Q10 หรือ Coenzyme Q10 เป็นชื่อที่หลายคนคงคุ้นหูคุ้นตากันดีจากโฆษณาสินค้าเกี่ยวกับเครื่องสำอางเช่นครีมบำรุงผิว แต่รู้หรือไม่ว่า คุณประโยชน์ของ Q10 นั้นมีมากกว่าแค่เรื่องสวยๆ งามๆ และเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์มานานว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง โดยเฉพาะการนำมาใช้ดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวกับโรคหัวใจ
Q10 คืออะไร?
Q10 ย่อมาจาก Coenzyme Q10 (หรือนิยมเรียกว่า CoQ10) คือสารที่ละลายได้ในไขมัน มีคุณสมบัติคล้ายกับวิตามิน มีส่วนช่วยในการเผาผลาญพลังงานและกระตุ้นการทำงานของระบบต่างๆ โดยจะอยู่ที่ส่วนเยื่อหุ้ม (membrane) ของไมโตคอนเดรีย (Mitochondrial) ซึ่งเป็นแหล่งสร้างพลังงานของเซลล์ สามารถพบได้ในเซลล์ทั่วร่างกาย แต่จะพบมากเป็นพิเศษในเซลล์ที่ใช้พลังงานสูง เช่น หัวใจ ตับ ไต และตับอ่อน
ประโยชน์ของ Q10 กับการป้องกันและรักษาโรค
จากงานวิจัยหลายๆ ชิ้นพบว่า ผู้ที่เป็นโรคบางชนิด เช่น หัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตสูง โรคเหงือก โรคพาร์กินสัน การติดเชื้อในเลือด โรคกล้ามเนื้อบางชนิด และผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น มีระดับ Q10 ในร่างกายค่อนข้างต่ำ นำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่าระดับของ Q10 ในร่างกายมีผลสัมพันธ์ต่อความเจ็บป่วย รวมทั้งมีผลต่อการป้องกันและรักษาโรคได้ไม่มากก็น้อย
- ข้อสันนิษฐานที่น่าสนใจก็คือ Q10 เป็นสารที่สามารถต่อต้านอนุมูลอิสระได้ ทำให้ลดภาวะ oxidative stress ซึ่งเป็นภาวะที่หากเกิดขึ้นเป็นเวลานาน ก็อาจส่งผลให้เกิดการทำลายเนื้อเยื่อ นำไปสู่ความเสื่อมของอวัยวะ มีผลต่อการเกิดโรคต่างๆ โดยที่พบบ่อยคือโรคในระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคเกี่ยวกับสมองและระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน และอัลไซเมอร์ โรคเกี่ยวกับระบบต่อมไร้ท่อต่างๆ โรคมะเร็ง รวมทั้งยังยังมีผลต่อความยืดหยุ่นของผิวหนังอีกด้วย
- Q10 ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด มีตัวอย่างงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Heart Association ฉบับที่ 9 ปี 2016 พบว่า Q10 อาจเป็นทางเลือกในการรักษาที่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยโรคภาวะหัวใจล้มเหลว ในงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิโรคหัวใจแห่งชาติของนิวซีแลนด์ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the American College of Cardiology ฉบับที่ 52 ปี 2008 เผยว่า Q10 อาจช่วยลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง และงานวิจัยจากสถาบัน National Center for Complementary and Integrative Health ของอเมริกาพบว่า Q10 อาจมีส่วนให้ผู้ป่วยที่ผ่าตัดหัวใจฟื้นตัวเร็วขึ้นอีกด้วย ข้อสันนิษฐานจากการรักษาด้วย Q10 ก็คือ Q10 สามารถช่วยฟื้นฟูระดับการผลิตพลังงานที่เหมาะสม ลดความเสียหายจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน และปรับปรุงการทำงานของหัวใจ ทั้งหมดนี้ล้วนมีผลดีต่อการรักษาอาการหัวใจล้มเหลว
- จากข้อมูลของ American Academy of Neurology และ American Headache Society พบว่า Q10 อาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรนในผู้ใหญ่ได้ เพราะมีคุณสมบัติที่ช่วยให้ไมโตคอนเดรียในเซลล์แข็งแรง
อาหารเสริม Q10 มีความจำเป็นหรือไม่?
แม้ว่า Q10 จะเป็นสารที่ร่างกายสามารถผลิตได้เองตามธรรมชาติ แต่เนื่องจากปริมาณการสังเคราะห์ Q10 ในร่างกายจะลดลงไปตามความเสื่อมและความชราภาพของเซลล์ และในกรณีผู้ป่วยบางโรคที่ไม่สามารถผลิต Q10 ได้เอง หรือมีระดับ Q10 ต่ำ ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับ Q10 จากแหล่งภายนอกเข้าไปทดแทนให้เหมาะสม
อาหารที่พบว่ามีสารอาหาร Q10 อยู่ได้แก่ เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ปลาในกลุ่มที่มีกรดไขมันจำเป็นสูง (fatty fish) เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ถั่วเหลือง และบร็อคโคลี เป็นต้น
การรับประทาน Q10 ในรูปแบบอาหารเสริมนั้นถือว่ามีความปลอดภัย แต่ควรศึกษาหาข้อมูลก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทุกครั้ง ร่วมกับการปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อเลือกรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกาย เพราะแต่ละคนมีสภาพร่างกายที่แตกต่างกัน บางคนอาจมีโรคประจำตัว หรือได้รับยาอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งการบริโภค Q10 อาจทำให้เกิดการขัดขวางการทำงานของยาได้ เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือยาฮอร์โมนไทรอยด์ เป็นต้น
–
แหล่งข้อมูล:
www.webmd.com
www.mayoclinic.org
www.medicalnewstoday.com
www.healthline.com
www.jacc.org
www.ahajournals.org