‘ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด’ ภัยเงียบที่อาจอันตรายกว่าที่คิด

Brain / Health

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression หรือ PPD) คือภาวะซึมเศร้าที่เกิดหลังจากการคลอดบุตร โดยภาวะซึมเศร้าดังกล่าวเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของฮอร์โมนในร่างกาย เพราะระหว่างที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) หรือฮอร์โมนเพศหญิง และฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน (Progesterone) หรือฮอร์โมนเพศที่มีบทบาทในการควบคุมรอบประจำเดือน การตั้งครรภ์ และการสร้างตัวอ่อน จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติถึงสิบเท่า แต่แล้วหลังจากคลอดบุตร ระดับฮอร์โมนดังกล่าวจะลดลงอย่างรวดเร็ว จนกลับสู่ระดับปกติภายในเวลาเพียง 3 วัน ยิ่งเมื่อการลดลงอย่างฉับพลันของฮอร์โมนเพศ รวมเข้ากับการเปลี่ยนแปลงหลายด้านเมื่อผู้หญิงเปลี่ยนสถานะกลายเป็น “แม่” ที่มักมีความกังวลเกี่ยวกับลูกเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย อารมณ์ ปัญหาความสัมพันธ์ หรือแม้แต่ปัญหาสถานะการเงิน ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย 

ระดับความรุนแรงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

ปกติแล้ว เมื่อกำลังเข้าสู่สถานะพ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นลูกคนแรกหรือคนที่สองที่สามก็ตาม พ่อแม่มักเผชิญกับอารมณ์ตื่นเต้น กังวล เหนื่อยล้า เป็นธรรมดาอยู่แล้ว แต่หากเมื่อไรก็ตามที่คุณแม่มีอาการมากกว่านั้น เช่น รู้สึกเศร้า เหงา ร้องไห้บ่อยโดยไม่มีสาเหตุ หรืออารมณ์แปรปรวน คุณแม่อาจกำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดที่สามารถแบ่งออกตามความรุนแรงของอาการได้ดังนี้

  1. ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด (Postpartum Blues หรือ Baby Blues) 
  • พบได้มากที่สุดถึง 50-75% ของคุณแม่หลังคลอด
  • อาการที่พบ เช่น ร้องไห้บ่อยโดยไม่มีสาเหตุ รู้สึกเศร้า วิตกกังวล เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน
  • ปกติแล้วอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นภายในสัปดาห์แรกหลังคลอด
  • หลังจากนั้น อาการต่างๆ จะค่อยๆ ทุเลาลงภายใน 2 สัปดาห์ โดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา
  1. ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression)
  • ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดจะรุนแรงกว่า Baby Blues ตามสถิติพบ 1 ใน 7 ของพ่อแม่มือใหม่
  • อาการที่พบ เช่น ร้องไห้บ่อยโดยไม่มีสาเหตุ หงุดหงิดง่าย เหนื่อยล้า รู้สึกผิด เศร้า วิตกกังวล รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า เบื่ออาหารอย่างรุนแรง นอนไม่หลับ ไม่สามารถดูแลตัวเองและลูกได้ 
  • ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดนี้จะมีอาการรุนแรงต่างกันไป โดยอาจเกิดขึ้นภายในสัปดาห์แรกหลังคลอด หรือค่อยๆ พัฒนาอาการขึ้นมาจนแสดงอาการให้เห็นหนึ่งปีหลังคลอด
  • อาการดังกล่าวอาจคงอยู่ยาวนานหลายเดือน ผู้ป่วยจึงควรเข้ารับการรักษาทางจิตเวช โดยการใช้ยาแก้ซึมเศร้า (Antidepressants) ร่วมกับการรักษาจากจิตแพทย์ ถือว่าได้ผลดีมาก
  1. ภาวะโรคจิตหลังคลอด (Postpartum Psychosis) 
  • จัดเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอดที่รุนแรงมากที่สุดและต้องการการรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายและทำร้ายลูกได้ 
  • โอกาสการเกิดน้อย คือ 1 ใน 1,000 ราย 
  • อาการที่พบ เช่น รู้สึกกระสับกระส่ายอย่างมาก สับสน สิ้นหวัง นอนไม่หลับอย่างรุนแรง วิตกกังวล หวาดกลัว  เห็นภาพหลอน พูดเร็ว กระตือรือร้นมากเกินปกติ (hyperactive)
  • อาการดังกล่าวอาจคงอยู่หลายสัปดาห์หรือหลายเดือน จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วนในโรงพยาบาล โดยการใช้ยาร่วมกับการดูแลจากจิตแพทย์ หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการใช้ยา แพทย์อาจพิจารณาใช้การรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive Therapy หรือ ECT) 

ปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

นอกจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของฮอร์โมนเพศและการเปลี่ยนแปลงในส่วนอื่นๆ แล้ว คุณอาจยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มต่อภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หากมีประวัติดังต่อไปนี้

  • เคยป่วยหรือมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้า ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด และมีภาวะอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Dysphoric Disorder หรือ PMDD)
  • มีปัญหาชีวิตคู่
  • เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวหรือขาดการสนับสนุน
  • ลังเลหรือไม่แน่ใจว่าต้องการการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นหรือไม่
  • มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ คลอดยาก หรือคลอดก่อนกำหนด
  • อายุน้อยกว่า 20 ปี
  • ลูกที่คลอดออกมาเป็นเด็กพิเศษ (baby with special needs) หรือ ลูกร้องไห้บ่อย

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด โดยเฉพาะประเภทที่ 2 และ 3 จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะนอกจากอาจนำไปสู่อันตรายต่อตัวแม่และลูกแล้ว หากปล่อยให้อาการเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนาน ยังอาจส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก เช่น ปัญหาพฤติกรรมและการเรียนรู้ ปัญหาการนอนหลับ การกิน น้ำหนักเกิน ปัญหาการเข้าสังคม รวมถึงปัญหาแม่และลูกขาดความผูกพันระหว่างกัน เป็นต้น

แปลและเรียบเรียงจาก:
my.clevelandclinic.org
webmd.com

ข้อมูลเพิ่มเติม: rama.mahidol.ac.th

บทความที่เกี่ยวข้อง