มะเร็งช่องปาก…เรื่องใกล้ตัวที่ป้องกันได้

Cancer / Health

มะเร็งช่องปากเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในบริเวณศีรษะและคอ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยค่อนข้างมาก ทั้งด้านการพูด การรับประทานอาหาร ไปจนถึงภาพลักษณ์ จากแผลหรือก้อนมะเร็งที่ลุกลามออกมาจนมองเห็นได้บริเวณใบหน้าและคอ มะเร็งช่องปากสามารถแพร่กระจายไปตามที่ต่างๆ ของร่างกายได้ เช่น ปอด ตับ และกระดูก

ใครมีความเสี่ยงบ้าง?

การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เคี้ยวหมาก อมยาสูบหรือยาเส้น เป็นความเสี่ยงที่พบได้บ่อยที่สุด ผู้ป่วยมะเร็งช่องปากส่วนมากมักมีประวัติการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือเคี้ยวหมากเป็นระยะเวลายาวนาน จนทำให้เยื่อบุช่องปากที่ได้รับสารก่อมะเร็งมีความผิดปกติเกิดขึ้นในระดับเซลล์ หลังจากนั้นเซลล์ที่ผิดปกติเหล่านี้จะมีการเจริญเติบโต แบ่งตัวได้อย่างรวดเร็วจนเกิดเป็นมะเร็งในที่สุด 

รู้ได้อย่างไรว่าเราอาจเป็นมะเร็งช่องปาก?

หากมีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ เช่น แผลเรื้อรังในช่องปาก มีเลือดออกหรือปวดที่แผล แผลมีขนาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีฟันโยกหรือหลุดร่วง มีก้อนที่คอ โดยอาการเหล่านี้หากเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ นานเกินกว่า 2 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์หรือทันตแพทย์เพื่อให้การวินิจฉัย 

ปัจจุบันการรักษาเป็นอย่างไร?

การรักษามะเร็งช่องปากค่อนข้างมีความซับซ้อน ปัจจุบันมีการรักษาหลายวิธี ได้แก่ การผ่าตัด ฉายรังสี หรือเคมีบำบัด โดยแพทย์ผู้รักษาอาจเลือกใช้เพียงวิธีใดวิธีหนึ่งหรือใช้หลายวิธีร่วมกัน ทั้งนี้ขึ้นกับระยะของโรคและความพร้อมของผู้ป่วย 

การรักษามีผลกระทบอะไรบ้าง?

การรักษาด้วยการผ่าตัด ฉายรังสี หรือเคมีบำบัด นอกจากจะสามารถกำจัดและควบคุมโรคได้แล้ว อีกด้านหนึ่งก็ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เข่น การพูด การกลืนที่ไม่ปกติ ซึ่งเป็นผลจากการสูญเสียเนื้อเยื่อหรืออวัยวะจากการผ่าตัด อาการเจ็บบริเวณเยื่อบุช่องปากและคอหอยจากการอักเสบที่เป็นผลแทรกซ้อนจากยาเคมีบำบัด อาการปากแห้ง น้ำลายแห้ง จากการฉายรังสีทำให้ต่อมน้ำลายทำงานน้อยลง อย่างไรก็ตามผลกระทบเหล่านี้สามารถรักษาให้ดีขึ้นจนใกล้เคียงปกติได้ด้วยยาหรือกายภาพบำบัด เป็นต้น

มะเร็งช่องปากถึงแม้จะน่ากลัวแต่ก็สามารถป้องกันได้ ซึ่งทำได้ง่ายมากด้วยการงดดื่มเหล้า เลิกสูบบุหรี่ ไม่เคี้ยวหมาก ไม่อมยาสูบหรือยาเส้น หมั่นดูแลสุขภาวะช่องปากอย่างสม่ำเสมอ และควรพบแพทย์หรือทันตแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำทุก 6-12 เดือน รู้อย่างนี้แล้ว…ถึงเวลากลับมาดูแลสุขภาพทางช่องปากกันแล้วหรือยัง?

บทความที่เกี่ยวข้อง