อัลไซเมอร์ อาการแบบนี้ ไม่ดีแน่..ไม่ว่าจะเป็นตัวคุณเอง คนในครอบครัว หรือคนรอบข้าง ก็คงไม่มีใครอยากมีอาการหลงๆ ลืมๆ จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน หรือมีอาการของโรคอัลไซเมอร์
ในระยะที่รุนแรงจนอาจทำให้เราจำแม้กระทั่ง ‘คนที่เรารัก’ ไม่ได้ แล้วเราจะรับมือกับอาการอัลไซเมอร์ได้อย่างไร มีขั้นตอนการวินิจฉัย และมีวิธีการรักษาโรคอย่างไรบ้าง วันนี้ทาง hhc Thailand จะขอพาทุกคนไปรู้จักกับโรคอัลไซเมอร์กันให้มากยิ่งขึ้นในบทความนี้
ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์?
“ถ้าวันหนึ่งคุณเกิดหลงลืมไปว่าเคยรู้จักกับเพื่อนสนิท ลืมแม้กระทั่งคนในครอบครัว และลืมใบหน้าของคนที่คุณรัก หรือถ้าวันหนึ่งคนในครอบครัวหรือคนที่คุณรักหลงลืมคุณไป ก็คงจะเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจไม่ใช่น้อย” หากไม่อยากเป็นโรคนี้ต้องทำอย่างไร เราอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นอัลไซเมอร์ อาการต่างๆ หรือเปล่า มาหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน!
สำหรับผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือเป็นผู้ที่มีแนวโน้มสูงว่าจะมีอาการอัลไซเมอร์นั้น โดยส่วนมากแล้วจะมีคุณสมบัติดังนี้
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี (แต่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 65 ปีก็สามารถป่วยเป็นอัลไซเมอร์ อาการต่างๆ ได้เช่นกัน)
- ผู้ที่มีญาติสายตรงหรือคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์
- ผู้ที่อยู่ในกลุ่มของผู้ป่วยดาวน์ซินโดรม
- ผู้ที่เคยได้รับการกระทบกระเทือนบริเวณศีรษะที่รุนแรง หรือเคยประสบกับอุบัติเหตุที่ศีรษะ
- ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
และเพื่อไม่ให้อาการหลงๆ ลืมๆ มากระทบกับการดำเนินชีวิตและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หากคุณ คนในครอบครัว หรือคนใกล้ตัวของคุณเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะมีอาการของโรคอัลไซเมอร์ก็ควรหมั่นตรวจเช็กอาการของตนเองและเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรค หากมีอาการเบื้องต้นต่างๆ ที่แสดงถึงการเป็นโรคอัลไซเมอร์ในระยะแรก ๆ เพื่อให้แพทย์ได้ทำการรักษาและแนะนำวิธีการดูแลสุขภาพตัวเอง รวมถึงวิธีการดูแลผู้ป่วยให้เหมาะสมกับอาการของแต่ละบุคคล
แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์ก็สามารถป่วยเป็นโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน การหมั่นตรวจเช็กอาการและความผิดปกติของตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ทุกคนสามารถรับมือกับโรคนี้ได้อย่างทันท่วงที
รู้เร็ว รักษาก่อน ย่อมดีกว่า! เช็กลิสต์ ‘อาการเบื้องต้นของโรคอัลไซเมอร์’
ถ้าคุณ คนในครอบครัวของคุณหรือคนรอบข้างตัวคุณมีอาการแบบนี้ ไม่ดีแน่! เราได้รวมเช็กลิสต์ของผู้ที่เข้าข่ายเป็นโรคอัลไซเมอร์มาให้ทุกคนได้สำรวจตัวเองและคนใกล้ตัวว่ามีอาการอัลไซเมอร์หรือไม่ เพื่อเป็นการประเมินเบื้องต้นและเพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถการรับมือกับอัลไซเมอร์อาการต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
ซึ่งผู้ที่มีโอกาสป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ มักจะมีอาการต่างๆ เหล่านี้
- ชอบลืมว่าเคยถามสิ่งนี้ไปแล้ว และถามในเรื่องเดิมๆ หรือถามคำถามเดิมซ้ำๆ
- เกิดความสับสน หลงลืม นำของไปวางในที่ที่ไม่ควรวาง และลืมของที่วางไว้โดยไม่สามารถนึกย้อนกลับไปได้
- ลืมเหตุการณ์หรือวันสำคัญต่างๆ ในชีวิตอยู่บ่อยๆ
- ลืมและจำไม่ได้เลยว่าเคยมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น
- ลืมและสูญเสียความสามารถในการใช้เครื่องมือต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
- ประสบปัญหาในเรื่องของการวางแผน ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่พบเจอได้ และสูญเสียความสามารถในการตัดสินใจในสิ่งที่พบเจอในชีวิตประจำวัน
- ลืมแม้กระทั่งชื่อของคนรอบข้าง โดยเฉพาะคนใกล้ตัวอย่างครอบครัว เพื่อน และคนสนิท
- มีความบกพร่องทางด้านการใช้ภาษา ทั้งในส่วนของการพูด และการเขียน ไม่สามารถตัดสินใจเลือกใช้คำที่เหมาะสมได้ หรือลืมบทสนทนาที่กำลังพูดอยู่
- มีความสับสนใจเรื่องของ วัน เวลา ฤดูกาล ทิศทาง และสถานที่ ลืมแม้กระทั่งสถานที่ที่ตัวเองอยู่ หรือสถานที่ที่เคยไปอยู่บ่อย ๆ
- มีปัญหาในเรื่องของการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของภาพและสี รวมถึงกะระยะทางหรือระยะห่างของสิ่งของต่างๆ ได้ลำบาก
- ออกห่างจากสิ่งที่ชอบ เลิกทำในสิ่งที่เคยเป็นกิจกรรมที่โปรดปราน หรือแยกตัวออกจากงานที่เคยทำ
- บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไป มีอารมณ์ที่ไม่คงที่ มักจะมีอาการหงุดหงิด สับสน วิตกกังวล และหวาดกลัวอยู่บ่อยๆ
และเมื่อทุกคนได้ตรวจเช็กตัวเองและคนรอบข้างกันเรียบร้อยแล้ว หากคุณหรือคนใกล้ตัวมีอาการแบบนี้เกิน 4 ข้อ เราขอแนะนำให้เข้าพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยอาการและวางแผนการรักษาในลำดับต่อไป เพราะคุณหรือคนรอบข้างที่มีอาการต่าง ๆ ตามที่เราได้กล่าวมา อาจมีความเสี่ยงที่จะมีอาการของโรคอัลไซเมอร์ได้นั่นเอง
แนวทางการวินิจฉัยอาการอัลไซเมอร์
ถ้าคุณกำลังเป็นกังวลว่าตัวเอง คนในครอบครัว หรือคนใกล้ตัวของคุณกำลังมีอาการหลงๆ ลืมๆ แล้วเกิดข้อสงสัยว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอาการของโรคอัลไซเมอร์หรือไม่ สามารถเข้าไปพบกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการวินิจฉัยและตรวจสอบอัลไซเมอร์อาการต่างๆ ได้ โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัยเพื่อประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ตรวจเช็กการทำงานของสมอง และคัดกรองระยะของอาการเพื่อวางแผนการรักษาให้เหมาะสมต่อไป
ขั้นตอนการวินิจฉัยอาการของโรคอัลไซเมอร์
ในการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์นั้น จะมีทั้งหมด 3 ขั้นตอนหลักๆ ด้วยกัน ดังนี้
STEP 1 : แพทย์จะซักประวัติ
เป็นขั้นตอนที่แพทย์จะทำการซักประวัติและสอบถามข้อมูลต่างๆ ทั้งความสามารถในชีวิตประจำวัน และพฤติกรรมที่มีอาการหลงๆ ลืมๆ จากตัวผู้ป่วยเอง ญาติ หรือผู้ดูแลที่สามารถให้ข้อมูลได้
STEP 2 : ทดสอบสมรรถภาพสมอง
เข้าสู่ขั้นตอนการทดสอบสมรรถภาพทางสมอง ของผู้ป่วยหรือผู้ที่เข้าข่ายว่ามีอาการอัลไซเมอร์จะต้องทดสอบความสามารถในการทำงานของสมอง โดยการตอบคำถามและทำแบบทดสอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการจดจำ การตัดสินใจ การแก้ปัญหา การบอกทิศทาง การใช้ภาษา และการคิดคำนวณ
STEP 3 : ตรวจคัดกรองเพิ่มเติม
เป็นขั้นตอนที่แพทย์จะทำการตรวจคัดกรองเพิ่มเติม เพื่อหาจุดที่บ่งชี้การเกิดโรคอัลไซเมอร์ นอกเหนือจากอาการที่ปรากฏ โดยจะเป็นการเจาะเลือดตรวจและให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่เข้าข่ายว่าเป็นอัลไซเมอร์อาการต่างๆ เข้ารับการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (MRI) เพื่อคัดกรองหาสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมว่ามาจากโรคที่รักษาได้หรือไม่
3 ระยะอาการทั่วไปของโรคอัลไซเมอร์
เมื่อได้ทำการวินิจฉัยโรคเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราก็จะรู้ได้ว่าตัวเราเองหรือคนรอบข้างมีอาการอัลไซเมอร์หรือไม่ และถ้ามีอาการของเราอยู่ในระยะใด มีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากอาการทั่วไปของโรคอัลไซเมอร์นั้นจะมีหลายระดับ ซึ่งแน่นอนว่ายิ่งรู้เร็วและอยู่ในระดับที่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันมากนัก ก็จะยิ่งรักษาและรับมือกับอาการของโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
แล้วอาการทั่วไปของโรคอัลไซเมอร์นั้นมีกี่ระยะ แต่ละระยะผู้ป่วยจะมีอาการอย่างไร ตามเราไปดูกันต่อได้เลย!
ระยะแรก
เป็นระยะ ‘ก่อน’ เข้าสู่ภาวะของโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งผู้ที่อยู่ในระยะนี้จะมีอาการเริ่มต้นของโรคอัลไซเมอร์ที่เริ่มปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง และเริ่มมีอาการหลงๆ ลืมๆ ที่แตกต่างจากคนปกติทั่วไป ซึ่งผู้ป่วยในระยะแรกจะมีอาการดังนี้
- ขี้ลืม หลงลืมอยู่บ่อยๆ จนหลายคนเริ่มทัก
- มักจะพูดในเรื่องเดิมๆ และถามคำถามเดิมๆ ซ้ำๆ
- เริ่มหงุดหงิด สับสน วิตกกังวล และเกิดความเครียดได้ง่าย
- อารมณ์และบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไป
- อาจมีภาวะของโรคซึมเศร้าร่วมด้วย
แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ อาการต่างๆ ในระยะนี้จะยังสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ และยังสามารถสื่อสารกับคนรอบข้างได้อย่างเป็นปกติ เพียงแต่จะเริ่มมีอาการปรากฏขึ้นให้เห็นอยู่บ้างนั่นเอง
ระยะกลาง
เป็นระยะเมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะของโรคอัลไซเมอร์ หรือมีอาการต่างๆ ที่แสดงออกมาอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยมักจะเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งจนคนรอบข้างสังเกตได้ถึงความผิดปกติที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ป่วยในระยะกลางจะมีอาการดังนี้
- ขี้ลืมมากขึ้น บ่อยขึ้น และมีความจำที่แย่ลงอย่างเห็นได้ชัด
- มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน
- แสดงออกถึงความหงุดหงิด และกลายเป็นคนหวาดระแวงในสิ่งต่างๆ ได้ง่าย
- มักจะเดินออกจากบ้านไปอย่างไร้สาเหตุและไร้จุดหมาย
และแน่นอนว่าอาการต่างๆ เหล่านี้จะเริ่มส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วยอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ผู้ป่วยในระยะนี้ต้องได้รับการดูแลจากคนรอบข้างมากกว่าผู้ป่วยที่อยู่ในระยะเริ่มต้น
ระยะท้าย
เป็นระยะที่มีอาการของโรคอัลไซเมอร์ที่ ‘รุนแรง’ เพราะในระยะนี้อาการอัลไซเมอร์จะรุนแรงมากยิ่งขึ้นจากผู้ป่วยทั้งสองระยะที่ผ่านมา ซึ่งผู้ป่วยในระยะท้ายหรือระยะที่ 3 จะมีอาการต่างๆ ดังนี้
- ไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
- มีการตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างที่ลดน้อยลง
- ไม่อยากอาหารและรับประทานอาหารได้น้อยลง
นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคอัลไซเมอร์ขั้นรุนแรงก็อาจมีภาวะของการติดเชื้อ และมีอาการแทรกซ้อนต่างๆ เกิดขึ้นได้ เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง ดังนั้นผู้ป่วยในระยะนี้จึงจำเป็นจะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากแพทย์ ผู้ดูแล คนใกล้ชิด หรือคนในครอบครัวนั่นเอง
2 รูปแบบการรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์
เมื่อแพทย์ได้ทำการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์เสร็จสิ้นแล้ว ทางแพทย์จะวางแผนการรักษาในรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามอาการของโรคอัลไซเมอร์ อาการต่างที่ปรากฏ ซึ่งจะแบ่งการรักษาออกเป็น 2 รูปแบบหลักๆ ดังนี้
รักษาโดยการใช้ยาเพื่อควบคุมอาการ
วิธีนี้คือการควบคุมอาการของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ให้ทุเลาลงชั่วคราว เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ดียิ่งขึ้น และเพื่อให้ผู้ดูแลสามารถดูแลผู้ป่วยได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยการรักษาด้วยวิธีนี้จะใช้เป็นตัวยาที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ที่มาทำลายสารสื่อประสาทอะซีติลโคลีน เพื่อสร้างความสมดุลให้กับสารแอซิติลโคลีนภายในร่างกายของผู้ป่วยนั่นเอง
รักษาโดยการไม่ใช้ยา
เป็นการรักษาโดยการดูแลสุขภาพสมองและฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วยโดยไม่ใช้ยา ซึ่งจะสามารถทำได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการให้ผู้ป่วยได้ออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ การให้ผู้ป่วยออกไปพบเจอผู้คน เพื่อนฝูง หรือพบปะกับญาติสนิทมิตรสหาย การจัดการให้ผู้ป่วยได้นอนหลับอย่างมีคุณภาพ ถูกสุขลักษณะ และมีวงจรของการนอนที่ไม่ผิดเพี้ยน รวมไปจนถึงการให้ผู้ป่วยดื่มน้ำให้เพียงพอหรือประมาณ 2 ลิตร เพื่อไม่ให้เลือดที่ไหลเวียนไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายข้นจนเกินไปอีกด้วย
สร้างเกราะป้องกันอัลไซเมอร์ได้ง่ายๆ ด้วยวิธีเหล่านี้!
