ย้อนเวลากลับไปเมื่อราว 30 ปีก่อน ซึมเศร้าถือเป็นโรคที่แทบจะไม่มีใครรู้จักในบ้านเรา ทั้งแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปที่ยังไม่มั่นใจในการวินิจฉัยโรค การดูแลที่เหมาะสมและยารักษาโรคซึมเศร้าก็ไม่ได้มีแพร่หลายในสถานพยาบาลแบบในปัจจุบัน ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจและคิดว่าอาการซึมเศร้าเป็นเรื่องธรรมดาที่หากเป็นแล้วก็หายได้เอง โดยโรคทางใจที่ว่านี้ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงหลายๆ ชีวิต รวมไปถึงครอบครัวคำวรรณะด้วยเช่นกัน
ชุมพล คำวรรณะ หรือหวาน คือศิลปินผู้รักในงานศิลปะ คือน้องชายคนเล็กของพี่สาวทั้งสองคน และเป็น ‘ไอ้หนู’ ลูกชายคนสุดท้องวัย 50 ที่มีส่วนร่วมในการดูแลคุณแม่วัย (ทองคำ คำวรรณะ) ที่ถูกวินิฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าในห้วงเวลาที่ความรู้เกี่ยวกับโรคดังกล่าวยังคงจำกัด การรักษาในเวลานั้นจึงทำได้เพียงการให้ยาตามอาการที่เป็น ทำให้ในบางวัน คุณแม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ หรือในบางคราวก็ดีขึ้นบ้าง แต่ในบางครากลับหนักกว่าที่เคยเป็นอยู่ ชีวิตของพวกเขาวนเวียนอยู่อย่างนั้นเรื่อยไปเกือบ 20 ปี จนวันที่หวานหยิบสมุดวาดเขียน ดินสอ และปากกาให้กับคุณแม่ แล้วบอกเพียงสั้นๆ ว่า ‘แม่ลองวาดรูปดูไหม เผื่อว่าจะช่วยคลายความรู้สึกบางอย่างลงได้’ ในวันที่แม่ของหวานได้รู้จักกับศิลปะ เธอค้นพบว่า ศิลปะคือสะพานที่ช่วยเยียวยาและเชื่อมความเข้าใจระหว่างตัวเอง โรค และโลกภายในใจ ทำให้ตัวเธอสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุขอีกครั้ง โดยมี Mamas Gold เพจที่ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่ผลงานทั้งหมดที่ผ่านมา รวมไปถึงเป็นพื้นที่ในการให้กำลังใจคุณแม่ ตลอดจนส่งต่อเรื่องราวและเป็นแนวทางการดูแลใจ ที่อาจจะเป็นประโยชน์ให้กับคนอื่นๆ ได้
เรานั่งลงและเริ่มสนทนากับหวานถึงประสบการณ์ชีวิตของครอบครัวเล็กๆ ที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านห้วงเวลาของทุกข์และสุข ความอ่อนแอและแข็งแรง รอยน้ำตาและเสียงหัวเราะ ครอบครัวที่คุมความซึมเศร้าของบุคคลอันเป็นที่รักได้อย่างอยู่หมัดด้วยศิลปะ ความรัก และหัวใจ
‘ซึมเศร้า’ อาการที่ไม่ได้คิดไปเอง
