อย่างที่ทราบกันว่า ประเทศไทยเราได้ออกกฎหมาย ‘ปลดล็อกกัญชา’ ออกจากยาเสพติดแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการออกกฎหมาย 3 เรื่องด้วยกันคือ 1.เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ 2.ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม และ 3.เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการดูแลสุขภาพของตนเอง แต่อย่างที่เรารู้กันว่ากัญชามีทั้งประโยชน์และโทษ แต่ถ้าหากนำมาใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพอย่างที่คาดไม่ถึง ดังนั้นแล้วเรามาทำความรู้จัก ‘กัญชา’ เพื่อใช้ในการรักษาโรคและการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องกันก่อนดีกว่า
สารสำคัญในพืชกัญชาที่ใช้รักษาโรค
‘กัญชา’ เป็นพืชสมุนไพรที่พบข้อมูลการใช้งานทางการแพทย์มาตั้งแต่อดีต จากตำราโอสถพระนารายณ์พบข้อมูลการใช้กัญชาในตำรับยาต่างๆ เพื่อบำรุงร่างกาย ช่วยเจริญอาหาร ช่วยให้นอนหลับ ลดอาการปวด และขับลม ซึ่งสารเคมีสำคัญที่พบในพืชกัญชาก็คือ สารกลุ่มแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) โดยสารเคมีที่มักพบในการใช้งานทางการแพทย์นั้น ได้แก่ เตตร้าไฮโดรแคนนาบินอยด์ (Tetrahydrocannabinol) หรือที่รู้จักในชื่อ THC และแคนนาบิไดอัล (Cannabidiol) หรือ CBD นั่นเอง
สาร THC นั้น หากได้รับในปริมาณที่เหมาะสมจะมีผลช่วยลดความเครียดและลดปวดได้ แต่ถ้าได้รับในปริมานที่สูงเกินไปจะทำให้เกิดอาการเมา เคลิ้ม จนไปถึงเห็นภาพหลอน นอกจากนี้หากได้รับ THC เป็นเวลานานจะส่งผลให้เกิดการเสพติดกัญชาได้ ส่วนสาร CBD นั้นในทางการแพทย์เริ่มมีการนำมาใช้ในการรักษาคนไข้กันบ้างแล้ว ซึ่งในปัจจุบันนี้เราพบข้อมูลการใช้ยาจากกัญชาทางการแพทย์ เพื่อใช้ในการรักษาโรคและภาวะเจ็บป่วยแล้วดังต่อไปนี้
- รักษาภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบําบัด โดยแนะนำให้ใช้เสริมกับการรักษาตามาตรฐานในผู้ที่รักษาด้วยวิธีต่างๆ แล้วไม่ได้ผล ทั้งนี้ ‘ไม่แนะนำ’ ให้ใช้กรณีคลื่นไส้อาเจียนทั่วไป รวมถึงภาวะคลื่นไส้อาเจียนในหญิงตั้งครรภ์
- รักษาโรคลมชักที่รักษายากในเด็ก อันได้แก่ Dravet Syndrome, Lennox-Gastaut Syndrome และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา (ดื้อต่อยาตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป)
- รักษาภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โดยแนะนำให้ใช้ในกรณีที่รักษาด้วยวิธีมาตรฐานอย่างเหมาะสมทั้งวิธีใช้ยาและวิธีไม่ใช้ยาแล้วไม่ได้ผล
- รักษาภาวะปวดจากระบบประสาทที่รักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล
- รักษาภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วย AIDS ที่มีน้ำหนักตัวน้อย โดยแนะนำให้ใช้สารสกัดกัญชาชนิดที่มี THC เด่น เพื่อเพิ่มความอยากอาหาร
- การเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง หรือผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต
‘ข้อควรระวัง’ และ ‘ข้อห้าม’ ในการใช้กัญชารักษาโรค
ทั้งนี้ในการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ก็มีข้อควรระวังในการใช้กัญชา รวมถึงการใช้ยาจากกัญชา ด้วยเช่นกัน ซึ่งข้อควรระวังและข้อห้ามในการใช้กัญชามีอะไรบ้างไปดูกัน
ผู้ที่ควร ‘ระวัง’ ในการใช้กัญชา
- การใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาที่มี THC เป็นส่วนประกอบในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี เนื่องจากส่งผลต่อการพัฒนาของสมอง
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ
- ผู้ป่วยที่ติดสารเสพติด รวมถึงนิโคติน หรือเป็นผู้ดื่มสุราอย่างหนัก
- ผู้ที่ใช้ยาอื่นๆ โดยเฉพาะยากลุ่ม opioids และยากลุ่มกล่อมประสาท เช่น ยา lorazepam
- ผู้ป่วยสูงอายุและเด็ก เนื่องจากพบว่ามีผลต่อการทรงตัว เพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้ม รบกวนความจำระยะสั้น จึงควรใช้ในปริมาณที่น้อยและปรับเพิ่มช้า ๆ
ผู้ที่ ‘ห้าม’ ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มี THC เป็นส่วนประกอบ
