ท้องก็ผูก…โรคไตก็เรื้อรัง ทำยังไงดี

Digestive / Health

การดูแลสุขภาพมีหลากหลายวิธี ซึ่งหากคุณเป็นหนึ่งในคนที่มีปัญหาท้องผูกเรื้อรัง รวมถึงยังมีโรคไตเรื้อรังเป็นโรคประจำตัวอีกด้วย เชื่อว่าอาการเหล่านี้มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของไม่น้อยเลยทีเดียว เช่นเดียวกันกับ “ลุงชา” ซึ่งมีอายุ 65 ปี ที่เป็นโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายต้องฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม มีภาวะความดันโลหิตสูงและเบาหวาน ซึ่งมาตรวจพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ และทุกครั้งก็จะต้องขอยาระบายเพราะมีปัญหาท้องผูกเรื้อรัง เนื่องจากลุงชาเป็นโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายต้องฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เป็นเหตุทำให้ลุงชาต้องรับประทานยารักษาโรคไตหลายชนิด ต้องจำกัดปริมาณน้ำดื่มต่อวัน จำกัดการรับประทานผักและผลไม้จากโพแทสเซียมในเลือดสูง และออกกำลังกายได้ลดลงจากเดิม ปัจจัยดังกล่าวเหล่านี้ทำให้ลุงชามีปัญหาท้องผูกเรื้อรัง เครียดง่าย และมีคุณภาพชีวิตลดลง เชื่อว่าหลายคนคงเจอปัญหาแบบเดียวกันกับลุงชาไม่มากก็น้อย

“ภาวะท้องผูกเรื้อรังจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังลดลง นอกจากนี้ภาวะท้องผูกเรื้อรังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตเรื้อรังและโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ดังนั้น ท้องผูกเรื้อรังจึงมีความสำคัญในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง”

จริงหรือไม่? ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังมักมีอาการท้องผูก

การที่จะกล่าวได้ว่าเป็นภาวะท้องผูกเรื้อรังนั้นต้องมีอาการท้องผูกมาแล้วอย่างน้อย 3 เดือน มักจะพบได้บ่อยถึงร้อยละ 14-90 ในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรัง ถือได้ว่าภาวะท้องผูกเรื้อรังนั้นเป็นปัญหาทางสุขภาพที่สำคัญของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเลยทีเดียว ผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกเรื้อรังมากกว่าร้อยละ 90 มักจะหาสาเหตุไม่พบ เกิดจากการทำงานของลำไส้ใหญ่ที่ผิดปกติ อาจเคลื่อนไหวช้าลง หรือมีการทำงานของหูรูดทวารและลำไส้ตรงส่วนปลายที่ไม่สัมพันธ์กัน แต่สำหรับสาเหตุของภาวะท้องผูกเรื้อรังที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังนั้นเกิดจาก

  1. โรคประจำตัว ได้แก่ เบาหวาน ไทรอยด์ทำงานลดลง ภาวะพาราไทรอยด์ฮอร์โมนสูง โรคทางสมอง เกลือแร่ในเลือดผิดปกติ และภาวะของเสียในร่างกายคั่ง เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของอาการท้องผูกในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง 
  2. สาเหตุจากยาที่รับประทานประจำในโรคไตเรื้อรัง ได้แก่ ยาลดความดันโลหิตบางชนิด แคลเซียม ธาตุเหล็กบำรุงเลือด และยาจับโพแทสเซียมในอาหาร เป็นต้น
  3. ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ท้องผูกได้ง่าย ได้แก่ การดื่มน้ำน้อย รับประทานผักและผลไม้น้อย ออกกำลังกายได้ลดลง และมีนิสัยในการขับถ่ายที่ไม่ดี 

ควรทำอย่างไร…หากเป็นโรคไตแถมยังท้องผูก

ส่วนใหญ่แล้วอาการท้องผูกที่เกิดขึ้นมักสัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการไม่ค่อยรับประทานอาหารที่มีกากใย การที่ต้องทำงานอยู่กับที่เป็นระยะเวลานานของคนในยุคปัจจุบัน ทำให้ไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวร่างกาย การไม่ออกกำลังกาย การดื่มน้ำในแต่ละวันน้อยเกินไป หรือแม้กระทั่งการกลั้นการขับถ่ายเพราะอยู่ในสถานที่ไม่สะอาดเพียงพอ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดอาการท้องผูกทั้งสิ้น ดังนั้นหากเราสามารถปรับพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุของอาการท้องผูกได้ ก็จะทำให้อาการท้องผูกหายไป แต่สำหรับคนไข้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังร่วมด้วยนั้น การปรับพฤติกรรมบางอย่างจำเป็นต้องให้ความระมัดระวัง เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้

เลือกใช้ยารักษาท้องผูกอย่างไร…หากเป็นโรคไตเรื้อรัง

เมื่อปรับพฤติกรรมข้างต้นแล้วอาการท้องผูกไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์พิจารณาเลือกใช้ยาระบายที่เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังและไม่มีผลข้างเคียงจากยาระบาย ยาที่ใช้ในการรักษาอาการท้องผูกนั้นมีหลายชนิด โดยยาแต่ละกลุ่มก็มีคุณสมบัติและข้อควรระวังที่แตกต่างกัน

อาการท้องผูกแบบไหนควรตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

ผู้ป่วยท้องผูกเรื้อรังส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติม โดยทั่วไปจะแนะนำการตรวจเพิ่มเติมในผู้ป่วยดังต่อไปนี้

  • อายุมากกว่าหรือเท่ากับ 50 ปีและเริ่มมีอาการท้องผูก 
  • อาการซีดจากขาดธาตุเหล็ก 
  • ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด 
  • น้ำหนักลดผิดปกติ 
  • มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ 
  • ท้องผูกจนมีอาการของลำไส้อุดตัน 
  • รับประทานยาระบายแล้วไม่ได้ผล

จะเห็นได้ว่าอาการท้องผูกนั้นพบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง และอาการท้องผูกเรื้อรังนั้นอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตเรื้อรังและโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย ทั้งยังทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยลดลง ดังนั้นการดูแลสุขภาพโดยการรักษาอาการท้องผูกเรื้อรังจึงควรเริ่มจากการปรับพฤติกรรม โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังซึ่งมีข้อจำกัดในการปรับพฤติกรรมแตกต่างจากคนทั่วไป และเมื่อปรับพฤติกรรมข้างต้นแล้วอาการท้องผูกไม่ดีขึ้น จึงพิจารณาเลือกใช้ยาระบายที่เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ทั้งนี้ต้องระมัดระวังผลข้างเคียงจากยาที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเป็นอย่างมาก รู้เช่นนี้แล้วถึงเวลาปรับพฤติกรรมการขับถ่ายให้เหมาะสมกันแล้วหรือยัง?

อ้างอิง: 

  1. Sumida K, Yamagata K, Kovesdy CP. Constipation in CKD. Kidney Int Rep. 2019;5(2):121-134.
  2. Nata N, Suebsiripong S, Satirapoj B, Supasyndh O, Chaiprasert A. Efficacy of Lactulose versus Senna Plus Ispaghula Husk Among Patients with Pre-Dialysis Chronic Kidney Disease and Constipation: A Randomized Controlled Trial. Int J Nephrol Renovasc Dis. 2021; 14: 313-319.
  3. Kamei D, Kamei Y, Nagano M, Mineshima M, Nitta K, Tsuchiya K. Elobixibat alleviates chronic constipation in hemodialysis patients: a questionnaire-based study. BMC Gastroenterol. 2020; 20(1):26.

บทความที่เกี่ยวข้อง