หวานเล่าให้เราฟังว่าตอนที่คุณแม่ของเขาเริ่มป่วยเป็นซึมเศร้า น่าจะถอยหลังกลับไปประมาณ 25 ปีก่อน (ปัจจุบันคุณแม่อายุ 73 ปี) ช่วงเวลาที่โรคดังกล่าวยังไม่ถูกเข้าใจในฐานะของวิทยาศาสตร์มากเท่าในปัจจุบัน ขณะที่ภาพรวมของสุขภาพของคุณแม่ในตอนนั้นก็ยังไม่ได้ชี้ชัดว่าเป็นซึมเศร้า ด้วยอาการเริ่มต้นอย่างการนอนไม่หลับ บ้านหมุน มีภาวะน้ำในหูไม่เท่ากัน และทรงตัวไม่ได้ เมื่อมีอาการได้สักระยะหนึ่งและไม่หายเสียที ครอบครัวเห็นพ้องกันว่าไม่ปกติแล้ว จึงตัดสินใจพาคุณแม่ไปพบคุณหมอ
“เรารู้จักโรคนี้ในช่วงเวลาที่ซึมเศร้าเป็นเรื่องใหม่มากๆ ในประเทศไทย เอาง่ายๆ ตอนที่ได้ฟังคุณหมอ ตัวเราเองยังคิดเลยว่าโรคนี้มีจริงๆ เหรอ ซึมเศร้าคือโรคอะไรกันนะ เศร้าก็เศร้าสิ จะเป็นโรคได้อย่างไร จนแม่มาป่วยเอง รวมถึงความรู้เดินทางมาถึง เราจึงเริ่มเข้าใจว่าโรคนี้มีอยู่จริง เป็นเรื่องความสมดุลของระดับเคมีในสมองที่พิสูจน์ได้ตามหลักวิทยาศาสตร์
“สำหรับแม่ เราคิดว่าสาเหตุหลักของการป่วยน่าจะเกิดจาก แม่มีภาวะของความวิตกกังวลสูงอยู่ก่อนหน้า ร่วมด้วยกับการสูญเสียตา ยาย และป้าที่สนิทที่สุด ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน พอดีกับพวกเราพี่น้องทั้ง 3 คน ต้องเดินทางมาเรียนต่อ ทำงาน และมีครอบครัวกันคนละจังหวัด ทำให้บ้านที่ชลบุรีของพวกเรา เหลือเพียงพ่อและแม่อยู่กันแค่ 2 คน จำได้ว่าหลังจากพาแม่ไปโรงพยาบาล คุณหมอเองก็ยังไม่ได้ระบุว่าแม่เป็นโรคซึมเศร้าตั้งแต่แรกนะ อย่างที่บอก เราคิดว่าความรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าน่าจะยังจำกัดอยู่มากในตอนนั้น คุณหมอเลยให้ยาตามอาการ ทั้งยาเพื่อช่วยในเรื่องการคลายเครียด นอนไม่หลับ รวมถึงอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน รักษากันอยู่พักใหญ่อยู่เหมือนกัน กว่าคุณหมอจะระบุว่า แม่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าด้วย
“พอคุณหมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว วิธีการรักษาคือให้ยาคลายเครียด ยาปรับระดับเคมีเพื่อรักษาสมดุล รวมทั้งอาการบ้านหมุนต่างๆ ที่เกิดขึ้นและเรื่องนอนไม่หลับ ช่วงนั้นถือว่าหินพอสมควรสำหรับครอบครัวของเรา เพราะถ้ากินยามากไปตื่นเช้ามาจะเพลีย หรือถ้าน้อยไปก็จะนอนไม่หลับ บางครั้งมีอาการตัวแข็ง คอแข็ง หันซ้าย-ขวาไม่ได้ ต้องใช้วิธีการเอี้ยวตัวแทน และอะไรอีกมากมาย ซึ่งในช่วงของการปรับยา อาการของแม่จึงขึ้นๆ ลงๆ อยู่ตลอด บางวันดีเลยนะ บางวันก็ทรงๆ หรือบางวันอาการแย่ลงไปเลยก็มี กว่าจะปรับปริมาณยาให้พอเหมาะพอดีเพื่อให้แม่ยังใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติและมีอาการคงที่ ก็กินเวลาอยู่หลายปีเหมือนกัน”
เยียวยา ฮีลใจ ผ่านผืนผ้าใบสีขาว
