สำหรับคติที่ว่า “ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” คงเป็นสิ่งที่ทุกคนใฝ่ฝันในช่วงเวลานี้ เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายรุนแรงได้ถึงขั้นเสียชีวิตเลยทีเดียว ยิ่งสำหรับคนที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง (Autoimmune Disease) อยู่แล้วก็อาจจะก่อให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้น เนื่องจากคนที่เป็นโรคดังกล่าวซึ่งได้รับยากดภูมิคุ้มกันหรือปรับภูมิคุ้มกันจะมีภูมิคุ้มกันร่างกายที่ลดน้อยลง ทำให้มีโอกาสติดเชื้อต่างๆ ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ พอต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 การตัดสินใจที่จะฉีดวัคซีนโควิด-19 ก็ยังทำเอาหลายคนมีความกังวลเกิดขึ้น เพราะด้วยปัญหาของร่างกายที่อาจไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างปกตินั้นจะมีผลกระทบต่อร่างกายผู้ป่วยหรือไม่ และควรจะพิจารณาหรือมีข้อควรระวังอย่างไรบ้าง ดังนั้นเราได้เตรียมข้อมูลรอบด้านแบบ 360 องศาสำหรับผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเองโดยเฉพาะ ซึ่งจะช่วยให้คุณเข้าใจและเลือกฉีดวัคซีนที่เหมาะกับตนเองได้มากที่สุด
กลไกและการสร้างภูมิต้านทานของร่างกายในผู้ป่วยที่รับประทานยากดภูมิอยู่
การฉีดวัคซีนโควิด-19 นั้นเป็นตัวช่วยในการสร้างภูมิคุ้มกันมาต่อสู้กับเชื้อไวรัสร้ายที่เข้ามาทำร้ายร่างกายของเรา ซึ่งสำหรับคนที่มีร่างกายแข็งแรงและปกติดี การฉีดวัคซีนเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเพิ่มมากขึ้น ทำให้สามารถป้องกันการติดเชื้อได้มีประสิทธิภาพในระดับหนึ่งเลยทีเดียว แต่สำหรับผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเองนั้นมีปัญหาในเรื่องของภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว ทำให้หลายคนไม่มั่นใจว่าผลลัพธ์จากการฉีดวัคซีนจะสร้างภูมิคุ้มกันได้เพียงพอหรือไม่ ซึ่งสำหรับคนที่เป็นโรคนี้แล้วรับประทานยากดภูมิอยู่ โดยทั่วไปการรับประทานยากดภูมิก็จะทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่างๆ ได้น้อยลงอยู่แล้ว การฉีดวัคซีนโควิด-19 แม้ว่าจะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้ แต่หากยังใช้ยากดภูมิอยู่ก็อาจจะสร้างภูมิคุ้มกันได้น้อยกว่าคนปกติทั่วไป
ดังนั้นหากผู้ป่วยฉีดวัคซีนโควิด-19 เข้าไปในช่วงที่ใช้ยากดภูมิอยู่ก็จะส่งผลให้การสร้างภูมิคุ้มกันนั้นเกิดขึ้นได้ไม่ดีเท่ากับคนทั่วไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าภูมิคุ้มกันจะสร้างไม่ได้เลย ดังนั้นการฉีดวัคซีนโควิด-19 ก็ยังช่วยให้สร้างภูมิคุ้มกันได้อยู่บ้างอย่างแน่นอน เรียกว่าเป็นตัวช่วยอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นมาบ้าง ที่สำคัญยังช่วยลดความรุนแรงของโรคที่จะเกิดได้มากกว่าที่จะไม่ฉีดเลย ดังนั้นการฉีดวัคซีนโควิด-19 จึงถือเป็นการดูแลตัวเองที่ดีสำหรับผู้ป่วยเอง โดยเฉพาะในช่วงภาวะวิกฤติเช่นนี้
วัคซีนแบบไหนที่ผู้ป่วยควรเลือกใช้
