‘ปอดอักเสบ’ โรคใกล้ตัวยุคโควิด

Health / Others

โรคปอดอักเสบ (Pneumonia) หรือที่บางคนเรียกกันว่า ‘ปอดบวม’ ถือเป็นโรคอันดับต้นๆ ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลก และเมื่อเกิดการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ยิ่งทำให้โรคปอดอักเสบถูกจับตามองจากวงการแพทย์เพิ่มไปอีก เพราะผู้ป่วยด้วยไวรัสโควิด-19 จำนวนมากมีอาการติดเชื้อที่ปอดจนเป็นเหตุให้อาการทรุดหนักจนถึงขึ้นเสียชีวิต

ในสถานการณ์ปัจจุบัน โรคปอดอักเสบจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป และนี่คือข้อมูลเบื้องต้นเพื่อให้คุณรู้เท่าทันและรับมือได้อย่างถูกวิธี

สัญญาณเตือนปอดอักเสบ

ปอดอักเสบเกิดจากภาวะติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ทำให้ถุงลมในปอดเต็มไปด้วยของเหลวหรือหนอง ส่งผลให้หายใจได้ลำบาก อาการที่มักแสดงให้เห็นคือ ไข้หนาวสั่น ไอมีเสมหะ เจ็บหน้าอก ในบางรายมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วงร่วมด้วย ถ้ามีอาการหายใจถี่ เหนื่อยหอบ ปัสสาวะลดลง หรือมีภาวะสับสนกระวนกระวาย นั่นคือสัญญาณเตือนของการติดเชื้อขั้นรุนแง

คนร้ายคือ ไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อรา

เชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบมักเกิดจากเชื้อไวรัสหรือไม่ก็แบคทีเรีย หรือทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียร่วมกัน ส่วนน้อยที่จะเกิดจากเชื้อรา ตามสถิติโรคปอดอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัสมักจะไม่รุนแรง เว้นแต่เชื้อบางตัว เช่น เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์โรคซาร์ส และล่าสุด ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์โควิด-19 ส่วนโรคปอดอักเสบจากแบคทีเรียมักจะเกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัส

ระดับความรุนแรงของโรคปอดอักเสบจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อโรค อายุ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย โรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสไม่มียารักษาจำเพาะ แต่จะใช้วิธีรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ส่วนปอดอักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะโดยเร็วที่สุด ดังนั้น การได้รับคำวินิจฉัยจากแพทย์ให้ทันท่วงทีจึงมีความสำคัญมาก

ปอดอักเสบติดต่อกันได้นะ!

โรคปอดอักเสบสามารถแพร่กระจายไปยังผู้อื่นได้เช่นเดียวกับโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ โดยเชื้อจะอยู่ในน้ำลายหรือเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อได้ผ่านการหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในอากาศ (เมื่อผู้ป่วยไอหรือจาม) ในรูปละอองฝอยขนาดเล็ก (droplet nuclei) เข้าสู่ปอดโดยตรง หรือการใช้มือสัมผัสสารคัดหลั่งที่มีเชื้อโรคปะปนเข้ามาในร่างกาย จึงเป็นโรคที่อาจเกิดการแพร่ระบาดได้ง่ายในกลุ่มคนที่อยู่รวมกัน หรือในบริเวณที่มีคนอยู่แออัด

การติดเชื้อปอดอักเสบที่เกิดขึ้นนอกโรงพยาบาล (ไม่รวมปอดอักเสบที่เกิดขึ้นหลังจำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลภายในเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์) แพทย์จะเรียกว่า ปอดอักเสบในชุมชน (Community Acquired Pneumonia – CAP) ส่วนปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อที่เกิดขึ้นหลังผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลแล้วอย่างน้อย 48-72 ชั่วโมง จะเรียกว่า ปอดอักเสบในโรงพยาบาล (Health-Care Associated Pneumonia – HCAP) ทั้งสองแบบนี้มีวิธีการวินิจฉัยและรักษาที่แตกต่างกัน

กลุ่มเสี่ยงคือเด็กน้อยและคนชรา

เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ (โดยเฉพาะผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี) และผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ มีความเสี่ยงในการเป็นโรคปอดอักเสบ โดยมักเกิดภาวะแทรกซ้อนสูง องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า ในปี 2560 โรคปอดอักเสบเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของเด็กทั่วโลก พบมากที่สุดในเอเชียใต้และในกลุ่มประเทศที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกา

ปอดอักเสบป้องกันได้

วิธีป้องกันโรคปอดอักเสบเริ่มต้นจากรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ สำหรับผู้มีความเสี่ยงสูงเช่นเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุสามารถฉีดวัคซีนเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบ เช่น วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มนิวโมคอคคัส

ที่มา:
health.harvard.edu
healthydee.moph.go.th
www.si.mahidol.ac.th

บทความที่เกี่ยวข้อง