ท้องอืด ท้องเฟ้อ เอะอะกินยาลดกรด…จะดีหรือ?

Digestive / Health

คนไทยจำนวนไม่น้อยต่างเคยประสบกับอาการของโรคกระเพาะอาหาร (Gastritis) เช่น ปวดท้อง แสบท้อง รู้สึกแน่นท้อง มวนท้อง ตรงบริเวณช่องท้องส่วนบน สาเหตุส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตหลายอย่างที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคกระเพาะ เช่น การรับประทานอาหารรสจัด รับประทานของหมักดอง ดื่มน้ำอัดลม/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป สูบบุหรี่  รวมทั้งความเครียด เป็นต้น แต่เพราะอาการของโรคกระเพาะมักเกิดขึ้นไม่หนักหนาและส่วนมากแล้วสามารถหายได้เองจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เมื่อเกิดอาการปวดท้อง แสบท้อง หรือแน่นท้อง หลายคนจึงมักหาซื้อ “ยาลดกรด” ที่มีวางขายทั่วไปมาใช้เพื่อบรรเทาอาการ

แต่… ยาลดกรดที่เราใช้อยู่นั้น เหมาะสมและเพียงพอต่ออาการป่วยของเราหรือเปล่า?

คุณรู้จัก “ยาลดกรด” ที่ใช้เป็นประจำดีแค่ไหน?

ก่อนอื่น คุณต้องทราบก่อนว่า ยาลดกรดใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องอืด แสบร้อนกลางอก และกรดไหลย้อน แต่จะไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาดหรือป้องกันการเกิดของโรคได้ 

นอกจากยาลดกรดจะมี 2 ประเภท คือ ยาลดกรดชนิดเม็ดสำหรับเคี้ยวและยาลดกรดชนิดน้ำ หากแบ่งตามการทำงานของตัวยาจะสามารถแบ่งออกได้เป็น

  1. ยาลดกรด (Antacid) คือยาที่ปรับสภาพความเป็นกรด (pH) ในกระเพาะอาหารให้เป็นกลางมากขึ้น
  2. ยาลดการผลิตกรด (H2 Blockers) คือยาที่ลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร 
  3. ยายับยั้งการผลิตกรดในกระเพาะอาหาร (Proton – Pump Inhibitors หรือ PPIs) คือยาที่ยับยั้งการผลิตกรดจากกระเพาะอาหาร

ยาทั้ง 3 ประเภทช่วยบรรเทาอาการของโรคกระเพาะอาหาร โดย PPIs จัดเป็นยาที่ออกฤทธิ์ในการลดกรดได้รวดเร็วและแรงกว่าอีกสองชนิด แพทย์จึงมักสั่งยาชนิดนี้ให้ผู้ที่มีโรคหรือความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับกรดในกระเพาะอาหาร เช่น โรคแผลในทางเดินกระเพาะอาหาร โรคแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น โรคกรดไหลย้อน รวมถึงใช้ในการป้องกันการเกิดแผลในทางเดินอาหารจากการใช้ยาบรรเทาอาการอักเสบในกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID-induced ulcers) และใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะในการกําจัดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโรไล (Helicobacter pylori หรือ H.pylori) เป็นต้น

เราควรใช้ยาลดกรดอย่างไร

ยาลดกรดควรใช้เมื่อเกิดอาการและใช้ตามปริมาณที่เหมาะสมเท่านั้น ระยะเวลาโดยทั่วไปในการรับประทานยาลดกรดเพื่อรักษาแผลในกระเพาะอาหารตามฉลากยา โดยทั่วไปมักอยู่ที่ 4-6 สัปดาห์ หากซื้อยารับประทานเองควรอ่านคำแนะนำตามฉลากยาหรือปรึกษาเภสัชกรถึงปริมาณและระยะเวลาในการรับประทานยาให้แน่ชัด ไม่ควรใช้ยาลดกรดติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินไป หากครบกำหนดในการรับประทานยาแล้วอาการยังไม่หาย ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาถึงสาเหตุที่แท้จริงจะดีกว่า 

แต่บางกรณี ยาลดกรดอย่างเดียวไม่เพียงพอแน่

ถึงแม้ว่ายาลดกรดจะสามารถระงับอาการดังกล่าวได้ในทันที รวมทั้งแทบไม่มีผลข้างเคียงใดๆ หากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม และไม่ได้ใช้ยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจนเกินไป แต่ในบางกรณี ยาลดกรดเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอสำหรับรักษาตัวโรคได้ โดยเฉพาะว่าหากคุณมีการติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโรไล (H.pylori) ในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ส่วนต้น

  • หากคุณมีอาการอาหารไม่ย่อย โดยเมื่อรับประทานยาแล้วยังคงกลับมาเป็นซ้ำอย่างต่อเนื่อง หรือ มีอาการปวดท้อง ท้องอืด มีลมในท้อง ร่วมกับอาการเบื่ออาหาร ซึ่งเป็นอาการของการติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนต้น คุณไม่ควรใช้ยาลดกรดเพียงอย่างเดียว 
  • หรือหากคุณอยู่ในกรณีที่มีประวัติเป็นแผลในระบบทางเดินอาหาร และกำลังใช้ยาแก้อักเสบหรือมีความจำเป็นต้องใช้ยาแก้อักเสบในระยะยาว เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) แอสไพริน (Aspirin) และไดโคลฟีแนค (Diclofenac) ก็ไม่ควรใช้ยาลดกรดเพื่อบรรเทาอาการโรคกระเพาะเพียงอย่างเดียวเช่นกัน เพราะยาเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร

สิ่งที่คุณควรทำคือพบแพทย์เพื่อตรวจหาการติดเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว โดยการตรวจนั้นสามารถทำได้ด้วยวิธีเป่าลมหายใจ (breath test) ตรวจอุจจาระ (stool antigen) และการส่องกล้องทางเดินอาการส่วนบนร่วมกับการตรวจชิ้นเนื้อ จากนั้นหากแพทย์วินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ส่วนต้น แพทย์จะสั่งยาปฏิชีวนะให้คุณรับประทานร่วมกับยาลดกรด

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ยาลดกรดจะช่วยบรรเทาอาการปวดท้องที่น่ารำคาญแก่คุณได้ และการใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วยตามแพทย์สั่งจะสามารถรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินอาหารได้อีกเช่นกัน แต่คุณก็ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและใช้ชีวิต เช่น หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม การสูบบุหรี่ และความเครียด เพื่อที่ร่างกายของคุณจะได้ปลอดจากโรคกระเพาะอาหารอย่างยั่งยืน

ที่มา:
patient.info
healthline.com
differencebetween.net
sriphat.med.cmu.ac.th
pharmacy.mahidol.ac.th
hellokhunmor.com

บทความที่เกี่ยวข้อง