ในปัจจุบันวัคซีนโควิด-19 จะมีด้วยกันอยู่ 4 ประเภท และสามารถใช้ได้ทั้ง 4 ประเภทกับผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง เรามาลองทำความรู้จักชนิดของวัคซีนกัน
- วัคซีน Messenger RNA (mRNA) ชื่อนี้น่าจะคุ้นหู เพราะวัคซีนตัวนี้เป็นตัวแรกที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในมนุษย์สำหรับการต้านไวรัสโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันถูกใช้กันอย่างแพร่หลายมากมายทั่วโลก โดยวัคซีน mRNA นั้นจะช่วยให้ร่างกายสร้างโปรตีนที่ขัดขวาง SARS-CoV-2 ในปัจจุบันวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีชนิดนี้ได้แก่ BNT162b2 (Pfizer-BioNtech), mRNA-1273 (Moderna)
- วัคซีนอะดิโนไวรัส (Adenovirus Vector Vaccine) วัคซีนตัวนี้ทำงานคล้ายกับวัคซีนแบบ mRNA คือ เข้าไปช่วยให้ร่างกายของเราสร้างโปรตีนขัดขวาง SARS-CoV-2 โดยในบางยี่ห้อจะเป็นอะดิโนเวคเตอร์ที่ยังมีชีวิตอยู่ซึ่งไม่สามารถแบ่งตัวได้ ทำให้ก่อนหน้านี้ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยที่กินยากดภูมิอยู่รับวัคซีน แต่ภายหลังจาการเก็บข้อมูลเพิ่มมากขึ้นก็พบว่าวัคซีนชนิดนี้ปลอดภัยต่อคนที่กินยากดภูมิและสามารถฉีดได้ตามปกติ ในปัจจุบันมีวัคซีนอยู่หลายชนิดที่ใช้เทคโนโลยีนี้ในการผลิต เช่น ChAdOx1 (AstraZeneca/Oxford), Gam-COVID-Vac (Sputnik V), Ad26.CoV2.S (Johnson & Johnson)
- วัคซีนจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein Subunit Vaccine) วัคซีนชนิดนี้จะประกอบด้วยส่วนของไวรัสที่กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายและมีโปรตีนที่ไม่เป็นอันตราย เมื่อระบบภูมิคุ้มกันร่างกายเรียนรู้กลไกแล้วก็จะสร้างแอนติบอดีสำหรับการป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้นั่นเอง ปัจจุบันจะมีวัคซีน NVX-CoV2373 (Novavax) ที่ใช้เทคโนโลยีชนิดนี้
- วัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated Vaccine) การทำงานของวัคซีนชนิดนี้จะแตกต่างจากวัคซีนของทั้ง 3 ประเภทแรกที่กล่าวมา เนื่องจากเป็นเชื้อตายซึ่งทำให้เชื้อที่นำมาใช้เป็นวัคซีนถูกดัดแปลงทางเคมี เมื่อฉีดเข้าไปร่างกายก็จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่ใช้ป้องกันโควิด-19 ในปัจจุบันยี่ห้อที่ใช้เทคโนโลยีชนิดนี้ได้แก่ CoronaVac (Sinovac Biotech), BBIBP-CorV (Sinopharm 1/2)
หากในอนาคตมีวัคซีนแบบเชื้อเป็น คนที่รับประทานยากดภูมิอยู่อาจจะไม่สามารถใช้วัคซีนชนิดนี้ได้ เนื่องจากวัคซีนเชื้อเป็น เมื่อเข้าสู่ร่างกายในคนที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจก่อให้เกิดโรคได้ โดยพบว่ามีวัคซีนบางชนิดที่ใช้เทคโนโลยีนี้เช่น Varicella ซึ่งเป็นวัคซีนอีสุกอีใสหรือกลุ่มอื่นๆ ที่มีเชื้อเป็น ซึ่งไม่แนะนำให้ใช้กับผู้ป่วยที่รับยากดภูมิคุ้มกัน โดยทั่วไปควรฉีดวัคซีนก่อนที่จะเริ่มรับยากดภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนชนิดนี้ แต่ในอนาคตหากมีการผลิตออกมา ผู้ป่วยที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกันก็ควรจะหลีกเลี่ยง
