อาหารผู้ป่วยมะเร็งตับไม่ควรรับประทาน

Health

เช็กลิสต์อาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งตับแบบไหนที่ควรหลีกเลี่ยง

มะเร็งตับ เป็นโรคที่พบได้มากเป็นอันดับต้น ๆ ของทั้งเพศชายและเพศหญิง ซึ่งโรคมะเร็งชนิดนี้มีอาการลุกลามค่อนข้างรวดเร็วกว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวก็แทบจะอยู่ในระยะที่รุนแรง นอกจากการรักษาจากแพทย์เฉพาะทาง การเลือกรับประทานอาหารผู้ป่วยมะเร็งตับช่วยลดโอกาสเสี่ยงอาการมะเร็งลุกลามกว่าเดิมได้ ในวันนี้มาดูกันว่าโรคมะเร็งตับสาเหตุมาจากอะไร มะเร็งตับมีกี่ระยะ อาหารผู้ป่วยมะเร็งตับไม่ควรรับประทาน มีอะไรบ้าง แล้วอาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งตับควรเป็นแบบไหน รวมถึงแชร์วิธีการดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับเบื้องต้น

ทำความรู้จักโรคมะเร็งตับ โรคร้ายแรงที่คนไทยเป็นกันเยอะ

มะเร็งตับ (Hepatocellular carcinoma) เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์ตับแบ่งตัวมากผิดปกติจนเกิดเป็นก้อนในตับ ก่อนที่เซลล์มะเร็งจะกระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย โดยมะเร็งตับสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ไขมันพอกตับ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ท่อน้ำดีในตับอักเสบเรื้อรัง พยาธิใบไม้ในตับ รวมถึงเกิดจากการทานอาหารที่มีเชื้อราปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกาย
ถ้าถามว่ามะเร็งตับมีกี่ระยะ คำตอบคือแบ่งได้ 5 ระยะ โดยมะเร็งตับระยะที่ 1-2 ถือเป็นระยะที่สามารถรักษาได้ไม่ยาก ขณะที่ระยะที่ 3-4 เป็นช่วงที่มีการกระจายตัวของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะที่อยู่ใกล้กัน ซึ่งต้องรับการรักษาผ่านการผ่าตัด และระยะที่ 5 ผู้ป่วยมะเร็งจะมีสุขภาพทรุดโทรมมากที่สุดอาจถึงขั้นนอนติดเตียง

การดูแลอาหารการกินของผู้ป่วยมะเร็งตับส่งผลดีต่ออาการมะเร็งตับอย่างไร

การรักษาโรคมะเร็งตับไม่ได้มีแค่การผ่าตัด การฉีดยา หรือการฉายแสง แต่ยังต้องดูแลเรื่องโภชนาการหรืออาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งตับควบคู่กันไปด้วยเพื่อให้การรักษาเกิดผลลัพธ์ที่ดี โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมักแนะนำผู้ป่วยและญาติถึงการดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับว่า อาหารผู้ป่วยมะเร็งตับไม่ควรรับประทานเพราะจะไปกระตุ้นให้เกิดมะเร็งตับมีอะไรบ้าง แล้วอาหารที่ส่งผลดีต่อผู้ป่วยมะเร็งตับเป็นแบบไหน

อาหารผู้ป่วยมะเร็งตับไม่ควรรับประทานทานแล้วอาการแย่ลง

  • อาหารหมักดอง
    อาหารหมักอาหารดองนั้นมีทั้งปริมาณโซเดียมที่สูงและอาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย หากกระบวนการหมักดองไม่สะอาดหรืออาหารหมักดองถูกจัดเก็บในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม

  • อาหารที่ไหม้เกรียม
    อาหารที่ผ่านความร้อนสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน อย่างอาหารที่ถูกนำมาทอดซ้ำหลายครั้งหรืออาหารปิ้งย่างที่มักมีการไหม้เกรียมติดมาด้วย

  • อาหารแปรรูป
    อาหารแปรรูปที่มักมีส่วนผสมของโปตัสเซียมไนเตรต เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น เบคอน แหนม และหมูยอ เพราะสารโปตัสเซียมไนเตรตไม่ได้แค่ช่วยให้อาหารแปรรูปมีสีแดงน่ารับประทาน แต่ยังทำหน้าที่เป็นสารกันเสียในอาหารอีกด้วย

