เรื่องต้องรู้ก่อนใช้ ‘กัญชา’ รักษาโรค

Health / Others

อย่างที่ทราบกันว่า ประเทศไทยเราได้ออกกฎหมาย ‘ปลดล็อกกัญชา’ ออกจากยาเสพติดแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการออกกฎหมาย 3 เรื่องด้วยกันคือ 1.เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ 2.ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม และ 3.เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการดูแลสุขภาพของตนเอง แต่อย่างที่เรารู้กันว่ากัญชามีทั้งประโยชน์และโทษ แต่ถ้าหากนำมาใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพอย่างที่คาดไม่ถึง ดังนั้นแล้วเรามาทำความรู้จัก ‘กัญชา’ เพื่อใช้ในการรักษาโรคและการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องกันก่อนดีกว่า 

สารสำคัญในพืชกัญชาที่ใช้รักษาโรค

‘กัญชา’ เป็นพืชสมุนไพรที่พบข้อมูลการใช้งานทางการแพทย์มาตั้งแต่อดีต จากตำราโอสถพระนารายณ์พบข้อมูลการใช้กัญชาในตำรับยาต่างๆ เพื่อบำรุงร่างกาย ช่วยเจริญอาหาร ช่วยให้นอนหลับ ลดอาการปวด และขับลม ซึ่งสารเคมีสำคัญที่พบในพืชกัญชาก็คือ สารกลุ่มแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) โดยสารเคมีที่มักพบในการใช้งานทางการแพทย์นั้น ได้แก่ เตตร้าไฮโดรแคนนาบินอยด์ (Tetrahydrocannabinol) หรือที่รู้จักในชื่อ THC และแคนนาบิไดอัล (Cannabidiol) หรือ CBD นั่นเอง

สาร THC นั้น หากได้รับในปริมาณที่เหมาะสมจะมีผลช่วยลดความเครียดและลดปวดได้ แต่ถ้าได้รับในปริมานที่สูงเกินไปจะทำให้เกิดอาการเมา เคลิ้ม จนไปถึงเห็นภาพหลอน นอกจากนี้หากได้รับ THC เป็นเวลานานจะส่งผลให้เกิดการเสพติดกัญชาได้ ส่วนสาร CBD นั้นในทางการแพทย์เริ่มมีการนำมาใช้ในการรักษาคนไข้กันบ้างแล้ว ซึ่งในปัจจุบันนี้เราพบข้อมูลการใช้ยาจากกัญชาทางการแพทย์ เพื่อใช้ในการรักษาโรคและภาวะเจ็บป่วยแล้วดังต่อไปนี้

  1. รักษาภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบําบัด โดยแนะนำให้ใช้เสริมกับการรักษาตามาตรฐานในผู้ที่รักษาด้วยวิธีต่างๆ แล้วไม่ได้ผล ทั้งนี้ ‘ไม่แนะนำ’ ให้ใช้กรณีคลื่นไส้อาเจียนทั่วไป รวมถึงภาวะคลื่นไส้อาเจียนในหญิงตั้งครรภ์
  2. รักษาโรคลมชักที่รักษายากในเด็ก อันได้แก่ Dravet Syndrome, Lennox-Gastaut Syndrome และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา (ดื้อต่อยาตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป)
  3. รักษาภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โดยแนะนำให้ใช้ในกรณีที่รักษาด้วยวิธีมาตรฐานอย่างเหมาะสมทั้งวิธีใช้ยาและวิธีไม่ใช้ยาแล้วไม่ได้ผล
  4. รักษาภาวะปวดจากระบบประสาทที่รักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล
  5. รักษาภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วย AIDS ที่มีน้ำหนักตัวน้อย โดยแนะนำให้ใช้สารสกัดกัญชาชนิดที่มี THC เด่น เพื่อเพิ่มความอยากอาหาร
  6. การเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง หรือผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต 

‘ข้อควรระวัง’ และ ‘ข้อห้าม’ ในการใช้กัญชารักษาโรค 

ทั้งนี้ในการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ก็มีข้อควรระวังในการใช้กัญชา รวมถึงการใช้ยาจากกัญชา ด้วยเช่นกัน ซึ่งข้อควรระวังและข้อห้ามในการใช้กัญชามีอะไรบ้างไปดูกัน

ผู้ที่ควร ‘ระวัง’ ในการใช้กัญชา

  1. การใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาที่มี THC เป็นส่วนประกอบในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี เนื่องจากส่งผลต่อการพัฒนาของสมอง
  2. ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ
  3. ผู้ป่วยที่ติดสารเสพติด รวมถึงนิโคติน หรือเป็นผู้ดื่มสุราอย่างหนัก
  4. ผู้ที่ใช้ยาอื่นๆ โดยเฉพาะยากลุ่ม opioids และยากลุ่มกล่อมประสาท เช่น ยา lorazepam
  5. ผู้ป่วยสูงอายุและเด็ก เนื่องจากพบว่ามีผลต่อการทรงตัว เพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้ม รบกวนความจำระยะสั้น จึงควรใช้ในปริมาณที่น้อยและปรับเพิ่มช้า ๆ