“แม้สุขภาพโดยรวมจะคงที่แล้ว แต่ด้วยลูกๆ กับแม่และพ่ออยู่ไกลกัน เวลากลับบ้านที แม่ก็จะมีความสุข แต่พอถึงวันที่ทุกคนต้องกลับไปทำหน้าที่ของตัวเอง พวกเราจะรู้สึกเป็นห่วงและกังวลอยู่ตลอด เพราะทุกครั้งก่อนจะแยกย้ายกัน แม่จะหายไปเข้าห้องน้ำ แล้วไปแอบร้องไห้ ซึ่งถ้าเรากับพี่สาวกลับไปบ้านพร้อมกันเมื่อไหร่ จะต้องแย่งกันว่าใครจะกลับก่อน เพราะไม่อยากเป็นคนสุดท้ายที่ออกจากบ้าน เป็นเช่นนั้นจนปกติ แต่ทุกคนไม่เคยชิน และคิดเอาว่าแม่คงดีได้เท่านี้ ก็ได้แต่ทำใจยอมรับมัน
จนวันหนึ่งเราตัดสินใจหยิบปากกา ดินสอ และกระดาษส่งให้แม่ แล้วบอกว่า แม่ลองวาดรูปดูไหม เผื่อว่าจะช่วยคลายความรู้สึกบางอย่างลงได้บ้าง เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัว เวลาเราได้วาดรูป มันเป็นช่วงเวลาที่เราได้อยู่กับตัวเอง ได้ปลดปล่อย ได้ทบทวนสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมา มีสมาธิ ไม่ต้องคิดฟุ้งซ่านไปไหนไกล เลยคิดว่าการวาดรูปอาจจะช่วยแม่ได้บ้าง ซึ่งถ้าย้อนกลับไปดูรูปแรกที่แม่เริ่มวาดจากลายเส้นปากกาบนกระดาษก็ 17 ปีมาแล้ว (ยิ้ม)
“ช่วงแรก แม่วาดเป็นภาพลายเส้นปากกาบนกระดาษ วาดได้ประมาณ 2-3 ปี แล้วก็หยุดไป เพราะค่าสายตาคุณแม่เปลี่ยนทำให้วาดลำบากขึ้น จนมาช่วงก่อนโควิดสัก 2-3 ปี จึงได้กลับมาวาดใหม่ คราวนี้ แม่ลองวาดสีน้ำมันเลย และตอนนี้แหละที่เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน ทั้งสีหน้าและแววตา แม่ดูมีความสุขและสดชื่นขึ้น เราคิดว่าการวาดรูปสีน้ำมันคงเป็นสื่อกลางที่ถูกกับความรู้สึก เมื่อได้ทำแม่เลยมีความสุข ตอนนี้แม่เลยใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการวาดรูป วาดตั้งแต่เช้าถึงกลางวัน พักกินข้าว งีบนิดหน่อย ตกเย็นก็วาดต่อ แล้วปกติช่วงเย็นคุณแม่จะต้องไปทำกับข้าว บางวันก็วาดเพลินจนลืมเวลาทำกับข้าวก็มีเหมือนกัน (ยิ้ม) ตกกลางคืน หลังจากกินยานอนหลับแล้ว ก่อนนอน แม่จะมาคิดต่อว่ารูปที่ยังวาดไม่เสร็จนี้จะไปต่อยังไง จะเพิ่มหรือลด หรือจะแก้ตรงไหนดี จนกระทั่งหลับไป เราคิดว่าการได้วาดรูป ทำให้แม่รู้สึกได้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
