5 โรคภัยที่ต้องระวังเมื่อเกิดน้ำท่วม

Care / Self Care

น้ำท่วมเป็นภัยธรรมชาติที่ประชาชนชาวไทยไม่ว่าจะภาคไหนๆ ต่างต้องพบเจออยู่เป็นประจำทุกปี ต่างกันเพียงแค่ช่วงเวลาในแต่ละปีเท่านั้น แต่สำหรับปี 2024 นี้ อุทกภัยในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคอีสานถือว่าหนักหนามากกว่าครั้งไหนๆ บางคนสูญเสียคนในครอบครัว สัตว์เลี้ยงที่รัก และอีกหลายคนต้องทนเห็นทรัพย์สินที่สั่งสมมาตลอดชีวิตสูญหายไปต่อหน้าต่อตา

แต่อย่างน้อยที่สุดในเรื่องราวเลวร้าย เรายังได้เห็นน้ำใจของพี่น้องชาวไทยทั่วประเทศ ใครมีแรงก็ช่วยลงแรง ใครสะดวกบริจาคสิ่งของหรือทุนทรัพย์ก็บริจาคกันตามกำลัง แม้แต่หมาแมว เราก็ไม่ทอดทิ้ง ช่วยกันตามหาจนน้องๆ หลายตัวได้กลับคืนสู่อ้อมกอดเจ้าของอย่างปลอดภัย

hhc Thailand เองก็หวังอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ร่วมช่วยบรรเทาภัยจากน้ำท่วมครั้งนี้ โดยในฐานะที่เราเป็นสื่อที่ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพกายและใจ เราจึงขออาสานำเอาข้อมูลเกี่ยวกับ “5 โรคภัยที่มาจากน้ำท่วม” มาเป็นเกร็ดความรู้ฝากกันในครั้งนี้เพื่อให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมได้นำไปใช้ดูแลตัวเองและครอบครัว

โรคภัยทั้ง 5 ที่ว่ามีอะไรบ้าง ไปดูกันค่ะ

เริ่มจากโรคที่เราขอยกมาไว้เป็นอันดับหนึ่ง เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยบางรายอาการหนักถึงขั้นเสียชีวิต

โรคฉี่หนูเกิดจากเชื้อแบคทีเรียเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) ที่อยู่ในฉี่ของหนูและออกมาปนเปื้อนแหล่งน้ำเมื่อเกิดน้ำท่วม โดยเราอาจติดเชื้อนี้ได้จากการเดินลุยน้ำหรือลงไปว่ายน้ำในน้ำที่สกปรก เพราะหากเรามีบาดแผลหรือแม้แต่แผลถลอก เชื้อโรคก็สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ หรือหากน้ำสกปรกดังกล่าวกระเด็นเข้าตา หู จมูก ปาก เราก็สามารถติดเชื้อได้เช่นกัน 

อาการ:

  • ปวดหัว โดยเฉพาะบริเวณหน้าผาก หลังตา หรือบางรายอาจปวดที่ขมับทั้งสองข้าง 
  • ปวดกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะส่วนขา น่อง ถ้ากดหรือจับจะยิ่งปวดมาก
  • มีไข้สูง 
  • บางรายอาจมีอาการอื่นร่วม เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดท้อง
  • หากไม่รีบรักษา ผู้ป่วยอาจมีอาการไอมีเลือดปน ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะน้อย และมีอาการซึมเนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ รวมทั้งอาจมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเสียชีวิตได้

ป้องกัน:

  • หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ ว่ายน้ำในแหล่งน้ำสกปรก
  • หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำท่วม ควรสวมรองเท้าบู้ทและล้างทำความสะอาดร่างกายที่เปียกน้ำให้สะอาดทุกครั้งหลังเดินลุยน้ำ
  • หากมีแผลที่เท้าให้ทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์และยาฆ่าเชื้อ

รักษา:

  • ควรรีบพบแพทย์ ไม่แนะนำให้ซื้อยากินเองเพราะอาจเป็นอันตรายได้

เมื่ออยู่ในพื้นที่น้ำท่วม การเดินลุยน้ำหรือแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานานเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครกู้ภัยที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ต้องอยู่ในน้ำเป็นเวลานาน เราจึงอยากให้ระวังโรคน้ำกัดเท้าหรือฮ่องกงฟุตกันไว้ด้วยค่ะ เพราะเมื่อเท้าเปียกหรือชื้น จะเป็นบ่อเกิดของเชื้อราเดอร์มาโทไฟต์ (Dermatophytes) 

อาการ: 

  • คันตามซอกนิ้ว ผิวหนังลอกเป็นขุย
  • บางรายอาจมีผื่นที่เท้า โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้ว

ป้องกัน:

