Low-Waste Parenting: เลี้ยงลูกแบบรักษ์โลก ไม่ยากอย่างที่คิด!

Care / Self Care / Social Care

ในยุคที่ขยะกลายเป็นวิกฤตระดับโลก โดยเฉพาะ ขยะพลาสติก ที่ต้องใช้เวลาหลายร้อยปีในการย่อยสลาย หลายคนจึงหันมาใช้ชีวิตแบบ Low-waste เพื่อลดขยะให้ได้มากที่สุด (อ่านเพิ่มเติม: 5 สิ่งที่มือใหม่หัดกรีนควรพกติดตัวไว้)

แต่สำหรับพ่อแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกเล็ก อาจรู้สึกว่าแนวคิดนี้มันช่างไกลตัว เพราะแค่เลี้ยงลูกในแต่ละวันให้ผ่านไปด้วยดีก็เหนื่อยและเครียดมากพอแล้ว ถ้าต้องมาคิดเรื่องลดขยะเพิ่มอีก…จะไหวไหมนะ?

แต่จริงๆ แล้ว การเลี้ยงลูกแบบ Low-waste ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบตั้งแต่แรก หรือใช้วิธีสุดโต่งไปเลย เพียงเริ่มจากสิ่งเล็กๆ ในชีวิตประจำวันก็สามารถช่วยลดขยะได้ โดยไม่ทำให้รู้สึกหนักหนาเกินไป และเมื่อทำบ่อยๆ ก็จะกลายเป็นเรื่องปกติไปเอง

ที่สำคัญ ปัญหาขยะไม่ได้ไกลตัวพ่อแม่เลย เพราะสินค้าเด็กส่วนใหญ่มักเต็มไปด้วยพลาสติกและของใช้แล้วทิ้ง เช่น ขวดนม ผ้าเช็ดทำความสะอาด ผ้าอ้อมสำเร็จรูป และของเล่นพลาสติก ซึ่งรวมกันแล้วเป็นปริมาณขยะมหาศาลที่อยู่ยาวไปจนชั่วลูกชั่วหลาน

วันนี้เราขอแบ่งปันเคล็ดลับจากครอบครัว Leblond ในแคนาดา ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าวิถี Low-waste Parenting นั้นไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ โดยคุณแม่ Katelin คุณพ่อ Kevin พร้อมลูกๆ Phoenix (6 ขวบ) และ Cléo (4 ขวบ) สามารถลดขยะในหนึ่งปีให้เหลือเพียงขวดโหลแก้วขนาดใหญ่เท่านั้น!

Photo Courtesy of KATELIN LEBLOND

  • จากรักลูกสู่รักโลก

เพราะรักลูกจึงหันมาห่วงใยโลก—นี่คือสิ่งที่จุดประกายให้คุณแม่ Katelin แม่บ้านธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่ได้เป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่แรก แต่เธอเริ่มตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นมาหลังจากมีลูก และเริ่มกังวลเกี่ยวกับอนาคตของลูก ทำให้ต้องเริ่มลงมือทำอะไรสักอย่าง! 

  • เริ่มจากสิ่งเล็กๆ

เธอเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำได้จริง เริ่มจากสำรวจปริมาณขยะที่ครอบครัวสร้างในแต่ละวัน แล้วตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้ เช่น ลดขยะลงครึ่งหนึ่งภายในหนึ่งปี จากนั้นก็ทำลิสต์รายการสิ่งของที่ต้องใช้พลาสติก แล้วค่อยๆ ลดไปทีละอย่าง ตัดไปทีละข้อ เช่นเริ่มจากหยุดซื้อผักและผลไม้ที่มีบรรจุภัณฑ์พลาสติก

  • ค้นพบแรงบันดาลใจ

หลังจากดูคลิปวิดีโอของ Bea Johnson นักเขียนหนังสือ Zero Waste Home คุณแม่ Katelin ตัดสินใจอ่านหนังสือเล่มนี้และเริ่มเปลี่ยนวิถีชีวิตของครอบครัวทันที!

(อ่านแรงบันดาลใจเพิ่มเติม: Bye Bye Plastic Bags สองสาวน้อยปลุกพลังเปลี่ยนโลก ลดขยะพลาสติก

  • หลักการง่ายๆ แต่ยั่งยืน

ครอบครัว Leblond ยึดหลัก ‘ลดการใช้พลาสติกให้มากที่สุด และรีไซเคิลให้ถูกวิธี’ โดยหลีกเลี่ยงพลาสติกใช้ครั้งเดียว และเลือกใช้สิ่งของที่สามารถรีไซเคิลหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ พวกเขาซื้อของเข้าบ้านจากร้าน Bulk Shop (ร้านค้าแบบที่ให้ลูกค้านำขวดหรือภาชนะต่างๆ มาเติมผลิตภัณฑ์ในร้าน เช่น สบู่ ยาสระผม น้ำยาล้างจาน ฯลฯ เพื่อลดขยะจากบรรจุภัณฑ์ต่างๆ) และเลือกใช้เสื้อผ้าและของใช้มือสอง 