“ส่วนพัฒนาการเรื่องการวาดรูปของแม่มีให้เห็นมาตลอด จากภาพวาดลายเส้นด้วยปากกามาสู่การทดลองใช้สีน้ำมัน จากการวาดที่มีต้นแบบก็พัฒนาไปสู่การวาดที่ใช้จินตนาการของตัวเอง จำได้ว่าครั้งหนึ่งแม่มีโอกาสไปดูงานนิทรรศการศิลปะที่โคราช แล้วแม่ไปสะดุดตากับรูปรูปหนึ่งซึ่งเป็นรูปที่ศิลปินในนิทรรศการวาดรูป Salvador Dali ซึ่งนอกจากงานของ Dali จะมีเอกลักษณ์แล้ว ตัวของเขาเองก็มีเอกลักษณ์ไม่แพ้กัน คือจะมีหนวดชี้ขึ้น แม่เห็นแล้วชอบ เราก็เลยอธิบายให้ฟังคร่าวๆ พอกลับมาบ้าน แม่จำหน้าเขามาวาด แต่วาดรูป Dali แบบหนวดลู่ลง สำหรับเราแล้ว นี่เป็นสิ่งน่าสนใจมากตรงที่แม่สามารถจำคาแร็กเตอร์ของคนคนนั้นได้ ถึงหนวดที่วาดจะชี้ลง แต่เรารู้ได้ว่านี่คือ Salvador Dali สำหรับภาพวาดในปัจจุบันมีทั้งภาพพอตเทรต ไปจนถึงทิวทัศน์ แต่ไม่ใช่ทิวทัศน์อย่างที่เราเห็นทั่วๆ ไป เป็นเหมือนทิวทัศน์ที่เกิดจากจินตนาการของแม่มากกว่า เราว่านี่เป็นสิ่งที่สะท้อนความนึกคิดและความรู้สึกลึกๆ ในใจออกมา
“การวาดรูปทำให้อาการต่างๆ ของแม่ดีขึ้น เรียกว่าเปลี่ยนไปจนคุณหมอที่รักษาแม่ยังต้องถามว่า “นอกจากกินยาแล้ว คุณป้าไปทำอะไรมาครับ เพราะดูดีและสดชื่นขึ้นมากเลย” แม่ก็ตอบกลับไปว่า “ป้าวาดรูปค่ะ” คุณหมอบอกว่าที่อยากรู้เพราะตอนนี้คุณแม่ของภรรยาคุณหมอก็ป่วยเป็นซึมเศร้าอยู่เหมือนกัน
“นอกจากนี้ การวาดรูปยังส่งผลอย่างมากในเรื่องปริมาณยาที่แม่กินซึ่งก็ลดลงไปมาก จากเมื่อก่อนที่ต้องกินยาเป็นกำๆ จนแม่บอกว่ากินยาเหมือนกินอาหารเลย ตอนนี้เหลือเพียงยานอนหลับและยาซึมเศร้าที่ต้องกินประจำเหลือแค่ตัวเดียว แล้วปริมาณมิลลิกรัมก็ลดลงด้วย เราคิดว่าสำหรับแม่แล้ว การกินยาสามารถช่วยปรับสมดุลเรื่องเคมีในสมองได้ แต่สภาวะจิตใจลึกๆ การวาดรูปคงจะลงไปได้ลึก สามารถเข้าไปค้นหาและเยียวยาภายใจจิตใจแม่ได้มากกว่า ตั้งแต่วันที่แม่หมกมุ่นกับการวาดรูป บรรยากาศในวันที่จะต้องแยกย้ายกันก็เปลี่ยนไปด้วย เรียกว่าไม่มีความเศร้าแบบเดิมแล้ว ยิ่งถ้าวันนั้นแม่วาดรูปค้างอยู่ แม่จะบอกว่ารีบกลับกันได้เลยนะเพราะแม่จะต้องวุ่นวายกับการวาดรูปต่อให้จบ (หัวเราะ) ด้วยความที่ทำงานศิลปะเหมือนกัน เราพบว่าเวลาที่วาดรูป เราจะเห็นภาพภาพหนึ่งในหัวตัวเองก่อน จินตนาการว่าจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่เมื่อลงมือวาดจริงๆ มันจะมีบางสิ่งบางอย่างที่ดึงเราออกจากเส้นทางเสมอ ภาพที่เคยจินตนาการไว้กับผลลัพธ์ที่ออกมามักจะไม่เป็นอย่างที่คิดไว้ เหมือนกับได้ผจญภัยระหว่างทาง คิดว่าแม่คงจะเจออะไรใกล้เคียงกัน เลยทำให้แม่จดจ่อและสนุกเมื่อได้ค้นพบบางสิ่งบางอย่างที่ไม่คาดคิด”
ด้วยทักษะที่ได้ฝึกฝนในเรื่องการวาดรูปมาตลอดจนเป็นอาชีพ หวานช่วยนำทางคุณแม่ของเขาตั้งแต่เรื่องของอุปกรณ์และเครื่องมือการวาดภาพ ส่วนเรื่องวิธีการและความคิดนั้น หวานบอกกับเราว่า เขาปล่อยให้แม่เป็นอิสระ
