอดภัย

บทความที่เกี่ยวข้อง