ไวรัสตับอักเสบ บี (Hepatitis B: HBV) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี ซึ่งจะมีปฏิกิริยาต่อระบบภูมิต้านทานในร่างกาย ผู้ที่ได้รับเชื้อจึงมีภาวะการอักเสบของเซลล์ตับ รวมถึงเซลล์ตับถูกทำลาย โดยไวรัสตับอักเสบ บีนี้ นับเป็นเชื้อไวรัสที่นอกจากจะทำให้ผู้ได้รับเชื้อมีแนวโน้มจะเกิดภาวะตับอักเสบทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรังแล้ว ยังมีโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับในอนาคตได้
รู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี?
1. จากการตรวจค่าเอนไซม์ในเซลล์ตับซึ่งบ่งบอกการทำงานของตับ ที่เรียกว่า AST (SGOT) และ ALT (SGPT) โดยหากน้อยกว่า 40 IU/L ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่หากสูงกว่าค่าปกติ 1.5-2 เท่า หรือมากกว่า แสดงว่าเซลล์ตับกำลังอยู่ในภาวะอักเสบแล้ว
2. สำหรับการตรวจเชื้อไวรัส จะประเมินดูได้จากการตรวจ HbsAg ซึ่งสามารถบ่งบอกถึงการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ว่ามีเชื้อไวรัสอยู่หรือไม่ หากผลเป็นบวกแสดงว่ามีการติดเชื้อไวรัสในร่างกาย
ในผู้ที่ไม่มีเชื้อ สามารถตรวจหาภูมิต่อไวรัส บี (Anti HBs) หากมีผลเป็นบวก แสดงว่ามีภูมิคุ้มกันซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หลังจากหายจากการติดเชื้อหรือหลังจากฉีดวัคซีนก็ได้
3. สำหรับผู้ป่วยที่พบเชื้อสามารถตรวจหา HbeAg หรือความสามารถในการแบ่งตัวของไวรัสตับอักเสบ บี ถ้ามีผลเป็นบวก แสดงว่าเชื้อไวรัสกำลังอยู่ในระยะแบ่งตัว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้ป่วยควรอยู่ใต้การดูแลของแพทย์
วิธีสังเกตตัวเองหากติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ
1. แบบเฉียบพลัน
- สำหรับการติดเชื้อแบบเฉียบพลันจะเกิดขึ้นหลังจากได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเข้ามาในร่างกาย โดยจะเริ่มมีอาการภายใน 1-4 เดือนหลังการติดเชื้อ
- คนกลุ่มนี้อาจมีอาการและความรุนแรงของโรคแตกต่างกันไป เช่น มีไข้ เป็นหวัด คลื่นไส้ อาเจียน เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์จะมีอาการตับอักเสบ ตัวเหลือง ตาเหลือง ปวดท้องใต้ชายโครงขวา เมื่อตรวจ จะพบค่าการทำงานของตับที่สูงกว่าปกติ โดยอาการเหล่านี้จะดำเนินอยู่ภายใน 2-3 สัปดาห์ หลังจากนั้น ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานขึ้น โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะไม่กลับมาเป็นโรคดังกล่าวอีก
2. แบบเรื้อรัง
- สำหรับการติดเชื้อแบบเรื้อรังนั้น จะเป็นการติดเชื้อที่กินเวลานานกว่า 6 เดือน
- อาการของคนไข้กลุ่มนี้ พบได้ตั้งแต่ไม่มีอาการของโรคแสดงออกมา หรืออาจมีอาการอ่อนเพลียอย่างต่อเนื่อง โดยจะเริ่มชัดเจนขึ้นหากมีภาวะแทรกซ้อน ไม่ว่าจะเป็นตับแข็ง ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องมาร อาเจียนเป็นเลือด ซึมและสับสนจากการที่มีของเสียคั่งอยู่ในร่างกาย รวมถึงภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น การคลำพบก้อนบริเวณช่องท้อง หรือปวดท้อง เป็นต้น
- หากมีการติดตามโรคไวรัสตับอักเสบบีแบบเรื้อรังในระยะเวลา 5 ปี ในคนไข้กลุ่มนี้จะมีโอกาสพัฒนาไปเป็นโรคตับแข็งอยู่ที่ 10-40% และมะเร็งตับอยู่ที่ 15%
สาเหตุที่พบบ่อยของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี
1. สาเหตุสำคัญและพบบ่อยที่สุดทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทย คือการถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก ซึ่งหากแม่มีเชื้อ ทารกจะมีโอกาสได้รับเชื้อร้อยละ 90
2. สาเหตุอื่นๆ รองลงมา คือการสัมผัสเลือด ผลิตภัณฑ์ของเลือด รวมทั้งสารคัดหลั่ง ผ่านทางบาดแผล เช่น การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การสักลาย รวมถึงอุบัติเหตุที่พบได้ในบุคลากรทางการแพทย์ เช่น เข็มฉีดยาที่ใช้กับผู้ป่วยไปทิ่มโดนบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น
3. การใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วยโดยมีสารคัดหลั่งปะปน เช่น แปรงสีฟัน มีดโกน ที่ตัดเล็บ
4. การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์จากผู้ป่วย
หมายเหตุ: สำหรับไวรัสตับอักเสบบีจะไม่ติดต่อทางลมหายใจ การกินอาหาร และดื่มน้ำร่วมกับผู้ป่วย
ดูแลตัวเองอย่างไรหากติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ชนิดเรื้อรัง
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ บี แบบเรื้อรัง
1. กินยาให้สม่ำเสมอ
2. ตรวจติดตามอาการและตรวจเลือดทุกๆ 3-6 เดือน ตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องทุกๆ 6-12 เดือน ร่วมกับการตรวจสารสื่อมะเร็งแอลฟาฟีโตโปรตีน (Alpha-fetoprotein blood (AFP) Test)
3. งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
4. หลีกเลี่ยงยาและอาหารเสริมบางชนิดที่ไม่มีความจำเป็น ซึ่งจะมีผลและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง
5. ออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัยและสภาพร่างกาย
6. กินอาหารที่มีประโยชน์เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและมีภูมิต้านทานโรค
นอกจากการตรวจการทำงานของตับและตรวจอัลตราซาวด์เพื่อคัดกรองมะเร็งตับของตัวผู้ป่วยเองแล้ว ผู้ที่อยู่ในครอบครัวที่มีผู้ป่วยก็ควรได้รับการตรวจเลือดเพื่อคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบ บี ด้วยเช่นกัน หากพบว่าไม่มีเชื้อไวรัสและยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ควรได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี โดยปัจจุบัน วัคซีนดังกล่าวถูกพัฒนาจนมีประสิทธิภาพที่ดีมาก เมื่อมีการฉีดวัคซีนครบ 3 เข็มแล้ว ภูมิคุ้มกันจะอยู่กับร่างกายได้ตลอดชีวิต อย่างไรก็ดี อาจมีผู้ป่วยบางรายที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องและผู้ป่วยโรคไต ในกลุ่มนี้จึงอาจต้องมีการตรวจภูมิและมีการฉีดเข้มกระตุ้นซ้ำ
ไวรัสตับอักเสบ บี กับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับ
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ส่วนใหญ่ผู้ที่ติดเชื้อมักไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อ เนื่องจากโรคจะดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งอาจมีอาการไม่มาก และหากมี ก็จะเป็นอาการเหมือนโรคทั่วๆ ไปดังที่กล่าวมา ทำให้ละเลยที่จะไปพบแพทย์ หากไม่ทราบว่าตัวเองมีภาวะตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัส โรคสามารถดำเนินไปสู่ระยะตับแข็งและมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเป็นโรคมะเร็งตับในที่สุด ผู้ที่มีความเสี่ยง ได้แก่
1. ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ บี ที่มีภาวะตับแข็งร่วมด้วย
2. ผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะตับแข็ง ในเพศชาย อายุมากกว่า 40 ปี และเพศหญิง อายุมากกว่า 50 ปี
3. ผู้ป่วยที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งตับ
จึงแนะนำให้มีการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ บี ในผู้ที่มีความเสี่ยง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เพิ่มสิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ บี ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยประชากรที่เกิดก่อนปี พ.ศ. 2535 สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
หากมีการตรวจพบว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ตั้งแต่เนิ่นๆ การรักษาอย่างทันท่วงทีด้วยยาต้านไวรัสชนิดกินที่มีประสิทธิภาพสูง จะช่วยลดทั้งปริมาณของเชื้อไวรัส การอักเสบของตับ รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะตับแข็ง ไปจนถึงมะเร็งตับได้ อีกทั้งยังทำให้สมรรถภาพการทำงานของตับดีขึ้น แม้ในเวลานี้ โรคไวรัสตับอักเสบ บี จะยังไม่มียารักษาที่ทำให้โรคหายขาดได้ แต่หากผู้ป่วยอยู่ในระบบการรักษา ได้รับยา และการดูแลอย่างต่อเนื่องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก็จะช่วยป้องกันอาการป่วยที่รุนแรงได้
–
อ้างอิง:
นพ.จำรัส พงษ์พิศ
อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินและตับ
โรงพยาบาลหนองคาย