  • ของขวัญสุดสร้างสรรค์

ครอบครัว Leblond มีธรรมเนียมวันเกิดที่แตกต่างจากบ้านอื่นๆ นั่นคือ พวกเขาขอให้แขกที่มาร่วมงานมอบเงินเป็นของขวัญแทนการซื้อของเล่นใหม่ โดยให้ลูกๆ ตัดสินใจเองว่าจะนำเงินไปซื้อของเล่นมือสอง หรือบริจาคเพื่อช่วยเหลือการกุศล วิธีนี้ไม่เพียงช่วยลดขยะจากของเล่นที่อาจถูกละเลยหรือใช้เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ยังสอนให้เด็กๆ รู้จักคุณค่าของเงินและการแบ่งปันอีกด้วย

  • ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ

แม้จะมีเป้าหมายแน่วแน่ แต่พวกเขาก็เจอความท้าทายอยู่เสมอ แต่ก็ได้เรียนรู้ว่าต้องไม่เครียดและกดดันตัวเองเกินไป ทำเท่าที่ไหว และยอมรับว่าบางสิ่งก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งสำคัญคือ เราเลือกได้ว่าจะจัดการกับมันอย่างไรให้มีประสิทธิภาพที่สุด

  • ลดขยะ = ลดภาระ

การใช้ชีวิตแบบ Low-waste ไม่เพียงช่วยโลก แต่ยังช่วยให้ครอบครัว Leblond ลดค่าใช้จ่ายลง 13% ช่วยเพิ่มพื้นที่ในบ้านมากขึ้น และมีเวลาให้กันมากขึ้น เพราะไม่ต้องเสียเวลาไปกับการจัดการกับข้าวของรกบ้าน แม้ตอนช่วงปรับตัวแรกๆ อาจจะมีความยุ่งยาก แต่เมื่อลงตัวแล้ว สิ่งที่ได้มาคือความสงบสุขและสบายใจเมื่อกลับมาถึงบ้าน

1. เลือกของใช้เด็กแบบยั่งยืน
  • เลือกของคุณภาพดี: ใช้งานได้นานขึ้น ไม่ต้องทิ้งเร็ว (อย่าเลือกจากราคาถูกเป็นหลัก แต่ให้เลือกจากคุณภาพก่อนแล้วค่อยมาเปรียบเทียบราคา)
  • เลือกของใช้มือสอง: เช่น เตียงเด็ก เก้าอี้กินข้าว หรือรถเข็นเด็ก
  • เลือกสีกลางๆ และแบบเรียบๆ: เพื่อให้ใช้งานได้ทุกเพศทุกสไตล์ สามารถส่งต่อให้คนอื่นได้ง่าย
2. ใช้ผ้าอ้อมผ้าแทนผ้าอ้อมสำเร็จรูป

รู้หรือไม่ว่า ทั่วโลกมีผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่ถูกทิ้งมากกว่า 300,000 ชิ้นต่อนาที! แต่การใช้ผ้าอ้อมผ้าแบบซักได้ ใช้ซ้ำได้ ก็ชวนให้เหนื่อยและท้อจริงๆ แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องทำ 100% ในทันที อาจเริ่มจาก

  • ใช้ผ้าอ้อมผ้าบางวัน เช่น 3 วันต่อสัปดาห์ (เลือกวันที่ไม่เหนื่อย ไม่รีบ และมีคนช่วย) 
  • ใช้ผ้าอ้อมผ้าเฉพาะที่บ้าน และใช้แบบสำเร็จรูปเมื่อต้องออกไปข้างนอก
  • หากต้องใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ให้เลือกชนิดที่ย่อยสลายได้ มีวางขายตามซูเปอร์มาเก็ตชั้นนำทั่วไป
3. ปลูกฝังแนวคิดการแยกขยะให้ลูก

เริ่มบ่มเพาะตั้งแต่เล็กๆ ให้เป็นนิสัยติดไปจนโต ค่อยๆ สอนไปตามวัย และอย่าลืมชมเชยและให้กำลังใจ 

  • วัยเตาะแตะ: เริ่มจากการสอนให้ลูกหยิบขยะไปทิ้งในถังขยะที่ถูกต้อง 
  • วัยอนุบาล: สอนการแยกขยะเปียกและขยะแห้ง อาจทำเป็นเกมหรือกิจกรรมสนุกๆ เพื่อจูงใจ
  • วัยประถม: สอนการแยกขยะที่ซับซ้อนขึ้น เช่น ขยะรีไซเคิล (กระดาษ พลาสติก โลหะ) และขยะอันตราย (แบตเตอรี่ หลอดไฟ) ลองมอบหมายงานให้รับผิดชอบ หรือให้ช่วยตัดสินใจ