  • พยายามหลีกเลี่ยงไม่แช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานาน
  • หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรใส่รองเท้าบู้ทกันน้ำ และทำความสะอาดเท้าด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้งหลังลุยน้ำ จากนั้น อย่าลืมเช็ดเท้าให้แห้ง

รักษา:

  • ดูแลทำความสะอาดเท้าให้สะอาดและแห้ง ไม่เปียกชื้น 
  • ทาครีมที่ช่วยรักษาเชื้อรา

น้ำท่วมนั้นคือแหล่งรวมของเชื้อโรค ทั้งแบคทีเรียและไวรัส หากเราสัมผัสน้ำสกปรกและเอามือมาขยี้ตา จะเสี่ยงต่อการเกิดอาการเยื่อบุตาอักเสบหรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า ตาแดง แม้ตาแดงจะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ก็อาจนำไปสู่โรคแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ เช่น กระจกตาดำอักเสบ นอกจากนั้น โรคตาแดงยังแพร่ระบาดได้ง่ายในฤดูฝน และมีช่วงระยะเวลาที่ติดต่อไปยังผู้อื่นได้นานถึง 2 สัปดาห์ เราจึงควรต้องดูแลตัวเองและคนรอบข้างให้ดี

อาการ:

  • อาการเบื้องต้นคือ รู้สึกเคืองตา มีน้ำตาไหล มีขี้ตามาก
  • หากติดเชื้อไวรัส หนังตาจะบวม น้ำตาไหลมาก รวมทั้งอาจมีต่อมน้ำเหลืองกกหูบวม ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก
  • หากติดเชื้อแบคทีเรีย ขี้ตาจะมีสีเขียวหรือเหลือง ตาแฉะ และมองเห็นได้ไม่ชัด

ป้องกัน:

  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสน้ำและสิ่งสกปรก
  • พยายามอย่าเอามือขยี้ตา
  • หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ อาจใส่แว่นตาเพื่อป้องกันน้ำกระเด็นเข้าตา
  • หากมีน้ำกระเด็นเข้าตา ให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที
  • ไม่ใช่ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น

รักษา: 

  • เบื้องต้นควรพักสายตาให้มาก ประคบตาด้วยผ้าเย็น และเช็ดตาด้วยสำลีชุบน้ำอุ่น
  • พบแพทย์เพื่อรับยาหยอดตาหรือยาป้ายตา
  • หากมีอาการปวดตารุนแรงหรืออาการไม่ดีขึ้นใน 1 สัปดาห์ ควรรีบพบแพทย์อีกครั้ง 

อย่างที่เราบอกไป ในน้ำที่ท่วมขังนั้นคือบ่อเกิดของเชื้อโรคนานาชนิด ซึ่งรวมถึงเชื้ออีโคไลและแบคทีเรียซัลโมเนลลาที่เป็นต้นเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของอาหารเป็นพิษ ดังนั้นถ้าอยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วม คุณจึงยิ่งต้องรักษาสุขอนามัยให้ดีเพื่อให้ปลอดจากเชื้อโรคเหล่านี้

อาการ:

  • โรคอุจจาระร่วงหมายถึงเมื่อคุณมีอาการถ่ายเหลวตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป บางรายอาจถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายเป็นมูกเลือดอย่างน้อย 1 ครั้งต่อวัน
  • อาการอื่นๆ เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย

ป้องกัน: 

  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก และทุกครั้งก่อนกินอาหาร
  • กินอาหารสุก หลีกเลี่ยงอาหารดิบหรือสุกๆ ดิบๆ 
  • หากเก็บอาหารไว้นานเกิน 2 ชม. ควรอุ่นร้อนก่อนกินทุกครั้ง
  • ไม่ใช้น้ำสกปรกล้างมือและภาชนะใส่อาหาร
  • ที่สำคัญที่สุดอีกหนึ่งอย่าง อย่าลืมช่วยกันรักษาความสะอาด ไม่ทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลลงในน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเติบโตมากไปกว่าที่เป็นอยู่

รักษา:

  • ดื่มน้ำเกลือแร่ (ORS) เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำและเกลือแร่
  • กินอาหารอ่อนๆ ที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก แกงจืด
  • งดอาหารรสจัด อาหารสุกๆ ดิบๆ และอาหารหมักดอง
  • ปกติแล้ว โรคอุจจาระร่วงมักหายเองได้ใน 1-3 วัน แต่หากอาการรุนแรง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ควรรีบพบแพทย์

