‘เอ็มเอส’ ถึงเจอไม่บ่อย แต่ใช่ว่าจะไม่เจอ… 7 เรื่องที่ช่วยให้คุณรู้จัก ‘เอ็มเอส’ มากขึ้น

Brain / Health

หลายต่อหลายครั้งที่เราหรือคนรอบข้างมีอาการป่วยแปลกๆ แบบที่เข้าไปค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตก็ยังไม่สามารถไขข้อข้องใจได้มากนักว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นโรคอะไรกันแน่ ต้องดูแลตัวเองหรือดูแลสุขภาพอย่างไร จะรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ หรือบางครั้งอาการที่เกิดขึ้นคุณหมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ไม่มากนัก แต่ดันมาเกิดขึ้นกับเรา ตอนที่อยู่กับคุณหมอก็คิดไม่ออกว่าควรจะต้องถามคำถามอะไรดี แต่พอกลับมาถึงบ้านทีไรต่อมสงสัยทำงานแบบไม่หยุดพักทุกที 

เช่นเดียวกันกับ “ผิงผิง” หญิงสาวที่เต็มไปด้วยความสงสัยกับโรคที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ต้นปีที่ผ่านมาผิงผิงเริ่มมีอาการชาตั้งแต่เอวไปลงจนถึงนิ้วเท้า เวลาก้าวเดินจะไม่รู้สึกว่าเท้าแตะพื้นหรือยังแต่ขยับได้ เวลาเข้าห้องน้ำก็ไม่มีความรู้สึกว่าถ่ายออกไปหรือยัง คุณหมอวินิจฉัยว่าผิงผิงเป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า เอ็มเอส (MS) ที่เกิดอาการขึ้นเป็นครั้งแรก คุณหมอทำการตรวจเช็คอย่างละเอียดตามขั้นตอนก่อนที่จะให้การรักษาด้วยยา 

มาถึงตรงนี้แล้วเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินชื่อ “โรคเอ็มเอส” เป็นครั้งแรก ก็ไม่แปลกอะไรเพราะโรคเอ็มเอสที่ว่านั้นพบในคนไทยน้อยมาก หากเริ่มสงสัยว่าโรคเอ็มเอสเป็นอย่างไรแล้วละก็ พญ.นันทญา ทิศาวิภาต และ ผศ. พญ.จิราพร จิตประไพกุลศาล ศูนย์ความเป็นเลิศทางคลินิกและวิจัยกลุ่มโรคปลอกประสาทเสื่อม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีคำตอบให้ค่ะ

อาการของ ‘เอ็มเอส’ เป็นอย่างไร

โรคเอ็มเอส (Multiple Sclerosis: MS) นั้นเกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดการอักเสบของปลอกประสาทในระบบประสาทส่วนกลางตำแหน่งต่างๆ เช่น สมอง ก้านสมอง เส้นประสาทตา ไขสันหลัง เป็นต้น ปลอกประสาทเป็นส่วนที่หุ้มเส้นประสาทไว้มีหน้าที่สำคัญคือ ทำให้การนำกระแสประสาทไปยังส่วนต่างๆ ให้ทำงานได้อย่างเหมาะสม ดังนั้นการอักเสบของปลอกประสาทที่เกิดขึ้นจึงทำให้เกิดอาการได้หลากหลาย เช่น แขนขาอ่อนแรง ชา เดินเซ ตาเห็นภาพซ้อน ตามัว ปัสสาวะหรืออุจจาระผิดปกติ โดยระยะเวลาที่เกิดอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นเป็นวันหรือเป็นสัปดาห์ ถ้าการอักเสบมีน้อยอาการอาจจะดีขึ้นเองได้ หากมีอาการผิดปกติดังกล่าวเกิดขึ้นใหม่แนะนำให้มาพบแพทย์

เนื่องจากอาการของโรคปลอกประสาทอักเสบนั้นมักมีอาการคล้ายกับอาการของโรคทางระบบประสาทอื่นอีกหลายโรค ดังนั้นผู้ที่มีอาการข้างต้นก็อาจเกิดจากโรคอื่นได้เช่นกัน สำหรับผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเอ็มเอสนั้นมักมีการดำเนินไปของโรค 2 แบบหลัก ๆ ดังนี้

เอ็มเอส…เป็นแล้วหายขาดได้หรือไม่

โรคเอ็มเอสนั้นเกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันบางส่วนของร่างกายทำงานมากเกินไป จึงมักจะต้องใช้ยาเพื่อกดหรือปรับการทำงานของภูมิคุ้มกันของร่างกายอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการอักเสบของปลอกประสาทที่จะทำให้เกิดความเสียหายและทุพลภาพตามมา ผู้ที่เป็นเอ็มเอสหากไม่ได้รับการรักษาก็อาจเกิดทุพลภาพได้ เช่น เดินลำบาก ต้องใช้ไม้เท้าช่วย การมองเห็นไม่ชัดเจน ตลอดจนมีอาการชาหรือปวดตลอดเวลา ซึ่งการทุพลภาพเหล่านี้จะค่อยๆ สะสมเพิ่มขึ้นในระยะเวลา 20-30 ปี แต่หากสามารถควบคุมโรคได้ดี อาการก็มักจะอยู่ในระยะสงบไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่เอ็มเอสจะกำเริบน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออายุเกิน 65 ปี 

