ไขความลับ ‘ปัญหาด้านพฤติกรรม อารมณ์ และจิตใจ’ ในผู้ป่วยสมองเสื่อม  

Brain / Health

หลังจากที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้เราได้พบกับปัญหาด้านสุขภาพของคนในกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น และหนึ่งในโรคสำคัญนั้นคือ ‘โรคสมองเสื่อม’ (Dementia) โดยตัวเลขของผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคสมองเสื่อมในปี 2565 มีจำนวนมากกว่าเจ็ดแสนคน หรือประมาณร้อยละ 6 ของจำนวนผู้สูงอายุรวมทั้งประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุกปีตามจำนวนที่เพิ่มขึ้นของผู้สูงวัย 

เมื่อพูดถึงโรคสมองเสื่อม คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงโรคที่มาพร้อมกับปัญหาด้านความจำ แต่ในความเป็นจริงแล้ว นอกเหนือไปจากอาการหลงลืม เรายังพบว่าผู้ป่วยมีอาการอื่นๆ ด้วย ตั้งแต่ปัญหาด้านอารมณ์ พฤติกรรม และจิตใจ โดยเป็นกลุ่มอาการที่มีชื่อเรียกว่า Behavioral and Psychological Symptom of Dementia (BPSD) วันนี้ เราจะมาทำความรู้จักและเข้าใจกลุ่มอาการนี้ไปด้วยกัน 

BPSD เป็นกลุ่มอาการที่ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติในการรับรู้ ความจำ การใช้เหตุผล การตัดสินใจ การคำนวณ การวางแผน หรือความสามารถในการใช้ภาษาโดยตรง แต่คือปัญหาในด้านพฤติกรรม อารมณ์ และจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์เศร้า อาการหลงผิด ความผิดปกติด้านการนอนหลับ การควบคุมอารมณ์ และอื่นๆ โดยมักพบร่วมกับการเป็นโรคสมองเสื่อม อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตทั้งตัวผู้ป่วยเอง ตลอดจนผู้ดูแลเป็นอย่างมาก ซึ่ง BPSD สามารถจำแนกออกได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่

1. กลุ่มอาการด้านอารมณ์ (Mood Symptoms) ผู้ป่วยสมองเสื่อมอาจมีอาการด้านอารมณ์ที่ผิดปกติ เช่น ความวิตกกังวล อาการซึมเศร้า หรือร่าเริงผิดปกติได้ โดยจะมีอาการบางอย่างใกล้เคียงกับโรคซึมเศร้าหรือวิตกกังวล แต่มักจะเป็นอาการชั่วคราวและไม่รุนแรงเท่าในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 

2. กลุ่มอาการโรคจิต (Psychoticsymptoms)  ในกลุ่มอาการนี้มักจะประกอบด้วย หนึ่ง อาการหลงผิด เช่น คิดว่ามีคนมาปองร้าย สิ่งของมีค่าถูกขโมย หรือคู่สมรสนอกใจ และสอง อาการประสาทหลอน อย่างเช่น อาการหูแว่ว ซึ่งมักเป็นการได้ยินเสียงของบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้ว หรือเสียงของบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในห้อง สำหรับอาการที่เกิดขึ้นอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความเครียด กังวลใจ ไม่สบายใจ และรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่ออาศัยอยู่ที่บ้านหรือโรงพยาบาล และนำไปสู่การพยายามหนีออกจากพื้นที่อาศัยได้

3. กลุ่มอาการที่เกิดจากการมีประสิทธิภาพด้านประสาทสัมผัสต่างๆ ลดลง ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็น การสัมผัส การได้กลิ่น โดยมักแสดงออกด้วยอาการกระวนกระวาย พลุ่งพล่าน แต่ไม่ก้าวร้าว เดินไปเดินมาแบบไร้จุดหมาย ซึ่งอาจเกิดจากการพยายามกระตุ้นตัวเองของผู้ป่วยเพื่อให้มีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก การมีวงจรการนอนหลับผิดปกติ เช่น งีบหลับในเวลากลางวันและนอนน้อยลงในเวลากลางคืน รวมไปถึงอาจมีพฤติกรรมพูดซ้ำๆ ย้ำไปย้ำมา ถามด้วยคำถามซ้ำๆ เป็นต้น 

4. กลุ่มอาการอื่นๆ (Other Phenomena) ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย ได้แก่ 

– การก้าวร้าวทางกายภาพและทางวาจา เช่น ตี เตะ ข่วน ขว้างปาข้าวของ กัด ถ่มน้ำลาย ส่งเสียงดัง พูดจาหยาบคาย สาปแช่ง 

