ฮอร์โมนทดแทนใน ‘ผู้หญิงวัยทอง’ เสี่ยงโรคมะเร็งหรือไม่

Health

สาวๆ ที่อายุย่างเข้าเลข 5 อาจจะเริ่มสงสัยว่า เอ๊ะ! เราเข้าสู่วัยทองแล้วหรือยัง โดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงจะเริ่มเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือน หรือที่คนทั่วไปมักเรียกว่า ‘วัยทอง’ ที่อายุ 51 ปี แต่ภาวะหมดประจำเดือน (Menopause) ในทางการแพทย์นั้น หมายถึง ภาวะหมดประจำเดือนของผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 60 ปี หรือการที่ไม่มีประจำเดือนตามธรรมชาติเป็นระยะติดต่อกันในช่วง 12 เดือนโดยไม่ได้รับยาใดๆ หรือได้รับการผ่าตัดรังไข่ออกทั้งสองข้าง อย่างไรก็ตามการย่างเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน มักจะตามมาด้วยภาวะทางร่างกายและจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นการเตรียมความพร้อมและศึกษาข้อมูลก่อนเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนจึงเป็นเรื่องที่ผู้หญิงเราไม่ควรมองข้าม

ภาวะหมดประจำเดือน ส่งผลอย่างไร

ภาวะหมดประจำเดือน หมายถึง ภาวะที่รังไข่หยุดการสร้างฮอร์โมนเพศหญิงที่ชื่อว่า เอสโตรเจน อย่างถาวร ทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ผู้หญิงที่อยู่ในภาวะหมดประจำเดือนนั้นมีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกง่าย ปวดเมื่อยตามข้อ ส่งผลต่อการนอนทำให้นอนหลับยาก มีโอกาสที่จะเพิ่มภาวะซึมเศร้า ความคิดไม่แจ่มใส รวมถึงมีอาการช่องคลอดแห้งทำให้เกิดการแสบขัดบริเวณช่องคลอดและท่อปัสสาวะได้ 

ฮอร์โมนทดแทนกับผู้หญิงวัยทอง

การใช้ฮอร์โมนทดแทนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาอาการที่เกิดจากภาวะหมดประจำเดือนเท่านั้น ไม่สามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคกระดูกพรุน หรือโรคสมองเสื่อมได้ ในทางกลับกันการใช้ฮอร์โมนทดแทนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนนั้น เพิ่มโอกาสของการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคเส้นเลือดในสมองตีบ โรคหลอดเลือดดำอุดตัน และโรคมะเร็งเต้านม 

การใช้ฮอร์โมนทดแทนไม่ได้เหมาะกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนทุกราย

จะต้องมีการประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อเปรียบเทียบผลประโยชน์ของยาฮอร์โมนทดแทนที่จะได้รับ โดยอาจจะพิจารณาการใช้ฮอร์โมนทดแทนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีอาการจากการหมดประจำเดือนมากจนกระทบต่อคุณภาพชีวิต และกลุ่มผู้หญิงในช่วงอายุ 51 ถึง 59 ปีที่หมดประจำเดือนมาไม่เกิน 10 ปี โดยที่ระยะเวลาการใช้ยาฮอร์โมนทดแทนนั้นไม่ควรเกิน 5 ปี เพราะผู้หญิงในกลุ่มนี้น่าจะได้ประโยชน์จากยาฮอร์โมนทดแทนสูงกว่าโทษที่จะได้รับ

ฮอร์โมนทดแทนเสี่ยงมะเร็ง จริงหรือ?

มีการศึกษาวิจัยว่า เมื่อใช้ยาฮอร์โมนทดแทนชนิดที่มีทั้งเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนเป็นระยะเวลา 5 ปี พบว่ามีโอกาสเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคเส้นเลือดในสมองตีบ โรคหลอดเลือดดำอุดตัน เพิ่มขึ้น 2.5-3 รายต่อประชากรเพศหญิง 1,000 พันคน และโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น 3 รายต่อประชากรเพศหญิง 1,000 พันคน เมื่อเทียบกับยาหลอก แต่เมื่อใช้ยาฮอร์โมนทดแทนชนิดที่มีเอสโตรเจนเพียงอย่างเดียวจะไม่เพิ่มโอกาสของการเกิดโรคข้างต้น 

อีกการศึกษาแบบ Meta-analysis ในผู้หญิงอายุ 50 ปีที่ได้รับฮอร์โมนทดแทนเป็นระยะเวลา 5 ปี พบว่าเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านมที่ 20 ปีถัดไป คิดเป็น 1 ใน 50 รายของผู้ที่ใช้ยาฮอร์โมนทดแทนที่มีทั้งเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน และ 1 ใน 200 รายของผู้ที่ใช้ยาฮอร์โมนทดแทนที่มีเอสโตรเจนเพียงอย่างเดียว 