ผู้ที่ ‘ห้าม’ ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มี THC เป็นส่วนประกอบ

  1. ผู้ที่เคยมีประวัติแพ้ผลิตภัณฑ์จากสารสกัดกัญชา 
  2. ผู้ที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือดและผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หรือมีปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ เนื่องจากมีผลต่อการทำงานของหัวใจและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
  3. ผู้ป่วยโรคจิตเวชหรือเคยเป็นมาก่อน หรือมีอาการของโรคอารมณ์แปรปรวน หรือโรควิตกกังวล เนื่องจากส่งผลให้อาการของโรคแย่ลง
  4. หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร เนื่องจากสารกลุ่มแคนนาบินอยด์ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการช้าและสามารถแพร่ผ่านน้ำนมได้

สารสกัดจากกัญชาส่งผลต่อยารักษาโรค

สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้สารสกัดจากกัญชาในการรักษาโรค มีความจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนการใช้ เนื่องจากสารสกัดจากกัญชาอาจมีผลกระทบต่อยาอื่นที่รับประทาน ไม่ว่าจะเป็นยารักษาโรคประจำตัว หรือยาที่รักษาอาการต่างๆ ก็ตาม สารสกัดจากกัญชาส่งผลต่อยาดังต่อไปนี้ 

  1. ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด วาร์ฟาริน สารจากกัญชาจะทำให้ระดับยาวาร์ฟารินเพิ่มขึ้นทำให้เกิดเลือดออกซึ่งเป็นอันตราย
  2. ยาต้านเกล็ดเลือด สารสกัดจากกัญชามีผลยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อเลือดออกผิดปกติได้
  3. กลุ่มยากันชักบางประเภท มีผลทำให้ระดับสารสกัดกัญชาเปลี่ยนแปลง เช่น ยา carbamazepine และ ยา rifampicin เป็นต้น
  4. กลุ่มยาต้านซึมเศร้าบางกลุ่ม เช่น ยา fluoxetine มีผลทำให้ระดับ THC และ CBD ในเลือดสูงขึ้น ทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้มากขึ้น 
  5. ยาต้านเชื้อรา (เช่น ยา ketoconazole) ยาต้านเชื้อแบคทีเรียบางประเภท (เช่น ยา clarithromycin) และยาลดความดันโลหิตบางประเภท (เช่น ยา verapamil) สามารถทำให้การทำงานของตับและไตในการเปลี่ยนแปลงและขจัดกัญชาออกจากร่างกายลดลง ระดับกัญชาที่สูงขึ้นอาจนำไปสู่อาการมึนเมาหรืออาการข้างเคียงได้

การใช้กัญชาที่ไม่ได้อยู่ในความดูแลของแพทย์ มีผลทำให้ไม่สามารถกำหนดปริมานสารเคมีในสารสกัดกัญชาได้ จึงอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ง่วงนอนมากกว่าปกติ ปากแห้ง คอแห้ง วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน รวมไปถึงอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงที่ต้องไปแพทย์ ได้แก่ หัวใจเต้นเร็ว เป็นลมหมดสติ เจ็บหน้าอก ร้าวไปที่แขน อึดอัดหายใจไม่สะดวก เดินเซ พูดไม่ชัด วิตกกังวล เห็นภาพหลอน หูแว่ว พูดคนเดียว ทั้งนี้สารสกัดกัญชาหรือยาจากกัญชาไม่มีจำหน่ายทั่วไป เนื่องจากกัญชาไม่ได้มีข้อบ่งใช้ในการรักษาทุกโรค ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยจากการใช้ยากัญชาในการรักษาโรค จึงควรอยู่ภายใต้การวางแผนการรักษาและดูแลของแพทย์เท่านั้น

อ้างอิง:

  1. วีรยา ถาอุปชิต และ นุศราพร เกษสมบูรณ์ การใช้กัญชาทางการแพทย์, วารสารเภสัชศาสตร์อีสาน 2560 ; 13 (Supplement) 1-14
  2. การใช้กัญชาทางการแพทย์ คณะอนุกรรมการพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ คำแนะนำสำหรับแพทย์ ฉบับที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๒ ๒๕๖๒ [Internet]. Available from: https://tmc.or.th/pdf/fact/guideline_cannabis_101062.pdf
  3. คำแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์ Guidance on Cannabis for Medical Use กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 (มกราคม 2564) [Internet]. Available from: https://mnfda.fda.moph.go.th/narcotic/wp-content/uploads/2021/04/Guidance-Updated-v-update-V.4260464.pdf
  4. หน่วยข้อมูลยา สภาเภสัชกรรม. กัญชากับยาตีกัน. [อินเทอร์เน็ต]. 2565. [เข้าถึงเมื่อ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2565]. เข้าถึงได้จาก: http://www.pharmacycouncil.org

บทความที่เกี่ยวข้อง