– การมีอารมณ์หงุดหงิดง่ายและขาดความยับยั้งชั่งใจ โดยมักแสดงออกผ่านการโต้เถียง การมุ่ยหน้า บุ้ยปาก หรืออาจมาในอาการนิ่งเงียบ ไม่พูด การแสดงความเป็นมิตรมากเกินควร การแสดงความเห็นแบบไม่ถูกกาลเทศะ 

อาการต่างๆ เหล่านี้มักนำไปสู่ความไม่ร่วมมือในการรักษา รวมทั้งก่อให้เกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับผู้ดูแลและคนใกล้ชิด ส่งผลให้ผู้ดูแลและครอบครัวเป็นทุกข์ กังวลใจ และอาจมีอาการซึมเศร้าตามมาได้ 

สำหรับสาเหตุสำคัญที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมเหล่านี้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ลำดับแรกคือผู้ป่วยมีภาวะทางสมองที่เริ่มเสื่อมลง มีการคิดและการตัดสินใจที่แย่ลง นอกเหนือจากนั้นแล้ว ผู้ป่วยอาจมีปัญหาด้าน BPSD ได้จากอีกหลายสาเหตุ ได้แก่

– อาการทางกายอื่นๆ แทรกซ้อนที่อาจทำให้เกิดภาวะเพ้อและสับสน 

– ปัญหาด้านสุขภาพจิตและพฤติกรรมของผู้ป่วยที่เป็นอยู่เดิมก่อนเกิดโรคภาวะสมองเสื่อม  

– ปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อม เช่น การอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังมากเกินไป หรือถูกรบกวนมากเกินไป 

– ปัญหาจากการที่ผู้ดูแลไม่สามารถตอบสนองผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมได้ในแบบที่ผู้ป่วยต้องการ  

– ผลข้างเคียงจากการใช้ยา

หลักการโดยทั่วไปของการสื่อสารและการตอบสนองต่อพฤติกรรมผู้ป่วย เรามักเริ่มจากการหาสาเหตุที่เป็นปัจจัยสนับสนุนซึ่งทำให้เกิดปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์ในผู้ป่วยสมองเสื่อมก่อนเสมอ ร่วมกับการรักษาด้วยการไม่ใช้ยา เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การปรับสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม การมีกิจกรรมระหว่างวัน รวมถึงการให้ความรู้กับผู้ดูแล ซึ่งการสื่อสารที่ดีต่อผู้ป่วยจะช่วยลดความรุนแรงของพฤติกรรม BPSD ลงได้มาก 

ตัวอย่างการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพอาจจะขึ้นอยู่กับอาการและพฤติกรรม BPSD ของผู้ป่วยว่ามีลักษณะอย่างไร โดยส่วนใหญ่แล้ว การรับฟังและพูดคุยกับผู้ป่วยด้วยความเข้าใจคือหัวใจหลักของการรักษาโรคที่เราต้องเข้าใจก่อนว่า BPSD เป็นอาการทางสมอง ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจหรือการกระทำของโรคสมองเสื่อม บางครั้ง สิ่งที่ผู้ป่วยทำไปอาจเป็นการกระทำที่แม้แต่ตัวผู้ป่วยเองยังไม่รู้ตัวว่าทำอะไรผิดไป การรับฟังโดยไม่ตัดสินและเข้าใจในสิ่งที่ผู้ป่วยเป็นจึงหลักการในการช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว นอกจากนี้ คือการพูดคุยกับผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ แสดงออกถึงความรักและเอาใจใส่ต่อพวกเขา เป็นต้น 

ยกตัวอย่างเช่น ในบางกรณี หากผู้ป่วยมีภาวะซึมเศร้า ผู้ดูแลควรสื่อสารและให้โอกาสผู้ป่วยลองตัดสินใจทำอะไรด้วยตัวเองเพิ่มขึ้น หรืออย่างน้อยให้เขามีความมั่นใจว่า เขาสามารถตัดสินใจด้วยตัวเองได้ หรือหากผู้ป่วยมีอาการ BPSD ในกลุ่มอาการประเภทโรคจิต สงสัยว่ามีใครจะมาทำร้าย การที่ญาติหรือผู้ดูแลสามารถสื่อสารกับเขาได้ด้วยการรับฟัง ไม่โต้เถียง ไม่โต้ตอบว่าสิ่งที่เขาเข้าใจคือสิ่งผิด และพยายามเสาะหาสาเหตุที่ทำให้เขาหลงผิดหรือรู้สึกไม่ดีตรงนั้น ก็จะสามารถช่วยลดความรุนแรงของอาการให้น้อยลงได้

