นอกจากการนอนน้อย นอนไม่หลับ หรือนอนหลับไม่มีคุณภาพ (Sleep deprivation) จะก่อให้เกิดโรคภัยหลายอย่างต่อร่างกายแล้ว (อ่านได้ที่นี่: นอนน้อย นอนไม่ได้คุณภาพ เสี่ยงต่อโรคอะไรบ้าง) ยังทำความเสียหายให้แก่ ‘โลคัส คอรึลัส’ (Locus coeruleus) หรือเซลล์ที่มีความสำคัญต่อสมองในส่วนการรับรู้และตื่นตัวอีกด้วย ทำให้คนที่นอนน้อยบ่อยๆ เกิดอาการเกี่ยวกับสมองที่ไม่พึงประสงค์ตามมา ดังต่อไปนี้
1 สมรรถภาพในการคิดและการตัดสินใจถดถอย
เวลาเราอดนอนแค่หนึ่งคืน วันต่อมา เรายังเบลอๆ งุนงง ไม่มีสมาธิหรือสามารถจดจ่อกับอะไรได้นาน ดังนั้นหากเรานอนน้อยเป็นประจำ หรือว่านอนหลับๆ ตื่นๆ อยู่บ่อยๆ สมองจะสูญเสียความสามารถในการจดจ่อกับการเรียนและการงาน ทำให้เราไม่สามารถทำงานที่ต้องใช้กระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้ดีเท่าที่ควร และเมื่อเราไม่สามารถโฟกัสกับสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้าได้ เมื่อต้องตัดสินใจอะไรบางอย่างที่ซับซ้อน เราก็มีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน
2 ขี้หลงขี้ลืม มีปัญหาในการจดจำ
ขณะที่เรานอนหลับ สมองจะทำการจัดเก็บสิ่งที่เราประสบพบเจอในวันนั้นๆ เข้ากล่องความทรงจำระยะยาวของเราให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ทำให้เราสามารถจดจำการงาน การเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ หรือสิ่งสำคัญที่ต้องจดจำในวันนั้นได้ดี นี่นับเป็นความมหัศจรรย์ของร่างกายเลยทีเดียว แต่หากเรานอนไม่เพียงพอหรือนอนไม่ได้คุณภาพ กระบวนการจัดเก็บความทรงจำของสมองจะถูกรบกวน ทำให้เรากลายเป็นคนขี้หลงขี้ลืม เรียนรู้หรือทำอะไรก็ไม่ค่อยเข้าหัว
3 ขาดความสามารถในการเรียนรู้
ใครมีลูกมีหลานที่มีปัญหาเรื่องการเรียนต้องอ่านข้อนี้ให้ดี! หรือแม้กระทั่งคนในวัยทำงานแล้วก็เช่นกัน เพราะเมื่อเราไม่สามารถมีสมาธิจดจ่อกับการเรียนหรือการงานได้ รวมทั้งยังมีปัญหาในการจดจำ เราจึงสูญเสียความสามารถในการเรียนรู้ ดังนั้น หากใครมีปัญหาไม่สามารถโฟกัสกับการเรียนหรืออ่านหนังสือเท่าไรก็จำไม่ได้สักที คงต้องสำรวจด่วนเลยว่า ตัวเองหรือลูกๆ ของเรานอนหลับเพียงพอหรือว่านอนหลับอย่างมีคุณภาพหรือไม่
4 สมองช้า ปฏิกิริยาโต้ตอบช้าลง
ผลกระทบต่อสมองข้อนี้จัดว่าอันตรายที่สุด เพราะการโต้ตอบที่ช้าลงอาจนำไปสู่อุบัติเหตุถึงแก่ชีวิต ไม่ว่าจะตัวคุณเองหรือผู้ที่อยู่รอบข้าง เช่น หากขับรถโดยมีอาการง่วง เบลอ ไม่สามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ตรงหน้าได้ทันท่วงที ก็อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ หรือหากทำงานกับเครื่องจักร ก็อาจสูญเสียอวัยวะจากอุบัติเหตุได้
5 อารมณ์ฉุนเฉียว ซึมเศร้า
ยิ่งนอนน้อย นอนหลับๆ ตื่นๆ คุณก็มีแนวโน้มจะหงุดหงิดง่าย ขี้โมโห รวมทั้งสูญเสียความสามารถในการรับมือกับความเครียด ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น การนอนหลับไม่ได้คุณภาพอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า และเมื่อเกิดภาวะซึมเศร้าก็จะยิ่งทำให้คุณนอนหลับได้ยากขึ้นอีกด้วย
สัญญาณเตือนว่าเรานอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
ในแต่ละคืน เราควรนอนหลับพักผ่อนให้มากกว่า 6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรเกิน 9 ชั่วโมง ชั่วโมงการนอนที่แพทย์แนะนำนั้นอยู่ที่ระหว่าง 7-9 ชั่วโมง แต่ว่าคุณแต่ละคนจะต้องการการนอน 7 หรือ 8 หรือ 9 ชั่วโมงนั้น คุณต้องคอยสังเกตอาการของตัวเอง เพราะเราแต่ละคนต้องการชั่วโมงการนอนที่แตกต่างกันไป
หากเมื่อไรก็ตามที่คุณตื่นมาแล้ว รู้สึกไม่สดชื่น เช้าแล้วก็ยังง่วง สายแล้วก็ยังเบลอ นั่นแปลว่าชั่วโมงการนอนที่คุณใช้อยู่ไม่เพียงพอเสียแล้ว ลองปรับชั่วโมงการนอนให้มากขึ้น แล้วดูว่าคุณรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่าขึ้นไหม หรือหากคุณมีอาการใดอาการหนึ่งตามที่เรากล่าวมาข้างต้นแล้ว ก็ยิ่งต้องรีบปรับชั่วโมงการนอนให้ด่วนๆ เลย เพราะสมองเริ่มถูกทำลายแล้ว!
ข้อมูลสุดท้ายที่คุณควรรู้เกี่ยวกับการนอนคือ ถึงคุณจะใช้วิธีการนอนยาวนานขึ้นในคืนถัดมาเพื่อชดเชยการอดนอนในคืนก่อนหน้า สมองของคุณก็ไม่สามารถกู้ความเสียหายกลับมาได้! เพราะฉะนั้นปรับนิสัยการนอนให้ถูกสุขลักษณะกันดีกว่า
–
แปลและเรียบเรียงจาก:
webmd.com
ข้อมูลเพิ่มเติม:
science.org
sleepcenterinfo.com