“พอเราไม่ตีกรอบ สิ่งที่เราเห็นและสัมผัสได้หลังจากที่แม่ได้วาดรูปคือความกล้าหาญ จากที่เคยกลัวว่าจะวาดไม่เหมือน ลงสีไม่สวย พัฒนาการที่ชัดเจนในระยะหลังคือแม่ไม่กลัวแล้ว จะวาดจะลงสีทุกอย่างได้หมดเหมือนกับคนทำงานศิลปะทั่วไป พอมั่นใจและเชื่อมั่นในความคิดตัวเอง การวาดของแม่เลยลื่นไหล ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาผ่านผลงานที่แม่ลงมือทำ แล้วไม่ใช่แค่เราที่ยอมรับ แต่ยังรวมถึงคนทำงานศิลปะและสาธารณชนด้วย ว่าผลงานของคุณแม่น่าจะเข้าข่ายเป็นงานศิลปะ ล่าสุดแม่ได้รับเชิญให้ร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการ ‘คนยัง สัตว์อยู่ ป่ายืนยง’ โดยกลุ่มศิลปินรักษ์ผืนป่าตะวันตก มูลนิธิสถาบันปฎิปัน และกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมพยุหะ ซึ่งเป็นนิทรรศการที่จัดขึ้นเพื่อหาทุนทำโครงการจัดหากองทุนเสริมสร้างการอนุรักษ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เมื่อเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ที่น่าดีใจคือผลงานของแม่ขายได้ด้วยนะ นั่นยิ่งทำให้แม่มีกำลังใจและภูมิใจในตัวเองมากขึ้นไปอีก ตอนนี้เรามีแพลนกันว่าปีหน้า เราอยากจะจัดนิทรรศการเดี่ยวให้แม่ ตอนนี้กำลังรวบรวมผลงานและประวัติของแม่ เพื่อนำเสนอไปที่หอศิลป์ให้พิจารณา ตอนนี้อยู่ระหว่างรอฟังผล เราทุกคนก็ได้แต่หวังให้งานนี้เกิดขึ้นจริง”
Mamas Gold พื้นที่ส่งกำลังใจให้กันและกัน
Mamas Gold มีที่มาจากชื่อของคุณแม่ทองคำ ที่หวานตั้งใจปลุกปั้นเพจดังกล่าวขึ้นเพื่อเป็นกำลังใจให้กับแม่ของเขา พร้อมๆ ไปกับการส่งต่อทั้งเรื่องราวและประสบการณ์ที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆ ในการค้นหาความสงบทางอารมณ์และจิตใจของตัวเอง
“จริงๆ เราจะใช้คำว่า Mama Gold ซึ่งเป็นชื่อของแม่ทองคำ แต่ตอนพิมพ์ชื่อ โทรศัพท์เลือกคำว่า Mamas ให้ เราเห็นว่าชื่อฟังแปลกดีและดูความหมายแล้วก็ใกล้เคียงกัน เลยใช้ชื่อนี้ จริงๆ การวาดรูปของแม่ไม่ได้เริ่มต้นเพื่อจะเยียวยาตัวเองจากโรคซึมเศร้า แต่ทุกอย่างเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป จนกระทั่งเราพบว่าการวาดรูปได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ตัวแม่หลายๆ อย่าง โดยเฉพาะสภาวะจิตใจที่นิ่งขึ้นและสงบลงได้จริง เราจึงอยากให้เพจนี้ได้เปิดเผยเรื่องราวของแม่ เป็นอีกหนึ่งในทางเลือก เผื่อคนอื่นๆ ได้เห็นเป็นแนวทางและลองค้นหาวิธีการเยียวยาจิตใจของตัวเอง ซึ่งเป้าหมายของเราไม่ได้จะไปตีกรอบความคิดใครว่าจะต้องวาดรูปเท่านั้นนะถึงจะช่วยได้ แต่เราอยากให้การวาดรูปของแม่เป็นตัวอย่างหนึ่งของกิจกรรมที่ทำแล้วจิตใจสงบลงได้ ส่วนแม่เองก็รับทราบและมีส่วนร่วมในทุกๆ เรื่องราวของเพจนี้ตั้งแต่วันแรกจนถึงตอนนี้ โดยมีตัวเราเป็นเหมือนร่างทรงที่คอยส่งผ่านกำลังใจให้กันและกัน ผ่านภาพและข้อความต่างๆ บางครั้งถึงขนาดที่ว่าแม่มาบอกเองเลยว่า โพสต์รูปนี้ให้แม่หน่อยเพราะแม่ชอบ แล้วทุกๆ ข้อความที่พิมพ์เข้ามา แม่จะได้อ่านหมดทุกข้อความเลยนะครับ เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งกำลังใจและแรงผลักดันที่ทำให้แม่อยากวาดรูปต่อไปและมากขึ้นด้วยนะ (ยิ้ม)”
ความรักที่ไม่เคยเปลี่ยน
“แม้การวาดรูปจะกินเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตในเวลานี้ แต่ความสัมพันพันธ์ของแม่กับสมาชิกในครอบครัวยังคงอบอุ่นไม่ต่างจากแต่ก่อน เรารู้สึกด้วยซ้ำว่า แม่ซัพพอร์ตเรามากกว่าเก่าเสียอีก เมื่อก่อนตอนยังไม่ได้วาดรูป คำพูดบางอย่าง แม่ก็ยังไม่กล้าที่จะสื่อสารออกมาเลย เราพบว่าการวาดรูปทำให้คุณแม่มีความมั่นใจและกล้าที่จะสื่อสารสิ่งที่อยู่ในใจมากขึ้น เช่น เรื่องของการกอดกัน เพราะตั้งแต่เด็กจนโต พวกเราไม่ได้กอดกันสักเท่าไหร่ แต่ตอนนี้แม่บอกกับเราเองเลยว่าแม่อยากกอดลูก แล้วพอเรากล้าที่จะสื่อสารสิ่งที่อยู่ในใจระหว่างกันมากขึ้น ก็ทำให้เห็นความสำคัญและความสัมพันธ์ของครอบครัวเพิ่มมากขึ้นด้วย
“ถ้านับรวมเวลาที่ดูแลแม่จนถึงปัจจุบันก็ประมาณ 25 ปีแล้ว แน่นอนว่าการการดูแลคนป่วย ยิ่งเป็นคนที่เรารักแล้วย่อมมีความเครียดและความกังวลระหว่างทาง แต่สำหรับครอบครัวเราต้องบอกก่อนว่า ตัวเราเองไม่ได้รับภาระหนักเพียงคนเดียว แต่สมาชิกในครอบครัวทั้งพ่อและพี่ๆ จะช่วยกัน พ่อจะมีบทบาทสำคัญตั้งแต่แรก นั่นคือการอยู่เป็นเพื่อนและพาแม่ไปหาหมอ แต่บางเรื่องที่เกินกำลังพ่อ ก็จะเป็นหน้าที่ลูกๆ ที่เข้าไปช่วยกันดูแลในเรื่องต่างๆ สำหรับพี่สาวที่อยู่ไกลกันจะช่วยในเรื่องค่าใช้จ่ายและจัดการเรื่องต่างๆ ของที่บ้าน ส่วนเราเองไม่ได้ทำงานประจำ เราจึงไปหาแม่ตอนไหนก็ได้ในวันและเวลาที่ลงตัว ขณะที่พี่สาวอีกคนซึ่งอยู่ใกล้กว่าแต่ก็ยังไกลสำหรับแม่ ก็จะช่วยเรื่องสิทธิการรักษาและค่าใช้จ่ายบางส่วนด้วย และก็จะผลัดกันกับเรา หรือใครสะดวกตอนไหนก็ไปตอนนั้น ไม่ได้แบ่งหน้าที่กันชัดเจนตายตัว ไม่มีใครที่รับหน้าที่หรือภาระที่หนักเพียงคนเดียว ที่สำคัญคือไม่มีช่วงเวลาไหนที่พวกเราจะปล่อยให้แม่และพ่อต้องเงียบเหงานานเกินไปด้วย ยิ่งตอนนี้หลานๆ โตหมดแล้ว และการได้พูดคุยกันตลอดเพราะการติดต่อสื่อสารที่ง่ายขึ้น ก็ยิ่งเป็นผลดีทำให้ไม่รู้สึกว่าไกลกันเกินไป