อย่างไรก็ตามยาฮอร์โมนทดแทนที่มีเอสโตรเจนเพียงอย่างเดียวเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นเป็นโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก 3 -15 เท่าเมื่อเทียบยาหลอก โดยระดับของความเสี่ยงขึ้นอยู่กับระยะเวลาและปริมาณของยาฮอร์โมนทดแทนที่มีเอสโตรเจนเพียงอย่างเดียวที่ได้รับ 

ฮอร์โมนทดแทนกับผู้ป่วยมะเร็ง

เนื่องจากยาฮอร์โมนทดแทนทั้งชนิดที่มีทั้งเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน หรือเอสโตรเจนเพียงอย่างเดียวเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมและโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ดังนั้น

“ไม่แนะนำให้ใช้ยาฮอร์โมนทดแทนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีประวัติเป็นโรคมะเร็งเต้านมและโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก”

ผู้ป่วยกลุ่มนี้หากมีอาการระคายเคืองบริเวณช่องคลอดจากภาวะช่องคลอดแห้ง สามารถใช้สารหล่อลื่น หรือยาทาเฉพาะส่วนที่มีส่วนผสมของเอสโตรเจนได้ เพราะมีโอกาสต่ำมากที่จะมีการดูดซึมของเอสโตรเจนเข้าสู่ร่างกาย ส่วนอาการด้านอื่นควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยา เพราะอาจส่งผลต่อยาที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งได้

นอกจากการใช้ยาแล้ว ผู้ที่อยู่ในภาวะหมดประจำเดือนสามารถใช้การเล่นโยคะ การฝังเข็ม การสะกดจิต หรือการฝึกผ่อนคลายความเครียด การฝึกเจริญสติ การบำบัดความคิดและพฤติกรรม ก็สามารถลดอาการจากภาวะหมดประจำเดือนได้เช่นกัน สุดท้ายหากสาวๆ คนไหนเริ่มมีอาการจากภาวะหมดประจำเดือนแล้วละก็ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเองนะคะ แต่ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับแนวทางการรักษาที่ถูกต้องและปลอดภัยในระยะยาวดีกว่าค่ะ

อ้างอิง: 

  1. Rossouw, Jacques E et al. “Risks and benefits of estrogen plus progestin in healthy postmenopausal women: principal results From the Women’s Health Initiative randomized controlled trial.” JAMA vol. 288,3 (2002): 321-33. doi:10.1001/jama.288.3.321
  2. Anderson, Garnet L et al. “Effects of conjugated equine estrogen in postmenopausal women with hysterectomy: the Women’s Health Initiative randomized controlled trial.” JAMA vol. 291,14 (2004): 1701-12. doi:10.1001/jama.291.14.1701
  3. Manson, JoAnn E et al. “Menopausal hormone therapy and health outcomes during the intervention and extended poststopping phases of the Women’s Health Initiative randomized trials.” JAMA vol. 310,13 (2013): 1353-68. doi:10.1001/jama.2013.278040
  4. Collaborative Group on Hormonal Factors in Breast Cancer. “Type and timing of menopausal hormone therapy and breast cancer risk: individual participant meta-analysis of the worldwide epidemiological evidence.” Lancet (London, England) vol. 394,10204 (2019): 1159-1168. doi:10.1016/S0140-6736(19)31709-X
  5. Persson, I et al. “Risk of endometrial cancer after treatment with oestrogens alone or in conjunction with progestogens: results of a prospective study.” BMJ (Clinical research ed.) vol. 298,6667 (1989): 147-51. doi:10.1136/bmj.298.6667.147
  6. Strom, Brian L et al. “Case-control study of postmenopausal hormone replacement therapy and endometrial cancer.” American journal of epidemiology vol. 164,8 (2006): 775-86. doi:10.1093/aje/kwj316
  7. Bardia, Aditya et al. “Efficacy of nonestrogenic hot flash therapies among women stratified by breast cancer history and tamoxifen use: a pooled analysis.” Menopause (New York, N.Y.) vol. 16,3 (2009): 477-83. doi:10.1097/gme.0b013e31818c91ca
  8. Hunter, Myra S et al. “Menopausal symptoms in women with breast cancer: prevalence and treatment preferences.” Psycho-oncology vol. 13,11 (2004): 769-78. doi:10.1002/pon.793

บทความที่เกี่ยวข้อง