วัคซีน mRNA จะทำให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเองได้หรือไม่
ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าวัคซีนโควิด-19 แต่ละประเภทจะไปกระตุ้นให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง โดยจากการเก็บข้อมูลพื้นฐานยังไม่พบข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ว่าการฉีดวัคซีนประเภทต่างๆ จะกระตุ้นให้เกิดโรคนี้อย่างที่หลายคนกังวลกันอยู่
การใช้ชีวิตของผู้ป่วยภายหลังจากการฉีดวัคซีนโควิด
แท้จริงแล้วการปฏิบัติตัวทั้งก่อนและหลังก็ไม่แตกต่างกันมากนัก นั่นคือ หมั่นดูแลรักษาสุขอนามัยและลดความเสี่ยงต่างๆ ให้มากที่สุดตราบใดที่โลกของเรายังต้องเผชิญกับโควิด-19 ส่วนเรื่องที่ผู้ป่วยมักกังวลอย่างเรื่องภูมิคุ้มกันหลังจากรับวัคซีนโควิด-19 นั้น ก็อย่างที่เราทราบเบื้องต้นแล้วเช่นกันว่า ภูมิของผู้ป่วยอาจจะไม่เพิ่มขึ้นได้ดีเทียบเท่ากับคนปกติ ดังนั้นจึงห้ามประมาทเป็นอันขาด การดูแลและปกป้องตัวเองแบบเบื้องต้น เช่น การใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือ และการใช้ชีวิตแบบ Social Distancing ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่เรายังต้องปฏิบัติต่อไป
การฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันสูงขึ้นหรือไม่
เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลออกมาอย่างชัดเจน เช่น การฉีดแบบการสลับยี่ห้อ ผลของภูมิคุ้มกันจะเป็นยังไง หรือการเพิ่มจำนวนเข็มที่ฉีดควรจะเพิ่มเป็นจำนวนเท่าไหร่จึงจะมีประสิทธิภาพที่สุด แต่ทางที่ดีควรยึดหลักของข้อมูลวิจัยในปัจจุบัน ซึ่งก็คือ การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองด้วยการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ครบจำนวนโดส โดยเข้ารับวัคซีนต่อเนื่องตามที่กำหนดไว้จึงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด
การฉีดวัคซีนเป็นเหมือนการเพิ่มเกราะป้องกันให้กับตัวของเราเอง แม้ว่าคนที่รับยากดภูมิหรือป่วยเป็นโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเองนั้นอาจจะสร้างภูมิได้น้อยกว่าคนทั่วไป แต่การฉีดวัคซีนก็ยังถือว่าได้ประโยชน์มากกว่าการไม่ฉีดวัคซีนเยอะมาก เพราะว่าแม้เราจะเป็นโรคนี้และรับประทานยากดภูมิอยู่ หากติดเชื้อโควิด-19 อาการของโรคก็จะรุนแรงกว่าคนทั่วไป ดังนั้นการฉีดวัคซีนก็จะช่วยป้องกันการติดเชื้อแบบรุนแรงได้ ที่สำคัญ…ลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตได้
อย่าลืมว่าอย่างน้อยภูมิคุ้มกันที่เพิ่มมากขึ้นจากการฉีดวัคซีนก็ยังดีกว่าการที่ไม่มีภูมิมาเสริมเลย เพราะฉะนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ การดูแลตัวเองและการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 นั่นเอง
–
WRITER: นพ.เมธา อภิวัฒนากุล
นายแพทย์เชี่ยวชาญ สาขาประสาทวิทยา สถาบันประสาทวิทยา
ข้อมูลอ้างอิง:
“แนวทางเวชปฏิบัติการให้วัคซีนโควิด-19 แก่ผู้ใหญ่และผู้ป่วยอายุรกรรม” โดย คณะอนุกรรมการแนวทางเวชปฏิบัติและจัดการความรู้ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ฉบับวันที่ 25 พฤษภาคม 2564