หลายๆ วิธีถอดความเศร้าออกจากตัว
“เอาจริงๆ เราคิดว่าการวาดรูปมีส่วนสำคัญที่ช่วยเยียวยาแม่จากโรคซึมเศร้าได้ก็จริงอยู่ แต่ขณะเดียวกัน ส่วนหลักๆ น่าจะเป็นตัวแม่เองด้วย โดยเฉพาะเรื่องของการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเรื่องการชอบปลูกต้นไม้ หรือฟังเรื่องธรรมะ ฟังวิทยุก่อนนอน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่แม่ทำมานานหลายสิบปีแล้ว เราคิดว่ากิจกรรมเหล่านี้น่าจะเป็นกระบวนการเริ่มแรกที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ไม่เหงาและมีที่พึ่งทางใจ โดยมีงานศิลปะมาช่วยเสริม คล้ายๆ เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ทำคู่กันไปร่วมกับการรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน เราคิดว่าการรักษามีส่วนสำคัญอย่างมากเลยนะ เพราะถ้าแม่ไม่ได้ไปพบคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ พวกเราเองคงจะไปไม่ถูกทางเหมือนกันว่าควรจะดูแลกันอย่างไร สุขภาพที่ดีขึ้นของแม่ไม่น่าจะเกิดจากวิธีการใดวิธีการหนึ่งเพียงอย่าง แต่คือทุกๆ อย่างประกอบรวมกันมากกว่า
“สำหรับโรคซึมเศร้า คำแนะนำที่เราให้ได้คือ ถ้าคุณพบความผิดปกติของตัวเองหรือคนใกล้ตัว อย่างแรกคือพยายามสังเกตตัวเองว่ามีภาวะหรือใกล้เคียงกับโรคซึมเศร้าแล้วหรือยัง ถ้ารู้สึกว่าใช่ อย่าปล่อยไว้ เราแนะนำให้ปรึกษาคุณหมอที่เชี่ยวชาญในโรคนี้ แล้วคุณหมอจะแนะนำว่าเราควรดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อคุณได้แนวทางการรักษาไม่ว่าจะเป็นการกินยาหรือการปฏิบัติตัวแล้ว และเมื่อสุขภาพของคุณเริ่มกลับมาปกติ เวลานั้น หากคุณเคยชอบทำอะไรหรืออยากจะทำอะไร ก็ลงมือทำเลย อย่าไปปิดกั้นตัวเอง อย่าบอกว่าฉันคงทำไม่ได้ หรือกังวลว่าคนอื่นจะมองเป็นเรื่องไร้สาระ เราอยากให้ลองลงมือทำก่อน ผลลัพธ์จะดีหรือไม่ ไม่เป็นไร เพราะจริงๆ เรามองว่า เรื่องไหนที่ทำแล้วมีความสุข ไม่เดือดร้อนใครก็ทำเลย โดยเฉพาะกับตัวเองเรื่องต่างๆ เหล่านั้นจะไม่เป็นเรื่องไร้สาระอีกต่อไป และอีกอย่างที่ขอย้ำเลยคือ ไม่จำเป็นหรือจำกัดว่าจะต้องเป็นการวาดรูปเท่านั้น ลองคิดดูว่าตัวเรานั้นมีความสุขกับอะไร บางทีพอได้ทำแล้ว กิจกรรมนั้นๆ อาจจะนำพาไปสู่การค้นหาและค้นพบบางสิ่งบางอย่างที่อยู่ในใจ ขนาดที่ยาก็ลงลึกไปถึงจุดนั้นไม่ได้ก็เป็นไปได้ ลองลงมือทำดู นั่นก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีมากๆ แล้วนะครับ (ยิ้ม)