ไม่ใช่แค่โรคทางกายเท่านั้นที่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมต้องคอยระวัง แต่ยังมีโรคทางใจ อย่าง ภาวะเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า ที่อาจมาเยือนจิตใจของเราได้โดยไม่รู้ตัว เพราะบางครั้งอุทกภัยก็ทำความเสียหายต่อบ้านเรือนและทำให้เราสูญเสียทรัพย์สิน หรือหากภัยพิบัติที่เกิดนั้นรุนแรงถึงขั้นทำให้สมาชิกในครอบครัวต้องเสียชีวิตหรือสิ้นเนื้อประดาตัว ผู้ประสบภัยก็อาจมีอาการของโรค PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) หรือ โรคเครียดจากเหตุการณ์รุนแรง

hhc Thailand ขอย้ำให้คุณๆ เห็นความสำคัญของโรคเครียดที่อาจเกิดจากน้ำท่วมกันอีกสักนิดด้วยข้อมูลที่น่าสนใจว่า ตั้งแต่เกิดอุทกภัยเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม -13 กันยายน 2024 ที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิตได้ประเมินสภาพจิตใจของผู้ประสบภัย 21,000 ราย และพบประชาชนที่ตกอยู่ในภาวะเครียดสูงมากถึง 521 ราย เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า 73 ราย และเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 13 ราย (โดยกรมสุขภาพจิตได้ส่งทีมจิตแพทย์ติดตามอาการแล้ว)

เห็นไหมคะว่า โรคเครียดและโรคทางใจอื่นๆ นี้พบมากได้ไม่แพ้โรคทางกายเลย เราจึงอยากให้คุณลองสังเกตอาการของตัวเองและคนใกล้ชิดกันค่ะ

อาการ:

  • อาการตอบสนองที่เกิดขึ้นตามปกติหลังพบเจอภัยพิบัติ เช่น ช็อก โกรธ หวาดกลัว เศร้าโศก สิ้นหวัง หงุดหงิด วิตกกังวล ปวดหัว ปวดต้นคอ ปวดท้ายทอย ใจสั่นนอนไม่หลับ ฯลฯ โดยอาการดังกล่าวจะค่อยๆ ลดลงตามเวลา
  • แต่หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น นอนไม่หลับเรื้อรัง เครียดมาก วิตกกังวล หรือใจสั่น ให้รีบปรึกษาแพทย์

ป้องกัน/รักษา

  • อันดับแรก ถ้าคุณกำลังเผชิญกับความเครียดจากการสูญเสียบ้านและทรัพย์สินไปกับน้ำท่วม เราอยากให้คุณตั้งสติก่อนค่ะ และบอกตัวเองว่า “ทุกปัญหามีทางออกเสมอ” 
  • จากนั้น มองให้เห็นด้านดีที่เหลือว่า ถึงจะสูญเสียบางอย่างไป แต่คุณก็ยังมีสิ่งสำคัญเหลืออยู่ เช่น ครอบครัว สัตว์เลี้ยง เพื่อนฝูง
  • พูดคุยกับคนใกล้ชิดที่คุณไว้ใจ เพื่อระบายความรู้สึกที่ติดอยู่ในใจออกมา รวมทั้งปรึกษาหาหนทางเพื่อเดินหน้าต่อไปในชีวิต
  • กุญแจสำคัญของสุขภาพใจที่ดีที่ลืมไปไม่ได้คือ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาเวลาออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • ฝึก หายใจ ช้าๆ เพื่อคลายเครียด
  • หากเกิดอาการเครียดเพราะรับข่าวสารมากไป ให้หยุดพักรับข่าวสารบ้าง
  • อย่าแก้ปัญหาด้วยการดื่มสุราหรือยาเสพติด เพราะจะทำให้สุขภาพกายและใจยิ่งย่ำแย่ไปกว่าเดิม รวมทั้งปัญหาที่เผชิญอยู่ก็ไม่ได้รับการแก้ไข

สุดท้าย พวกเราชาว hhc Thailand ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้ผู้ประสบภัยทุกท่านได้กลับคืนสู่ชีวิตปกติโดยเร็วที่สุด และเราอยากจะถือโอกาสนี้เชิญชวนให้ทุกคนหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกครั้ง เพราะความรุนแรงของพายุที่เพิ่มมากขึ้นนั้นอาจเป็นอีกหลักฐานถึงสภาพอากาศแบบสุดขั้วที่เกิดจากภาวะโลกร้อน และน้ำป่าที่ไหลรุนแรงอย่างที่เราเห็นกันในภาพข่าว ส่วนหนึ่งก็มาจากการขาดแคลนป่าที่ทำหน้าที่เหมือนฟองน้ำคอยดูดซับน้ำฝนที่ตกลงมา

บางที อาจยังไม่สายเกินไปก็ได้ที่พวกเราจะช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภัยพิบัติรุนแรงเช่นนี้อีก

ที่มา:
si.mahidol.ac.th
tropmedhospital.com
thaihealth.or.th
bangkokbiznews.com

บทความที่เกี่ยวข้อง