- ผู้ที่เคยมีประวัติแพ้ผลิตภัณฑ์จากสารสกัดกัญชา
- ผู้ที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือดและผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หรือมีปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ เนื่องจากมีผลต่อการทำงานของหัวใจและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
- ผู้ป่วยโรคจิตเวชหรือเคยเป็นมาก่อน หรือมีอาการของโรคอารมณ์แปรปรวน หรือโรควิตกกังวล เนื่องจากส่งผลให้อาการของโรคแย่ลง
- หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร เนื่องจากสารกลุ่มแคนนาบินอยด์ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการช้าและสามารถแพร่ผ่านน้ำนมได้
สารสกัดจากกัญชาส่งผลต่อยารักษาโรค
สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้สารสกัดจากกัญชาในการรักษาโรค มีความจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนการใช้ เนื่องจากสารสกัดจากกัญชาอาจมีผลกระทบต่อยาอื่นที่รับประทาน ไม่ว่าจะเป็นยารักษาโรคประจำตัว หรือยาที่รักษาอาการต่างๆ ก็ตาม สารสกัดจากกัญชาส่งผลต่อยาดังต่อไปนี้
- ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด วาร์ฟาริน สารจากกัญชาจะทำให้ระดับยาวาร์ฟารินเพิ่มขึ้นทำให้เกิดเลือดออกซึ่งเป็นอันตราย
- ยาต้านเกล็ดเลือด สารสกัดจากกัญชามีผลยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อเลือดออกผิดปกติได้
- กลุ่มยากันชักบางประเภท มีผลทำให้ระดับสารสกัดกัญชาเปลี่ยนแปลง เช่น ยา carbamazepine และ ยา rifampicin เป็นต้น
- กลุ่มยาต้านซึมเศร้าบางกลุ่ม เช่น ยา fluoxetine มีผลทำให้ระดับ THC และ CBD ในเลือดสูงขึ้น ทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้มากขึ้น
- ยาต้านเชื้อรา (เช่น ยา ketoconazole) ยาต้านเชื้อแบคทีเรียบางประเภท (เช่น ยา clarithromycin) และยาลดความดันโลหิตบางประเภท (เช่น ยา verapamil) สามารถทำให้การทำงานของตับและไตในการเปลี่ยนแปลงและขจัดกัญชาออกจากร่างกายลดลง ระดับกัญชาที่สูงขึ้นอาจนำไปสู่อาการมึนเมาหรืออาการข้างเคียงได้
การใช้กัญชาที่ไม่ได้อยู่ในความดูแลของแพทย์ มีผลทำให้ไม่สามารถกำหนดปริมานสารเคมีในสารสกัดกัญชาได้ จึงอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ง่วงนอนมากกว่าปกติ ปากแห้ง คอแห้ง วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน รวมไปถึงอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงที่ต้องไปแพทย์ ได้แก่ หัวใจเต้นเร็ว เป็นลมหมดสติ เจ็บหน้าอก ร้าวไปที่แขน อึดอัดหายใจไม่สะดวก เดินเซ พูดไม่ชัด วิตกกังวล เห็นภาพหลอน หูแว่ว พูดคนเดียว ทั้งนี้สารสกัดกัญชาหรือยาจากกัญชาไม่มีจำหน่ายทั่วไป เนื่องจากกัญชาไม่ได้มีข้อบ่งใช้ในการรักษาทุกโรค ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยจากการใช้ยากัญชาในการรักษาโรค จึงควรอยู่ภายใต้การวางแผนการรักษาและดูแลของแพทย์เท่านั้น
–
อ้างอิง:
- วีรยา ถาอุปชิต และ นุศราพร เกษสมบูรณ์ การใช้กัญชาทางการแพทย์, วารสารเภสัชศาสตร์อีสาน 2560 ; 13 (Supplement) 1-14
- การใช้กัญชาทางการแพทย์ คณะอนุกรรมการพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ คำแนะนำสำหรับแพทย์ ฉบับที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๒ ๒๕๖๒ [Internet]. Available from: https://tmc.or.th/pdf/fact/guideline_cannabis_101062.pdf
- คำแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์ Guidance on Cannabis for Medical Use กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 (มกราคม 2564) [Internet]. Available from: https://mnfda.fda.moph.go.th/narcotic/wp-content/uploads/2021/04/Guidance-Updated-v-update-V.4260464.pdf
- หน่วยข้อมูลยา สภาเภสัชกรรม. กัญชากับยาตีกัน. [อินเทอร์เน็ต]. 2565. [เข้าถึงเมื่อ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2565]. เข้าถึงได้จาก: http://www.pharmacycouncil.org.