โรคท้องผูกเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุก ๆ คนในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของชีวิต หากไม่ดูแลสุขภาพและเตรียมตัวรับมือกับภาวะท้องผูกนี้แล้วปล่อยปละละเลยให้ปัญหาท้องผูกเกิดขึ้นบ่อย ๆ อาการถ่ายไม่ออกอาจทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาได้ในอนาคต
เพราะโรคท้องผูกไม่ใช่แค่เรื่องที่รบกวนจิตใจและการดำเนินชีวิต แต่ยังสร้างความทรมานให้กับผู้ที่มีอาการและส่งผลกระทบให้เกิดภาวะข้างเคียงมากมาย ทำให้หากไม่รีบรักษาก็อาจเรื้อรังจนกลายเป็นโรคร้ายอื่น ๆ ตามมาได้
วันนี้ hhc Thailand จึงจะมาแนะนำถึงเรื่องราวที่คุณควรรู้เกี่ยวกับโรคท้องผูก ทั้งความเสี่ยงของผู้ที่มีอาการท้องผูก สาเหตุที่แท้จริงของการถ่ายไม่ออก และวิธีแก้ไขปัญหาอาการท้องผูกที่จะช่วยให้ทุกคนไม่ต้องทรมานกับการถ่ายไม่ออกและไม่ต้องพบกับความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคร้ายต่าง ๆ ตามมา
แบบนี้ไม่ดีแน่! เพราะเป็น “อาการเสี่ยงของคนท้องผูก”
เคยไหม..? เข้าห้องน้ำเพื่อขับถ่ายในแต่ละครั้งต้องนั่งเบ่งอยู่เป็นชั่วโมง ๆ ถ่ายเท่าไหร่ก็ถ่ายไม่ออก ถ่ายยังไงก็เหมือนยังไม่หมด อึดอัดและแน่นท้องอยู่ตลอดเวลา แบบนี้คุณอาจจะเข้าข่ายว่ามีอาการท้องผูกอยู่ก็เป็นได้!
จากที่เราได้เล่าไปคร่าว ๆ แล้วว่าภาวะท้องผูกเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุก ๆ คนในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของชีวิต แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้เท่า ๆ กัน เพราะผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้มากกว่าผู้อื่น คือผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะกลุ่มสตรีที่มีอายุมากกว่า 65 ปี รวมถึงสตรีตั้งครรภ์ อีกทั้งยังพบได้บ่อยในผู้ที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือผู้ที่มีอาการโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กนั่นเอง
และสำหรับกลุ่มคนทั่วไปอย่างเรา ๆ ที่ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ก็สามารถจัดว่าเข้าข่ายผู้ที่เป็นโรคท้องผูกได้เช่นกัน หากมีอาการเหล่านี้
- อุจจาระเป็นสีดำ มีลักษณะเป็นก้อนแข็ง
- ถ่ายอุจจาระแล้วมีเลือดปน
- มีอาการถ่ายไม่ออก ต้องออกแรงเบ่งมากขณะขับถ่าย
- ถ่ายอุจจาระไม่บ่อย ถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งในหนึ่งสัปดาห์
- ในแต่ละครั้งที่ขับถ่าย มีความรู้สึกว่ายังถ่ายอุจจาระไม่หมด
- รู้สึกว่ามีอะไรมาอุดตันทำให้อึดอัดที่บริเวณลำไส้ตรงที่เชื่อมต่อกับรูทวาร
- ปวดท้องมาก อึดอัดแน่นท้อง
- น้ำหนักตัวลดลงอย่างผิดปกติโดยที่เราไม่ทราบสาเหตุ
ท้องผูก..ต้นตอของโรคร้ายที่ไม่ใช่แค่ถ่ายไม่ออก
โรคท้องผูกเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต จากความทรมานและความอึดอัดที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังเป็นต้นตอของโรคร้าย ที่หากเราปล่อยปละละเลยหรือนิ่งนอนใจ ไม่รีบรักษาอาการท้องผูกแล้วปล่อยให้มีอาการเรื้อรัง ก็อาจทำให้มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้
ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่มักมาพร้อมกับอาการท้องผูก ได้แก่
- การเกิดริดสีดวงทวาร : เป็นผลจากการที่เราใช้แรงเบ่งเพื่อขับถ่ายอุจจาระมากเกินไป
- เกิดแผลบริเวณทวารหนัก : จากอุจจาระที่แข็งเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดบริเวณทวารหนักฉีกขาด
- เกิดเลือดออกในลำไส้ตรง : จากการอุจจาระแข็งเกินไปทำให้เกิดการเสียดสี ซึ่งมักจะทำให้มีรอยเลือดติดออกมาที่ผิวของก้อนอุจจาระด้วย
- ไส้ตรงยื่นผ่านทวารออกมา : เป็นภาวะแทรกซ้อนที่นำไปสู่อาการมีมูกออกจากทวารหนัก
นอกจากนี้หากเรายังไม่รีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและไม่ได้มีการรับมือกับอาการท้องผูกหรืออาการถ่ายไม่ออกอย่างถูกวิธี และปล่อยให้มีภาวะท้องผูกเรื้อรังก็อาจนำมาซึ่งโรคร้ายต่าง ๆ ตามมาได้เช่นกัน ซึ่งโรคที่เกิดขึ้นจากอาการท้องผูกนั้น มีดังนี้
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
- โรคลำไส้อุดตัน
- โรคกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแรง
ด้วยเหตุนี้เราจึงขอแนะนำให้ทุกคนได้รู้ถึงสาเหตุของปัญหาอาการท้องผูก เพื่อให้สามารถรับมือและแก้ไขอาการถ่ายไม่ออกได้อย่างทันท่วงที และไม่ให้มีอาการของโรคร้ายอื่น ๆ ตามมาได้ในภายหลัง
5 สาเหตุของปัญหาท้องผูก
โรคท้องผูกเป็นโรคที่มักจะเกิดขึ้นจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของเราเอง เพราะเรามักจะใช้ชีวิตด้วยความเคยชิน ทำให้มองข้ามปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินชีวิตที่ผิด ๆ ไป แล้วพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุให้เรามีอาการอาการถ่ายไม่ออกหรือมีภาวะท้องผูกนั้นจะมีอะไรบ้าง ไปดูกัน
1. รับประทานอาหารที่มีกากและเส้นใยน้อย
การรับประทานอาหารที่มีกากและเส้นใยน้อยเป็นสาเหตุทำให้เราอุจจาระได้ยาก เนื่องจากเส้นใยหรือกากใยเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นต่อการทำงานของระบบขับถ่าย เป็นตัวช่วยในการทำให้ของเสียในลำไส้เคลื่อนตัวได้ง่ายขึ้น และยังช่วยทำให้อุจจาระอุ้มน้ำ ไม่แข็ง และง่ายต่อการขับถ่ายมากยิ่งขึ้น
2. ดื่มน้ำน้อย
การดื่มน้ำน้อยก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เรามีอาการถ่ายไม่ออก เนื่องจากหากดื่มน้ำน้อยเกินไป ร่างกายจะดึงเอาน้ำจากของเสียมาใช้ ทำให้อุจจาระจะยิ่งแข็งตัวและขับถ่ายได้ยาก ส่งผลให้เรามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคท้องผูกได้นั่นเอง
3. กลั้นอุจจาระอยู่เสมอ
ถ้าไม่อยากมีภาวะท้องผูกจะต้องไม่กลั้นอุจจาระ เพราะการกลั้นอุจจาระจะทำให้อุจจาระกลับเข้าไปตกค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่ ทำให้มีของเสียที่ต้องระบายออกมากจนอุจจาระมีความแข็งและมีขนาดใหญ่ อีกทั้งยังเป็นการรบกวนกลไกการขับถ่ายทำให้ความรู้สึกอยากขับถ่ายของเราหายไป และมีอาการท้องผูกเข้ามาแทนที่นั่นเอง
4. ไม่ออกกำลังกาย
