จากข่าวช็อกแห่งปีของนักแสดงระดับตำนาน บรูซ วิลลิส (Bruce Willis) ที่ต้องออกจากวงการฮอลลีวูด อันเนื่องมาจากโรคอะเฟเซีย (Aphasia) หรือภาวะบกพร่องทางการสื่อสาร ที่บรูซ วิลลิสกำลังเป็นอยู่นั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก จนไม่สามารถทำงานได้อย่างเคย ซึ่งข่าวที่แพร่กระจายอยู่ในโลกออนไลน์นั้น ทำให้ผู้คนหันมาสนใจกับโรคนี้กันมากขึ้น บทความนี้จะทำให้คุณรู้จักและเข้าใจโรคอะเฟเซียมากขึ้นอย่างแน่นอน
ทำความรู้จัก ‘อะเฟเซีย’
อะเฟเซีย คือ ภาวะบกพร่องทางการสื่อสาร โดยมีความผิดปกติในสมองบริเวณที่ควบคุมเรื่องของการใช้ภาษา ทั้งการฟัง การพูด การอ่าน หรือเขียน โดยอาการที่เกิดขึ้นนั้นจะแตกต่างกันไปตามแต่ละรูปแบบที่ผิดปกติ ผู้ที่เป็นโรคอะเฟเซียนั้นจะไม่สามารถเข้าใจในสิ่งที่ได้ฟังหรือได้อ่าน แต่จะไม่มีความบกพร่องในการได้ยินหรือการมองเห็น และไม่สามารถแสดงออกทางภาษาผ่านคำพูดหรือคำเขียนได้ตามปกติ แม้จะสามารถเปล่งเสียงออกมาได้ก็ตาม
ความผิดปกติของสมองที่ควบคุมการสื่อสาร
อะเฟเซียนั้นเกิดจากความผิดปกติในการทำงานของสมองใหญ่ซีกซ้ายซี่งเป็นซีกเด่นที่รับผิดชอบด้านภาษา ความเข้าใจ และการถ่ายทอดทางภาษา ซึ่งแบ่งออกเป็นตำแหน่งหลักได้ดังนี้
1. Broca’s area มีหน้าที่ในการถ่ายทอดภาษาออกมาเป็นคำพูดอย่างต่อเนื่อง ตำแหน่งนี้อยู่ที่กลีบสมองส่วน frontal ด้านซ้ายบริเวณหน้าต่อขมับเล็กน้อย
2. Wernicke’s area มีหน้าที่ในการคิดคำพูดที่เราต้องการสื่อสารออกไปได้อย่างถูกต้อง ตำแหน่งนี้อยู่ที่กลีบสมองส่วน temporal ด้านซ้าย บริเวณเหนือต่อหูซ้าย
สมองทั้งส่วนนี้จะทำงานร่วมกัน โดยส่วน Wernicke’s ทำให้เราเข้าใจภาษาพูดและเลือกคำที่เราต้องการสื่อสารได้อย่างถูกต้อง จากนั้นจึงส่งสัญญาณประสาทไปยังส่วน Broca’s จากนั้นบริเวณ Broca’s จะส่งสัญญาณต่อไปยังกล้ามเนื้อที่ใช้ในการพูดให้เป็นรูปประโยคได้อย่างคล่องแคล่ว หากเกิดความผิดปกติของสมองบริเวณนี้เพียงส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดก็จะทำให้เกิดภาวะอะเฟเซียได้
อะเฟเซีย: แบ่งตามความผิดปกติได้ 3 ประเภท
1. Broca’s aphasia/non fluent aphasia – ผู้ที่มีความผิดปกติประเภทนี้จะไม่สามารถออกเสียงได้ หรืออาจออกสียงได้เป็นคำๆ หรือประโยคสั้นๆ เท่านั้น แต่จะยังรู้ความหมายของคำและเข้าใจประโยคที่ผู้อื่นสื่อสาร เช่น สามารถแสดงท่าทางตามคำสั่งได้
2. Wernicke’s aphasia/ fluent aphasia – ผู้ที่มีความผิดปกติประเภทนี้จะไม่สามารถเข้าใจความหมายของคำและประโยคที่สื่อสารได้ เช่น การพูดคุยหรือตอบโต้คนละเรื่องกันกับที่สื่อสาร แต่ยังสามารถพูดได้อย่างคล่องแคล่วแต่ไม่ตรงกับบทสนทนาที่เกิดขึ้นกับผู้อื่น
3. Global aphasia – ผู้ที่มีความผิดปกติประเภทนี้จะไม่เข้าใจความหมายของภาษาพูดหรือภาษาเขียน แต่จะไม่สามารถทำตามคำสั่งและไม่สามารถพูดโต้ตอบได้อย่างคล่องแคล่วอย่างเช่นเคย
ความผิดปกติหรืออาการที่เกิดขึ้นเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ท้อแท้ และไม่สามารถสื่อสารหรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ครอบครัว และสังคมได้ จึงทำให้เกิดปัญหาในชีวิตประจำวันอย่างรุนแรง
อะเฟเซีย: ใครบ้างที่ต้องระวัง
จากอาการและผลกระทบดังกล่าวที่ได้ทราบไปแล้ว คงอยากทราบกันแล้วใช่ไหมครับว่า ใครบ้างที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้ อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ภาวะอะเฟเซียเกิดจากความผิดปกติของสมองที่หน้าที่รับผิดชอบเรื่องความเข้าใจและการใช้ภาษา ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ที่มีโอกาสเกิดรอยโรคหรือความเสียหายต่อสมองส่วนนี้ ก็อาจเกิดภาวะดังกล่าวได้ เช่น โรคหลอดเลือดสมองแตกหรือตีบตัน โรคลมชัก หรือโรคสมองเสื่อมบางประเภทรวมถึงโรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น
อะเฟเซีย: ป้องกันไม่ได้ รักษาไม่หายขาด
ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่ทำให้ภาวะอะเฟเซียนั้นหายขาด ดังนั้นการรักษาจึงมุ่งเน้นไปที่สาเหตุของโรค เช่น การทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตเป็นปกติในสภาวะหลอดเลือดสมองอุดตันเพื่อจำกัดบริเวณที่สมองขาดเลือด เป็นต้น สำหรับผู้ที่สูญเสียความสามารถในการใช้ภาษาก็สามารถทำการฝึกพูดกับนักอรรถบำบัด (speech therapist) เพื่อฟื้นฟูทักษะในการใช้ภาษาในระยะยาว และเนื่องจากการเกิดอะเฟเซียมาจากภาวะของการเกิดโรคอื่นๆ ดังที่กล่าวไปข้างต้น การป้องกันจึงทำได้เพียงการดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดี ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมถึงการลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี การดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
–