  • อาหารที่มีรสชาติจัดจ้าน
    เนื่องจากร่างกายของผู้ป่วยมะเร็งมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนปกติ การทานอาหารที่มีรสเผ็ด อาหารที่มีการใช้ผงชูรส ซุปก้อน หรือน้ำปลาในปริมาณที่สูงในการปรุงรส จะทำให้ระบบทางเดินอาหารของผู้ป่วยมีอาการระคายเคืองได้

  • อาหารไขมันสูง
    การรับประทานอาหารที่มีไขมันในปริมาณที่สูง ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งตับที่อาจมีปัญหาท้องผูกร่วมด้วยนั้นเกิดอาการท้องผูกได้ง่าย ดังนั้นการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงเข้าไปจะส่งผลเสียต่อระบบย่อยอาหาร เนื่องจากไขมันจะทำให้กระบวนการย่อยอาหารทำงานช้าลง หรืออาจทำให้ไขมันไปเกาะที่ตับได้

  • อาหารที่มีน้ำตาลสูง
    เมื่อน้ำตาลที่สะสมอยู่ในร่างกายไม่ถูกเผาผลาญไปจนหมด น้ำตาลก็จะถูกเปลี่ยนเป็น ไขมันเกาะตามเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะไขมันในตับ ส่งผลให้เสี่ยงมีภาวะไขมันพอกตับ อันเป็นจุดเริ่มต้นของโรคตับอื่น ๆ

  • ผลไม้ที่ไม่ได้ปอกเปลือก
    เมื่อผู้ป่วยมะเร็งที่มีระดับภูมิคุ้มกันน้อยกว่าคนทั่วไปทานผลไม้ที่ไม่ปอกเปลือก แม้จะผ่านการล้างมาแล้วก็ยังอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อจุลชีพอยู่

  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นเหล้า เบียร์ โซจู ไวน์ หรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ทุกชนิดต่างก็มีสารที่เป็นพิษต่อตับ การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำจะไปกระตุ้นให้มีไขมันสะสมในตับ แล้วแอลกอฮอล์จะทำลายการทำงานของตับไปเรื่อย ๆ จนทำให้ป่วยโรคตับแข็ง ซึ่งอาจลามเป็นมะเร็งตับได้ในที่สุด

  • ถั่วลิสงและเมล็ดพืชแห้งที่มีเชื้อราปนเปื้อน
    หากเชื้อราที่ทำให้เกิดสารพิษชื่อว่าอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) เข้าสู่ร่างกายจะทำให้ตับอักเสบและนำไปสู่มะเร็งตับได้

อาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งตับ ทานแล้วส่งผลดีต่อผู้ป่วยในระยะยาว

หลังจากทราบแล้วว่าอาหารผู้ป่วยมะเร็งตับไม่ควรรับประทานมีอะไรบ้าง  ตามมาดูกันว่าอาหารแนะนำสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ทานแล้วชะลออาการ และลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งตับคืออาหารประเภทไหน

  • เน้นทานอาหารที่มีโปรตีนสูง
    อย่างการรับประทานปลา เพราะปลาเป็นอาหารที่มีปริมาณโปรตีนสูงและยังเป็นโปรตีนที่ย่อยง่าย แถมมีปริมาณไขมันน้อยกว่าเนื้อสัตว์สีแดง ยิ่งถ้าเลือกเมนูอาหารที่มีปลาทะเลน้ำลึกเป็นส่วนผสมหลักก็จะได้รับ โอเมก้า 3 ซึ่งเป็นไขมันไม่อิ่มตัวที่จำเป็นต่อร่างกายเข้าไปช่วยบำรุงการทำงานของสมองและตับอีกด้วย

  • เน้นธัญพืชที่เส้นใยอาหารสูง
    การทานธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสีหรือขัดสีน้อยที่สุด นอกจากได้รับคุณค่าทางโภชนาการสูง ใยอาหารในธัญพืชยังทำหน้าที่สำคัญในการพาสารต่าง ๆ ที่เป็นโทษออกไปจากร่างกาย ช่วยลด ความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง

  • ทานผลไม้เป็นประจำ
    ตามที่ทราบกันดีว่าภายในผลไม้ 1 ลูกประกอบด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลากหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย รวมทั้งยังมีเส้นใยอาหารที่ช่วยให้ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายทำงานได้ปกติ อย่างการทานส้มหรือมะม่วงเป็นประจำก็ช่วยลดลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง เพราะส้มมีวิตามินเอและซีซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอยู่

  • เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระด้วยเครื่องดื่ม
    หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่าเครื่องดื่มจากธรรมชาติอย่างชาเขียวมีสาร Epigallocatechin Gallate [EGCG] ซึ่งมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดเซลล์มะเร็งอยู่ ดังนั้นการเลือกดื่มชาเขียวเพื่อดับกระหายก็ช่วยให้คุณห่างไกลจากโรคมะเร็งได้มากขึ้น แต่ถ้าเบื่อชาเขียวแล้วอาจเปลี่ยนเป็นน้ำขิง น้ำดอกอัญชัน หรือน้ำแครอทก็ได้เหมือนกัน

  • ทานวิตามินรวมเสริมเพื่อช่วยบำรุงตับ
    นอกจากเรื่องโภชนาการแล้ว การดูแลตับด้วยวิตามินรวมที่มีสารอาหารที่จำเป็นต่อตับในปริมาณที่เพียงพอ นอกจากเป็นการช่วยบำรุงตับ ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็ง และยังช่วยกระตุ้นให้ตับผลิตเอนไซม์ตัวที่ช่วยขับสารพิษออกไปจากตับอีกด้วย แต่ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทานวิตามินเสริมทุกครั้ง

  • ทานอาหารที่ผ่านการปรุงสุกเท่านั้น
    หลายคนอาจไม่รู้ว่าการทานอาหารแบบสุก ๆ ดิบ ๆ นอกจากทำให้ร่างกายได้รับเชื้อโรคทั้งในรูปแบบของไวรัสและแบคทีเรียแล้ว ยังเป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง เช่น การทานเมนูปิ้งย่าง ส้มตำปูปลาร้า ยำแหนม  ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับและเกิดอาการอักเสบเรื้อรังซึ่งส่งผลให้เป็นมะเร็งได้

แนะวิธีดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยมะเร็งตับที่ใครก็ทำตามได้

นอกจากอาหารการกินแล้วการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันบางอย่างก็ถือเป็นวิธีการดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับเบื้องต้นที่ส่งผลดีต่อผู้ป่วยได้มาก เพราะทำแล้วนอกจากช่วยให้ผลการรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและผู้ป่วยยังใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

ออกกำลังกาย

การออกกำลังกายมีประโยชน์กับผู้ป่วยมะเร็งเป็นอย่างมาก นอกจากช่วยลดผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งที่ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย แล้วยังช่วยลดความเครียด และเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้ผู้ป่วยว่าสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนปกติก่อนที่จะเจ็บป่วย แต่ทั้งนี้ควรค่อย ๆ เพิ่มการออกกกำลังกายทีละเล็กน้อยตามกำลังของตนเองและทำอย่างสม่ำเสมอ

พักผ่อนอย่างเพียงพอ

นั่นคือการนอนพักผ่อนให้ได้ 8 – 9 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายและสมองได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่จะได้ไม่มีอาการอ่อนเพลียระหว่างวัน

ดูแลสภาพจิตใจให้ดี

การระวังเรื่องความเครียดเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย เพราะเมื่อฮอร์โมนความเครียดหลั่งจะทำให้มะเร็งโตขึ้น มะเร็งดื้อยามากขึ้น มะเร็งกระจายตัวมากขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยมะเร็งควรทำใจให้สบายและมีความสุขในทุกวัน

การเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตนเองและคนที่รัก แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วนอกจากการยอมรับและเรียนรู้วิธีการดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับ อย่างเมื่อรู้ว่าอาหารผู้ป่วยมะเร็งตับไม่ควรรับประทานคืออาหารแบบไหน อาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งตับที่ช่วยชะลออาการ ก็เป็นแนวทางในการเลือกรับประทานอาหารผู้ป่วยมะเร็งตับได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้คุณและคนที่คุณรักมีสุขภาพแข็งแรงและชีวิตที่ยืนยาว

บทความที่เกี่ยวข้อง