“ปัญหาสุขภาพจิต” ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากโรคทางกาย โรคทางใจ สิ่งแวดล้อม สถานการณ์ ตลอดจนกิจกรรมในช่วงวัยต่างๆ นับเป็นเรื่องสำคัญและใกล้ตัวที่สามารถเกิดขึ้นได้ไม่ว่ากับใครก็ตาม ซึ่งหากลองมองในภาพใหญ่แล้ว ปัจจัยป้องกันที่สามารถทำได้ก็มีอยู่หลายทาง ตั้งแต่การหมั่นเช็คสุขภาพใจของตัวเอง การเข้าปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ไปจนถึงการที่คนในสังคมดูแลและใส่ใจกัน ซึ่งเริ่มต้นได้ง่ายๆ ด้วย “การรับฟัง” เพราะการฟังเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยและผู้ที่มีภาวะเครียดมีโอกาสได้ระบายความในใจและปัญหาของตัวเอง ซึ่งมีส่วนสำคัญที่จะช่วยลดการสูญเสียลง
นักเคลื่อนไหวทางสังคม ผู้มีประสบการณ์ในการเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและได้รับการรักษาจนกระทั่งอาการดีขึ้นตามลำดับอย่าง อมรเทพ สัจจะมุณีวงศ์ เองก็นำประสบการณ์การฟังแบบเดียวกันนี้มาเป็นจุดตั้งต้นในการพัฒนาแอปพลิเคชันชื่อ “Sati (สติ)” ขึ้น พร้อมเป้าหมายคือการสร้างแพลตฟอร์มที่ปลอดภัยให้ผู้มีปัญหาสุขภาพใจสามารถเข้าถึงผู้รับฟังได้ง่ายขึ้น แบบไม่จำเป็นต้องรอจนป่วยก็เข้ารับการปรึกษาได้ ที่สำคัญคือใครก็สามารถใช้บริการได้แบบฟรีๆ
นอกจากภารกิจแรกของ Sati อย่างการเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยแบ่งเบาความเครียด คลายความกังวล หรือแม้แต่การรับฟังเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของใครสักคนแล้ว ทีมพัฒนายังมีปลายทางคือการร่วมสร้างสังคมที่พร้อมจะรับฟังซึ่งกันและกันแบบไม่ตัดสินกันมากขึ้น พร้อมๆ ไปกับการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษา เพื่อให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือได้รับการดูแลทางสุขภาพจิตอย่างเท่าเทียมและทันเวลาด้วย
Sati ที่ถูกพัฒนาให้รองรับทั้งระบบ iOS และ Android สามารถใช้งานได้ง่ายๆ จากการสร้างแอ็กเคานต์ของตัวเองขึ้นด้วยการระบุชื่ออะไรก็ได้ตามต้องการ ตามด้วยอายุ และเพศสภาพ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่เพศชาย หญิง และ LGBTQ+ เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนแรก ระบบจะพาผู้ใช้งานเข้าสู่หน้าต่าง virtual call center ที่เชื่อมต่อไปยังผู้รับฟังอาสาซึ่งผ่านการอบรมเรื่องการฟังด้วยใจมาแล้ว โดยสามารถเลือกพูดคุยได้ทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ หลังจากวางสาย ระบบยังมีการถามคำถามเพิ่มเติม เป็นต้นว่า คุณรู้สึกอย่างไร ผู้รับฟังให้ความช่วยเหลือคุณได้ไหม และต้องการให้ระบบช่วยติดตามภายใน 24 ชั่วโมงไหม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปเก็บไว้ในดาต้าเบสเพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลเชิงสถิติใช้ในการส่งต่อความช่วยเหลือไปยังเคสเร่งด่วน ไปจนถึงการทำแคมเปญที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตต่อไป
ในรายงาน Depression and Other Common Mental Disorders: Global Health Estimates ของกรมอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยไว้ในปี พ.ศ. 2560 ว่า ทั่วโลกมีจำนวนผู้ป่วยซึมเศร้าอยู่ราว 322 ล้านคน หรือประมาณ 4.4% ของประชากรโลก สำหรับประเทศไทยเอง ตัวเลขจากกรมสุขภาพจิตได้ประมาณการจำนวนผู้ป่วยซึมเศร้าในเวลานี้อยู่ที่ 1.5 ล้านคน ซึ่งมีผู้ป่วยซึมเศร้าส่วนใหญ่อยู่ในวัยสูงอายุ โดยเด็กและเยาวชน รวมถึงคนหนุ่มสาวก็มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาสุขภาพจิตที่เรากำลังเผชิญอยู่
ในขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วนของผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตต่อผู้ป่วยที่ต่างกันมากถึง 1:250,000 ทำให้การเข้าถึงบริการทางสุขภาพจิตยังมีข้อจำกัดอยู่มากนั้น สิ่งหนึ่งที่ Sati สามารถทำคู่ขนานกันไปได้เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว คือการสร้างเครือข่ายพื้นฐานในสังคมอย่าง peer support หรือเพื่อนหนุนใจให้แก่ผู้ที่มีความทุกข์ให้แข็งแกร่งขึ้น
“peer support เป็นความต้องการที่มีราคาถูกที่สุดและแทบจะไม้ต้องใช้อุปกรณ์ใดๆ ที่ซับซ้อน ซึ่งเป้าหมายหนึ่งของ Sati ก็คือการทำให้เครือข่ายนี้เข้มแข็งขึ้น และหากเราทำสำเร็จ ผมคิดว่าแพลทฟอร์มนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยคัดแยกผู้ที่ยังไม่จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาให้ได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี รวมถึงช่วยคัดกรองผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้สามารถเข้าถึงและได้รับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเราสามารถสร้างผู้ฟังซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นแอปฯ Sati อย่างเดียว มาเป็นผู้ฟังที่ช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คน ชุมชน และสังคมได้ นี่ก็จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดปัญหาสุขภาพจิตในประเทศลงได้อีกทางหนึ่งเลย” อมรเทพกล่าว
ดาวน์โหลด: ddl.socialgiver.com/ddl/sati-app
อ้างอิง:
www.satiapp.co/th
www.facebook.com/mindfulsati
apps.who.int