ผลข้างเคียงของการรักษาเอ็มเอส

เนื่องจากยารักษาเอ็มเอสนั้นเป็นยาที่ช่วยปรับภูมิคุ้มกันของร่างกาย ดังนั้นยาเกือบทุกชนิดจึงอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติ แต่ก็สามารถป้องกันได้โดยการตรวจการติดเชื้อบางชนิด การฉีดวัคซีนป้องกันโรคก่อนเริ่มยา รวมถึงการดูแลสุขอนามัยในระหว่างรักษา นอกจากนี้ยังมีผลข้างเคียงที่จำเพาะต่อยาแต่ละชนิด เช่น คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว ไข้ขึ้น ปวดเมื่อยตามตัว ซึ่งสามารถรักษาตามอาการได้ และมีส่วนน้อยที่อาจมีผลข้างเคียงรุนแรง (< 1%) เช่น แพ้ยารุนแรง ตับอักเสบ เป็นต้น ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับผลข้างเคียงของยาที่ได้รับ รวมถึงการใช้ยาร่วมกับยาอื่น การพิจารณารับวัคซีน การวางแผนตั้งครรภ์และให้นมบุตรก็ควรปรึกษาแพทย์ด้วยเช่นกัน เพื่อปรับการรักษาให้เหมาะสม ในระหว่างที่ได้รับยากดภูมินั้นควรดูแลและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อและเกิดโรคแทรกซ้อน

อาการแบบนี้ อย่ารีรอ รีบพบแพทย์

ผู้ที่เป็นเอ็มเอส หากมีอาการดังต่อไปนี้ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อประเมินการกำเริบของโรคและพิจารณาให้การรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ 

สำหรับผู้เป็นเอ็มเอสที่เคยมีอาการกำเริบของโรคแล้วนั้น เมื่อได้รับการรักษาแล้วอาจจะยังเหลืออาการบางอย่างอยู่ เช่น ชาส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย อาการนั้นอาจจะเป็นๆ หายๆ ชามากหรือชาน้อยแตกต่างกันในแต่ละวันได้ ถ้าอาการเป็นนานเกิน 24 ชั่วโมง แนะนำให้รีบพบแพทย์ก่อนเวลานัดหมาย รวมถึงหากมีความผิดปกติส่วนอื่นของร่างกายเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

ใช้ชีวิตอย่างไร หากเป็นเอ็มเอส

สำหรับผู้ที่เป็นเอ็มเอสนั้นสามารถใช้ชีวิตเหมือนปกติได้ทุกอย่าง หมอแนะนำให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพราะจะช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางร่างกาย เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ลดอาการล้าและทำให้การเคลื่อนไหวดีขึ้น ‘ควรงดการสูบบุหรี่และดื่มสุรา’  ทั้งนี้หากมีทุพลภาพทางการเคลื่อนไหว เช่น เดินลำบาก ก็ควรใช้อุปกรณ์ช่วยเดินที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และอาจต้องเข้ารับการทำกายภาพบำบัดเพื่อฝึกการทรงตัว

ชะลอความรุนแรงของเอ็มเอสได้อย่างไร

ปัจจัยสำคัญในการควบคุมการดำเนินโรคและชะลอความรุนแรงของโรคเอ็มเอสนั้น คือ การใช้ยาปรับภูมิคุ้มกันอย่างสม่ำเสมอ การตรวจติดตามเวลาที่หมอนัดเพื่อทำการประเมินการดำเนินไปของโรค การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รวมถึงงดบุหรี่และดื่มสุรา พักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลสุขภาพใจ หากตรวจพบว่าระดับวิตามินดีในเลือดต่ำก็อาจรับประทานวิตามินดีเสริมเพื่อให้อยู่ในระดับปกติ

‘ผู้หญิง’ หากเป็นเอ็มเอสมีบุตรได้หรือไม่

ผู้หญิงที่เป็นเอ็มเอสนั้นสามารถมีบุตรได้เมื่อสามารถคุมการกำเริบของโรคเอ็มเอสได้ดีแล้ว ทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่เป็นเอ็มเอสนั้นควรปรึกษาแพทย์เมื่อวางแผนจะมีบุตร ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงยาบางชนิดและเตรียมตัวหยุดยาก่อนการตั้งครรภ์ ปัจจุบันมีผลการศึกษาพบว่าผู้หญิงที่เป็นเอ็มเอส ส่วนมากสามารถตั้งครรภ์และคลอดบุตรได้ครบกำหนด การกำเริบของเอ็มเอสจะลดลงในช่วงที่ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงไตรมาสที่ 3 แต่อาจมีโอกาสกำเริบได้ช่วงหลังคลอด 3-6 เดือน จึงจำเป็นต้องดูแลติดตามอย่างใกล้ชิด

ทัศนคติที่ดีในการใช้ชีวิตนั้นมีความสำคัญมาก โรคเอ็มเอสอาจฟังดูน่ากังวลเมื่อได้รับการวินิจฉัยในช่วงแรก เนื่องจากเป็นโรคที่พบไม่บ่อยในคนไทยแต่ไม่ใช้โรคร้าย การดำเนินโรคส่วนใหญ่มีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปและมียารักษาซึ่งได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ที่เป็นเอ็มเอสในปัจจุบันมีอายุขัยที่ยืนยาวขึ้นและไม่แตกต่างจากคนทั่วไปหากไม่มีภาวะแทรกซ้อน การทุพลภาพจากโรคมักจะเกิดขึ้นในเวลาหลักสิบปี ดังนั้นจึงสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ การมีทัศนคติที่ดีต่อโรคและมีกำลังใจที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขค่ะ



Writer:

ผศ.พญ. จิราพร จิตประไพกุลศาล
ศูนย์ความเป็นเลิศทางคลินิกและวิจัยกลุ่มโรคปลอกประสาทเสื่อม
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
พญ. นันทญา ทิศาวิภาต
ศูนย์ความเป็นเลิศทางคลินิกและวิจัยกลุ่มโรคปลอกประสาทเสื่อม
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

บทความที่เกี่ยวข้อง