“ในฐานะของการเป็นผู้ดูแล เราคิดว่าคนข้างๆ มีส่วนสำคัญมากๆ ในเรื่องการให้กำลังใจและอยู่เคียงข้าง เช่น เราจะช่วยซัพพอร์ตเขาอย่างไรได้บ้าง จะรับฟังเขาอย่างไร และจะเห็นสิ่งที่เขาทำว่ามีคุณค่าแค่ไหน อย่างตอนที่แม่เริ่มวาดรูป ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมา ภาพที่แม่วาดก็เหมือนคนที่ไม่มีพื้นฐาน ไม่มีทักษะอะไรเลย แล้วมาวาด แต่เวลาทำให้แม่ค่อยๆ เรียนรู้และค้นพบเอง จนวันหนึ่งเรามองเห็นว่าสิ่งที่แม่ทำจะมีคุณค่า อันดับแรกก็กับตัวแม่เอง ฉะนั้นผลงานตั้งแต่ชิ้นแรกจนถึงวันนี้ยังถูกเก็บไว้อย่างดี ไม่ได้หายไปไหน และเมื่อเราย้อนกลับไปดู มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ภาพที่แม่วาดเป็นเสมือนสมุดบันทึกชีวิต ความคิด และร่องรอยความรู้สึกที่ผ่านมาของแม่
แม้ในช่วงเวลานั้น เราอาจยังไม่เข้าใจว่าผู้ป่วยต้องเผชิญกับอะไร มากน้อยขนาดไหน แต่คนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือเพื่อนๆ ทุกคนมีส่วนอย่างมากที่จะสนับสนุนพวกเขาได้ ด้วยการแบ่งพื้นที่ภายในใจ คอยรับฟัง คอยเกื้อหนุนและเป็นกำลังใจให้กัน เป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยผู้ป่วยให้กลับมามีชีวิต ได้ใช้ชีวิต และมีความสุขกับชีวิตได้
“พอนึกๆ ดู เราเองก็ยังมีหลายๆ อย่างที่ยังไม่เคยบอกกับแม่ แต่อยากให้แม่ได้รู้ในวันนี้ว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แม่จะมีพวกเราลูกๆ หลานๆ ยืนเคียงข้างเสมอ ถึงแม้เราอาจไม่ได้อยู่ด้วยกันตลอดเวลา แต่ความรู้สึกของทุกคนในครอบครัวไม่เคยห่างไกลกัน อยากให้แม่อุ่นใจ ไม่ต้องกังวลใจกับเรื่องอะไร สำหรับเรื่องการวาดรูป เราอยากให้แม่มั่นใจ เชื่อมั่นในตัวเอง และมีความภาคภูมิใจว่างานของแม่มีหลายคนชื่นชมและชื่นชอบ รวมถึงสิ่งที่แม่ทำได้สร้างแรงบันดาลใจและเป็นพลังใจส่งต่อให้กับคนอื่นๆ อีกหลายคน เราอยากให้แม่รับรู้สิ่งเหล่านี้ เพราะถ้าได้รู้ สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งกำลังใจที่ดีมากๆ ที่มาช่วยเติมพลังชีวิตให้กับแม่ เมื่อมีพลังชีวิต ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาไม่ว่าจะยากแค่ไหน แม่จะไม่รู้สึกว่ามันเป็นอุปสรรคในการเดินไปข้างหน้าอีกต่อไป และเมื่อวันนั้นมาถึง พลังงานดีๆ ในตัวแม่จะส่งต่อไปสู่คนอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน (ยิ้ม)”
–
เพิ่มเติม: Mamas Gold
ขอบคุณสถานที่: หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร