‘Activity Zone’ พื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคน สร้างชุมชนเข้มแข็ง

Care / Social Care

สถาปนิกหลายคนให้ความเห็นไว้ว่า แม้ในอนาคตโควิดจะซาลงแล้วก็ตาม แต่วัฒนธรรม Work From Home จะยังคงอยู่ เพราะเทคโนโลยีด้านการสื่อสารทำให้เรารู้สึกสะดวกสบายกับการทำงานที่ไหนก็ได้ และผู้คนก็เริ่มคุ้นชินกับการทำงานที่บ้าน ร้านกาแฟ หรือระหว่าง Staycation ที่โรงแรมแล้ว เมื่อจำเป็นจึงค่อยนัดกันมาประชุมหรือพบปะกับเพื่อนร่วมงานบ้างสัปดาห์ละครั้งสองครั้ง ก่อนแยกย้ายกันไปทำงานของตัวเอง

ขณะที่คนทำงานจะใช้เวลาอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองมากขึ้น ความต้องการพื้นที่สาธารณะแบบเปิด (Outdoor public space) ก็มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย เหตุผลนั้นเพราะว่าหลังจากก้มหน้าก้มตาทำงานอยู่หน้าจอมาทั้งวัน เราจะต้องการการพักผ่อนหย่อนใจท่ามกลางธรรมชาติและอากาศบริสุทธิ์มากขึ้น และต้องการออกไปพบปะผู้คนเพื่อไม่ให้รู้สึกโดดเดี่ยวจนเกินไป

ในกรุงเทพฯ พื้นที่สาธารณะแบบเอาท์ดอร์ยังมีให้เห็นไม่มาก แต่ในต่างประเทศ เราจะเห็นพื้นที่ที่น่าสนใจที่ผู้คนเข้ามาใช้ทำกิจกรรมสันทนาการต่างๆ อยู่มากมายเต็มไปหมด ‘Activity Zone’ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่สาธารณะที่เราคิดว่าเหมาะจะเอามาศึกษาเป็นตัวอย่าง เพราะนอกจากจะเป็นพื้นที่ที่ให้คนทุกเพศทุกวัยเข้ามาใช้ทำกิจกรรมหลากหลายได้ร่วมกันแล้ว ก็ยังมีงานออกแบบที่ร่วมสมัยเตะตา และไม่ลืมที่จะคงความเขียวของต้นไม้ไว้

Activity Zone ออกแบบโดย SLAS architekci และเป็นความร่วมมือระหว่าง University of Silesia และเทศบาลเมือง Chorzów ในประเทศโปแลนด์ ซึ่งมีรางวัลการันตีคุณภาพแล้วหนึ่งคือ Best Public Space จากการประกวด Śląskie Voivodeship และยังได้เสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Mies van der Rohe Award 2022 ในประเภท Contemporary Architecture อีกด้วย

พื้นที่สำหรับ “ทุกคน”

อย่างที่บอก ความโดดเด่นที่สุดของ Activity Zone อยู่ที่การเป็นพื้นที่สำหรับ “ทุกคน”​ อย่างแท้จริง เพราะบนพื้นที่นี้มีทั้งโซนสนามเด็กเล่นสำหรับเด็กๆ โซนพักผ่อนทำกิจกรรมต่างๆ สำหรับนักศึกษา (Activity Zone ตั้งอยู่ใกล้กับ University of Silesia วิทยาเขต Chorzów) โซนกีฬาสำหรับทุกเพศทุกวัย (สนามฟุตบอล บาสเก็ตบอล) โซนที่มีที่นั่งพักสำหรับทุกคนและผู้ใหญ่ที่มาพาลูกหลานมาเล่นในนั้น นอกจากนั้น การเลือกใช้คอนกรีตเป็นวัสดุในส่วนโครงสร้างและพื้นยังทำให้ผู้พิการหรือผู้ใช้วีลแชร์สามารถเข้าถึงพื้นที่นี้ได้ แถมยังเหมาะกับการขี่จักรยาน เล่นเสก็ตบอร์ด โรลเลอร์เบลด อีกด้วย

เมื่อ Activity Zone อ้าแขนต้อนรับคนทุกเพศทุกวัย ก็หมายความว่าผู้คนจากเจเนอเรชันต่างๆ จะได้เข้ามาใช้พื้นที่นี้เป็นสถานที่พบปะสังสรรค์กัน ลักษณะการใช้งานเช่นนี้จะเอื้อให้เกิด “ความเป็นชุมชน” มากขึ้น ที่สำคัญ Activity Zone ยังช่วยให้นักศึกษาที่เรียนอยู่ที่ University of Silesia ได้มีโอกาสพบปะทำความรู้จักพูดคุยกับชาวเมืองที่อยู่ในละแวกนั้น ซึ่งนับเป็นเรื่องดี เพราะการได้สัมผัส คลุกคลี และรู้จักชาวชุมชนอย่างแท้จริง จะทำให้พวกเขาเข้าใจความต้องการและปัญหา และสามารถสร้างสรรค์โครงการงานต่างๆ ที่เกิดประโยชน์ตามมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดีไซน์คูลๆ ไม่ซ้ำใคร

Activity Zone ไม่ได้มีดีแค่ฟังก์ชั่นอย่างเดียว แต่งานออกแบบยังสร้างสรรค์ สดใสน่ารัก มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร โดยเฉพาะการออกแบบให้พื้นที่ใช้งานแต่ละส่วนวางอยู่ร่วมกันโดยไม่มีผนังหรือกำแพงอะไรมาขวางกั้น (ตามคอนเซ็ปต์ของการเป็นพื้นที่ที่ทุกเพศทุกวัยเข้ามาใช้ร่วมกันอย่างแท้จริง) แต่จะกำหนดแบ่งขอบเขตพื้นที่ส่วนต่างๆ ด้วยลวดลาย รูปทรง และสีสัน ที่วาดหรือเจาะไว้บนพื้น เช่น ส่วนของสนามบาสเก็ตบอลที่อยู่ในรูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมูวางติดกับครึ่งวงกลมบนพื้นสีฟ้าสด สนามฟุตบอลขนาดเล็กทรงวงรีสีส้มที่ใช้เส้นสีขาววาดเป็นประตูฟุตบอลและเส้นต่างๆ หรือพื้นที่สีเขียวบางส่วนที่เจาะพื้นให้เป็นเหมือนเขาวงกตและวางต้นไม้ลงไปในนั้น

นอกจากนั้น วัสดุที่นักออกแบบเลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็น คอนกรีต เหล็ก ไม้ เปลือกไม้ พื้นยางสำหรับเล่นกีฬา ก็ยังเป็นวัสดุที่ทนทาน ราคาย่อมเยา และดูแลรักษาได้ง่าย ทำให้พื้นที่สวยๆ เหล่านี้ไม่จำเป็นต้องใช้งบมากเกินความจำเป็นเลย

คืนชีวิตพื้นที่รกร้าง เก็บรักษาความเขียวเดิม

ก่อนหน้าที่จะมาเป็น Activity Zone พื้นที่เดิมตรงนี้เคยเป็นอาคารสำนักงานที่อยู่ในเขตทหารเก่า เมื่อถูกปล่อยให้เป็นที่รกร้างก็กลายเป็นสถานที่เปลี่ยวที่ไม่มีใครกล้าเข้ามาเฉียดใกล้ การที่ทาง University of Silesia และเทศบาลเมือง Chorzów เข้ามาปรับปรุงพื้นที่ให้กลายเป็น Activity Zone จึงเป็นการคืนชีพไม่ให้มันถูกปล่อยทิ้งเปล่าประโยชน์ไปอย่างน่าเสียดาย ที่สำคัญ ในการออกแบบ SLAS architekci ยังเลือกเก็บต้นไม้ใหญ่ไว้เกือบทั้งหมด โดยบริเวณไหนที่มีต้นไม้อยู่ก็จะเจาะโครงสร้างเพื่อเว้นที่ว่างให้ต้นไม้ได้คงอยู่และเติบโต ซึ่งผลลัพธ์นั้น นอกจากจะช่วยชีวิตต้นไม้ไว้ได้แล้วก็ยังทำให้ Activity Zone มีบรรยากาศร่มรื่นเหมาะสำหรับมาใช้ทำกิจกรรมหย่อนใจมากขึ้นอีกด้วย 

เห็นเรื่องราวของ Activity Zone แล้ว ก็ได้แต่หวังว่าในอนาคต กรุงเทพฯ จะมีพื้นที่สาธารณะเอาท์ดอร์ดีๆ แบบนี้เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการของรัฐ เอกชน หรือชาวชุมชนร่วมมือร่วมใจทำขึ้นมากันเองก็ตาม เมื่อเรามีพื้นที่สำหรับกิจกรรมกลางแจ้งแบบนี้มากขึ้น ผู้คนก็จะมีสุขภาพกาย-ใจที่ดีขึ้น ความเป็นชุมชนจะแข็งแรงขึ้น และยิ่งถ้าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สีเขียวด้วยแล้ว ปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯ ก็น่าจะดีขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะสังคมดีๆ เป็นสิ่งสำคัญ hhc thailand หวังว่าบทความนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างชุมชนเข้มแข็งให้กับผู้คนในสังคม หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีกำลังและความสามารถในการช่วยผลักดันให้เกิดสิ่งดีๆ ในสังคม อย่าลังเลที่จะลงมือทำเพื่อช่วยให้สังคมดีขึ้นไปด้วยกัน

ที่มา:
slas.com
eumiesaward.com
us.edu.pl

บทความที่เกี่ยวข้อง