    (อ่านเพิ่มเติม: แยกขยะง่ายๆ เริ่มได้ที่บ้าน / อัพเลเวลแยกขยะอีกขั้น หันมาช่วยกันแยก ‘ขยะกำพร้า’)
4. ชวนเล่นแบบสร้างสรรค์ 

ของเล่นพลาสติกส่วนใหญ่ ใช้เล่นไม่นานก็ถูกทิ้ง กลายเป็นขยะเต็มบ้าน พ่อแม่สามารถ

  • เลือกของเล่นไม้ที่มีความทนทานและปลอดภัยกว่า
  • ส่งเสริมการเล่นที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ เช่น ออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านในธรรมชาติ หรือ ทำของเล่นจากวัสดุเหลือใช้ ดัดแปลงจากกล่องกระดาษหรือขวดพลาสติกที่มีอยู่แล้ว

เคล็ดลับ:

  • สร้างความสนุกให้กับลูกโดยพ่อแม่ต้องมาร่วมทำด้วยกัน ชวนให้ลูกเห็นความสนุกในการสร้างสรรค์ของเล่นด้วยตัวเอง
  • ให้ลูกเห็นตัวอย่างของพ่อแม่ที่ใช้วัสดุเหลือใช้ในการทำสิ่งต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เขาอยากทำตาม
5. ปลูกฝังความรักสิ่งแวดล้อม

พาลูกออกไปสัมผัสธรรมชาติบ่อยๆ เช่น ทะเล ภูเขา หรือพื้นที่สีเขียวใกล้บ้าน เพื่อให้ลูกซึมซับความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและเรียนรู้ที่จะดูแลรักษาธรรมชาติรอบตัว อาจจะชวนลูกปลูกต้นไม้หรือทำมุมผักสวนครัวที่บ้าน เพื่อให้เรียนรู้วิธีการปลูกผักกินเอง ลดการซื้อจากร้านค้า และลดการใช้บรรจุภัณฑ์

  • ด้านความคิดสร้างสรรค์
    การทำกิจกรรมที่ใช้วัสดุเหลือใช้ เช่น ทำของเล่นจากกล่องกระดาษ  หรือการรีไซเคิลสิ่งต่างๆ ช่วยเสริมสร้างทักษะการคิดสร้างสรรค์ รู้จักคิดนอกกรอบและหาวิธีใช้สิ่งของที่มีในบ้านให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  • ด้านการแก้ปัญหา
    การคัดแยกขยะและการรีไซเคิลทำให้ลูกเรียนรู้วิธีจัดการสิ่งของที่ไม่ใช้แล้ว พยายามแก้ปัญหา และค้นหาวิธีที่จะนำสิ่งเหล่านั้นกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบที่แตกต่างไป
  • ด้านการทำงานร่วมกัน
    การร่วมมือกับพ่อแม่หรือครอบครัวในการทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับการลดขยะ เช่น การแยกขยะ การทำของเล่นจากวัสดุเหลือใช้ การหาวิธีจ่ายตลาดแบบลดขยะ หรือการปลูกผักสวนครัว ช่วยเสริมทักษะการทำงานเป็นทีม รู้จักรับฟัง แชร์ความคิดเห็น ทำตามข้อตกลงและกฎกติกาที่มีร่วมกัน
  • ด้านอารมณ์และสังคม
    กิจกรรมลดขยะจะช่วยเสริมสร้างความภาคภูมิใจในตัวเองและความรู้สึกว่าได้ทำสิ่งที่ดีให้กับโลก ช่วยฝึกความอดทนใจเย็น ความเสียสละ และรู้สึกว่าตัวเองนั้นมีส่วนในการทำให้โลกนี้น่าอยู่ยิ่งขึ้น 

แม้การเลี้ยงลูกแบบ Low-waste อาจดูเป็นเรื่องท้าทาย แต่หากเริ่มจากสิ่งเล็กๆ ที่ทำได้จริงและปรับให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของแต่ละครอบครัว ก็สามารถช่วยลดขยะได้โดยไม่ต้องกดดันตัวเองมากเกินไป ที่สำคัญ พ่อแม่คือแบบอย่างที่ดีที่สุด เมื่อลูกเห็นพ่อแม่ทำ พวกเขาก็จะซึมซับและเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมโดยธรรมชาติ

ต้องลองดู! แล้วคุณจะพบว่าวิถี Low-Waste Parenting นั้นไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด แถมยังช่วยให้ชีวิตเรียบง่ายและมีความสุขมากขึ้นได้ด้วย! 

อ้างอิง:
todaysparent.com 
unicef.org

บทความที่เกี่ยวข้อง