การที่เราไม่ออกกำลังกายจะทำให้ระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานได้น้อยลงและขับถ่ายได้ยากขึ้น จากการที่ร่างกายใช้พลังงานน้อยบวกกับการที่ลำไส้ไม่ค่อยได้มีการเคลื่อนไหว นอกจากนี้การนั่งทำงานนาน ๆ หรืออยู่ในท่าเดิมนาน ๆ ไม่มีการลุกเพื่อเคลื่อนไหวร่างกายก็มีส่วนทำให้เรามีอาการท้องผูกได้อีกด้วย
5. มีการใช้ยาบางชนิด
ในบางครั้งโรคท้องผูกหรือการถ่ายไม่ออกก็เกิดขึ้นจากการรับประทานยาบางชนิด ที่ส่งผลกระทบต่อระบบขับถ่าย ซึ่งตัวอย่างของยาที่ส่งผลกระทบต่อการขับถ่าย ทำให้มีอาการถ่ายไม่ออก หรือขับถ่ายได้ยาก มีดังนี้
- ยาระงับปวด
- ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของอะลูมิเนียมและแคลเซียม
- ยารักษาความดันโลหิตสูงที่อยู่ในกลุ่มยับยั้งแคลเซียม
- ยารักษาโรคพาร์กินสัน
- ยาต้านปวดเกร็ง
- ยาต้านซึมเศร้า
- ยาบำรุงที่มีธาตุเหล็ก
- ยาขับปัสสาวะ
- ยาต้านการชัก
เมื่อมีผูก ก็ต้องมีแก้! รวมวิธี ‘แก้ปัญหาท้องผูก’
สำหรับผู้ที่กำลังประสบกับปัญหาภาวะท้องผูกก็ไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะเมื่อมีผูกแล้ว ก็ต้องมีแก้ ถ้าเรามีอาการท้องผูกก็ต้องทำการแก้ไขก่อนที่จะสายเกินไป เพื่อบอกลาอาการที่มากวนใจ และเพื่อไม่ให้เกิดภาวะอาการท้องผูกนี้ขึ้นอีกครั้ง!
ซึ่งเราสามารถรับมือและแก้ไขปัญหาของโรคท้องผูกได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
ปรับพฤติกรรม
เมื่อพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ผิด ๆ เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดอาการถ่ายไม่ออก เราจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้ระบบขับถ่ายของเรากลับมาทำงานได้อย่างปกติ สามารถขับถ่ายได้เป็นเวลา และไม่รู้สึกลำบากเมื่อต้องขับถ่าย ซึ่งเราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อแก้ปัญหาอาการท้องผูกได้ง่าย ๆ โดย
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ลุกเพื่อยืดเส้นยืดสายหรือขยับตัวบ่อย ๆ เมื่อต้องทำงานอยู่กับที่
- หากิจกรรมผ่อนคลายความเครียด
- ไม่กลั้นอุจจาระ
- เข้าห้องน้ำทันทีเมื่อรู้สึกปวด
- ขับถ่ายให้เป็นเวลา
ปรับท่านั่ง
การปรับท่านั่งขับถ่าย ให้อยู่ในท่านั่งที่เหมาะสมก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้เราสามารถขับถ่ายได้ง่ายขึ้น และเป็นวิธีที่ดีสำหรับผู้ที่เริ่มมีภาวะท้องผูกหรือเริ่มที่จะถ่ายยาก เพราะท่านั่งที่เหมาะสมจะทำให้ลำไส้บีบตัวได้ดี มีมุมที่เหมาะสมต่อการขับถ่าย และกล้ามเนื้อก็จะไม่เกิดอาการล้าจากการขับถ่ายอีกด้วย
โดยการปรับท่านั่งเพื่อการขับถ่ายที่เหมาะสมสามารถทำได้ง่าย ๆ ใน 4 ขั้นตอน ดังนี้
Step 1: เตรียมที่วางเท้าที่สูงจากพื้นประมาณ 20 ซ.ม. มาวางไว้บริเวณที่เราวางเท้าขณะขับถ่าย
Step 2: นั่งลงบนโถส้วมให้สบายตัว แยกขาทั้งสองข้างออกจากกัน ให้มีขนาดกว้างกว่าสะโพกของตัวเอง
Step 3: วางเท้าทั้งสองข้างในแนวระนาบ บนที่วางเท้าที่สูงจากพื้นประมาณ 20 ซ.ม. เพื่อให้ลำไส้อยู่ในมุมที่เหมาะสมกับการขับถ่าย
Step 4: โน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย โดยวางปลายแขนไว้บนต้นขา