อีกหนึ่งการสื่อสารที่มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยที่มีอาการ BPSD ดีขึ้น คือการจัดกิจกรรมระลึกถึงความทรงจำดีๆ ในอดีต (Reminiscence Therapy) เช่น การชวนผู้ป่วยพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตและประสบการณ์ในอดีต หรือช่วงวัยที่ผู้ป่วยมีความสุข โดยอาจใช้อุปกรณ์ช่วยดำเนินการสนทนา เช่น ภาพถ่าย หนังสือ สิ่งของที่คุ้นเคย เป็นต้น โดยกิจกรรมดังกล่าวจะช่วยในเรื่องของการสร้างความตระหนักในอัตลักษณ์และคุณค่าของตัวเอง ตลอดจนกระตุ้นความจำ ลดพฤติกรรมและปรับอารมณ์ที่หงุดหงิด กระวนกระวาย อาการซึมเศร้า ไปจนถึงเพิ่มความสามารถเรื่องการสื่อสารได้ในเวลาเดียว

สำหรับการรักษาด้วยยา แม้จะสามารถทำได้ แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์จากยาได้ แต่หากไม่สามารถควบคุมปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ดังกล่าวเหล่านั้นได้ด้วยวิธีการรักษาข้างต้น แพทย์จะพิจารณาเพิ่มหลักการรักษาด้วยยาควบคู่ไปกับการรักษาแบบไม่ใช้ยา   

เพราะภาวะ BPSD ส่งผลกระทบอย่างมากทั้งด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ความสามารถทางสมอง เช่น ความจำ การรับรู้ ความเข้าใจ การใช้ภาษา ทิศทาง การใช้เหตุผล และการแก้ปัญหา อีกทั้งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมและบุคลิกภาพ ตลอดจนความสามารถในการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย การดูแลผู้ที่มีภาวะดังกล่าวจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น การเตรียมความพร้อมให้ผู้ดูแลสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก

การหาความรู้เกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อมที่มาพร้อมปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์ จะทำให้ครอบครัว ญาติ และผู้ดูแลมีความเข้าใจ รวมถึงทราบวิธีการดูแลและการตอบสนองต่อผู้ป่วยสมองเสื่อมได้อย่างเหมาะสม เช่น การใช้คำที่สั้น กระชับ และได้ใจความ การพูดช้าๆ และชัดเจน การใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวลและอ่อนโยนในการสื่อสารระหว่างกัน วิธีการเหล่านี้จะช่วยป้องกันและลดปัญหาที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยสมองเสื่อมให้น้อยลงได้

นอกจากนี้แล้ว สำหรับผู้ดูแลเอง การเตรียมความพร้อมของตัวเองเพื่อเข้าไปช่วยเหลือและดูแลผู้ป่วยก็เป็นสิ่งที่ควรตระหนักไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ผู้ดูแลจึงควรพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ตัวเองมีความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจในการรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งหากทำได้ การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะ BPSD จะมีความราบรื่นและมีผลข้างเคียงในแง่ลบน้อยลงตามมา

ด้วยความซับซ้อนของโรคสมองเสื่อมที่มีภาวะ BPSD ทำให้การดูแลผู้ป่วยไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง เนื่องจากผู้ป่วยต้องการความช่วยเหลือตลอดเวลา ดังนั้น การที่สมาชิกในครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมจึงมีความสำคัญมากเช่นเดียวกัน เพราะหากปล่อยให้สมาชิกคนใดคนหนึ่งดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมเพียงคนเดียว ผลที่ตามมาคือผู้ดูแลคนนั้นมีโอกาสที่จะเกิดภาวะซึมเศร้าได้มาก อย่างที่กล่าวไปแล้ว การที่สมาชิกในครอบครัวที่มีผู้ป่วยสมองเสื่อมมีความรู้ ความเข้าใจในโรคและภาวะดังกล่าวมาช่วยกันโอบอุ้มและดูแลผู้ป่วย จะนำไปสู่การการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพของทั้งตัวผู้ป่วยเองและครอบครัวด้วย แต่หากสมาชิกในครอบครัวดูแลและช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้ว แต่ผู้ป่วยยังคงมีอาการรุนแรง การไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นอีกหนึ่งทางออกที่ดีสำหรับผู้ป่วยเพื่อให้ได้รับการรักษาและดูแลที่เหมาะสมต่อไป

อ้างอิง:
ผศ.นพ.ชยุติ วงศ์เลิศวิศวกร
จิตแพทย์ 
คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 

บทความที่เกี่ยวข้อง