สำหรับใครที่จัดอยู่ในกลุ่มของผู้ที่มีความเสี่ยง หรือมีความกังวลว่าตัวเองอาจจะเป็นโรคอัลไซเมอร์ในอนาคต สามารถสร้างเกราะป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรค และอาการของโรคอัลไซเมอร์ อาการต่าง ๆ ได้ง่าย ๆ ดังนี้
- ปรับพฤติกรรมการทานอาหาร ทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง รวมถึงอาหารที่มีรสชาติหวานจัดหรือเค็มจัด
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อสมอง โดยเฉพาะพฤติกรรมที่เป็นการใช้สารที่มีอันตรายต่อสมอง อย่างการใช้ยาที่ไม่จำเป็น และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ที่อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง อันเป็นอีกหนึ่งข้อวินิจฉัยว่าอาจมีส่วนที่ทำให้เกิดอาการอัลไซเมอร์ขึ้นได้
- หมั่นฝึกฝน บริหารสมอง และทำกิจกรรมกับผู้อื่นโดยเฉพาะกับคนในครอบครัวอยู่เสมอ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุที่จะทำให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อศีรษะ
รวม ‘กิจกรรมแนะนำ’ สำหรับผู้ที่มีอาการอัลไซเมอร์
สำหรับใครที่กำลังดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์และมองหากิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของสมองและพัฒนาสมองในด้านของความจำ ก่อนที่จะลากันไปเราได้รวมกิจกรรมสำหรับผู้ที่มีอาการของโรคอัลไซเมอร์มาให้ทุกคนได้นำไปใช้ในการปฏิบัติควบคู่ไปกับการดูแลผู้ป่วยอย่างถูกวิธี ดังนี้
- กิจกรรมการเล่นเกมฝึกสมอง เช่น เกมซูโดกุ เกมต่อภาพจิ๊กซอว์ เกมเขาวงกต เกมนับเหรียญ และเกมจับคู่ภาพเหมือน
- กิจกรรมขยับตัวตามเสียงดนตรี
- กิจกรรมโยนลูกบอลใส่ห่วง
- กิจกรรมศิลปะ
- กิจกรรมเต้นลีลาศ
- กิจกรรมรำมวยจีน
- กิจกรรมเล่นดนตรี
- กิจกรรมการจัดดอกไม้
———————————–
เป็นอย่างไรกันบ้างกับเรื่องราวต่างๆ ของโรคอัลไซเมอร์ จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยอัลไซเมอร์ อาการที่เกิดขึ้นนั้น นอกจากจะมีอาการหลงๆ ลืมๆ ที่เห็นได้อย่างเด่นชัดแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยทั้งทางด้านของการเคลื่อนไหว การสื่อสาร การใช้ภาษา สมาธิ การตัดสินใจ การตีความหมาย และส่งผลกระทบต่อเนื่องมาจนถึงการดำเนินชีวิตประจำวันอีกด้วย
เราจึงขอแนะนำให้ทุกคนโดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง ควรหมั่นดูแลสุขภาพ ตรวจเช็กตัวเองและเข้าพบแพทย์หากมีอาการต้องสงสัยของโรคอัลไซเมอร์ อาการที่บ่งชี้ว่าเข้าข่ายเป็นผู้ที่มีภาวะอัลไซเมอร์ มีอาการเบื้องต้นของโรคที่เริ่มปรากฏขึ้นมาให้เห็น เพราะถึงแม้ว่าโรคอัลไซเมอร์จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากรู้ตัวไวและรีบเข้ารับการรักษาจะสามารถชะลออาการของโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างรวดเร็ว และยังสามารถฟื้นฟูอาการอัลไซเมอร์ของผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้จากการรับมือกับอาการอัลไซเมอร์ที่ถูกต้องและเหมาะสมนั่นเอง