จากนั้นให้เราออกแรงเบ่งเบา ๆ อย่าใช้แรงมากจนเกินไป โดยจะต้องไม่กลั้นหายใจ และที่สำคัญคืออย่านั่งนานกว่า 10 นาที หากลองขับถ่าย 10 นาทีแล้วยังไม่ออก ให้กลับมาลองขับถ่ายใหม่อีกครั้งในภายหลังเมื่อมีอาการปวด
ทานอาหารที่ดีและดื่มน้ำให้เพียงพอ
เพื่อให้เราสามารถขับถ่ายได้ง่ายเราจะต้องรับประทานอาหารที่มีเส้นใยและดื่มน้ำให้เพียงพอต่อปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน ซึ่งปริมาณเส้นใยในอาหารที่ร่างกายต้องการจะอยู่ที่ประมาณ 20-35 กรัมต่อวัน หากรับประทานน้อยกว่านี้ก็อาจทำให้เราเป็นโรคท้องผูกได้
โดยเราขอแนะนำให้ทานอาหารประเภทเส้นใยจากผัก ผลไม้ และข้าวโอ๊ต โดยเริ่มจากการทานมากขึ้นในปริมาณน้อย ๆ จากนั้นค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้น เพราะสำหรับบางคนการทานอาหารที่มีเส้นใยมากเกินไปก็อาจทำให้มีอาการท้องอืดได้นั่นเอง ซึ่งอาหารที่มีกากใยสูงที่เราขอแนะนำ ได้แก่
- ข้าวกล้อง
- ผักใบเขียว
- แอปเปิลเขียว
- อะโวคาโด
รักษาโดยการใช้ยา
หากเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วอาการถ่ายไม่ออกไม่ดีขึ้น เราสามารถทำการรักษาด้วยการใช้ยาระบายได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์และควรใช้แต่เพียงครั้งคราวเท่านั้น เพราะการใช้ยาระบายต่อเนื่องในระยะยาวอาจทำให้มีอาการดื้อยาได้ โดยเฉพาะกับยาระบายที่มีฤทธิ์ในการกระตุ้นให้กล้ามเนื้อบีบตัว
ซึ่งยาระบายจะมีหลากหลายรูปแบบ เราสามารถแบ่งกลุ่มยาระบายออกได้ ดังนี้
1. ยาระบายกลุ่มกระตุ้น
เป็นยาระบายที่ออกฤทธิ์โดยไปกระตุ้นกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณลำไส้บีบตัวเป็นจังหวะ ๆ เพื่อกระตุ้นการขับถ่าย (ทานระยะยาวอาจดื้อยา)
2. ยาระบายกลุ่มออสโมซิส
เป็นยาระบายที่จะออกฤทธิ์โดยจะไปดูดซึมทำให้สารที่เป็นน้ำไหลกลับเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ เพื่อให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
3. ยาระบายกลุ่มเกลือ
เป็นยาระบายที่จะออกฤทธิ์โดยทำหน้าที่เหมือนฟองน้ำที่จะดึงน้ำเข้าสู่ลำไส้ใหญ่
4. ยาเหน็บทวารและการสวนอุจจาระ
เป็นยาระบายที่ไม่ใช่การรับประทาน แต่เป็นการใช้งานโดยการสอดผ่านรูทวารเข้าไปในไส้ตรง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการขับถ่าย
5. ยาที่ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม/ยาหล่อลื่น
เป็นยาระบายที่จะออกฤทธิ์โดยทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มลงและเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ได้ง่ายขึ้น
และสำหรับใครที่อยู่ในภาวะท้องผูกและพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วแต่ไม่เป็นผล หรือแม้กระทั่งลองทานยาระบายเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบเข้าพบแพทย์ทันที เพื่อทำการตรวจสอบสาเหตุและเข้ารับการรักษาได้อย่างตรงจุด
———————————–
จะเห็นได้ว่าโรคท้องผูกเป็นโรคที่ถึงแม้จะดูร้ายแรง แต่หากเราไม่ดูแลสุขภาพและปล่อยปละละเลยที่จะดำเนินชีวิตแบบผิด ๆ แล้วหันมาเริ่มต้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น ปัญหาอาการถ่ายไม่ออกของภาวะท้องผูกก็จะไม่มีทางเกิดขึ้นอย่างแน่นอน!